A Trail at the End of the World อนุสาวรีย์แห่งความหลากหลาย ที่ผสานตัวเข้ากับพิพิธภัณฑ์บ้านไทยและแมกไม้ในสวน

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
ผลงาน the Workers Union Ensemble (การรวมตัวของสหภาพแรงงาน) ในห้องรับประทานอาหารพิพิธภัณฑ์บ้านจิมทอมป์สัน

เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะที่แปลกใหม่น่าสนใจมาอีกนิทรรศการ

เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า

A Trail at the End of the World โดยดุษฎี ฮันตระกูล

ศิลปินหนุ่มชาวกรุงเทพฯ ผู้ทำงานศิลปะที่เชื่อมโยงกับพื้นที่พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน โดยหยิบเอาแรงบันดาลใจจากคอลเล็กชั่นเซรามิกสะสมของจิม ทอมป์สัน และพื้นที่ธรรมชาติในสวนของพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน รวมถึงการหายตัวไปอย่างลึกลับของจิม ทอมป์สัน ขณะไปเดินป่าที่มาเลเซียในปี พ.ศ.2510

ดุษฎีจินตนาการถึงจิม ทอมป์สัน ขณะกำลังท่องไปในเส้นทางที่เขาเรียกว่า “The Trail at the End of the World” (เส้นทางสู่สุดขอบโลก)

แรงบันดาลใจในการทำงานชุดนี้ของเขาอีกประการยังมาจากหนังสือ “The Mushroom at the End of the World : On the Possibility of Life in Capitalist Ruins” โดยแอนนา โลเว่นฮาวป์ ซิง (Anna Lowenhaupt Tsing) ซึ่งพูดถึงหน้าที่และความสัมพันธ์ของเห็ดหายากชนิดหนึ่งที่ช่วยค้ำจุนทุกชีวิตในโลกอันเปราะบางนี้

ผลงาน Foraging for mushrooms at the end of the world (การหาเห็ดที่สุดขอบโลก) ของดุษฎีในตู้ไม้โบราณใต้ถุนบ้าน

ดุษฎียังตั้งคำถามถึงความเป็นจริงของเราในช่วงเวลาที่การระบาดของโควิด-19 พลิกคว่ำโลกจากหน้ามือเป็นหลังมือ บังคับให้เราต้องหยุดนิ่งและคิดใคร่ครวญในช่วงเวลาที่เราต้องต่อสู้กับการระบาดอันร้ายแรงครั้งนี้

เขากล่าวถึงที่มาของชื่อนิทรรศการนี้ว่า

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า A Trail at the End of the World ด้วยความที่คุณจิม ทอมป์สัน เขาหายไปในป่า เราก็จินตนาการว่าเขากำลังเดินทางไปที่ปลายสุดขอบโลก ไปยังทิศทางใหม่ที่ไม่เคยมีใครไปมาก่อน นิทรรศการนี้ยังได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือของแอนนา โลเว่นฮาวป์ ซิง ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนเก็บเห็ดที่เป็นคนชายขอบ ซึ่งตั้งคำถามกับบริบทของทุนนิยม ก็เลยกลายเป็นชื่อของงานนิทรรศการขึ้นมา”

เริ่มต้นด้วยผลงานในห้องรับประทานอาหารของเรือนไม้พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน ที่ดุษฎีนำเสนอชุดงานปั้นเซรามิกที่ชวนให้คิดถึงคุณูปการของช่างทอจากชุมชนบ้านครัวที่มีต่อบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยของจิม ทอมป์สัน เมื่อกว่าห้าสิบปีที่แล้ว

“งานชุดนี้มีชื่อว่า the Workers Union Ensemble ซึ่งผมปั้นให้เป็นวงดนตรีวงหนึ่ง พูดง่ายๆ ก็คือ เหมือนเวลาเราปั้นตุ๊กตา เราก็จะตั้งชื่อตุ๊กตาตามจินตนาการของเรา ชื่อของงานชุดนี้ผมได้มาจากเพลงของคีตกวีชาวดัตช์ที่ทำเพลงล้ำสมัยมากๆ ในยุค 70 ชื่อลิวอี อองดริส์สัน (Louis Andriessen) ซึ่งเป็นเพลงเกี่ยวกับการรวมตัวของสหภาพแรงงาน อย่างชุมชนบ้านครัวก็เป็นกลุ่มแรงงานช่างฝีมือที่มีส่วนสำคัญมากที่ทำให้จิม ทอมป์สัน ยิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้ได้ เราก็เลยเอางานชุดนี้มาตั้งในห้องที่มีหน้าต่างเปิดไปเห็นชุมชนบ้านครัวข้างนอกตรงฝั่งตรงกันข้าม”

ผลงาน the Workers Union Ensemble (การรวมตัวของสหภาพแรงงาน) ในห้องรับประทานอาหารพิพิธภัณฑ์บ้านจิมทอมป์สัน

“และด้วยความที่ห้องนี้เป็นห้องอาหาร เราก็ทำเหมือนเอาวงดนตรีมาตั้งเล่นดนตรีให้แขกที่มานั่งกินอาหารฟัง”

ผลงาน the Workers Union Ensemble (การรวมตัวของสหภาพแรงงาน) ในห้องรับประทานอาหารพิพิธภัณฑ์บ้านจิมทอมป์สัน

ในนิทรรศการครั้งนี้ ดุษฎียังเลือกงานสะสมบางชิ้นจากคลังสะสมของพิพิธภัณฑ์ฯ มาจัดแสดงร่วมกันกับงานปั้นเซรามิก ภายในตู้ไม้โบราณที่ตั้งอยู่ใต้ถุนเรือนไม้ของพิพิธภัณฑ์ฯ ผสมกับงานจากคอลเล็กชั่นสะสมส่วนตัวของเขาเอง ที่ได้แรงบันดาลใจจากอารยธรรมต่างๆ

“ผมหยิบข้าวของสะสมต่างๆ จากคนละยุคสมัย คนละแหล่งที่มา ทั้งจากอเมริกากลาง สุโขทัย และงานของเพื่อนๆ ผมให้มาอยู่ด้วยกันเพื่อเล่าเรื่องราวของเราให้ได้มากที่สุด อย่างบางชิ้นก็เป็นหินแกะสลักยุคอารยธรรมพรีโคลัมเบียน ที่เขาใช้ใส่ยาสมุนไพรหลอนประสาทสอดเข้าไปในก้นเด็กเพื่อให้กลายเป็นผู้ใหญ่ หรือหินจาก Spiral Jetty (ผลงานประติมากรรมธรรมชาติบนทะเลสาบเกรตซอลต์ ยูทาห์ สหรัฐอเมริกา) ของโรเบิร์ต สมิธสัน ที่ผมไปหยิบก้อนหินในงานของเขา แล้วทำก้อนหินดินเผาของผมไปวางแลกกัน หรือเศษชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผายุคโบราณของไทย”

อนุสาวรีย์ของความหลากหลายทางชีวภาพ (Monument for Biodiversity)

นอกจากนี้ ดุษฎียังจัดแสดงผลงานประติมากรรมสัมฤทธิ์ในสวนของพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งเป็นเหมือนอนุสาวรีย์ที่อุทิศแด่ระบบนิเวศวิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่แห่งนี้อีกด้วย

“ประติมากรรมแต่ละตัวเป็นเหมือนอนุสาวรีย์สำหรับสิ่งที่เราคาดหวังและคิดฝันไว้ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างอนุสาวรีย์ของการจัดการขยะและการบริโภค เพราะขยะเองก็มีที่มาจากการบริโภค เราคิดว่าในอนาคต มนุษย์เราน่าจะสามารถจัดการขยะและสร้างพลังงานได้ในเวลาเดียวกัน”

“หรืออนุสาวรีย์ของความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากฮานิวะ (Haniwa) ตุ๊กตาดินเผาที่พบในสุสานโบราณของญี่ปุ่น อย่างบางตัวถ้าสังเกตดีๆ บนหัวมันจะมีขี้จิ้งจกอยู่ ซึ่งจะว่าไป จิ้งจกก็เป็นสัตว์ที่ช่วยควบคุมความสมดุลให้ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพชนิดหนึ่ง เพราะว่ามันช่วยกินแมลง”

“อย่างตอนช่วงกักตัวจากโควิด-19 ผมมีโอกาสได้อยู่บ้านมากขึ้น ก็เลยได้สังเกตและถ่ายรูปแมลงในสวนหลังบ้านได้ประมาณ 100 กว่าชนิด ทั้งแมลงกลางวัน แมลงกลางคืน นี่ขนาดแค่ในเมืองในกรุงเทพฯ เรายังเห็นความหลากหลายทางสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ได้เยอะแยะขนาดนี้ ก็เลยทำเป็นอนุสาวรีย์ชุดนี้ขึ้นมา”

อนุสาวรีย์ของเกษตรกรรมแบบปฏิรูป (Regenerative agriculture)

“หรืออนุสาวรีย์ของ Regenerative agriculture หรือการเกษตรกรรมที่ให้ชีวิต แทนที่จะทำลายชีวิต ที่เน้นการปลูกพืชหลากหลายสายพันธุ์แทนการปลูกพืชสายพันธุ์เดี่ยว เพื่อสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ และเพิ่มประสิทธิผลในการทำการเกษตรไปพร้อมๆ กัน อนุสาวรีย์นี้จะมีลักษณะที่มีอวัยวะเพศหลายอัน เพื่อแสดงถึงความหลากหลายทางเพศ และวิธีการสืบพันธุ์”

อนุสาวรีย์ของการปฏิรูปแรงงาน (Regenerative Labor Practice)

“อนุสาวรีย์พวกนี้มีลักษณะแบบเดียวกับอนุสาวรีย์แบบยุคก่อนอารยธรรม ที่เป็นเหมือนอนุสาวรีย์ที่ทำให้อะไรที่ธรรมดาสามัญ อย่างทำให้แม่ ทำให้ควาย หรือทำให้ผึ้ง แทนที่จะทำให้สิ่งที่ยิ่งใหญ่อย่างวีรบุรุษหรือประเทศชาติอะไรแบบนั้น”

กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน และภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ กล่าวเสริมว่า

“เหตุผลที่เราแสดงผลงานชุดนี้ในสวนของพิพิธภัณฑ์ เพราะตอนที่เราทำงานกับคลังข้อมูลของคุณจิม ทอมป์สัน ปรากฏว่าเราเจอแบบร่างของบ้านเรือนไทยของคุณจิมและสวนที่เขียนว่า Sculpture Garden (สวนประติมากรรม) ซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเขาคิดจะทำ และที่นี่ก็ไม่เคยมีการทำสวนประติมากรรมมาก่อนเลย เราเลยอยากสานต่อความตั้งใจของเขา ด้วยการเชิญศิลปินมาทำสวนประติมากรรมให้เป็นจริงขึ้นมา”

“นิทรรศการครั้งนี้ยังเป็นปรากฏการณ์พิเศษในประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน เพราะก่อนหน้านี้ทางพิพิธภัณฑ์ฯ อยากจะแช่แข็งเวลาของบ้านเอาไว้อย่างเดิม ตั้งแต่สมัยยุคปี พ.ศ.2510 ประหนึ่งเหมือนกับจะรอให้คุณจิม ทอมป์สัน กลับมา เราเลยไม่มีโอกาสในการเอางานศิลปะร่วมสมัยเข้ามาแสดงที่นี่เท่าไหร่”

“แต่พอช่วงโควิด-19 สถานการณ์เปลี่ยนไป เราต้องคิดใหม่ทำใหม่ ว่าจะทำยังไงให้คนไทยเข้ามาชมที่นี่ หรือคนต่างชาติที่เคยเข้ามาชมแล้วอยากกลับมาอีก เราก็เลยให้ศิลปินร่วมสมัยเข้ามาตีความพื้นที่ใหม่ และเติมความสดใหม่ให้กับที่นี่อีกครั้ง”

อนึ่ง พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน สร้างโดยจิม ทอมป์สัน ผู้ประกอบการชาวอเมริกันซึ่งเดินทางมาไทยในปี 2489 ในฐานะเจ้าหน้าที่ทหารของสำนักบริการด้านยุทธศาสตร์ (Office of the Strategic Services – OSS) หรือต่อมาคือสำนักข่าวกรองกลาง (Central Intelligence Agency – CIA)

ต่อมาเขาก่อตั้งบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยขึ้นและทำงานอย่างใกล้ชิดกับช่างทอชาวจามมุสลิมจากชุมชนบ้านครัว ริมคลองแสนแสบ เพื่อสร้างอุตสาหกรรมในครัวเรือน

ด้วยเหตุนี้เขาจึงตัดสินใจสร้างเรือนไทยไม้สักริมคลอง ณ อีกฝากฝั่งของคลองแสนแสบ ซึ่งเรือนไทยหลังนี้เป็นเหมือนการตีความเรือนไทยประเพณีในแบบสมัยใหม่ เขายังสะสมงานศิลปะไทยและงานศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคก่อนสมัยใหม่และวัตถุโบราณล้ำค่าต่างๆ มากมาย

ซิการ์ดินเผาของ ริชาร์ด ชอว์ (Richard Shaw) ศิลปินเซรามิกชาวอเมริกัน อาจารย์ของดุษฎี, ชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผายุคโบราณของไทยและหินจากผลงาน Spiral Jetty ในตู้โบราณ

นิทรรศการ A Trail at the End of the World โดยดุษฎี ฮันตระกูล โดยความร่วมมือของพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน และบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2563 – 15 มกราคม พ.ศ.2564

เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11:00-19:00 น., ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 150 บาท (ราคาพิเศษ) ผู้เยี่ยมชมอายุต่ำกว่า 22 ปี 70 บาท (กรุณาแสดงบัตรประจำตัวประชาชน) เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ไม่เสียค่าเข้าชม, สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2612-6741 และ 0-2216-7368 หรืออีเมล [email protected]

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน