ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 กันยายน 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
ในตอนก่อนหน้านี้เรานำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปินหญิงคนสำคัญผู้บุกเบิกงานศิลปะแสดงสดอย่างแคโรลี ชนีแมนน์ ไปแล้ว
ในตอนนี้ เราขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินหญิงคนสำคัญผู้บุกเบิกศิลปินในแขนงนี้กันอีกคน
ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า
โยโกะ โอโนะ (Yoko Ono)
ศิลปินชาวญี่ปุ่น/อเมริกัน ผู้เป็นทั้งศิลปินมัลติมีเดีย, นักร้อง, นักแต่งเพลง, นักเขียน และนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพ
หลายคนอาจรู้จักเธอในฐานะภรรยาของศิลปินดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ผู้ล่วงลับอย่างจอห์น เลนนอน
แต่ในความเป็นจริงแล้วเธอคือศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญและเป็นสมาชิกของกลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้าในนิวยอร์กในช่วงยุค 1960s อย่าง ฟลักซัส*
ก่อนหน้าที่เธอจะพบกับจอห์น เลนนอน โยโกะ โอโนะ มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะ “เจ้าแม่แห่งแฮพเพนนิ่งอาร์ต”** และศิลปินผู้บุกเบิกงานศิลปะแสดงสดในยุคแรกๆ
เธอได้แรงบันดาลใจจากแนวคิดหลากแขนง ตั้งแต่ศาสนาพุทธนิกายเซน ไปจนถึงศิลปะลัทธิดาดา
เธอเป็นผู้จุดประกายศิลปะในแนวทางนี้ให้เป็นที่นิยมในวงกว้าง ด้วยการทำงานอันแหวกขนบสุดขั้วอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
เธอปฏิเสธความคิดที่ว่า ศิลปะต้องเป็นวัตถุที่จับต้องได้ลงอย่างสิ้นเชิง
ดังเช่นในผลงานหลายชิ้นของเธอ ที่ประกอบด้วยคำแนะนำเท่านั้น
อย่างผลงาน Cloud Piece (1963) ที่โยโกะสร้างผลงานชิ้นนี้ด้วยการกระตุ้นให้ผู้ชมจินตนาการว่าตัวเองกำลังขุดหลุมในสวน แล้วใส่ก้อนเมฆลงไปในหลุมนั้น โดยที่ไม่มีผลงานอะไรให้เห็นและจับต้องได้จริงๆ
โยโกะ โอโนะ เป็นหนึ่งในศิลปินผู้วางรากฐานของงานศิลปะแนวคอนเซ็ปช่วล ที่แสวงหาพรมแดนใหม่ๆ ในการทำงานศิลปะ และเปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการสร้างผลงาน หรือแม้แต่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะขึ้นด้วยตัวเอง เธอยังเป็นศิลปินที่เป็นหนึ่งในกระบอกเสียงอันทรงพลังของกระแสเคลื่อนไหวเฟมินิสต์ที่ปะทุขึ้นในโลกศิลปะในช่วงยุค 60s
ดังเช่นในผลงานแฮพเพนนิ่งอาร์ตชิ้นแรกๆ ของเธออย่าง Cut Piece (1964) ที่เธอนั่งอยู่บนเวทีตามลำพังในเสื้อผ้าเต็มยศ และมีกรรไกรหลายอันวางอยู่ข้างหน้าเธอ

ผู้ที่เข้ามาชมงานได้รับการบอกกล่าวว่า พวกเขาสามารถใช้กรรไกรเหล่านั้นตัดเสื้อผ้าของเธอเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยและเอาติดมือกลับไปได้
ในตอนแรกๆ ผู้ชมบางคนตัดเศษผ้าชิ้นเล็กๆ จากเสื้อและกระโปรงของเธอออกอย่างเกรงใจ
แต่พอเวลาผ่านไป ผู้ชมหลายคนเริ่มกล้าตัดเสื้อผ้าของเธอออกชิ้นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็ตัดไปจนถึงชุดชั้นใน จนเธอเหลือแต่ร่างกายเปล่าเปลือย
ตลอดเวลา เธอนั่งสงบนิ่งอย่างไม่สะทกสะท้าน และไม่แสดงอารมณ์ใดๆ เลยแม้แต่น้อย
ผลงานชิ้นนี้ของเธอนำพาผู้ชมให้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับศิลปิน ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ที่ท้าทายและก้าวข้ามขนบเดิมๆ ทางศิลปะอย่างมาก
เธอยังทลายเส้นแบ่งพรมแดนที่แบ่งแยกศิลปะและงานสร้างสรรค์หลากแขนงออกจากกัน ในช่วงต้นยุค 60s เธอเปิดบ้านของเธอให้เหล่าบรรดานักเต้น, นักแต่งเพลง, ศิลปินในแขนงต่างๆ มาทำงานร่วมกัน และสร้างชุมชนที่รวมเอาศิลปะและวิทยาการหลากแขนงเข้าไว้ด้วยกันขึ้นมา
นอกจากจะเป็นนักบุกเบิกทางศิลปะแล้ว เธอยังเป็นนักบุกเบิกทางดนตรี (มาก่อนที่จะรู้จักกับจอห์น เลนนอน ด้วยซ้ำไป) จากพื้นเพด้านเปียโนคลาสสิค ผสมกับความหลงใหลในดนตรีราชสำนักโบราณของญี่ปุ่นอย่างงากากุ (GAGAKU)
เธอผสมผสานดนตรีแบบประเพณีดั้งเดิมและดนตรีทดลองแบบตะวันตกเข้าด้วยกันอย่างแปลกใหม่ยิ่ง
ถึงแม้ชื่อเสียงของเธอจะถูกบดบังและมัวหมองอย่างไม่เป็นธรรมหลังจากเป็นภรรยาของจอห์น เลนนอน (แฟนๆ ของ The Beatles หลายคนโทษเธอว่าเป็นต้นเหตุของการยุบวงด้วยซ้ำไป)
แต่ในความเป็นจริงแล้ว โยโกะ โอโนะ เป็นผู้สนับสนุนให้จอห์น เลนนอน ได้พัฒนาตัวเองในฐานะนักดนตรีและศิลปินมากขึ้น
เธอผลักดันให้เขาก้าวพ้นจากการทำดนตรีกระแสนิยม ที่เคยทำสมัยอยู่กับวง และก้าวสู่การเป็นศิลปินดนตรีแนวคอนเซ็ปช่วลผู้มีสุ้มเสียงและแนวคิดที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นอย่างแท้จริง
ในช่วงที่ทั้งคู่อยู่ด้วยกัน เธอเริ่มผลิตภาพยนตร์และเพลงแนวทดลองร่วมกับเลนนอน รวมถึงทำงานศิลปะแสดงสด และการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมือง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงาน Bed-Ins For Peace (1969) ศิลปะแสดงสดที่โยโกะ โอโนะ และจอห์น เลนนอน ร่วมกันทำในช่วงสงครามเวียดนามกำลังระอุในปี 1969 พวกเขานอนอยู่บนเตียงโรงแรมฮิลตัน ในอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ และโรงแรมควีนเอลิซาเบธ ในมอนทรีออล แคนาดา โดยไม่ไปไหนเป็นเวลาสองสัปดาห์

ผลงานครั้งนั้นเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ โดยไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อต่อต้านสงคราม และทดลองหนทางใหม่ๆ ในการเรียกร้องสันติภาพ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการประท้วงแบบ “sit-in” ที่เป็นรูปแบบหนึ่งของการประท้วงโดยไม่ใช้ความรุนแรง ด้วยการที่ผู้ประท้วงเข้าไปนั่งเผชิญหน้าเจ้าหน้าที่รัฐในสถานที่ราชการหรือสถาบันต่างๆ จนกว่าพวกเขาจะถูกขับไล่ จับกุม หรือจนกว่าข้อเรียกร้องของพวกเขาได้รับการตอบสนอง
การแสดงสดของเลนนอนและโอโนะครั้งนั้นถูกบันทึกและทำออกมาเป็นหนังสารคดีในชื่อ Bed Peace (1969) ซึ่งมีให้ชมฟรีในเว็บไซต์ http://imaginepeace.com/
ทั้งคู่ยังทำศิลปะต่อต้านสงครามเชิงสื่อสารมวลชน ในรูปของการ์ดอวยพรวันคริสต์มาส ที่เขียนข้อความเรียบง่ายด้วยตัวอักษรสีดำบนพื้นขาว ใจความว่า WAR IS OVER!, IF YOU WANT IT, Happy Christmas from John & Yoko และทำออกมาทั้งในรูปแบบของโปสการ์ดอวยพร โปสเตอร์ โฆษณาในหนังสือพิมพ์ และบิลบอร์ดขนาดยักษ์ ที่กระจายไปปรากฏในเมืองใหญ่ 12 แห่งในสหรัฐอเมริกา
นอกจากนั้น เขายังทำออกมาเป็นสปอตโฆษณาทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์อีกด้วย ซึ่งจะว่าไป เพลงเรียกร้องสันติภาพในตำนานของเลนนอนอย่าง Imagine เองก็ได้แรงบันดาลใจจากงานศิลปะแสดงสดที่ว่านี้เอง
ผลงานแสดงสดเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนกิจกรรมในชีวิตประจำวันให้กลายเป็นศิลปะ และใช้ศิลปะเป็นตัวขับเคลื่อนทางการเมือง ที่ส่งแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นหลังใช้งานศิลปะสร้างความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างมาก
การบุกเบิกพรมแดนใหม่ๆ ทางศิลปะของเธอ ส่งแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นหลังมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าศิลปินผู้นำพาศิลปะให้มีปฏิสัมพันธ์กับสังคม อย่าง ซูซานน์ เลซี (Suzanne Lacy), เทรซี เอมิน หรือฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ฯลฯ
และท้ายที่สุด การใช้ร่างกายของเธอในฐานะศิลปินแสดงสดเพศหญิงเป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางศิลปะอย่างหาญกล้าท้าทาย ก็ช่วยแผ้วถางหนทางใหม่ และเป็นแรงดลใจให้ศิลปินแสดงสดเพศหญิงรุ่นหลังอย่างมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น วาลี เอ็กซ์พอร์ต (Valie Export), ฮานนาห์ วิลคี (Hannah Wilke) และมารีนา อบราโมวิก (Marina Abramovic) ที่ภายหลังต่างก็เป็นตัวแม่ของงานศิลปะแสดงสดกันทั้งสิ้น
ปัจจุบัน โยโกะ โอโนะ ยังสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในวงการศิลปะและวงการดนตรี
เธอได้ร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปะระดับนานาชาติมากมาย
ในปี 2009 เธอได้รับรางวัลสิงโตทองคำเกียรติยศจากมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ และยังคงผลักดันแคมเปญเรียกร้องสันติภาพอย่างต่อเนื่องในชื่อ IMAGINE PEACE
ข่าวดีสำหรับแฟนๆ ชาวไทยของเธอก็คือ ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งที่ 2 ในปี 2020 นี้ โยโกะ โอโนะ ก็จะเป็นหนึ่งในศิลปินที่เข้าร่วมแสดงงานด้วย

ส่วนเธอจะแสดงผลงานแบบไหนและอย่างไรนั้น ก็ต้องรอคอยชมกันต่อไปด้วยใจระทึกพลัน!
*ฟลักซัส (Fluxus) กลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้าในนิวยอร์กในช่วงยุค 1960s ที่มีแนวคิดในการต่อต้านค่านิยมเดิมๆ ของศิลปะ ผสมผสานสื่อและวิธีการแสดงออกทางศิลปะอันหลากหลายล้ำยุคล้ำสมัย และโอบรับความเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลง (flux) อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิต ศิลปินกลุ่มฟลักซัสมีจุดมุ่งหมายในการลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างชีวิตกับศิลปะ ด้วยการใช้วัตถุเก็บตกเหลือใช้ หรือแม้แต่บรรยากาศอบตัวจากสภาพแวดล้อมอย่าง “เสียง” และกิจกรรมธรรมดาสามัญหรือสถานการณ์ต่างๆ เพื่อสร้างสิ่งเร้าต่อผู้คน
**แฮพเพนนิ่งอาร์ต (Happening art) กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เกิดขึ้นในช่วงปลายยุค 1950s ถึงต้นยุค 1960s เน้นการแสดงสดอันแปลกแหวกแนว ที่เป็นการผสมผเสเหตุการณ์ต่างๆ หลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงแบบด้นสด และมักจะมีเหตุบังเอิญหรือเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงในระหว่างการแสดง ศิลปะการแสดงสดแฮพเพนนิ่ง เน้นการปฏิสัมพันธ์ตอบโต้ระหว่างศิลปินกับสภาพแวดล้อม บรรยากาศ พื้นที่แสดงงาน ไปจนถึงปฏิกิริยาโต้ตอบของคนดู