ชมฝีมือวาดการ์ตูนของ ‘แจ้ ดนุพล’ พร้อมคุยเรื่องการงาน อดีต และปัจจุบัน

“ช่วงนี้เวลาว่างๆ ก็วาดการ์ตูนครับ”

ใช่แล้ว, ไม่ได้ฟังผิดหรอก ด้วยดนุพล แก้วกาญจน์ หรือ “พี่แจ้” ของแฟนๆ บอกอย่างนั้นจริงๆ

โดยการ์ตูนที่เขาวาดมีทั้งที่ออกแนวขำขัน รวมทั้งแนวอื่นๆ ซึ่งหลายภาพก็ได้ไอเดียมาจากข่าวสาร และการมองความเป็นไปของบ้านเมือง แล้วสะท้อนออกมาเป็นความคิด

การ์ตูนที่ปกติแล้วไม่ได้นำออกเผยแพร่ที่ไหน นอกจากส่งให้กันดูในหมู่ญาติมิตรชิดใกล้ และในครั้งนี้ก็มอบให้แฟนๆ มติชนสุดสัปดาห์ได้ชม

สําหรับในส่วนของงาน แจ้ ดนุพล บอกว่า นอกจากร้านอาหาร “บ้านแสนรัก” ที่ซอยประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งเขาเป็นเจ้าของและยังร้องเพลงเซอร์วิสแขกเองทุกคืนวันศุกร์และวันเสาร์ ในยามที่เปิดได้ปกติแล้ว นานๆ ทีเขาก็อาจจะเล่นคอนเสิร์ตสักครั้ง

“มันเป็นนโยบายส่วนตัวตั้งแต่แรกแล้วครับ” นักร้องคนดัง ณ วัยย่าง 61 ปีในปัจจุบัน แต่ยังคงรักษาคุณภาพเสียงของตัวเองได้ดี บอกให้ฟังแบบนุ่มๆ ตามสไตล์

ก่อนอธิบายต่อ “เราเลือกที่จะเป็นอย่างนั้น”

นั่นคือแต่ไหนแต่ไร แม้จะมีคนติดต่อมาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ ขอให้ไปแสดง แต่บ่อยครั้งเขาก็ตัดสินใจปฏิเสธ

“จะไม่เล่นทุกวัน ไปร้องห้องอาหารโน้น ผับโน้น ผับนี้ ไม่มี 2-3 ปีจะเล่นครั้งหนึ่ง มันเป็นทางเลือกที่เราต้องดูแลตัวเอง เราไม่มีบริษัท ไม่มีต้นสังกัด ไม่มีคนโอบอุ้ม เพราะฉะนั้น การจะดำเนินชีวิตทุกก้าว ต้องมั่นใจแล้วว่าจะดี”

“บางทีชั่วโมงแรกๆ คนอาจจะไม่เข้าใจ หรือว่ามองเรายังไง แต่ว่าเราต้องยืนระยะให้ได้นานๆ ท้ายที่สุดเขาก็เข้าใจเองละฮะ ว่าเราไม่ทำอย่างนั้น เพราะอะไร”

ทั้งนี้ เขายังมั่นใจด้วยว่า หากก่อนหน้านี้ไม่เลือกอย่างนั้น “ถ้าเล่นคอนเสิร์ตสะเปะสะปะ ทุกวันนี้ก็คงไม่มีใครดูเราแล้ว” ซึ่งต่างจากทุกวันนี้ ที่นอกจากคอนเสิร์ต “นานๆ ที” ของเขาจะได้รับการต้อนรับจากคนดูอย่างหนาแน่นไม่เคยเปลี่ยน การร้องเพลงที่ร้าน “บ้านแสนรัก” ในทุกๆ สัปดาห์ก็มีแฟนๆ แวะเวียนไปชมเป็นประจำไม่เคยขาดตลอด 15 ปีที่เปิดร้านมา

สำหรับงานแต่งเพลง แจ้ ดนุพล บอกว่า ก็ไม่ได้ทิ้ง ยังคงทำอยู่เรื่อยๆ ประเภทคิดได้ก็เขียนไว้ อย่างไรก็ดี เขาเป็นประเภท “ไม่แต่งเพลงเยอะ” เพราะกว่าจะได้แต่ละเพลง ต้องผ่านการคิดแล้วคิดอีก

“ถ้าสังเกต คือโอเค เพลงของเราอาจจะเป็นเรื่องราวของความรัก เพราะเราเป็นคนละเอียดอ่อน นุ่มนวล แต่แง่มุม พล็อตของความรัก มันมีตั้งหลายแง่มุม เป็นเพลงความรักที่เนื้อหาไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ฉันรักเธอ เธอรักฉัน อกหัก ไปๆ มาๆ ไม่ใช่อย่างนั้น มันจะมีแง่มุมของเรา”

ย้อนนึกไปถึงช่วงแรกของการทำงาน ตอนอายุได้ 17-18 ปี มาถึงวันนี้ แจ้ ดนุพล บอกว่า เขาผ่านอะไรมาหลายอย่าง

“จากการที่เรียนมัธยมปลายแล้วไปเล่นดนตรีหาสตางค์เรียนหนังสือ เรียนด้วย เล่นโฟล์กซองด้วย โดยประเทศไทย พ.ศ.นั้น เยาวชนไม่มีที่เที่ยวที่ไหนนอกจากดูหนัง ฟังเพลง นั่งคอฟฟี่ช็อป กินโค้กกับยำไส้กรอกไป ฟังโฟล์กซองไป”

เขาเองก็ไปเล่นในสถานที่ซึ่งมีลักษณะแบบนั้น เล่นแบบได้ค่าจ้างชั่วโมงละ 10 บาท กับข้าว 1 จาน น้ำ 1 แก้ว เล่นทุกวัน วันละ 6 ชั่วโมง อยู่ราวๆ 2 ปี ก่อนที่ชีวิตจะเปลี่ยน

“ที่นั่นเป็นสถานที่ซึ่งเปิดกว้างให้กับคนรุ่นใหม่ ที่อยากจะมาฝึกเล่นกีตาร์ ร้องเพลง เขามีหลืบแคบๆ ให้ร้อง ซึ่งมีศิลปินหลายต่อหลายท่านอยู่ในวงจรนี้ ที่มาจากโฟล์กซอง ซึ่งแข็งแกร่งทั้งนั้นเลย ขออนุญาตเอ่ยชื่อ ว่ามีพี่กุ้ง-กิตติคุณ เชียรสงค์ คุณเทียรี่ เมฆวัฒนา พี่ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว และอีกหลายต่อหลายท่านที่มาจากร้านนี้ทั้งนั้น ได้ราคาเดียวกัน แล้วพอเก่งก็ไปร้องในร้านที่ใหญ่ขึ้นๆ”

เล่าแบบยิ้มๆ ด้วยว่า ช่วงแรกที่เขาเริ่มร้อง “กองเชียร์” ก็มีแต่คุณแม่กับเพื่อนคุณแม่ คุณป้าเท่านั้น

แต่ “ก็เอาน่ะ ชั่วโมงละ 10 บาท เราร้องหลายๆ ชั่วโมง เพราะเขาไม่ว่า จะร้องกี่ชั่วโมงก็ช่าง แต่มันทำให้เราเรียนรู้บทเพลง แข็งในเรื่องของดนตรี รู้ในเรื่องของการร้องเพลง ก็คิดในใจ พูดกับตัวเองขอเวลา 2 ปี แล้วเราจะเป็นนักร้องที่ไม่ได้มีแต่แม่กับป้ามาดูแค่นี้ คนจะต้องดูเต็มไปหมด แล้วต้องง้อฉันด้วย”

“แล้วจากนั้น 2 ปี จากชั่วโมงละ 10 บาท ก็ได้เงินเดือน 4 หมื่น 5 เยอะจนไม่รู้จะใช้อะไร” บอกพลางหัวเราะ

“คือคนบอกปากต่อปากว่าให้ไปดูคนนี้ จนคนเต็มร้าน เราก็ร้องวันหนึ่ง 2 รอบ คือรอบบ่ายรอบหนึ่ง รอบเย็นรอบหนึ่ง ได้ชั่วโมงละ 800 หนึ่งวัน 2 ชั่วโมงก็ได้ 1,600 คูณไปสิ”

ส่วนการประสบความสำเร็จในช่วงต่อๆ มา จนกลายเป็น “พี่แจ้” ขวัญใจของใครต่อใครจนถึงปัจจุบัน “ตอนนั้นไม่ได้นึกหรอกว่าจะมาเป็นแบบนี้” เขาบอก

“แค่รู้สึกว่าเราต้องทำให้เต็มที่ ต้องทำให้ได้”

เท่านั้นเองจริงๆ


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่