ธุลี : การสำรวจความเหลื่อมล้ำของสังคมด้วยผงปูน

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสไปเชียงใหม่ และได้ดูนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจที่นั่นมา เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า

ธุลี (particle)

โดย ปิยะรัศมิ์ ปิยะพงศ์วิวัฒน์ ศิลปินสาวชาวแพร่ ผู้อาศัยและทำงานอยู่ในเมืองเชียงใหม่

เธอทำงานด้วยสื่อหลากหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ ภาพถ่ายหรือศิลปะจัดวาง โดยแสดงออกในรูปแบบของสารคดี เพื่อตั้งคำถามถึงความเป็นไปและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่ส่งผลกระทบถึงผู้คน

เธอไม่เพียงใช้สิ่งเหล่านี้ในการบันทึกจัดเก็บข้อมูลเท่านั้น

หากแต่ยังพยายามที่จะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของโลกผ่านเสียงของผู้คนธรรมดาสามัญเหล่านั้น

ผลงานของเธอได้รับการสะสมในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ อาทิ Singapore Art Museum และพิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยม (MAIIAM Contemporary Art Museum)

ในนิทรรศการครั้งนี้ ปิยะรัศมิ์ทำการสำรวจรากฐานของการพัฒนาเมืองด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยเพ่งเล็งไปที่วัตถุดิบจากธรรมชาติที่ใช้ก่อร่างสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายในเมืองอย่าง “หินปูน” วัตถุดิบอันเปี่ยมประโยชน์ใช้สอยที่ถูกสกัดจากภูเขานำมาแปรรูปเป็นวัสดุก่อสร้างอย่าง “ปูนซีเมนต์” ที่มีราคาสูงและเป็นที่ต้องการอย่างมากในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

เธอนำเสนอประเด็นเหล่านี้ออกมาในรูปแบบของสารคดี ที่เธอทำการลงพื้นที่ในประเทศกัมพูชา เพื่อบันทึกเรื่องราวของชาวบ้านผู้ทำมาหากินเลี้ยงปากท้องและครอบครัว ด้วยการเก็บและกะเทาะหินปูนจากภูเขาด้วยมือ

รวมไปถึงการพึ่งพาทรัพยากรจากภูเขาอย่างผลไม้ สมุนไพร และมูลค้างคาวมาแต่ดั้งแต่เดิมจากรุ่นสู่รุ่น แต่ในไม่ช้า พวกเขาจะไม่สามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้อีกต่อไป

ด้วยความที่ภูเขาถูกล้อมรั้วเพื่อให้สัมปทานที่ดินแก่บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ ที่ผูกขาดการตักตวงทรัพยากรธรรมชาติไว้แต่เพียงผู้เดียว เพื่อสนองความโลภของสังคมทุนนิยมสมัยใหม่

ปิยะรัศมิ์เล่าถึงที่มาที่ไปของผลงานชุดนี้ให้เราฟังว่า

“ด้วยความที่เราไปกัมพูชาบ่อย เคยไปอยู่ในโครงการศิลปินพำนักไม่ต่ำกว่าห้าหกครั้ง เลยค่อนข้างคุ้นชินกับพื้นที่ที่นั่น ช่วงที่อยู่กัมพูชาเรารู้สึกว่าจีดีพีที่นั่นก้าวกระโดดมาก เศรษฐกิจเติบโตเร็วมากๆ อสังหาริมทรัพย์ก็บูมมากๆ แต่ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนก็ยังสูงมากๆ ด้วยเหมือนกัน”

“เราเลยสนใจประเด็นนี้ โดยเจาะจงสำรวจเรื่องวัสดุก่อสร้างอย่างปูนซีเมนต์ เพราะเราได้ข้อมูลมาว่า มีบริษัทเอกชนของไทยรายหนึ่งได้รับสัมปทานภูเขาทั้งลูกเพื่อทำเหมืองหินปูนเป็นเวลาหลายสิบปี คือที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาให้สัมปทานบริษัทต่างชาติเข้าไปใช้แหล่งทรัพยากรธรรมชาติไปเยอะมาก แล้วพอบริษัทต่างชาติไปจับจองตรงไหน เขาก็จะเข้าไปทำถนน ไฟฟ้า น้ำประปาให้พื้นที่ตรงนั้น แต่ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็ไม่สามารถเข้าไปใช้พื้นที่นั้นได้อีกต่อไป”

“ก่อนหน้านี้ชุมชนตรงนั้นเป็นแหล่งแร่หิน ชาวบ้านแถวนั้นเก็บหินปูนกันเป็นอาชีพหลัก ด้วยการขนหินปูนมาทุบย่อยหินส่งเตาปูน เอาไปทำเป็นผงปูนขาว เพื่อส่งต่อไปขาย เป็นธุรกิจท้องถิ่น เมื่อก่อนในชุมชนนี้มีเตาปูนเยอะมาก แต่ในปัจจุบันเหลือแค่สองเตา เพราะโดนผลกระทบจนอยู่ไม่ได้”

“ด้วยความที่เราทำงานเกี่ยวกับเรื่องของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมอยู่แล้ว อีกอย่าง เราคิดว่าเรื่องนี้มีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในบ้านเรา ที่ชาวบ้านถูกจับหรือขับไล่จากบ้านหรือที่ทำกินในป่า แต่ในขณะเดียวกันก็มีการให้สัมปทานพื้นที่ป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติให้กลุ่มนายทุนที่มีผลประโยชน์กับผู้มีอำนาจรัฐ เรารู้สึกว่าคนเหล่านี้เผชิญสภาวะคล้ายๆ กัน ก็เลยหยิบเอาเรื่องนี้มาทำ”

“เราก็ใช้วิธีการแบบกองโจรเลย เปิดกูเกิลแม็ปดูหมู่บ้าน/ชุมชนที่อยู่ใกล้ภูเขาที่ได้สัมปทาน แล้วก็เช่ารถมอเตอร์ไซค์เข้าไปสำรวจ เจอชาวบ้านก็ชวนคุยขอสัมภาษณ์เลย หลังจากนั้นเราก็ชวน วุธ ลีโน ศิลปินและภัณฑารักษ์ชาวกัมพูชา ให้มาช่วยสนับสนุนการทำงานภัณฑารักษ์ในนิทรรศการนี้”

นอกจากจะทำงานในรูปแบบของสารคดีที่เธอคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว ปิยะรัศมิ์ยังก้าวออกจากความเคยชินเดิมๆ ด้วยการหยิบเอาข้อเท็จจริงที่ถูกบันทึกในเชิงสารคดีที่ว่านี้มาหลอมรวมเข้ากับเรื่องแต่งเชิงสัญลักษณ์ที่ถูกถ่ายทอดในรูปแบบหนังสั้น ซึ่งนำเสนอภาพเคลื่อนไหวประกอบคำบรรยายของชายหนุ่มท่าทางอ่อนล้า เสื้อผ้าซอมซ่อ (รับบทโดย นลธวัช มะชัย) ผู้กำลังระหกระเหิน ปีนป่ายภูเขาเศษหินแตกละเอียดในทิวทัศน์อันรกร้างว่างเปล่า ท่ามกลางเสียงไวโอลินอันหม่นเศร้า เพื่อตามหา “ดวงตะวัน” ที่ผู้มีอำนาจในสังคมของเขายืนยันว่าไม่มีอยู่จริง

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราวางโครงเรื่องและพล็อตเรื่องขึ้น และเชิญเพื่อนสนิทสองคนที่มีจินตนาการในการใช้คำและทักษะในการใช้สำนวนภาษามาช่วยในการเขียน แล้วเราก็ปรับเป็นบทบรรยายของหนังสั้นเรื่องนี้ พื้นที่ก็ไปถ่ายทำในเหมืองหินปูนแห่งหนึ่งในประเทศไทย แต่เราไม่ระบุว่าเป็นที่ไหน อยากให้เป็นเหมือนดินแดนสมมุติมากกว่า”

“ส่วนเสียงไวโอลินในหนัง เราได้แรงบันดาลใจมาเพลงประกอบละครบรอดเวย์เรื่อง “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” (The Man of La Mancha วรรณกรรมแปลไทยฉบับล่าสุดใช้ชื่อว่า “ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน”)”

“โดยมีอาจารย์จร เจริญพันธ์ ช่วยเรียบเรียงดนตรีและเล่นไวโอลินในหนัง”

“ที่เราผสมเรื่องแต่งเข้ากับสารคดี เพราะอยากทำงานทดลองที่ท้าทาย และข้ามข้อจำกัดตัวเอง จากที่เคยเล่าเรื่องแบบสารคดีเหมือนเดิมๆ ถ้าเราลองเอาเรื่องแต่งมาใส่ มีการเล่าเรื่อง มีเพลงประกอบ เราจะยังสามารถถ่ายทอดสารของเราให้คนดูได้ไหม?”

“เพราะตอนเป็นสารคดีก็เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงให้คนรับรู้ แต่พอใส่เรื่องแต่ง/เรื่องเล่าในเชิงกวีเข้าไปด้วย เราคิดว่าน่าจะกระตุ้นให้ผู้ชมจินตนาการไปด้วยได้ เราคิดว่าศิลปะควรจะเป็นพื้นที่ที่คนได้เปิดมุมมอง เปิดการรับรู้ ได้ใช้จินตนาการผนวกกับประสบการณ์ของตัวเองทำให้เขาคิดต่อได้”

สารคดีผสมเรื่องแต่งของปิยะรัศมิ์เรื่องนี้ ถูกนำเสนอในรูปแบบของวิดีโอจัดวางฉายบนจอขนาดใหญ่ในห้องแสดงงานหลักของหอศิลป์ ที่น่าสนใจก็คือ บนพื้นห้องหว่านโรยด้วยปูนขาวจนเต็มพื้นที่ เมื่อย่างเท้าเข้าไปในห้องเราต้องเหยียบย่ำผงปูนขาวหนาเตอะจนเป็นรอยเท้ายุบยับ ให้สัมผัสที่แปลกประหลาดอยู่ไม่น้อย

ปิยะรัศมิ์บอกเราว่า ที่เธอทำเช่นนี้เพราะต้องการให้ผู้ชมสัมผัสกับผงธุลีของวัตถุต้นเรื่องอย่าง “ปูนขาว” โดยตรงด้วยตัวเอง ทั้งจากความรู้สึกเวลาเหยียบย่ำ หรือแม้แต่การสูดดมกลิ่นก็ตามที

นอกจากผลงานวิดีโอจัดวางในห้องแสดงงานหลักแล้ว ในห้องแสดงงานอีกห้อง ยังมีผลงานอีกสองชุดจัดแสดงอยู่ หนึ่งคือผ้าใบสีขาวที่ทำจากถุงปูนซีเมนต์เย็บต่อกันเป็นผืนใหญ่ห้อยลงมาจากเพดาน อีก (จำนวน) หนึ่งคือประติมากรรมรูปก้อนหินสีขาวขนาดเขื่องสามชิ้น

ปิยะรัศมิ์ทำการย้อนรอยวัตถุดิบที่ถูกแปรรูปไปแล้วอย่างปูนขาวและปูนซีเมนต์ ด้วยการนำมาทำให้กลับคืนสู่สภาวะดั้งเดิมของมันอย่างก้อนหิน เธอยังเอาบรรจุภัณฑ์ของวัสดุที่ใช้อุตสาหกรรมก่อสร้างชนิดนี้มาสร้างเป็นผลงานจิตรกรรม ต่อเนื่องจากผลงานในชุดก่อนหน้าที่เธอทำเกี่ยวกับวัสดุสิ่งทอและแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ถึงแม้ผลงานเหล่านี้ดูเหมือนจะแข็งและหนัก แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกเปราะบางราวกับจะสลายไปด้วยการสัมผัสเพียงแผ่วเบา และยั่วเย้าให้เราสงสัยว่ามันคืออะไรกันแน่

ผลงานในนิทรรศการนี้ของปิยะรัศมิ์ นอกจากจะสำรวจและตีแผ่ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันในระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในประเทศโลกที่สามอย่างตรงไปตรงมา หากแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยลีลาในเชิงกวีแล้ว มันยังกระตุ้นให้ผู้ชมอย่างเราสงสัยและตั้งคำถามต่อโลกที่เราอาศัยอยู่ด้วยว่า เราจะเชื่อมั่นในความเป็นจริงที่เราเห็นด้วยตาได้มากแค่ไหนกันแน่

นิทรรศการ ธุลี (particle) โดย ปิยะรัศมิ์ ปิยะพงศ์วิวัฒน์ จัดแสดงที่ แกลเลอรี ซีสเคป (Gallery Seescape) 22/1 ถนนนิมมานเหมินทร์ ซอย 17 จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน – 9 พฤศจิกายน 2562 สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ 09-3831-9394 facebook m.me/galleryseescape และอีเมล [email protected]

ขอบคุณภาพจากศิลปิน ข้อมูลบางส่วนจากบทความโดยวุธ ลีโน