second hand dialogue ศิลปะจากการบริจาคบทสนทนา (มือสอง)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมาอีกงาน

เลยถือโอกาสเอามาเล่าให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการที่ว่านั้นมีชื่อว่า

second hand dialogue

ที่แสดงผลงานของผู้กำกับและนักเขียนบทภาพยนตร์ขวัญใจวัยรุ่นเด็กแนวอย่างนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่เปลี่ยนเวทีทำงาน จากการทำภาพยนตร์เพื่อฉายในโรงหนัง มาเป็นการทำงานศิลปะเพื่อแสดงในหอศิลป์

ซึ่งจะว่าไป ครั้งนี้ก็นับเป็นครั้งที่สองของเขาแล้ว

ในคราวนี้เขากลับมากับผลงานที่เป็นการทดลองเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ผ่านบทสนทนา

ด้วยการเชิญชวนให้ผู้ชมที่เข้ามาในหอศิลป์ร่วมบริจาคบทสนทนาทางโทรศัพท์ ความยาวไม่เกิน 3 นาที

บทสนทนามือสองที่ถูกบริจาคเหล่านี้ จะถูกบันทึก จัดเก็บ และอาจถูกกระจายเสียงในพื้นที่ของหอศิลป์ โดยพื้นที่ของห้องแสดงงานหลักของหอศิลป์จะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน

คือห้องบันทึกเสียง และห้องเยี่ยมชม

นิทรรศการsecond hand dialogue

ห้องบันทึกเสียงจะถูกซอยแบ่งออกเป็นห้องเล็กๆ ขนาดพอดีคน ให้ผู้ชมเข้าไปโทรศัพท์หาใครสักคน และเสียบต่อโทรศัพท์เข้ากับไมค์ส่งสัญญาณเสียงบทสนทนาเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของนิทรรศการบันทึกบทสนทนาเอาไว้

จะว่าไป ห้องนี้ก็ดูคล้ายกับห้องทดลองอยู่ไม่หยอกเหมือนกัน

ส่วนห้องเยี่ยมชม ถูกสร้างอยู่เบื้องหลังห้องอัดเสียง เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับเฝ้าดูปรากฏการณ์ในห้องทดลองที่ว่า โดยผู้ชมสามารถเข้าไปสังเกตกระบวนการบันทึกเสียง และอ่านบทสนทนาที่ถูกถอดความและพิมพ์ขึ้นไปฉายบนจอที่อยู่ในห้อง

คนที่อยู่ด้านนอกห้องก็อาจจะได้ฟังบทสนทนาที่ไม่ปะติดปะต่อได้จากลำโพงที่ติดอยู่ด้านนอกห้องแสดงงาน

นิทรรศการsecond hand dialogue

บทสนทนาที่ได้รับบริจาคในนิทรรศการนี้ จะถูกแปลงเป็นข้อความ เรียบเรียง ตีพิมพ์เป็นหนังสือ และส่งกลับไปยังผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับการแบ่งปันบทสนทนาของพวกเขา

โดยผู้มีความประสงค์บริจาคบทสนทนาสามารถลงทะเบียนเพื่อนัดหมายวันและเวลาล่วงหน้าเพื่อเข้าไปบริจาคบทสนทนาทางเว็บไซต์ www.secondhanddialogue.com โดยมีค่าลงทะเบียน 250 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์หนังสือ

ส่วนใครที่ไม่อยากจะบริจาคบทสนทนา ก็สามารถเข้าไปเยี่ยมชมกระบวนการบันทึกและจัดเก็บข้อมูลได้ในห้องเยี่ยมชมตลอดเวลาทำการในนิทรรศการ

นวพลเล่าให้ฟังถึงแนวคิดของนิทรรศการครั้งนี้ของเขาว่า

“งานชุดนี้มาจากการกระบวนการการทำงานปกติของคนเขียนบท หรือผู้กำกับหนังอย่างเรา เพราะสำหรับเรา หนังมาจากความเป็นจริงของคนรอบๆ ตัว ที่เราเอามาประกอบ ดัดแปลง เขียนใหม่โดยอ้างอิงจากสิ่งที่เราเห็นหรือได้ยิน อย่างปกติในการเขียนบท บางทีเราได้บทสนทนาในหนังมาจากคำพูดของคนอื่นที่เราบังเอิญได้ยิน

นิทรรศการsecond hand dialogue

สมัยก่อนเราอาจจะเอามาจากที่เพื่อนๆ เราคุยกัน แต่หลังๆ เหมือนหูเราไวขึ้น บางทีเราไปนั่งที่ไหน ได้ยินคนอื่นคุยกันเข้าหู บังเอิญเขาคุยดังน่ะ (หัวเราะ) เราก็นั่งฟังไป เราก็รู้สึกเหมือนเราได้สำรวจสิ่งใหม่ๆ ได้วิธีพูดแปลกๆ มา

บางทีเราอาจจะฟัง โดยที่ไม่ได้มองเขาด้วยซ้ำ แต่เรารู้สึกว่ามันมีพลังขับเคลื่อน มีเรื่องราวอะไรบางอย่าง เหมือนเราได้อะไรจากการฟังแบบนี้เยอะ อาจเป็นเพราะหนังที่เราทำเน้นไปทางบทสนทนาค่อนข้างเยอะ เราเลยเอามาใช้ตอนกำกับเสียมาก

เพราะเวลาเรากำกับนักแสดง โดยส่วนใหญ่เราจะกำกับวิธีพูด หรือว่าน้ำเสียง เพราะสำหรับเรา เสียงพูดมีผลกับการแสดงค่อนข้างเยอะ เราไม่รู้ว่าคนอื่นใช้วิธีไหนนะ แต่สำหรับเราเหมือนกับ อย่างเวลาที่คุณแสดงว่าคุณเสียใจ คุณไม่ต้องร้องไห้ออกมาก็ได้ แค่เสียงสั่นเราก็รู้สึกได้แล้ว เรารู้สึกว่าการเขียนบทแบบนี้มันยาก แต่ว่าเราก็พยายามจะทำออกมาให้ได้ แต่การจะทำแบบนี้ได้ คุณต้องมีคลังคำพูดและบทสนทนาพวกนี้เยอะพอ คุณต้องทำความเข้าใจกับการพูดของคนให้เยอะพอ นี่เป็นเป็นวิธีการทำงานของเรา

นิทรรศการsecond hand dialogue

เราก็เลยรู้สึกว่าอยากเอากระบวนการนี้ขึ้นมาทำเป็นงาน จากที่เคยค่อยๆ แอบๆ ฟัง ก็ เอ้า คุณเอามาให้เราเลยละกัน บริจาคบทสนทนามาเสียเลย ทำให้เป็นกระบวนการ ถอดบทสนทนาให้กลายเป็นบทพูด แล้วขึ้นเป็นข้อเขียน จากข้อเขียนกระจายเป็นสิ่งอื่นๆ ต่อ อาจจะเอาไปให้นักแสดงตีความขึ้นมาใหม่”

ซึ่งบทสนทนาเหล่านี้ก็ถูกนำมาตีความใหม่จริงๆ ในกิจกรรม second hand dialogue : reread ที่จัดขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีนักแสดงรับเชิญที่นวพลคัดเลือกมาให้อ่านบทสนทนาที่ได้รับบริจาคมา ซึ่งนำไปสู่การสร้างบทสนทนาขึ้นมาใหม่อีกครั้งในรูปแบบของการแสดงสด ภายในเวลา 45 นาที โดยที่นวพลไม่เข้าไปกำกับแต่อย่างใด

นิทรรศการsecond hand dialogue

นอกจากนี้ ในช่วงเวลาของนิทรรศการ ยังมีการจัดกิจกรรมเสวนา second hand dialogue : revise ในวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยนวพลชักชวน ดร.อรรถพล ธำรงรัตนฤทธิ์ มาพูดคุยเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลในบริบททางเทคโนโลยีและสังคมว่า นอกจากเรื่องการเก็บข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์แล้ว ข้อมูลบทสนทนาในแชตล็อกที่บริษัทหรือนักวิจัยเก็บเกี่ยวมาจากชีวิตประจำวันของเรานั้น ถูกนำไปใช้อะไรต่อบ้างในมุมมองฝั่งเทคโนโลยี

และสามารถสะท้อนอะไรได้บ้างเกี่ยวกับวัฒนธรรมของยุคสมัยนี้

กิจกรรม second hand dialogue : reread

เมื่อถามว่าคนทำหนังอย่างเขาติดใจอะไรกับศิลปะนัก จนต้องกลับมาทำนิทรรศการอีกเป็นครั้งที่สอง นวพลบอกกับเราว่า

“จริงๆ เราก็ไม่รู้นะ ว่าสิ่งที่เราทำอยู่นี่เรียกว่าศิลปะหรือเปล่า? แต่เราก็ไม่ได้สนใจอะไรนัก แค่เรามีความคิดและไอเดียนี้ แล้วเราแสดงออกมาในลักษณะนี้ แล้วผู้ชมได้รับความรู้สึกและประสบการณ์แปลกๆ กลับไป หรือว่าได้คิดอะไรกลับไปก็ตาม เราก็คิดว่างานของเราก็คงทำหน้าที่เหมือนๆ กัน ส่วนจะถูกนำไปต่อยอดให้เกิดสาธารณประโยชน์ เป็นการสร้างวัฒนธรรมแห่งการแบ่งปันให้กับผู้คนในสังคม รณรงค์ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เรียนรู้ที่จะให้ จากบทสนทนาเรื่องการฝากซื้อทอดมันปลาของเด็กคนหนึ่งกับแม่ ที่อาจจะเปลี่ยนชีวิตใครสักคนที่ได้ยินมันก็เป็นได้

ที่อธิบายหลักการมาทั้งหมด อันที่จริงแล้วเราแค่อยากขออนุญาตเสือกอย่างเป็นทางการเท่านั้นเองแหละ”

นิทรรศการ second hand dialogue จัดแสดงที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ตั้งแต่วันที่ 1-23 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ถึงแม้จะเป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่เราเพิ่งจะมีโอกาสได้นำเสนอเรื่องราวของนิทรรศการนี้ในยามที่มันจบไปแล้ว

แต่อย่างน้อยๆ เราก็อยากจะขอบันทึกและจัดเก็บปรากฏการณ์ทางศิลปะอันแปลกใหม่น่าสนใจนี้ในแฟ้มข้อมูล อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ ของเราเอาไว้บ้างอะไรบ้างก็ยังดี

ขอบคุณภาพจากบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่