ศิลปินผู้ใช้ภาพวาดสำรวจพลังอำนาจของภาพแทนความเป็นจริง

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เนื่องด้วยเดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นเดือนเกิดของศิลปินร่วมสมัยผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของโลก ที่ยังมีชีวิตอยู่

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า แกร์ฮาร์ด ริตช์เตอร์ (Gerhard Richter)

จิตรกรชาวเยอรมันผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของโลก

เขาทำงานภาพวาดทั้งในแบบจิตรกรรมเหมือนจริงราวกับภาพถ่าย จิตรกรรมนามธรรมและกึ่งนามธรรม, ภาพถ่าย และศิลปะจัดวาง ฯลฯ

เขาทำงานควบคู่ไปกับกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เฟื่องฟูในยุคปลายศตวรรษที่ 20 อย่างแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ (Abstract Expressionism), ป๊อปอาร์ต (Pop art) ของอเมริกันและอังกฤษ, มินิมอลลิสต์ (Minimalism) และคอนเซ็ปช่วลอาร์ต (Conceptual art)

ถึงแม้เขาจะซึมซับรับอิทธิพลจากแนวคิดของกระแสศิลปะเหล่านี้มา แต่ก็ยังคงความคิดและปรัชญาการทำงานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเอาไว้ได้อย่างชัดเจน

ผลงานของเขามักเป็นการสำรวจการแสดงออกถึงความเป็นจริงในภาพต่างๆ ทั้งการแสดงความหมายโดยตรงและความหมายแฝงนัยยะอันซับซ้อนคลุมเครือ

เขามักเล่นกับเส้นบางๆ ของความแตกต่างระหว่างภาพเหมือนจริงแบบภาพถ่าย และความไม่เหมือนจริงแบบภาพนามธรรม

และตั้งคำถามถึงพลังอำนาจของ “ภาพ” (Images) ในฐานะ “ภาพแทนความเป็นจริง” (Representation) ทั้งในภาพจิตรกรรม ภาพถ่าย และภาพในสื่อต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

เกิดในปี 1932 ในเมืองเดรสเดิน, เยอรมนี ในช่วงเวลาที่พรรคนาซีขึ้นสู่อำนาจ ญาติของเขามีส่วนร่วมโดยตรงกับกระแสเคลื่อนไหวของพรรคนาซี

เขามีพรสวรรค์ด้านการวาดภาพตั้งแต่สมัยเด็ก

เมื่ออายุได้ 16 ปี เขาลาออกจากโรงเรียนเพื่อไปฝึกงานเป็นนักวาดฉากให้โรงละคร

แต่การปะทุขึ้นของสงครามสร้างประสบการณ์อันเลวร้ายให้กับเขาอย่างมาก

ลุงของเขาตายในสงคราม พ่อของเขาก็ตกงาน

ความทุกข์ยากในครอบครัวและการฝึกฝนทางศิลปะภายใต้อุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ส่งผลให้เขามักจะเสาะหาแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ศิลปะจากธรรมชาติ

มากกว่าแนวคิดทางการเมือง ศาสนา หรือปรัชญาอะไรก็ตาม

ในช่วงปี 1951 เขาเข้าเรียนที่สถาบันศิลปะ Kunstakademi ที่เมืองเดรสเดิน และหาเลี้ยงชีพด้วยการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังและป้ายโฆษณาอุดมการณ์ทางการเมือง

ในช่วงนั้นเองที่พรรคคอมมิวนิสต์ที่ครองอำนาจในเยอรมนีตะวันออก กำหนดให้ศิลปะ โซเชียลเรียลลิสต์ (Social Realism) เป็นแนวทางหลักของนักศึกษาศิลปะทุกคน

ซึ่งเป็นนโยบายที่เปลี่ยนศิลปะให้กลายเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง

ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้รัฐบาลแบนนิทรรศการที่ขัดกับอุดมการณ์รัฐอย่างศิลปะป๊อปอาร์ตอเมริกัน และผลงานของกลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้าของอเมริกาและยุโรปอย่างฟลักซัส (Fluxus)

สิ่งนี้ส่งผลให้ริตช์เตอร์ต้องถูกบังคับให้ทำแต่งานศิลปะในรูปแบบอันจำกัดจำเขี่ย อย่างการวาดภาพภูมิทัศน์ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะโรแมนติกเท่านั้น

แต่ในปี 1959 เขาได้ไปเยือนเยอรมนีตะวันตก และได้ดูผลงานของศิลปินสมัยใหม่อย่างแจ๊กสัน พอลล็อก (Jackson Pollock) และลูซิโอ ฟอนตานา (Lucio Fontana) ร่องรอยสาดกระเซ็นของสีสันอันรุนแรงบนผืนผ้าใบของพอลล็อก และการกรีดผืนผ้าใบทะลุเป็นช่องของฟอนตานา สั่นสะเทือนความคิดเขาอย่างมาก

และกระตุ้นให้เขาหันมาตั้งคำถามว่า เหตุใดภาพวาดเหมือนจริงจึงไม่อาจจับเอาพลังความรู้สึกของความเป็นจริงและจิตวิญญาณอันเสรีของศิลปะได้เช่นเดียวกับงานศิลปะนามธรรมของศิลปินอเมริกันและยุโรปเหล่านั้น

หนำซ้ำ ผลงานภาพเหมือนจริงของเขาดูเหมือนจะล้มเหลวในการสะท้อนถึงแก่นแท้ของความเป็นจริงอันทรงพลังออกมาได้ด้วยซ้ำไป

ด้วยเหตุนี้ ทำให้หลังจากนั้นในช่วงปี 1961 เขาจึงเริ่มหันมาทำงานศิลปะแบบหัวก้าวหน้า (Avant-garde) ด้วยกระบวนการที่เป็นการทบทวนเกี่ยวกับการทำงานศิลปะของเขาเอง

เขาถึงกับทำลายผลงานที่ทำในช่วงเวลาก่อนหน้าไปหลายชิ้น

แต่ถึงแม้จะวาดภาพเหมือนจริงด้วยการใช้ภาพถ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพถ่ายบุคคล ที่หยิบยืมภาพจากหนังสือพิมพ์ หรือภาพจากอัลบั้มภาพถ่ายเก่าๆ ของครอบครัวเขามาใช้เป็นแบบวาดภาพ โดยฉายภาพด้วยโปรเจ็กเตอร์ลงบนผ้าใบแล้ววาดตาม

แต่เขาก็มักจะไม่วาดภาพเหมือนของบุคคลใดบุคคลหนึ่งออกมาโดยเฉพาะเจาะจง

หากแต่มักวาดภาพที่ไม่มีอะไรเหมือนกับแบบที่เขาวาดเลยออกมาแทน

Vintage (1968) ภาพวาดในชุด Grey Paintings, ภาพจากwww.gerhard-richter.com

ด้วยความหงุดหงิดรำคาญใจในการไล่ตามหาความสมบูรณ์แบบของความเหมือนจริง หรือแม้แต่ความเป็นนามธรรมในการวาดภาพ ริตช์เตอร์พัฒนาการวาดภาพแนวทางใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการวาดภาพ

ไม่ว่าจะเป็นการเบลอ ขูดขีด และทาสีทับหลายชั้น จนทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนของบุคคลในภาพเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้ผู้ชมต้องพิจารณาส่วนประกอบพื้นฐานของภาพวาดเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบ โทนสี

มากกว่าจะปล่อยให้ผู้ชมถูกรบกวนโดยเรื่องราว เนื้อหา หรืออารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ในภาพเหล่านั้น

ในปี 1966-1970 เขาวาดภาพชุดสีเทา (Grey Paintings) ที่แสดงถึงองค์ประกอบและโครงสร้างของการวาดภาพ มากกว่าจะนำเสนอความเหมือนจริงของสิ่งที่วาด ด้วยการใช้ฝีแปรงหนาหนัก หรือใช้ลูกกลิ้ง และแปรงปาดน้ำ ปาดสีอย่างรุนแรงจนดูไม่ออกว่าเป็นรูปอะไร (ซึ่งย้อนแย้งตรงที่ แปรงปาดน้ำมักถูกใช้เป็นอุปกรณ์ทำความสะอาดกระจก เพื่อให้เรามองเห็นผ่านมันได้ชัดขึ้น)

ด้วยการวาดภาพแบบนี้ ริตช์เตอร์ลดแรงปะทะทางสายตาของภาพเหมือนจริง และสร้างพื้นที่ลวงตาจากร่องรอยจากการวาดภาพอันรุนแรงขึ้นมา

ในช่วงปี 1966-1971 เขาไปไกลหนักข้อขึ้นอีกกับผลงานภาพวาดชุด Colour Charts ที่เขาวาดสีโทนต่างๆ เป็นช่องสี่เหลี่ยมเรียงกันเป็นตารางขนาดใหญ่บนผืนผ้าใบ จนดูคล้ายกับตารางสีแพนโทนยังไงยังงั้น

180 Colors (1971) ภาพวาดในชุด Colour Charts, ภาพจากwww.gerhard-richter.com

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากการที่เขาปฏิเสธที่จะอยู่ในกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะไหนๆ

และจากการที่ผลงานของเขาไม่แสดงความแยแสสนใจเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมการเมืองอันเป็นผลกระทบจากระบอบนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองแบบเดียวกับศิลปินร่วมยุคสมัยเดียวกันกับเขา

ในช่วงปี 1976 เขาทำงานในชุด Abstract Painting ภาพวาดนามธรรมที่เป็นรูปทรงและร่องรอยสีสันอันไร้ที่มาที่ไป บังคับให้ผู้คนตีความเอาเอง โดยที่เขาไม่อธิบายอะไรเลย

Abstract Painting (1976), ภาพจากwww.gerhard-richter.com

ปีต่อมา เขากลับมาวาดภาพบุคคลในผลงานชุด Baader-Meinhof (1976) ที่บันทึกเหตุการณ์เสียชีวิตอันอื้อฉาวของกลุ่มผู้ก่อการร้ายชาวเยอรมันในคุกสตัมไฮม์ ซึ่งได้แบบมาจากภาพถ่ายของเหล่าบรรดาผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรงปีกซ้ายแห่งกองทัพแดง (หรือที่รู้จักกันในชื่อ Baader-Meinhof)

Man Shot Down 1 (1988), ภาพวาดในชุด Baader-Meinhof, ภาพจากwww.gerhard-richter.com

ภาพวาดที่เลือนรางเหล่านี้แฝงนัยยะถึงปริศนาที่ยังไม่คลี่คลายของการฆ่าตัวตายหมู่ในคุกของกลุ่มผู้ก่อการร้ายเหล่านี้

ในช่วงยุค 1980 และ 1990 ริตช์เตอร์ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติจากผลงานภาพวาดนามธรรมที่ดูเผินๆ เหมือนเป็นภาพวาดแบบแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์

แต่ความจริงภาพวาดของเขาแสดงออกถึงกระบวนการในการวาดภาพด้วยร่องรอยของสีสันและฝีแปรง ต่างกับการแสดงออกถึงสภาวะทางอารมณ์ หรือจิตวิญญาณและความรู้สึกภายในของศิลปินแบบเดียวกับศิลปินแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์

Betty (1988) ภาพวาดลูกสาวของริตช์เตอร์, ภาพจากwww.gerhard-richter.com

ผลงานของเขาตัดขาดจากสิ่งเหล่านั้นและถึงความรื่นรมย์ทางสายตาอันบริสุทธิ์อย่างแท้จริง

ในช่วงปี 2000 เขาขยับขยายขอบเขตของการวาดภาพ ด้วยการทดลองทำงานจิตรกรรมนามธรรมบนพื้นผิวอันลื่นไหลด้านหลังของกระจก ไปจนถึงศิลปะจัดวางจากกระจก หรือแม้แต่ศิลปะกระจกสีในโบสถ์

ในฐานะศิลปิน ริตช์เตอร์ท้าทายกระแสเคลื่อนไหวในประวัติศาสตร์ศิลปะ ทั้งศิลปะโซเชียลเรียลลิสต์ ด้วยผลงานจิตรกรรมอันก้าวล้ำนำหน้า

หรือแม้แต่ในช่วงเวลาที่กระแสศิลปะแบบหัวก้าวหน้าอันแปลกใหม่หวือหวาอย่างคอนเซ็ปช่วลอาร์ต แผ่อิทธิผลไปทั่วยุโรปและอเมริกาจนเบียดบังศิลปะในรูปแบบเดิมๆ ที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนานอย่างงานจิตรกรรม และทำให้มันถูกมองว่าตายไปแล้ว

แต่ถึงกระนั้นริตช์เตอร์ก็ยังแสดงให้เห็นว่างานจิตรกรรมหรือการวาดภาพก็ยังคงเป็นเครื่องมือในการตั้งคำถามถึงความเป็นจริงของ “ภาพ” ต่างๆ ได้อย่างทรงประสิทธิภาพ ไม่ว่าภาพเหล่านั้นจะมีที่มาจากข่าว สื่อมวลชน ภาพยนตร์ ไปจนถึงโฆษณา หรือแม้แต่ภาพอินเตอร์เน็ตที่มีอยู่ในทุกหนแห่ง และภาพถ่ายครอบครัวก็ตามที

Grey on back of glass (2002) ภาพวาดนามธรรมบนพื้นผิวหลังกระจก, ภาพจากwww.gerhard-richter.com

ในยุคสมัยของงานศิลปะยุคหลังสมัยใหม่ ที่มองการปรารถนาความงามและสุนทรียะเป็นเรื่องเฉิ่มเชย ล้าสมัย และน่าอับอาย แกร์ฮาร์ด ริตช์เตอร์ ก็พลิกฟื้นคืนชีวิตให้แนวความคิดในการใฝ่หาความงามและสุนทรียะในการทำงานศิลปะกลับมาเปี่ยมเสน่ห์น่าสนใจอีกครั้งหนึ่ง