ขอนแก่นเมนิเฟสโต้ การเปิดพื้นที่ทางศิลปะอันดิบเถื่อน และทรงพลังแห่งแดนอีสาน (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ย้อนอ่านขอนแก่นเมนิเฟสโต้ การเปิดพื้นที่ทางศิลปะอันดิบเถื่อน และทรงพลังแห่งแดนอีสาน ตอนแรก

(ต่อ)

อย่างที่กล่าวเอาไว้ว่า เทศกาลศิลปะขอนแก่นแม่นอีหลี : เหลื่อม มาบ มาบ # 1 หรือ ขอนแก่นเมนิเฟสโต้นั้น เป็นเทศกาลศิลปะร่วมสมัยที่ออกจะดิบเถื่อนเอาการเสียหน่อย

ด้วยความที่พื้นที่จัดนิทรรศการหลักของมันเป็นพื้นที่ตึกเก่ารกร้าง

ตัวงานศิลปะที่ร่วมแสดงจึงเป็นงานในสไตล์ดิบๆ หยาบๆ เถื่อนๆ แต่ก็เปี่ยมด้วยพลังและไอเดียอันล้นหลั่งถั่งท้น และท้าทายความรู้สึกของคนดู (และเหล่าบรรดาผู้มีอำนาจในสังคม) เป็นอย่างยิ่ง

ที่สำคัญ เนื้อหาของเทศกาล รวมถึงผลงานในนิทรรศการนี้ ล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยนัยยะทางการเมืองอย่างเต็มปรี่

เอาง่ายๆ ขนาดวันเปิดงานเทศกาล เขายังเลือกวันที่ 6 ตุลาคม วันที่เกิดเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยกันเลยทีเดียว

ก็ไม่รู้ว่าเพราะเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้ผลงานในนิทรรศการนี้ถูกแบน เบลอ ฉีกทึ้ง เซ็นเซอร์ และถูกปลดออกจากพื้นที่แสดงไปหลายชิ้น

ถ้าเราจะเล่าถึงผลงานศิลปะทั้งหมดในเทศกาล พื้นที่คงไม่พอลง

เอาเป็นว่าขอพูดถึงงานที่โดดเด่นโดนใจเราบางชิ้นพอเป็นกระสายก็แล้วกัน

เริ่มด้วยผลงานของ Guerrilla Boys กลุ่มศิลปินปริศนาผู้ไม่เปิดเผยหน้าตาและตัวตน ที่มักจะทำงานศิลปะฉับพลัน (Happening Art) ด้วยกระบวนการศิลปะแบบกองโจรอันเป็นลักษณะเฉพาะตัว

ผลงานของGuerrilla Boys

ในครั้งนี้พวกเขามากับกราฟฟิตี้บนผนังตึกรูป สฤษดิ์ใหญ่กับสฤษดิ์น้อย วิ่งรับ-ส่งไม้วิ่งผลัด (และไมโครโฟน / ฐานที่ชอบแต่งเพลงจนจะออกอัลบั้มได้อยู่แล้ว) ซึ่งแสดงสัญลักษณ์เสียดสีการสืบทอดอำนาจรัฐประหารที่มีมาหลายครั้งได้อย่างแสบสัน จนถูกมือดีสาดสีทับจนเกือบมิด

ผลงานของGuerrilla Boys

หรือภาพวาดจำลองหนังสือ “จอมพลของคุณหนูๆ ฉบับสมบูรณ์” ผลงานศิลปะเชิงหยิกแกมหยอก ชื่นชมแกมอิจฉาในอำนาจวาสนาในการมีภรรยาน้อยจำนวนไม่น้อย (ร่วมร้อยคน) ของจอมพลผ้าขาวม้าแดง สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้อย่างขบขันครื้นเครงอย่างยิ่ง

ผลงานเหล่านี้นับว่าเป็นอะไรที่เบาๆ เบาะๆ เพราะผลงานชิ้นอื่นหรือก็อื้อฉาวร้อนแรง

จนท้ายที่สุดก็โดนเจ้าหน้าที่รัฐสั่งปลดออกจากผนังกันเลยทีเดียว

ตามมาด้วยผลงานของเจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์ ศิลปะจัดวางแบบเจาะจงพื้นที่ (Site Specific Installation) รูปตัวหนังสือพลาสติกที่ติดบนแนวระเบียงชั้นดาดฟ้าของตึก GF เพื่อให้คนดูอ่านตัวหนังสือและมองภาพทิวทัศน์ของเมืองขอนแก่นไปพร้อมๆ กัน

โดยตัวหนังสือที่อ่านจะมีเนื้อหาสอดคล้องสัมพันธ์กับภาพทิวทัศน์ที่มองเห็น

โดยเจษฎาเดินทางไปเยี่ยมเยือนชุมชนรอบๆ ตึก GF ในบริเวณที่เขามองเห็นเป็นสีเขียวในเฉดต่างๆ จากบนดาดฟ้าตึก และทำการสัมภาษณ์ชาวบ้านในชุมชนเหล่านั้นในประเด็นต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง, ความเป็นอยู่, ปากท้อง, วิถีชีวิต, เรื่องสัพเพเหระทั่วๆ ไป

แล้วเลือกประโยคหนึ่งจากบทสัมภาษณ์เหล่านั้นมาทำเป็นแบบฉลุตัวอักษรพลาสติกมาติดบนระเบียง

โดยแต่ละประโยคจะอยู่ตรงกับทิวทัศน์ของพื้นที่ในตำแหน่งเดียวกันกับบริเวณที่เขาไปสัมภาษณ์มา

และผลงานของอดิศักดิ์ ภูผา ที่เป็นไม้ลื่นติดตั้งบนระเบียงดาดฟ้าของตึก ปลายของไม้ลื่นทอดลงไปสู่ขอบตึกสูงเหมือนกับจะให้คนลื่นไถลร่วงหล่นลงไปสู่พื้นด้านล่าง

ราวกับเป็นสัญลักษณ์ของการร่วงหล่นสู่เหวของเศรษฐกิจในยุคฟองสบู่

อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ตึกนี้กลายเป็นตึกร้าง (ถ้าใครไปดูงานก็อย่าบ้าจี้ปีนไม้กระดกนี้ลื่นลงไปจริงๆ ล่ะ ตกลงไปตายหยังเขียดแน่นอน)

หรือผลงานของตะวัน วัตุยา ศิลปินผู้เชี่ยวชาญการวาดภาพสีน้ำอันรวดเร็วฉับไว และเปี่ยมอารมณ์ที่สำรวจสถานการณ์อันผันผวนของสังคมและการเมืองของไทย

ผลงานของตะวัน วัตุยา

กับภาพวาดสีน้ำรูปใบหน้าสีแดงฉานของเหล่าบรรดาผู้คนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ดูเรียบง่าย แต่สั่นสะเทือนจิตใจเป็นอย่างยิ่ง

และผลงานของวรพันธุ์ อินทรวรพัฒน์ ศิลปะจัดวางสุดสยองราวกับหลุดออกมาจากฉากในหนังเขย่าขวัญ ที่จำลองสถานการณ์ของคดีการตายปริศนาที่ได้แรงบันดาลใจจากความทรงจำ, ประสบการณ์, หลักฐานทางประวัติศาสตร์, ความเชื่อของคนในแต่ละท้องถิ่น

ผลงานของวรพันธุ์ อินทรวรพัฒน์

ไม่ว่าจะเป็นตำนานท้องถิ่น ผีแม่ม่าย ที่พรากชีวิตชายชาวอีสานในยามหลับใหลไปนับไม่ถ้วน

หรือสภาพสังคมยุคเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่จับกุม, คุมขัง และฆ่าประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างโดยไม่ต้องสอบสวน

หรือเหตุการณ์ลุกฮือของประชาชนที่หนีไปร่วมกับพรรคอมมิวนิสต์ที่หมู่บ้านนาบัว จังหวัดนครพนม ในวันที่ 8 สิงหาคม 2508 ที่รู้จักกันในชื่อ “วันเสียงปืนแตก” หลังจากการเสียชีวิตของจอมพลสฤษดิ์เพียงไม่กี่ปี

และการฟ้องร้องคดีมรดกอันอื้อฉาวของเขา ผนวกเข้ากับความทรงจำ ภาพฝันอันหลอกหลอน บาดแผลฝังลึกในอดีตของศิลปินที่เกิดจากผลกระทบของครอบครัว ที่พ่อปกครองด้วยอำนาจเผด็จการและใช้ความรุนแรง จนครอบครัวล่มสลาย และแม่ต้องพึ่งพาไสยศาสตร์จนกลายเป็นแม่มดหมอผี

หรือผลงานของวันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร ที่แสดงภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำของอำนาจการครอบครองอยู่อาศัยและที่ดิน ที่จำกัดอยู่ในมืออภิสิทธิ์ชนเพียงไม่กี่กลุ่ม ด้วยกระดาษบางเฉียบแผ่นเล็กไม่ถึงคืบ ปักตรึงกับผนังอาคารร้างด้วยหมุดทองคำ บนกระดาษพิมพ์ประโยคใจความว่า “We art the 99.99% occupy nothing!” (เราเป็นคนจำนวน 99% ที่ไม่ได้ครอบครองอะไรเลย!)

ผลงานของวันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร

ที่แสดงการเสียดสียอกย้อนระหว่างวัสดุและความหมายของถ้อยคำเป็นอย่างยิ่ง

และผลงานของธนภณ อินทร์ทอง ภาพวาดในกรอบโลหะที่จำลองแผนที่เส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอสมาแทบจะไม่ผิดเพี้ยน

ผลงานของธนภณ อินทร์ทอง

บนตัวแผนที่มีรูคล้ายกับรอยกระสุน ซึ่งศิลปินได้แรงบันดาลใจจากการที่เขาพบเจอแผนที่รถไฟฟ้าที่มีรอยลูกกระสุนจริงๆ ที่เกิดจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วง พ.ศ.2548-2553

ผลงานชิ้นนี้เป็นเสมือนบันทึกความทรงจำของศิลปินต่อตัวเองและครอบครัวที่มีประสบการณ์ในเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองในครั้งนั้น

หรือผลงานวิดีโอของอำพรรณี สะเตาะ ที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับผู้อพยพลี้ภัยที่ต้องพลัดพรากจากถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเอง

ผลงานวิดีโอของอําพรรณี สะเตาะ

และผลงานของศิลปินรุ่นใหญ่อย่างทองธัช เทพารักษ์ กับผลงานการ์ตูนล้อการเมืองบนฝาผนัง ที่เสียดสีความล้าหลังของรัฐเผด็จการ หรือแม้แต่ผลงานภาพคอลลาจการเมืองของนักเขียนรุ่นใหญ่อย่างสุชาติ สวัสดิ์ศรี ก็ยังมี

หรือผลงานศิลปะสำเร็จรูปสนุกๆ ของศิลปินเยอรมัน อัลแบรทซ์ ยอท. พิสเชล (Albrecht J. Pischel) ที่ติดแอร์กระดาษกงเต็กตามจุดต่างๆ ในพื้นที่แสดงงาน (และสถานที่แสดงงานอื่นๆ)

ผลงานศิลปะสําเร็จรูปของอัลแบรทซ์ ยอท.พิสเชล

นอกจากนี้ ในงานยังมีศิลปะการแสดงสดของศิลปินมากหน้าหลายตา อาทิ ผลงานศิลปะแสดงสดผสมกวีของซะการีย์ยา อมตยา ที่เขียนชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบลงบนพื้นด้วยมือ แล้วลบด้วยเท้า และอ่านบทกวี “รายงานจากหมู่บ้านที่ถูกปิดล้อมไว้” ของเขาอย่างเกรี้ยวกราดทรงพลัง คลอเคียงด้วยเสียงสวดภาวนาแด่ผู้ตายจากเครื่องเสียงจนสะกดคนดูได้อย่างชะงัด

ผลงานศิลปะแสดงสดผสมกวีของซะการีย์ยา อมตยา

ที่โดดเด่นอื้อฉาวไม่แพ้ผลงานก็คือสภาพแวดล้อมในตึกร้างที่สร้างความหวาดเสียวให้ผู้เข้ามาชมงานต้องมีสติและระมัดระวังตัวทุกย่างก้าว

เพราะถ้ามัวเซลฟี่กับผลงานจนลืมตัวก็อาจตกตึกได้

ห้องส้วมในบริเวณตึกร้าง GF

แถมห้องส้วมในตึก ก็ดิบเสียจนเราคิดว่าเขาเอาโถฉี่ของดูชองป์มาติดให้เราฉี่ใส่ยังไงยังงั้นเลย

นอกจากพื้นที่แสดงงานที่ตึกร้าง GF แล้ว เทศกาลศิลปะขอนแก่นเมนิเฟสโต้ยังมีพื้นที่แสดงงานอยู่อีกสองแห่งด้วย แห่งแรกคือ YMD ART SPACE ที่แสดงคอลเล็กชั่นของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

ซึ่งเป็นผลงานเก่าเก็บของสองศิลปินอีสานและหนึ่งศิลปินลาวอย่างโชคชัย ตักโพธิ์, นิพนธ์ ขันแก้ว และคำสุข แก้วมิ่งเมือง ที่แสดงออกถึงประวัติศาสตร์ทางการเมืองของอีสานในยุค พ.ศ.2503-2513 ของทั้งไทยและลาว อันหาดูได้ยากยิ่ง

อีกแห่งก็คือ HUAK Society (HUAK/ฮวก ภาษาอีสานแปลว่าลูกอ๊อด) ของศิลปินท้องถิ่นจากขอนเก่น นิพนธ์ ขันแก้ว

ผลงานของนิพนธ์ ขันแก้ว ในHUAK Society

กับผลงานของเขาอย่าง “จำนวนที่ไม่ถูกนับ” ภาพวาดผู้คนและสัตว์เลี้ยงบนกระดาษที่ถูกแยกส่วนออกจากกัน แล้วนำไปปะติดบนพื้นผิวสังกะสีผุพังขึ้นสนิม มีรอยสเปรย์พ่นเป็นตัวเลข ประกบด้วยไม้เก่าๆ ผุพัง

โดยจำลองจากสภาพซากบ้านของชุมชนริมทางรถไฟที่ตั้งอยู่บนที่ดินไร้กรรมสิทธิ์ และถูกผลักไสไล่รื้อออกจากที่อยู่อาศัยของตัวเอง โดยการพ่นสเปรย์บนสังกะสีเป็นรหัสตัวเลขมีความหมายว่าผู้อาศัยจะต้องย้ายออกโดยไม่มีทางเลือกและโต้แย้งใดๆ

นิพนธ์ต้องการถ่ายทอดความรู้สึกของการถูกขับไล่ออกจากที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงการกระทำของรัฐต่อชุมชนและประชาชนในประเทศนี้

อ้อ ถ้าใครสงสัยว่า “เหลื่อม มาบ มาบ” นั้นแปลว่าอะไร?

ทางผู้จัดเขาก็ชี้แจงแถลงไขว่า มันหมายถึง แสงที่ส่องเป็นจังหวะให้เห็นแต่ไกล อันเป็นสัญลักษณ์ถึงปรากฏการณ์การผุดพรายของชุมชนผู้ไร้สิทธิทางศิลปวัฒนธรรมที่เปล่งประกายแสงผ่านศิลปะให้ผู้คนได้แลเห็นกันนั่นเอง

เทศกาลศิลปะขอนแก่นเมนิเฟสโต้ เปิดให้ชมตั้งแต่วันที่ 6-26 ตุลาคม พ.ศ.2561 เวลา 10:00-19:00 น. ที่ผ่านมา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิทรรศการได้ที่ http://khonkaenmanifesto.art/, หรือเข้าไปดูแผนที่ของสถานที่แสดงงานและตารางกิจกรรมได้ที่ https://bit.ly/2IKUey7

ขอบคุณภาพจากขอนแก่นเมนิเฟสโต้, Guerrilla Boys, เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์, Gallery Ver, อัลแบรทซ์ ยอท. พิสเชล