เอสซีจี เผยรายได้ไตรมาส 3/67 กำไร 721 ล้าน ลดลง 81% พร้อมเผยแผนสั้น-ยาว หวังแก้เกมเศรษฐกิจรุมเร้า

ปี 2566 – 2567 ถือเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกผันผวนอย่างมีนัยสำคัญจากวิกฤตการณ์ต่างๆ อาทิ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก ภาวะเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงได้ช้า ความผันผวนของราคาพลังงานและราคาไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงปัจจัยความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศต่างๆ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยภายนอกเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน รวมถึง ‘เอสซีจี’ หรือ ‘บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด’ 

เอสซีจี ในฐานะบริษัทปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเสริมแกร่งและสร้างความคล่องตัวและเข้มแข็งให้กับองค์กร เพื่อที่จะก้าวข้ามความผันผวนของเศรษฐกิจ มุ่งรักษาเสถียรภาพทางการเงินให้มั่นคง และควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม ขณะเดียวกันก็มีการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยผลประกอบการ 9 เดือนปี 2567 เอสซีจีมีรายได้ 380,660 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน จากปริมาณการขายของเอสซีจี เคมิคอลส์ และเอสซีจีพี โดย EBITDA (กำไรก่อนต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย โดยรวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม) 38,768 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไร 6,854 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 75 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากค่าใช้จ่ายการเดินเครื่องโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals – LSP) ส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลง และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมที่ลดลงขณะที่กำไรไม่รวมรายการพิเศษ ลดลงร้อยละ 46 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ซึ่งไตรมาส 3 ของปี 2567 เอสซีจีมีรายได้ 128,199 ล้านบาท โดย EBITDA 9,879 ล้านบาท กำไร 721 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 81 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่า การปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลง และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง ประกอบกับไตรมาสก่อนเป็นช่วงที่มีรายได้เงินปันผลรับจากการลงทุนในธุรกิจอื่น

“ท่ามกลางสถานการณ์ท้าทายเช่นนี้ เสถียรภาพทางการเงินยังถือเป็นเรื่องที่เอสซีจีให้ความสำคัญเสมอมา โดยเอสซีจีมี ‘เงินสดคงเหลือ’ อยู่ในมือตอนนี้ประมาณ 48,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันในปี 2567 เอสซีจีตั้งเป้าใช้ ‘งบลงทุน’ อยู่ประมาณ 40,000 ล้านบาท ปัจจุบันใช้ไปแล้ว 37,000 ล้านบาท ไม่รวมเงินลงทุนที่ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง นำไปซื้อหุ้นของบริษัท Fajar ผู้นำธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ ประเทศอินโดนีเซีย มูลค่า 23,000 ล้านบาท” นางจันทนิดา สาริกะภูติ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าว

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม

ดังนั้น นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จึงได้เผยแผนแก้เกมของทางเอสซีจีว่า เพื่อให้รายได้ของปีนี้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3% จากปีก่อน เอสซีจีตั้งเป้าในระยะสั้น คือ ‘ลดต้นทุน’ ภาพรวมองค์กร 5,000 ล้านบาท ภายในปี 2568 ‘ลดเงินทุนหมุนเวียนลง’ 10,000 ล้านบาท ภายในไตรมาส 1 ปี 2568 ‘ยกเลิกกิจการที่ไม่ทำกำไร’ เช่น SCG Express และธุรกิจด้านดิจิทัลเทคโนโลยี OITOLABS ในประเทศอินเดีย และ ‘ขายสินทรัพย์’ เพิ่มความคล่องตัวและมุ่งเน้นรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ประกอบกับยกระดับประสิทธิภาพการผลิต รักษา EBITDA ให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ต่อเนื่อง 

อาทิ เพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนโรงงานปูนซีเมนต์ในไทยร้อยละ 50 ภายในปีนี้ การใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติ (Automation) ผลิตกระเบื้อง แม่นยำ รวดเร็ว ลดวัสดุเหลือใช้ อย่างไรก็ตาม เอสซีจีมีการลงทุนในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายเติบโตร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย

 

“ในระยะยาว เอสซีจีจะให้ความสำคัญไปที่เรื่อง Inclusive Green Growth เพื่อเพิ่มโอกาสและความได้เปรียบทางธุรกิจ ดังนั้นจึงเร่งลงทุนโครงการอีเทนที่ LSP ลดต้นทุนวัตถุดิบ ด้วยงบลงทุน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลก ทั้งยังช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต พร้อมดันนวัตกรรมกรีนมูลค่าเพิ่มสูง อาทิ ปูนคาร์บอนต่ำ เจเนอเรชัน 2 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี มีสัดส่วนการใช้ปูนคาร์บอนต่ำทดแทนแบบเดิมร้อยละ 86 พลาสติกรักษ์โลก SCGC GREEN POLYMER TM เติบโตต่อเนื่อง” กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าว

ขณะเดียวกัน เอสซีจีได้ปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงาน ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ มีศักยภาพ มีโอกาสเติบโตสูง สอดรับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน

นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ
นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ

นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ เอสซีจีซี เผยว่า จากสถานการณ์วัฏจักรปิโตรเคมีขาลง เอสซีจีซีจึงรุกสร้างศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันระยะยาว ด้วยโครงการลงทุนการปรับปรุงกระบวนการผลิต LSP เพื่อสามารถรับก๊าซอีเทนสหรัฐอเมริกา ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพราะเป็นวัตถุดิบที่ต้นทุนสามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลก และเพิ่มความยืดหยุ่นของวัตถุดิบในการผลิต ใช้เงินงบลงทุนประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่เพื่อสร้างถังรับก๊าซอีเทน และสาธารณูปโภคการรับวัตถุดิบ คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จปลายปี 2570

ด้านนวัตกรรมกรีน SCGC GREEN POLYMER TM ไปได้ดี ล่าสุดผนึกกำลังกับพันธมิตรชั้นนำ บางจากฯ และปัญจวัฒนาพลาสติก ผลิต ‘บรรจุภัณฑ์หัวเชื้อน้ำมันดีเซลรักษ์โลก FURiO Ultra HD’ จากวัสดุใช้แล้วในครัวเรือนนำมาปรับปรุงคุณสมบัติสูตรเฉพาะทำให้บรรจุภัณฑ์มีความแข็งแรง ทนทาน ใช้งานได้อย่างปลอดภัย ทั้งยังผ่านการรับรองจาก GRS (Global Recycled Standard) และร่วมกับ คาโอ อินดัสเตรียล บริษัทชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น พัฒนา ‘บรรจุภัณฑ์ขวดแชมพูรักษ์โลก’ จากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง สามารถรีไซเคิลได้ร้อยละ 100

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและที่อยู่อาศัย ภาพรวมยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณจากภาครัฐ เพื่อเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ตลาดสินค้าวัสดุก่อสร้างของไทยยังชะลอตัวจากงานโครงการที่ชะลอตัว และภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง” นายศักดิ์ชัย กล่าว

ในขณะที่ นายสุรชัย นิ่มละออ กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ กล่าวในส่วนของกลุ่มธุรกิจนี้ว่า ‘เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์’ ตอนนี้เร่งต่อยอดเทคโนโลยีก่อสร้างด้วย 3D Printing และพัฒนาวัสดุที่สามารถแข็งตัวและให้กำลังอัดคล้ายกับปูนซีเมนต์ชนิดพิเศษ (Special Cementitious Materials) รองรับการผลิตขึ้นรูปในตลาดโลก ล่าสุดลงนามร่วมกับบริษัท Samsung E&A ประเทศเกาหลีใต้ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้าง เพิ่มประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว แม่นยำ ลดต้นทุนและวัสดุเหลือใช้จากงานก่อสร้าง รวมทั้งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ

ด้าน เอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล และ เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ นายวิโรจน์ รัตนชัยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า ‘เอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล’ บุกตลาดค้าปลีกศักยภาพสูงสำหรับสินค้าและบริการเรื่องบ้านที่โตต่อเนื่อง ล่าสุดเร่งขยายโมเดิร์นเทรด Mitra 10 ในประเทศอินโดนีเซีย เปิดเพิ่มอีก 2 สาขาที่เมืองจาบาเบกา และซามารินดา โดยยังมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 4 แห่งภายในปี 2567 พร้อมเดินหน้าเสิร์ฟกลุ่มสินค้า House Brand ที่หลากหลาย ราคาเข้าถึงได้ ในช่องทางจัดจำหน่ายภายในประเทศ อาทิ กลุ่มสินค้าตกแต่ง แบรนด์ UNIX  กลุ่มสินค้าเหล็ก แบรนด์ TOPSTEEL และกลุ่มอุปกรณ์เครื่องมือช่าง TOPPRO นอกจากนี้ คิวช่าง (Q-Chang) เเพลตฟอร์มศูนย์รวมช่างคุณภาพและบริการดูแลบ้านครบวงจร เติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันมีเครือข่ายช่างผู้เชี่ยวชาญกว่า 10,000 ราย ให้บริการลูกค้ามากกว่า 300,000 รายทั่วประเทศ รุกเสริมเเกร่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยครอบคลุมทุกความต้องการ พร้อมเปิดรับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่พร้อมร่วมมือสร้างศักยภาพการขยายธุรกิจ และเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

ส่วน ‘เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง’ เดินหน้าไปที่นวัตกรรมวัสดุตกแต่งภูมิทัศน์ โดยร่วมกับ จ.ร้อยเอ็ด สร้างแลนด์มาร์คภาคอีสาน ด้วยการออกแบบชูวัฒนธรรมสร้างอัตลักษณ์ เลือกใช้บล็อกและกระเบื้องปูพื้นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตร้อยละ 40 ที่ได้รับรอง SCG Green Choice และคาร์บอนฟุตพรินต์ผลิตภัณฑ์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแห่งประเทศไทย ทั้งยังผลักดันสินค้าสำเร็จรูป และระบบติดตั้ง ตอบโจทย์ก่อสร้างรวดเร็ว เพื่อแก้ปัญหาให้ลูกค้าที่ต้องการซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วม

ส่วน ‘เอสซีจี เดคคอร์’ (SCGD) ขณะนี้มุ่งลดต้นทุน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด ติดตั้ง Hot Air Generator ที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมหนองแค ลดต้นทุนได้ 16.8 ล้านบาทต่อปี พร้อมรุกตลาดเวียดนามสร้างการเติบโตต่อเนื่อง ล่าสุดเร่งปรับไลน์ผลิตกระเบื้องเซรามิกเป็นกระเบื้องพอร์ซเลนขนาดใหญ่ กำลังการผลิต 2.5 ล้านตารางเมตร ทั้งยังขยายช่องทางจัดจำหน่าย พร้อมเสิรฟ์สินค้าหลากหลายตอบโจทย์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ เปิดร้านจำหน่ายกระเบื้องเซรามิกและสุขภัณฑ์  V-Ceramic ร้านแรกทางภาคใต้ของเวียดนาม

‘เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่’ ก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการและผลักดันการใช้พลังงานสะอาดภายในประเทศมากขึ้น ทำให้มีกำลังผลิตรวม 526 เมกะวัตต์ จากโครงการภาครัฐและภาคเอกชน เมื่อเร็วๆ นี้ ร่วมกับ ธนาคารกสิกรไทย ลงนามการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว วงเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงการ Solar Private PPA (Power Purchase Agreement) สำหรับการลงทุนติดตั้งโซลาร์ในรูปแบบต่าง ๆ ให้กับองค์กรและบริษัทต่างๆ โดยมีกำลังผลิตรวม 88.5 เมกะวัตต์ อีกทั้งการเชื่อมต่อด้วยระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Microgrid) มีแผนขยายผลในกลุ่มโรงงานบริษัทโตโยต้า ในนิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี

สำหรับแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานความร้อนจากพลังงานสะอาด Rondo Heat Battery มีความคืบหน้าโครงการติดตั้งที่โรงงานปูนซีเมนต์ เอสซีจี จ.สระบุรี แล้วกว่าร้อยละ 45 ซึ่งดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จ และได้เริ่มการผลิตวัสดุกักเก็บความร้อน  (Thermal Media) เก็บความร้อนของแบตเตอรี่กักเก็บความร้อนจากพลังงานสะอาด (Heat Battery) โดยคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องจักรได้ประมาณไตรมาส 2 ของปี 2568

และ ‘เอสซีจีพี’ กำลังขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์และโซลูชันที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีศักยภาพเติบโตสูง ล่าสุดร่วมมือกับ Once Medical Company Limited พัฒนาโซลูชันเข็มฉีดยาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์คุณภาพสูงอื่นๆ เพื่อเสริมศักยภาพการผลิตของ VEM Thailand และขยายเครือข่ายลูกค้าได้อย่างแข็งแกร่งและครอบคลุมยิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดต้นทุนพลังงานอย่างต่อเนื่อง