เฝ้าระวังศัตรูพืชในช่วงฤดูฝน พืชผลปลอดภัย เกษตรกรมั่นใจผลผลิต

ในช่วงระหว่างเดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคม ยังคงเป็นช่วงฤดูฝนโดยเฉพาะแถบบริเวณภาคใต้จะมีฝนตกชุกหนาแน่นและต่อเนื่อง สลับกับการเกิดพายุ ส่งผลให้เกิดสภาวะความชื้นซึ่งเหมาะกับการระบาดของศัตรูพืชประเภทเชื้อรา ซึ่งก่อให้เกิดโรคของพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและเกษตรกรจำเป็นต้องจับตาเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก ซึ่งโรคของพืชเศรษฐกิจนี้ ได้แก่

  1. โรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน ที่เกิดจากเชื้อรา Phytophthora palmivora ราชนิดนี้สามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของทุเรียน ได้แก่ ใบ กิ่ง ลำต้น ดอก ผล และระบบราก ทำให้ปลายกิ่งสีซีดเหี่ยวลู่ลง ใบมีลักษณะด้านและสลด เริ่มมีสีเหลืองและร่วง เมื่อขุดดูที่รากรกฝอยจะเปื่อยยุ่ย มีสีน้ำตาล และหลุดง่าย หากเป็นรุนแรงจะเน่าลามไปยังรากแขนงและโคนต้น ทำให้ต้นโทรมและยืนต้นตาย แนะเกษตรกรชาวสวนทุเรียนสำรวจสวนทุเรียนอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ปรับปรุงสภาพดิน โดยใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ทำร่องระบายน้ำในสวนที่เป็นพื้นที่ต่ำ เพื่อป้องกันน้ำขังภายในสวน ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาหว่านในพื้นที่รัศมีทรงพุ่มที่มีรากฝอยอยู่ หรือใช้รองก้นหลุมก่อนปลูก ตัดแต่งกิ่งหรือลำต้นที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก ใช้สารเคมีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร

  1. โรคโคนเน่าหัวเน่ามันสำปะหลัง ที่มีสาเหตุที่เกิดจากเชื้อรา Phytophthora spp. / Fusarium spp.และจากภาวะน้ำท่วมขังจากการที่ฝนตกชุกและดินมีการระบายน้ำไม่ดี ขอให้เฝ้าระวังการระบาดของโรคโดยสังเกตุจากความผิดปกติของต้นมันสำปะหลัง ส่วนที่อยู่เหนือดินจะพบว่า ใบมันสำปะหลังแสดงอาการเหี่ยวเหลือง โคนต้นแสดงอาการเน่าเป็นสีน้ำตาล หรือดำ หรือบางพันธุ์โคนต้นมีการสร้างรากค้ำชูขึ้นตรงรอยแตกของโคนต้นมันสำประหลัง และเมื่อถอนขึ้นมาหัวมันแสดงอาการเน่า ถ้าผ่าหรือหักหัวมันดูจะเห็นภายในเป็นสีน้ำตาล ในบางพันธุ์ต้นมันอาจมีการเน่าที่โคนและส่วนของหัวใต้ดินโดยที่ส่วนลำต้นและใบยังคงมีลักษณะปกติ หรือบางพันธุ์แสดงอาการรุนแรงยืนต้นตายหรือเน่าตาย ดังนั้น เตือนเกษตรกรหมั่นสำรวจ โดยเฉพาะช่วงฝนชุกควรสำรวจตรวจแปลงทุกวัน และถอนต้นมันสำปะหลังขึ้นมาดู หากการเน่าเกิดจากเชื้อราให้ขุดถอนต้นที่แสดงอาการไปเผาทำลาย จากนั้นบริเวณที่แสดงอาการและโดยรอบห่างออกไปประมาณ 1 เมตร ให้หว่านปูนขาว หรือโรยเชื้อราไตรโครเดอร์มาบริเวณรอบโคนต้นที่ขุดออกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ แต่ถ้าหากเน่าจากน้ำท่วมหรือดินมีการระบายน้ำออกจากแปลงไม่ดีถ้าอยู่ในระยะเก็บเกี่ยวให้เร่งเก็บผลผลิต การปลูกครั้งต่อไปแปลงปลูกควรยกร่อง เพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง หรือหากพื้นที่ปลูกเป็นดินดาน ควรไถระเบิดชั้นดินดาน และตากดินไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนปลูก
  2. โรคลำต้นเน่าปาล์มน้ำมันเป็น โรคที่เกิดจากเชื้อรา Ganoderma sp. พบระบาดมากในช่วงฤดูฝน ลักกษณะอาการที่พบเห็นได้ คือ ใบปาล์ม สีขอบใบซีดจางและแห้งตาย ทางใบล้างหักพับทิ้งตัวห้อยลงรอบลำต้น ทางยอดที่ยังไม่คลี่จะมีจำนวนมากกว่าปกติ บริเวณลำต้น เชื้อราสร้างดอกเห็ดที่โคนต้นหรือที่รากผิวดินบริเวณใกล้โคนต้น ดอกเห็นถูกสร้างขึ้นเมื่อต้นปาล์มน้ำมันแสดงอาการให้เห็นทางใบ หลังจากสร้างดอกเห็นที่โคนต้นแล้วต่อมาต้นปาล์มน้ำมันจะยืนต้นตาย รากเปราะหักง่าย เนื้อเยื่อภายในราก ผุ เปื่อย ร่วนเป็นผง ส่วนของเปลือกรากเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เนื้อเยื่อภายในรากเปลี่ยนเป็นสีดำ ในส่วนของการควบคุมการระบาดนั้น แนะนำเกษตรกรให้สำรวจสวนปาล์มน้ำมันอย่างสม่ำเสมอ กำจัดวัชพืชหรือพืชอาศัยอื่น ๆ เพื่อลดการสะสมของเชื้อในธรรมชาติเมื่อพบดอกเห็ดเจริญเติบโตขึ้นบริเวณลำต้นให้รีบกำจัด โดยนำไปทำลายทิ้งนอกแปลงทันที และถากบริเวณที่เนื้อเยื่อที่ถูกทำลายออก ทาทับด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อรา เช่น thairam และคอยตรวจสอบหากพบว่ามีดอกเห็ดเกิดขึ้นอีกหรือลักษณะอาการทางใบยังไม่ปกติจะต้องทำการถากซ้ำ แล้วทาทับด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อรา จากนั้นบำรุงต้นปาล์มน้ำมันให้แข็งแรง โดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์ผสมกับเชื้อไตรโคเดอร์มา อัตรา เชื้อสด 1 กิโลกรัม รำละเอียด 4 – 10 กิโลกรัม และปุ๋ยอินทรีย์ 50 – 100 กิโลกรัม หว่านรอบทรงพุ่ม 3 – 6 กิโลกรัมต่อต้นในช่วงที่มีความชื้นสูงหรือรองก้นก้นหลุมก่อนปลูก 100 กิโลกรัมต่อหลุม และราดหรือฉีดพ่นบริเวณรอบโคนต้นและโดยรอบอย่างสม่ำเสมอด้วยเชื้อไตรโคเดอร์มา โดยผสมเชื้อสด 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 – 100 ลิตร โดยกรองเฉพาะน้ำนำมาใช้
  1. โรคไหม้ข้าว สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Pyricularia grisea Sacc. ซึ่งสามารถทำลายข้าวได้ทุกระยะตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว โรคไหม้จะเกิดขึ้นและแพร่ระบาดได้รุนแรง ถ้ามีสภาพแวดล้อมเหมาะสม ได้แก่ใช้พันธุ์ข้าวอ่อนแอต่อโรค สภาพแวดล้อมมีความชื้นค่อนข้างสูง มีฝนตกปรอยๆ เป็นประจำ ใบข้าวเปียกนานมากกว่า 10 ชม. อุณหภูมิกลางคืนค่อนข้างเย็น (20-25C) ใช้เมล็ดพันธ์ในอัตราที่สูง เช่น 30 กิโลกรัม/ไร่ ช่วงสภาพอากาศที่กล่าวมานี้ เกษตรกรควรสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการที่กล่าวมาแล้วควบคุมด้วยสารชีวภัณฑ์ ได้แก่ เชื้อบีเอส (บาซิลลัส ซับทีลิส) พ่นอัตราตามคำแนะนำในฉลาก เชื้อไตรโครเดอร์มาอัตรา 1 กก./น้ำ 200 ลิตรพ่น หากมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีให้ใช้ตามคำแนะนำของกรมการข้า และกรมวิชาการเกษตร

เพราะเหตุนี้เกษตรกรจึงต้องหมั่นสำรวจแปลงปลูกของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับต้นพืช เกษตรกรสามารถขอรับคำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน