“พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ” นายกฯ นครยะลา เปิดมุมมองบริหารจัดการเชิงพื้นที่ รับมือโควิด

เมื่อประชาชนมีสิทธิมีเสียง มีความตื่นตัว และต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ประเด็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจึงทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ 

ยิ่งช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่าง “เทศบาล” ที่ปัจจุบันมีประมาณ 2,500 แห่ง นับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างสูงในการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เทศบาลสามารถคลี่คลายวิกฤตนี้ได้คือ การบริหารจัดการเชิงพื้นที่อย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนในท้องถิ่น 

“บทบาทของท้องถิ่นช่วงโควิด ทำให้ชาวบ้านเชื่อมั่นและตระหนักมากขึ้นว่า ท้องถิ่นคือที่พึ่งของเขาจริงๆ คือราชการส่วนกลางอาจส่งข่าวสารในภาพใหญ่ แต่เชิงลึกในพื้นที่เป็นบทบาทของท้องถิ่นทั้งสิ้น ตั้งแต่การให้ความรู้ประชาชน การแจกจ่ายหน้ากากอนามัย สอนทำเจลล้างมือ ไปจนถึงการทำความสะอาดในพื้นที่สาธารณะ” พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และนายกเทศมนตรีนครยะลา สมัยที่ 4 เริ่มเรื่อง

ในบทบาทนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลฯ ที่พงษ์ศักดิ์เข้ารับตำแหน่งเมื่อกลางปี 2564 เขาเล่าว่า อย่างแรกที่ทำคือ ขอให้ทางราชการเปิดโอกาสให้สมาคมฯ มีส่วนจัดซื้อวัคซีน ต่อมาคือ ใช้งบสมาคมฯ ราว 30 ล้านบาท จัดซื้อชุดตรวจเอทีเคที่ได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก แจกจ่ายไปยังเทศบาลต่างๆ นอกจากนี้ ยังจัดซื้อชุดพีพีอี เพื่อให้บุคลากรของเทศบาลใช้ป้องกันการสัมผัสเชื้อ รวมทั้งนำปัญหาที่พบไปเสนอในที่ประชุมกรรมการชุดต่างๆ ที่สมาคมฯ ร่วมอยู่ เช่น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้ราชการส่วนกลางรับรู้ปัญหาเชิงลึกในท้องถิ่นมากขึ้น 

“ทำไมเราถึงต้องมีท้องถิ่น เพราะเป็นตัวที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด และตอบสนองต่อประชาชนมากที่สุด ผมคิดว่าถ้าราชการส่วนกลางใช้เราในสิ่งเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์มากในการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ และปัญหาก็จะไม่กระจุกตัวอยู่ในส่วนกลางด้วย” คือความเห็นของพงษ์ศักดิ์

ส่วนในหมวกนายกเทศมนตรีนครยะลา “นายกฯ อ๋า” ลุยทั้งการบูรณาการการทำงานกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งออกแบบการแก้ไขปัญหา เพื่อพาชาวยะลารอดจากโควิด

“ถ้าพูดถึงหน่วยงานราชการทั้งหมดในไทย คงไม่มีหน่วยไหนที่รู้จักประชาชนได้มากกว่าท้องถิ่น เพราะเรามาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วเราเองมีความถนัดเรื่องมวลชนและชุมชน ดังนั้นเราจึงแบ่งงานกันทำ อย่างกระทรวงสาธารณสุขเก่งเรื่องการฉีดวัคซีน เราก็หาคนไปช่วย พอถึงวันที่การระบาดเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น เราก็ใช้กำลังของชุมชนและ อสม. ช่วยคัดกรองคนเข้าเมืองตามจุดต่างๆ บวกกับการให้ความรู้ประชาชนเรื่องโควิดอย่างต่อเนื่อง” 

ช่วงโควิด พงษ์ศักดิ์ก็ยังไม่ทิ้งความเป็น “สมาร์ท ซิตี้” ของยะลา ที่เขาปลุกปั้นมาตั้งแต่รับตำแหน่งสมัยแรก เป็น “สมาร์ท ซิตี้” ที่ไม่ได้มีความหมายแค่การเป็นเมืองอัจฉริยะ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมสำหรับการอยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการบริหารจัดการเมืองอย่างชาญฉลาดอีกด้วย

เทศบาลนครยะลาเปิดให้จองฉีดวัคซีนผ่านไลน์โอเอ รวมทั้งเฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์ ที่มีแชทบอทให้ข้อมูลและตอบคำถาม เมื่อตรวจเอทีเคแล้ว สามารถรับผลตรวจได้ทางไลน์ ทำแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ “หลาดยะลา” (ยะลา มาร์เก็ต) ยกเว้นค่าธรรมเนียมทั้งหมดให้ผู้ขาย ทั้งยังร่นเวลาให้ผู้ขายได้เงินคืนภายใน 3 วัน ขณะเดียวกัน ก็ช่วยเหลือกลุ่มที่ขาดรายได้อย่าง วินมอเตอร์ไซค์ ด้วยการให้มาเป็นผู้ส่งสินค้า โดยเทศบาลนครยะลาให้ความช่วยเหลือทางการเงิน รวมถึงช่วยเหลือชาวยะลาที่ตกงานกลับมาบ้าน ด้วยการทำแพลตฟอร์มตลาดแรงงานใน “หลาดยะลา” 

“มาวันนี้ เราต้องหาคำตอบที่มากกว่าตัววัคซีนและการล็อกดาวน์ เพราะประชาชนต้องดำเนินธุรกิจ นักเรียนต้องเรียนหนังสือ ดังนั้นจึงควรเป็นบทบาทของท้องถิ่นในการทำแซนด์บ็อกซ์ กระบะทรายที่เราสามารถทดลองสิ่งต่างๆ ให้สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ ซึ่งผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ท้องถิ่นควรจะทำ” พงษ์ศักดิ์กล่าวหนักแน่น 

เพื่อให้พอเห็นภาพชัดขึ้น “นายกฯ อ๋า” ยกตัวอย่างการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในต่างประเทศ อย่างอินเดียหรือฝรั่งเศสที่เกิดการระบาดหนักเมื่อปีที่แล้ว ก็ใช้การกระจายอำนาจการบริหารจัดการลงสู่ชุมชน แม้กระทั่งจีน ช่วงที่ระบาดในอู่ฮั่นก็มีการปิดเมือง เพื่อระดมตรวจหาเชื้อโดยไม่ต้องปิดประเทศ 

กรณีศึกษาในประเทศต่างๆ เหล่านี้ เป็นโจทย์ที่พงษ์ศักดิ์เห็นว่า ควรนำกลับมาขบคิด หากมีการสั่งล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ก็จะทำให้พื้นที่ที่ไม่ได้มีการระบาดมากสูญเสียโอกาสไปด้วย เช่น เมื่อกรุงเทพฯ เกิดการระบาดหนัก ยะลาอาจยังไม่เข้าสู่ระลอกการระบาดสูง ซึ่งช่วงที่ยังไม่มีการติดเชื้อมาก อาจให้ในพื้นที่เปิดการดำเนินเศรษฐกิจให้มากที่สุด เพื่อสะสมทุน ส่วนโรงเรียนก็ควรเปิด เพื่อให้นักเรียนเก็บเกี่ยวความรู้มากที่สุด 

การบริหารจัดการเชิงพื้นที่จึงเป็นเรื่องจำเป็น และสอดคล้องกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแยกไม่ออก 

พงษ์ศักดิ์เห็นว่า แต่ละพื้นที่หรือแต่ละเมืองย่อมมีบริบทแตกต่างกัน และคนในพื้นที่ต้องเป็นคนตัดสินใจในการเปลี่ยนเมือง โดยมีผู้แทนทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งถ้าพูดคำว่าเมือง องค์กรที่ดูแลคือเทศบาล และผู้นำของเทศบาลมีหน้าที่เปลี่ยนเมืองตามบริบทของคนในพื้นที่ 

“ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า ผู้นำเมืองเกิดและโตในพื้นที่ เขาเห็นปัญหาและเห็นสิ่งที่จะพัฒนาต่อไปได้ เมื่อแต่ละเมืองพัฒนา สุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์คือประชาชนและประเทศ นอกจากนี้ เราต้องเชื่อมั่นในวิจารณญาณของประชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เมืองเดินอย่างมีคุณภาพ” นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลฯ และนายกเทศมนตรีนครยะลา ปิดท้าย