รายงานพิเศษ ชายแดนใต้ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตอน ปลูกไม้มีค่า สร้างป่าชุมชน

เมื่อ 16 เม.ย. 62 มีประกาศราชกิจจานุเบกษา ยกเลิกไม้หวงห้ามตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 สำหรับ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 มีทั้งหมด 11 มาตรา โดยสาระสำคัญอยู่ที่มาตรา 7 ระบุว่า ไม้ชนิดใดที่ขึ้นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใดให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา สำหรับไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินไม่เป็นไม้หวงห้าม หรือไม้ที่ปลูกในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิ ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ถือว่าไม่เป็นไม้หวงห้าม 

ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 62 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ปรับแก้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ที่บังคับใช้มานานกว่า 78 ปี โดยเฉพาะการยกเลิกมาตรา 7 ที่ได้กำหนดเกี่ยวกับไม้หวงห้ามที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่มิใช่ป่า ก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคต่อการทำไม้ในที่ดินของประชาชนและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเสร็จเรียบร้อยแล้ว กฎหมายที่ปรับแก้กำหนดให้สามารถตัดไม้ยืนต้นได้โดยไม่ผิดกฎหมายในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง เช่น โฉนด นส.3 ก. ใบจอง สค.1 เป็นต้น หรือให้ยกเลิกไม้หวงห้ามในที่ดินเอกชนและที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ ดังนั้นให้การทำไม้โดยเฉพาะไม้มีค่า ไม่ต้องทำเรื่องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่อีกต่อไป ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนปลูกและตัดไม้ได้สะดวก ซึ่งผลของการปรับแก้กฎหมายฉบับนี้ จะทำให้ประชาชนมีรายได้ที่มั่นคงจากการประกอบอาชีพทำไม้ปลูกป่าเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยดีขึ้น ในอนาคตใครที่มีที่ดินสามารถปลูกไม้มีค่าในที่ดินของตนเองได้ ถ้าไม้โตแล้วอยากตัดไปขาย ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่แล้ว หรืออยากจะเอาไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ทำได้เช่นกัน

จากประกาศราชกิจจานุเบกษาดังกล่าว ทำให้ประชาชนทุกภูมิภาคต่างตื่นตัว และมองเห็นโอกาสในการประกอบอาชีพโดยการเพาะปลูกไม่มีค่าในที่ดินของตนเอง จึงมีความต้องการพันธุ์ไม้ต่างๆ เป็นจำนวนมาก รวมทั้งประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยเช่นกัน จึงเป็นที่มาของการจ้างงานเยาวชนนอกระบบการศึกษาในพื้นที่อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาสเพาะชำกล้าไม้มีค่า เพื่อนำไปปลูกในพื้นที่โครงการป่าชุมชน ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมา พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะประสบปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ในด้านด่างๆ  โดยเฉพาะการประกอบอาชีพ เช่นเดียวกันกับภูมิภาคอื่นๆของประเทศ แต่เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว นายจำนัล เหมือนดำ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ที่รับผิดชอบขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพพื้นที่ จึงได้ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกัน เกี่ยวกับการจัดทำโครงการป่าชุมชน และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เยาวชนนอกระบบการศึกษา ที่ประสบปัญหาว่างงานและขาดรายได้  จึงได้มีการจ้างเพาะพันธุ์กล้าไม้ เศรษฐกิจ อาทิ  ต้นตะเคียน ต้นยางนา ต้นหลุมพอ ต้นกุลิมและต้นกันเกรา (ตำเสา) โดยเริ่มตั้งแต่การเพาะพันธุ์ต้นกล้า การดูแลกล้าไม้ และนำไปปลูกยังพื้นที่ป่าชุมชน ในอัตราค่าจ้างวันละ 400 บาท  ซึ่งทำให้เยาวชนเหล่านี้มีรายได้สามารถนำไปช่วยเหลือครอบครัวและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อีกด้วย 

นายจำนัลเหมือนดำ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล กล่าวว่าจากการลงไปทำงานในพื้นที่ พบว่ามีโครงการป่าชุมชนหลายพื้นที่ จึงได้ผลักดันขับเคลื่อนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประชาชนเห็นความสำคัญและประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ โดยช่วยกันปลูกป่า ช่วยกันรักษาและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งโครงการจ้างงานเพาะพันธุ์กล้าไม้ เศรษฐกิจ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่กลุ่มเยาวชนนอกระบบการศึกษาได้มีรายได้ สามารถนำไปช่วยเหลือแบ่งเบาภาระครอบครัว และนอกจากนี้ ยังเป็นโครงการที่สามารถสนองนโยบายของรัฐบาลในการรักษาสิ่งแวดล้อม และเพิ่มพื้นที่ป่า ตลอดจนยังเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนเกิดความตระหนักร่วมกันในการดูแลรักษาป่าและสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม โครงการปลูกป่าชุมชน นอกจากจะเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลในการเพิ่มพื้นที่ป่าแล้ว ยังเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่กลุ่มเยาวชนกลุ่มดังกล่าว ได้เกิดจิตสำนึก มีความตระหนักในการดูแลหวงแหนป่าไม้ ในพื้นที่ชุมชนของตนเอง  เพื่อให้ทรัพยากรป่าไม้ยังคงอยู่ต่อไป ซึ่งผลสำเร็จจากโครงการปลูกป่าชุมชน ของ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส แห่งนี้จะถูกนำไปเป็นโครงการต้นแบบและต่อยอด เพื่อนำร่องให้กับพื้นที่อื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปในอนาคต