รายงานพิเศษ ชายแดนใต้ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตอน  “ไผ่” สร้างงาน สร้างรายได้ สู่ความมั่นคงด้านพลังงาน

        ปัญหาของเกษตรกรไทยนอกจากสภาพดินฟ้าอากาศและภัยธรรมชาติแล้ว ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการครองชีพ ส่วนใหญ่เกิดจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและซ้ำซาก ซึ่งจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมีในปริมาณที่เพิ่มขึ้นทุกปีเพื่อเร่งผลผลิต จึงทำให้มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วมีรายได้เหลือไม่มากนัก ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ซึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นกัน แม้ว่าสภาพพื้นที่โดยทั่วไปจะอุดมสมบูรณ์กว่าภาคอื่นแต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่นยางพารา หรือ ปาล์มน้ำมัน

        ในขณะเดียวกัน นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อยุติปัญหาความรุนแรงและส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ซึ่งในการพัฒนาย่อมต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นต้นทุนสำคัญ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องพลังงานเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและความต้องการด้านพลังงานของภาคธุรกิจ โดยการผลักดันให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา และ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี แต่กลับถูกคัดค้านจาก NGOs และประชาชนบางกลุ่ม ดังนั้นเพื่อหาทางออกจากปัญหาดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้มีการขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจร ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 โดยอนุมติให้ตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน ขนาดเล็ก กำลังการผลิต1.5-2 เมกะวัตต์ จำนวน100 แห่ง กำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ไม่เกิน 3 แห่ง และกำลังการผลิต ไม่เกิน 27เมกะวัตต์ 1 แห่ง รวมกำลังการผลิต 256.9 เมกะวัตต์ ในระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี ตามข้อเสนอของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยใช้งบประมาณลงทุน 19,764 ล้านบาท จาก 3 ส่วน ได้แก่ 1.งบประมาณประจำปี 353 ล้านบาทต่อปี รวม 1,795 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงพื้นที่สนับสนุนพืชพันธุ์ เครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำวัสดุเชื้อเพลิง การพัฒนางานวิจัย 2. เงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 1,437.52 ล้านบาท/ปี และ 3.เงินจากภาคเอกชนเพื่อร่วมลงทุนการจัดตั้งโรงงานไฟฟ้าประชารัฐ จำนวน 2,156.28 ล้านบาทต่อปี

        ส่วนการบริหารกิจการพลังงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ศอ.บต.จะขอรับจัดสรรอัตราการผลิตพลังงานไฟฟ้าเฉพาะพื้นที่จากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อีกครั้ง มีการกำหนดสัดส่วนการลงทุนในโรงไฟฟ้า โดยจะมีการตั้งกลุ่มอาชีพ วิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ของประชาชนถือหุ้นในอัตราร้อยละ 40 ช่วงแรกให้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเป็นผู้ถือหุ้นแทนประชาชนไปก่อน ภาคเอกชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพถือหุ้นร้อยละ 30 และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือบริษัทเอกชนนอกพื้นที่ถือหุ้นร้อยละ 30  ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรในพื้นที่ โดยการสร้างงาน สร้างอาชีพเป็นรายได้ทางเลือก รวมทั้งปัญหาความต้องการด้านพลังงานเพื่อรองรับการขยายพื้นที่พัฒนา จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนและสนับสนุนให้ประชาชนปลูกไม้โตเร็ว 58 ชนิด โดยเฉพาะพืชไผ่ เพื่อเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าขนาดเล็กภายในชุมชน สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไป

        พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า เป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ จชต. มีปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขคือ ปัญหาความยากจน รวมถึงลดเงื่อนไขทั้งปวงเพื่อนำพาพื้นที่เข้าสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และคณะที่ได้สั่งการไว้ โดยต้องพัฒนาคนให้มีงาน มีอาชีพ ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการปลูกพืชผสมผสานเพื่อเพิ่มรายได้แก่ครัวเรือน สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากมีนักลงทุนจากประเทศเกาหลีใต้มาติดต่อให้มีการผลิตไผ่เพื่อป้อนโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ไผ่เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก จึงเป็นโอกาสดีที่มีภาคเอกชนสนใจเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาพันธุ์ไผ่ ให้เป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างมูลค่า สร้างอาชีพและเพิ่มรายให้ได้แก่เกษตรกร ซึ่งตามแผนงานของ ศอ.บต.จะผลักดันให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่ คือ โครงการปลูกไผ่ในพื้นที่รกร้างว่างเปล่ากว่า 300,000 ไร่ ครอบคลุมทั้ง จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส ซึ่งนอกจากจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ได้จำนวนมากแล้ว ยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย

         สำหรับไผ่ที่ส่งเสริมให้ปลูกคือ พันธุ์ขุนพล เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ถูกพัฒนาให้เหมาะต่อการเป็นเชื้อเพลิง ในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากมีปริมาณเนื้อไม้มาก มีน้ำหนัก ไร้หนาม ให้ความร้อนสูง เถ้าน้อย และเก็บเกี่ยวง่าย ใช้เวลาในการปลูกครั้งแรกเพียง 8 เดือนก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ จากนั้นสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต่อเนื่องทุกๆ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งโรงไฟฟ้าจะรับซื้อตันละ ประมาณ 800 บาท และที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสภาพอากาศชื้น ฝนตกต่อเนื่องตลอดปี ไผ่ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศดังกล่าว 

        เลขาธิการ ศอ.บต. เชื่อมั่นว่าการผลักดันให้ใช้นาร้างหรือพื้นที่รกร้างใน 3 จังหวัดรวมกว่า 300,000 ไร่เพื่อการปลูกไผ่ตามโครงการนี้ ถือเป็นนโยบายในการนำพาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะเมื่อโครงการนี้เกิดขึ้นจริงก็ยังมีสิ่งที่จะติดตามมาอีกมาก เช่น การใช้แรงงานของคนในพื้นที่ ทั้งการขนส่ง การแปรรูปที่ต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก และยังมีงานที่ต่อเนื่องจากการทำสวนไผ่ด้วย เช่น การทำปุ๋ย การเพาะพันธุ์ เป็นต้น

       “เชื่อว่าโครงการนี้จะสร้างจุดเปลี่ยนที่สำคัญให้กับพื้นที่ ซึ่งจะเป็นเหมือนสปอร์ตไลท์ ขับไล่ความมืดมนของภัยการก่อการร้าย เพราะสิ่งที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกลัวไม่ใช่กำลังทหาร หากแต่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่จะช่วยสร้างรายได้และความมั่นคง จนประชาชนต้องหันหลังให้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในที่สุด” พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวยืนยัน.