รายงานพิเศษ ชายแดนใต้ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตอน“เบตง”เมืองต้นแบบการท่องเที่ยวชายแดนใต้”

“เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน” อำเภอเบตง จังหวัดยะลา หนึ่งในสามอำเภอนำร่อง ที่รัฐบาลกำหนดไว้ในโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เมืองต้นแบบด้านการท่องเที่ยว การบริการ และพึ่งพาตนเอง เนื่องจาก เบตง เป็นอำเภอใต้สุดของประเทศไทยติดชายแดนมาเลเซีย มีความเคลื่อนไหวทางธุรกิจการค้าสูง มีการผสมผสานทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษา และชาติพันธ์หลากหลาย อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามจึงทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ หลั่งไหลเข้ามาเที่ยวในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก

ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่อำเภอเบตงจึงต้องมีการบูรณาการจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด และเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาภาครัฐได้ร่วมคิดร่วมวางแผนพัฒนาเมืองเบตงร่วมกับภาคเอกชนและประชาชนอย่างใกล้ชิด ตลอดจนการนำแนวความคิดและความต้องการของประชาชน เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนงาน/โครงการต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการประชาชนและความเจริญของพื้นที่ มีการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ซึ่งได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบการคมนาคมขนส่ง ปรับปรุงและขยายพื้นผิวจราจร ถนนสาย 410 ยะลา-เบตง การก่อสร้างสนามบินเบตง รวมทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เช่นการก่อสร้าง “สกายวอล์ค ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง”  แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของ อำเภอเบตง ที่มีความคืบหน้าไปมาก คาดว่าสามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ภายในปี 2563 รวมทั้งการปรับปรุงพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิม ให้มีความสวยงามและสะดวกสบายขึ้นเช่นบ่อน้ำร้อนบ้านนากอ ตำบลอัยเยอร์เวง เตรียมรองรับนักท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นหลังจากที่สนามบินเปิดให้บริการ

จากการลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งเปิดแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงใหม่ ที่บ่อน้ำร้อนบ้านนากอ ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง  ตามโครงการแหล่งท่องเที่ยวชุมชนต้นแบบ ของ พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการแรกที่ริเริ่มโดยคนในชุมชน ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชน นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะกระจายนักท่องเที่ยวไปยังสถานที่อื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง เพื่อต่อยอดการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้ จากการจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง ของที่ระลึก ธุรกิจโฮมสเตย์ และการนำเที่ยว อันจะเป็นการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

“ไม่นาน อำเภอเบตงจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคม ที่สามารถเดินทางเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคอื่นๆได้สะดวกรวดเร็ว ผ่านสนามบินเบตง นอกจากนี้ ที่นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางของนักท่องเที่ยว ที่จะมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย นับเป็นความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ตามโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่จะส่งผลต่อการลดปัญหาความรุนแรงได้อีกทางหนึ่ง” พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวยืนยันต่อสื่อมวลชน หลังพิธีเปิดแหล่งท่องเที่ยวบ่อน้ำร้อน บ้านนากอ

สำหรับบ่อน้ำร้อนบ้านนากอ ตำบลอัยเยอร์เวง ถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ที่ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในชุมชน 2 หมู่บ้าน กว่า 500 ครัวเรือน พื้นที่แห่งนี้ นอกจากจะมีความสวยงามร่มรื่น และสมบูรณ์หลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังมีบ่อน้ำร้อน และลำธารน้ำใสที่ไหลตลอดปี อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เพราะเคยเป็นที่ตั้งฐานชั่วคราวของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ก่อน ปีพุทธศักราช 2523 ตลอดจนยังเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์โอรัง อัสรี (ซาไก) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษรุ่นแรก ๆ ของผู้คนบนคาบสมุทรมลายู กว่า 50 ครัวเรือน จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะพัฒนาและยกระดับให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ  การดำเนินการดังกล่าว มี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) องค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง และส่วนราชการในพื้นที่ ให้การสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและองค์ความรู้ทางวิชาการ

ผลจากความร่วมมือและบูรณาการร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ  ภาคเอกชน และประชาชน  ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เริ่มเกิดผลสัมฤทธิ์ชัดเจนขึ้นตามลำดับ ดังจะเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจการค้า ที่พัก ร้านอาหาร มีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก มีการลงทุนจากนักลงทุนหน้าใหม่ๆ ตลอดจน ข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวด้านต่างๆ ของอำเภอเบตง เริ่มเป็นที่สนใจของผู้คนนอกพื้นที่มากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี แสดงให้เห็นว่าการดำเนินการที่ผ่านมา ตรงตามความต้องการของประชาชน และบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดนั่นคือ การพัฒนาที่มุ่งยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ส่วนสร้างการรับรู้ สำนักงาน คปต.ส่วนหน้า