สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ทุนไทยไปเวียดนาม (5)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

“ผมจะทำอย่างดีที่สุด เพื่อปกป้องประเทศชาติและประชาชน”

คำกล่าวของ นายเหงียน ซอน ฟุก อดีตรองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ภายหลังมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามครั้งที่ 12 วันที่ 21-29 มกราคม 2559 แต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเวียดนามคนใหม่

สื่อมวลชนรายงานคำปราศรัย ความคิดและทิศทางการดำเนินงานของเขา ตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันที่คณะสภามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เดินทางไปเยือนมหาวิทยาลัยวัฒนธรรมฮานอย

เขาบอกกับที่ประชุมและเพื่อนร่วมชาติว่าจะผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ หลังจากเติบโต 6.7% เมื่อปีที่แล้ว และรับปากจะแก้ปัญหาการทุจริต ปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนและปกป้องอธิปไตยของประเทศ

เหตุนี้เองนอกจากการสานต่อสายสัมพันธ์ทางการศึกษาแล้ว การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ติดตาม ความร่วมมือ ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของเวียดนาม จึงเป็นอีกวัตถุประสงค์หนึ่งของคณะเดินทาง

เส้นทางลัดเพื่อเข้าถึงเรื่องราวต่างๆ ได้ดีและน่าเชื่อถือจึงมุ่งไปที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงฮานอย ก่อนไปมหาวิทยาลัยวัฒนธรรมเช้าวันนั้น

นางสาววันทนีย์ วิพุธวงศ์สกุล อัครราชทูต พาคุณสมเกียรติ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นชาวเวียดนามประจำสถานทูต มาต้อนรับและร่วมพูดคุยอย่างเป็นกันเอง

“ในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียนด้วยกัน เวียดนามค่อนข้างเนื้อหอมสำหรับการลงทุน เพราะปัจจัยภายในเข้มแข็ง การเมืองมั่นคง เศรษฐกิจเปิดประเทศ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ถนนพัฒนาต่อเนื่อง สนามบินเปิดใหม่ ญี่ปุ่นสนับสนุนการก่อสร้าง เพิ่งเสร็จประมาณ 2 ปี ใครมาถึงก็จะประทับใจ เหมือนไปเกาหลี”

“อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับสูง 6.7% ปีหน้าคาดการณ์ว่า 6.8% ถึงปี 2563 เขาอยากได้ 7% การเปลี่ยนแปลงผู้นำทุก 5 ปี 10 ปี มีการทบทวนผลการดำเนินงานเป็นประจำ สิ่งหนึ่งที่เขาเห็นว่ายังไม่บรรลุต้องเดินหน้าต่อไป คือ ทำให้ประเทศเป็นเศรษฐกิจทันสมัย”

“ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับจีนเป็นอย่างไรครับ กำลังมีปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ในทะเลจีนใต้ เหมือนฟิลิปปินส์กับจีน” หัวหน้าคณะเดินทางตั้งประเด็นถาม

“ถึงแม้ต่างฝ่ายต่างก็อ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ แต่ทั้งสองฝ่ายระมัดระวังการแสดงท่าที ต้องไม่ลืมว่าจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่ง เวียดนามไม่ใช้ท่าทีแข็งกร้าวเหมือนฟิลิปปินส์ที่นำเรื่องเข้าอนุญาโตตุลาการ” เธอตอบ

และเล่าต่อถึงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย เวียดนาม โดยเฉพาะการลงทุนของไทย

“เวียดนามมีสภาธุรกิจกับเกาหลีใต้ อเมริกา ของไทยเราเพิ่งเริ่ม สมาคมธุรกิจไทย เวียดนามเข้มแข็ง ความสัมพันธ์ไทย เวียดนามมีมา 40 ปีก็ตาม แต่สินค้าเกาหลีใต้เข้ามาก่อน พวกเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ มือถือ โรงงานซัมซุงผลิตในเวียดนามส่งไปขายในไทย”

ข้อมูลจากอัครราชทูตสอดคลัองกับรายงานของสำนักงานการลงทุนต่างประเทศ (เอฟเอไอ) ของเวียดนาม ระบุว่า ช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 นักลงทุนจากเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในเวียดนามมากสุด มูลค่า 888.6 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 22% ของยอดรวมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ตามด้วยการลงทุนจากสิงคโปร์และไต้หวัน 554 ล้านดอลลาร์ และ 446 ล้านดอลลาร์

“ส่วนสินค้าของไทยที่ได้รับความนิยมในเวียดนาม จำพวกเครื่องอุปโภค บริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างหม้อหุงข้าวชาร์ป คนเวียดนามชอบมาก ใช้ 5 ปีไม่มีปัญหา ราคา 1,500-2,000 บาท เปียกน้ำ น้ำท่วมเอามาตากแห้งใช้ต่อ ไปเที่ยวเมืองไทยหิ้วกลับกันมาคนละ 2-3 เครื่อง เพราะที่ผลิตในเวียดนามคุณภาพสู้ไม่ได้”

“ประชากร 90 กว่าล้านคน กำลังซื้อยังมี รวมถึงพวกสิ่งทอ เสื้อผ้า แฟชั่นต่างๆ ของไทยเราทันสมัย พ่อค้า แม่ค้าไปซื้อมาขายที่ฮานอย และเมืองใหญ่ๆ คนเวียดนามรุ่นใหม่ อยากใช้ของแบรนด์เนม เครื่องสำอางกิฟฟารีน ผู้หญิงเวียดนามชอบสวยงาม ชอบใช้”

ความเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามที่สถาบันการเงินระดับโลกหลายแห่งประเมินว่า ปี 2563 กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางและสูงในเวียดนามจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจาก 12 ล้านคนในปี 2558 เป็น 33 ล้านคน

รายได้ที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยกินขนมปังและผักมากกว่าเนื้อสัตว์ ปรากฏว่าสถิติการบริโภคเนื้อหมูในเวียดนามเพิ่มขึ้น 2 เท่านับตั้งแต่ปี 2543 เฉลี่ย 13 กิโลกรัมต่อคน เพิ่มเป็น 30 กิโลกรัมต่อคนในช่วงกลางปี 2559

องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จึงประเมินว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เวียดนามจะกลายเป็นประเทศที่บริโภคเนื้อหมูเฉลี่ยต่อคนสูงเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน ซึ่งอัตราการบริโภคเฉลี่ยอยู่ที่ 33.9 กิโลกรัมต่อคนในปี 2566

เหตุนี้ทำให้โรงงานอาหารสัตว์สัญชาติอเมริกัน คาร์กิลล์และฮว่าพัท ผู้ผลิตเหล็กชั้นนำของเวียดนามแตกไลน์ธุรกิจสู่อาหารสัตว์ ตัดสินใจเปิดโรงงานอาหารสัตว์เป็นครั้งแรก และจะเปิดเป็นแห่งที่สองในต้นปีหน้า

ในส่วนของไทยพาเหรดเข้าไปตามลำดับเช่นกัน กลุ่มอมตะคอร์ปอเรชั่น จะลงทุนนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 2 อมตะ เอ็กซ์เพรส ซิตี้ มูลค่า 600 ล้านดอลลาร์ บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง ลงทุน 65% ในโฮลซิมเวียดนาม มูลค่า 524 ล้านดอลลาร์ กลุ่ม ปตท. มีแผนลงทุนโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานปิโตรเคมีมูลค่า 22,000 ล้านดอลลาร์ กลุ่มปูนซิเมนต์ไทยมีแผนลงทุนโรงงานปิโตรเคมีมูลค่า 4,500 ล้านดอลลาร์

แต่ที่ไปแล้วคือบริษัทไทยเจริญ คอร์ปอเรชั่น (ทีซีซีกรุ๊ป) ของ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ในนามบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ลงทุนซื้อร้านสะดวกซื้อบีสมาร์ทเมโทรเวียดนามด้วยเงินลงทุน 800 ล้านเหรียญ จะขยายสาขาจากปัจจุบัน 144 สาขาเป็น 500 สาขาทั่วประเทศ

บริษัทเบียร์ไทย Singha Asia Holding ลงทุน 1,100 ล้านดอลลาร์ ซื้อหุ้นผลิตสินค้าอุปโภค บริโภคของเมซานกรุฟเวียดนาม

ธุรกิจค้าปลีกกลุ่มเซ็นทรัล ของตระกูลจิราธิวัฒน์ เปิดร้านซูเปอร์สปอร์ตแห่งแรกในห้างสรรพสินค้าหรูกลางกรุงฮานอยเมื่อปี 2556 ปี 2558 ขยายการลงทุนโดยร่วมทุนกับบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของเวียดนาม เหงียนคิมกรุ๊ป ขยายร้านค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพาเวอร์บาย

ล่าสุดตกลงซื้อกิจการบิ๊กซีครอบครองสาขา 43 แห่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังคณะเรากลับจากฮานอยเพียงเดือนเดียว

นักธุรกิจไทยเข้าไปทำธุรกิจเห็นว่า ชนชั้นกลางเวียดนามมองสินค้าไทยดีกว่าและมีราคาในระดับที่ซื้อหาได้มากกว่าสินค้าญี่ปุ่นและเกาหลีหรือจีน

ขณะที่สื่อมวลชนเวียดนามรายงานความเห็นของ นายโด๋ ทาง ไฮ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า บอกว่า การเติบโตของการลงทุนจากต่างประเทศเพราะมองเห็นโอกาสขนาดใหญ่จากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (ทีพีพี) และข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่เวียดนามได้ลงนามไป

ท่ามกลางการเคลื่อนตัวทางเศรษฐกิจ รุกเข้าไปลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้นเรื่อยมา ธุรกิจผลิตอาหารสัตว์ของไทย ยักษ์ใหญ่เก่าแก่อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นแนวหน้าเข้าไปก่อนแล้วหลายปี

จึงเป็นแรงจูงใจให้คณะเดินทางจากอุดรฯ หลังจบภารกิจที่มหาวิทยาลัยวัฒนธรรมฮานอย ข้ามแม่น้ำแดงมุ่งหน้าสู่ CP VIETNAM CORPORATION เพื่อเยี่ยมชมกิจการภายใต้อาณาจักร CP GROUP เป้าหมายที่โรงงานผลิตอาหารสัตว์ เมือง Xuan Mai ชานกรุงฮานอย เป็นจุดต่อไป

เพื่อตามรอยการเดินทางของทุนที่ไม่มีพรมแดน ไหลจากที่ผลตอบแทนต่ำไปสู่ผลตอบแทนสูง ตรงข้ามกับน้ำ ไหลจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำ แต่คุณค่าและพลังของมันมหาศาล