‘กัมพูชา’ กับจารึกใหม่ใน ‘มรดกเตโช’

อภิญญา ตะวันออก

ตราตรึงและมากไปอีก สำหรับนักคลั่งรักศิลปวัฒนธรรมในการได้เห็นภาพเคลื่อนไหวในเชิงมัลติมีเดียของหนังใหญ่ (สแบกทม) เรียมเกร์ ฯลฯ ในพิธิเปิดมหกรรมกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 32 ใจกลางนครพนมเปญ

ตามสโลแกน “ประเทศตู้ด, แบะโดงทม-ประเทศเล็ก แต่ใจใหญ่” ที่ท่านผู้นำกัมพูชาหมายมาดประกาศให้ชาวโลกรับรู้สำหรับการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของราชอาณาจักรกัมโพช นับตั้งแต่สร้างประเทศจนสำเร็จเป็นประเทศสมัยใหม่ภายใต้การนำของสมเด็จเดโชฮุน เซน และแม้จะถูกขุดคุ้ยวิพากษ์อย่างมากมายก็ตาม

ทว่า ได้รับการรับรองแล้ว สำหรับค่าใช้จ่ายกว่า 15,000 ล้านบาทในการเป็นเจ้าภาพกีฬาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในครั้งแรกรอบ 64 ปีของกัมพูชา

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักนิยม “ประเทศเล็ก-หัวใจใหญ่” ในอารยธรรมเขมรนี้หรือไม่ก็ตาม แต่มันได้จริงๆ ในสิ่งที่โลกควรจารึก และว่า นี่หรือไม่ที่ทำให้กัมพูชาต้องใช้เวลานาน (เกินไป) กว่าจะผลักตัวเองเป็นประเทศเจ้าภาพเมื่อเทียบกับเมียนมาและลาว ที่สามารถทำได้ก่อนหน้านี้และทำได้ดีไม่แพ้กัน แต่ประเทศเหล่านั้นไม่ต้องแบกหามอารยธรรมและหน้าตาประเทศเพียงเพื่อสร้างอัตลักษณ์อันยิ่งใหญ่ที่ว่า

ทั้งหมดทั้งปวงมาจากแนวคิดของผู้นำ บุคคลที่โลกต้องจารึกไว้ในฐานะผู้สร้างปรากฏการณ์ “ดีล” แห่งหน้าตาและความเป็นประเทศที่ใช้เวลาหลายปีกว่าจะเป็นมรดกเตโช-สนามกีฬาแห่งเดียวที่เป็นเหมือนหน้าตา รวมทั้งการสั่งสมเวลาแห่งการสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมซึ่งครั้งสุดท้ายในการถูกจดจำ คือต้นศตวรรษที่ 20 ในการนำคณะละครเขมรไปเยือนฝรั่งเศส

ส่วนพหุวัฒนธรรมอื่นๆ โขน สแบกทมอะไรต่างๆ ที่เป็นปรากฏในพิธีกีฬาเพื่อโลกจารึกไว้หนนี้นั้น ได้ถูกรื้อฟื้นและสร้างขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่องในรอบสองทศวรรษเศษจนสำเร็จไม่ว่าจะเป็นละครโขน, กุนแขมร์ อีกสแบกทม-หนังใหญ่

ซึ่งมันใหญ่ยิ่งกว่าหนัง…

เพราะว่ามันได้กลายเป็น “บันดลบันดาล” หรือข้อการศึกษาทางจารีตและผลงานเชิงประวัติศาสตร์ให้แก่ท่านสมเด็จฮุน เซน ซึ่งเป็นเสมือนผู้นำ

บนรอยจารจารึกในรูปมิติมีเดียและงานสื่อผสมเหล่านั้น นี่ไม่ใช่ข้อกล่าวหาสำหรับประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ร่วมสมัยของกัมพูชา ภายใต้การนำพาโดยผู้นำเขตคาม ในฐานะ “นักจาร-จารึก” เพียงแต่เป็นฉบับที่มีลักษณะของภาพเคลื่อนไหวในมิติต่างๆ ระหว่างศิลปะและผู้คน ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องท่ามกลางสักขีพยานมรดกเดโชสเตเดี้ยมและทั่วโลกภายในเวลาราว 2 ชั่วโมง

พลัน ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่จะปรากฏตลอดไปในอนาคต หลังจากพิธีกรรมซีเกมส์เสร็จสิ้นลงนี้ จะเป็นลายเซ็นผู้ก่อการแต่เพียงผู้เดียวนั่นก็คือสมเด็จฮุน เซน!

โดยไม่ต่างจากปรากฏของภาพสลักหินนูนต่ำตามระเบียงปราสาทนครวัด-นครทมแห่งยุคกลางโดยผู้นำวรรมันผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคนั้น และนั่นคือทำไม? สถานแห่งนี้จึงต้องมีชื่อว่า “มรดกเตโช” อีกสัญลักษณ์ของสนามกีฬาต้องบ่งบอกถึงสมัยเมืองพระนคร?

 

ท่ามกลางพยัพแดดแห่งเวทีอารยธรรมที่มีเงาเหยินสลัวแห่งรากวัฒนธรรมร่วมกับบางประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะละครโขน/โขล ราชสำนักระบำอัปสรา รามเกียรติ์-เรียมเกร์ หนังใหญ่-หนังเล็ก/สแบกทม-สแบกตู้จ และอื่นๆ ใดๆ สำหรับด้านมุมของกัมพูชาแล้ว ความพยายามมีตัวตนในตัวตน ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน การรื้อฟื้นวัฒนธรรมแลทุกอย่างที่ผ่านมา สำหรับการมาถึง ณ วันนี้

ต่อการที่กัมพูชากลับมามีพื้นที่คำประกาศตัวตนที่ชัดเจนครั้งนี้ แม้ว่าจะแลกมาด้วยสรรพกำลังและเงินทองมากมายสักเท่าใด

ทว่า นี่คือความคุ้มค่าอย่างสุดที่จะหาได้…

และว่า ทำไมกัมพูชาจึงยอมทำทุกอย่างเพื่อประการนี้?

ตั้งแต่ก่อร่างสร้างขนบอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ไปจนถึงการสรรหาเอานักกีฬาต่างชาติมาแข่งขันในนามทีมชาติเพื่อไล่ล่าเหรียญรางวัล?

เพราะนี่คือรูปแบบความสำเร็จของโลกยุคใหม่ที่ตอบโจทย์ได้แก่ผู้นำ!

และสำหรับกัมพูชาแล้ว การสร้างพิมพ์เขียวใหม่ในฉบับของตนอันเป็นไปตามความต้องการของผู้นำ นั่นคือ สาระอันสำคัญ!

ไม่ว่าจะเป็นการจุดกระแสวัฒนธรรมจารีตใหม่ที่ออกแบบและวัฒนาโดยรัฐบาล อันจะกลายเป็นผลิตกรรมทางการเมืองและเครื่องมือการใช้งานต่อการสำแดงความสำเร็จในแต่ละโอกาส อีกพิมพ์เขียวแห่งวัฒนธรรมที่ว่านี้ ยังเป็นแรงผลักดันที่จะขับเคลื่อนกระแสความเป็นชาติให้แก่คนรุ่นใหม่ๆ

ด้วยเลือดเนื้อและจิตวิญญาณนับแต่จากนี้ไป

เป็นความจริงว่า ในทุกๆ มิติของกีฬา (และความเป็นชาติ) เป้าหมายสูงสุด คือชัยชนะ และมันเป็นไปไม่ได้เลย หากว่า บนโพเดียมแห่งความสำเร็จนั้น จะมีแต่ชนชาติอื่นที่ไปยืนรับถือถ้วยรางวัล นี่ไม่ใช่การลงทุนที่พึงยอมรับ สำหรับใครก็ตามที่เป็นเจ้าภาพ โดยเฉพาะที่กรณีที่ความสำเร็จนั้นมันจะยึดโยงกับอำนาจและภาคการเมืองในอนาคต!

ยิ่งการได้มาเหล่านี้ ได้ผ่านความแร้นแค้นในขั้นตอนทุกประการของการฟื้นฟูทางวัฒนธรรม ไม่แต่เพียงรายการที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่เท่านั้น แม้แต่ในบางครั้ง การต้องเหยียบย่ำไปบนกองซากเงาศพบรรพบุรุษหรือศิลปินผู้สร้าง ทั้งในชนชาติของตนและชนชาติอื่น

 

ดุษณียอมรับว่า ไม่มีใครเลยจะขึ้นมาแทนที่เขาได้ สำหรับ ฮุน เซน : บุรุษผู้แข็งกร้าว ที่มีชีวิตยืนยาวบนอำนาจ โดยเฉพาะการสร้างเกียรติประวัติสูงสุดของตนอย่างท้าทายประวัติศาสตร์ร่วมสมัยในทุกระบอบของกัมพูชาที่ผ่านมา จนสามารถบรรลุเป้าหมายอันสูงสุด

ลึกเร้นยิ่งกว่าใดๆ ในฐานะผู้นำประเทศที่โดดเด่น โดยเฉพาะการหยั่งรู้ในมิติแห่งการได้มาซึ่งประโยชน์แห่งอำนาจในทุกๆ สารบบ ทั้งในรูปของอำนาจอ่อน-ซอฟต์เพาเวอร์และอำนาจหลักด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นที่ทราบบัดนี้ว่า

สมเด็จฮุน เซน ผู้ไม่เคยล้อเล่นในการลองผิดหรือลองถูก!

ด้วยเหตุนั้น การทุ่มงบฯ ไปกว่าหมื่นห้าพันล้านบาท ในการเนรมิตมหกรรมแห่งอำนาจรอบนี้ มันจึงมีประโยชน์ที่ตามมาคุ้มค่ามหาศาลในยุทธศาสตร์แบบฮุนเซน ที่การสะสมบารมีอันสูงสุดแห่งอำนาจได้มาถึงจุดบรรจบแห่งความพอดีในวันที่ตนกำลังจะลงจากตำแหน่ง

ขณะเดียวกัน ฐานตอม่อของอำนาจก็ถูกสร้างไว้ให้แก่ผู้ที่จะมาสืบต่อซึ่งไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นทายาทของตนนั่นเอง

 

ต่อบริบทการเมืองสากลที่แทบจะไม่พบขนบการถ่ายโอนอำนาจแบบนี้อีกแล้ว สำหรับศตวรรษที่ 21 แต่สำหรับสมเด็จฮุน เซน แล้ว เขายังออกแบบที่ท้าทายกว่านั้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอำนาจเชิงพหุวัฒนธรรมแบบอำนาจอ่อนตามบริบทวิถีสังคมคนยุคใหม่

ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงค่าความเป็น “เอกพรรค” หรือ “หนึ่ง-อำนาจเดียว” ในการปกครองประเทศไปด้วย และว่า นี่คือจารีตปกครองของผู้นำเขมรที่มีลักษณะพิเศษกว่าทุกระบอบที่ผ่านมาตลอด 3 ทศวรรษอันผ่านไปด้วยจารีตจากสังคมนิยมคอมมิวนิสต์มาสู่การปกครองตามระบอบสมเด็จที่สร้างความภาคภูมิใจต่อชาวเขมรรุ่นใหม่ในปัจจุบัน

ผ่านการเฝ้ารอมาแรมปี สำหรับพิธิเปิดซีเกมส์ที่จะบ่งบอกถึงความเป็นประเทศหนนี้ที่สร้างความปลาบปลื้มแก่ชาวกัมพูชาทุกฝ่าย ตั้งแต่เด็กยันคนชราที่พากันหลั่งน้ำตา

ปีติไปกับภาพเบื้องหน้าที่แลเห็น และสิ่งที่พวกเขากล่าวว่า เฝ้ารอมาแสนนานสำหรับโอกาสสักครั้งในการยืนทระนงอย่างองอาจในความเป็นชาติพันธุ์เขมรที่กว่าครึ่งศตวรรษมานี้ีแต่ภาพจำอันเลวร้าย

มันจึงช่างคุ้มค่าอย่างเหลือเกินในโอกาสแห่งการรอคอยที่สำเร็จแล้วในช่วงชีวิตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะชาวเขมรที่รอดชีวิตจากยุคพลพตหรือเด็กรุ่นใหม่ที่มีส่วนร่วมในพิธีเปิด-ปิดซีเกมส์เพื่อให้โลกนี้จดจำ!

ไชโย สมเด็จพ่อ! ไชโย สมเด็จฮุน เซน!