รู้หรือไม่ ผีเสื้อกิน ‘น้ำตา’ เป็นอาหารว่าง!?

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

 

รู้หรือไม่

ผีเสื้อกิน ‘น้ำตา’ เป็นอาหารว่าง!?

 

ในผืนป่าอันรกชัฏแห่งประเทศบราซิล ตอนนี้เป็นเวลาเกือบเที่ยงคืน…ข้างๆ ดวงตาที่ปิดสนิทราวตาของเธอ ผู้มาเยือนหน้าตาพิลึกพิลั่น กำลังค่อยๆ ยื่นปากยาวๆ ที่ดูเหมือนงวงของมันออกมา

เธอยังคงหลับใหลอย่างสบาย ไม่รู้ตัวเลยว่าดวงตาของเธอกำลังจะถูกรุกรานโดยจุมพิตของผู้มาเยือนสีสันสดใส ปากเล็กๆ ที่มีสัณฐานเหมือนงวงนั้นค่อยๆ แทรกตัวเข้าไปในลูกนัยน์ตาของเธอ

ราวกับฉากในเรื่องสยองขวัญ ทีท่าของผู้มาเยือนดูมุ่งมั่น ปากที่สอดแยงเข้าไปในดวงตาค่อยๆ เคลื่อนไปมาช้าๆ ของเหลวในตาของเธอถูกเขาดูดกินไปอย่างรวดเร็ว

ร่างกายของเธอเริ่มกระสับกระส่าย เปลือกตาของเธอขยับเบาๆ น้ำตาเริ่มออออกมาอีกครั้ง

ผู้มาเยือนแอบลักดูดน้ำจากตาจนอิ่มหมีพีมัน ก่อนที่จะผละจากไป

ตาของเธออาจจะระคายเคืองในตอนเช้า แต่เธอคงไม่มีโอกาสได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเธอบ้างในยามนิทรา เพราะถึงตอนนี้ แม้ในขณะที่ผู้มาเยือนได้จากไปแล้ว เธอยังคงหลับใหลไม่ได้สติ

ผึ้งกับผีเสื้อ กับปาร์ตี้น้ำตาจระเข้ (ภาพโดย Carlos de la Rosa)

“นี่เป็นภาพที่หาดูได้ยากยิ่ง” ลีแอนโดร โฌอา คาร์เนโร เดอ ลิมา มอเรส์ (Leandro Jo?o Carneiro de Lima Moraes) นักชีววิทยาจากสถาบันวิจัยอเมซอนแห่งชาติ (National Institute of Amazonian Research) ในประเทศบราซิลกล่าว

ภาพผีเสื้อกลางคืนแอบลอบดูดน้ำตาของนกนั้น แทบจะไม่ค่อยมีใครเคยบันทึกได้มาก่อน

ที่มีบันทึกเป็นเอกสารไว้ก็มีแค่ 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งในปี 2007 ที่มาดากัสการ์ และอีกครั้งใน 2015 ที่โคลอมเบีย

แต่ลีแอนโดรเจอแจ๊กพ็อต หลังจากเดินสำรวจต่อเพียงแค่ไม่ถึงชั่วโมง เขาก็ได้พบกับคู่นกขี้เซากับผีเสื้อกลางคืนอีกคู่ มิต่างจากฉากที่เห็นมาก่อนหน้า

ผีเสื้อกลางคืนสีน้ำตาลตัวเขื่องกำลังจุมพิตบางเบาที่ตาของนก พร้อมสอดแทรกงวงปากที่ยืดยาวของมันเข้าไปในลูกตาของนกน้อยที่กำลังหลับใหล เพื่อดูดกลืนหยดน้ำตาที่เอ่อคลอออกมาอย่างสบายอารมณ์

ที่จริง งานวิจัยของลีแอนโดรจะเน้นศึกษาสัตว์เลื้อยคลานพวกสะเทินน้ำสะเทินบก แต่ฟุตเทจผีเสื้อกลางคืนตัวเขื่องลักดูดน้ำตานกตอนหลับที่เขาอัดได้นั้นก็น่าสนใจเกินกว่าที่จะเก็บงำเอาไว้คนเดียว

ในปี 2018 เขาตัดสินใจเขียนเปเปอร์เล่าถึงเหตุการณ์แล้วส่งไปลงวารสาร Ecology เพื่อรายงานสิ่งที่เขาพบ

ผีเสื้อกำลังกินน้ำตาเต่า (ภาพโดย Phil Torres)

น่าแปลกใจ ปกติ ภาพผีเสื้อกินน้ำตานกนี้พบได้ยากมาก แต่ลีแอนโดรเจอไปสองรอบในคืนเดียว

นั่นทำให้เขาเริ่มสงสัยว่า ที่จริง พฤติกรรมแปลกๆ แบบดูดน้ำตาของนกนี้ อาจจะไม่ได้พบได้ยากขนาดนั้นในธรรมชาติ

แต่ที่เราไม่ค่อยเคยสังเกตเห็น อาจจะเป็นเพราะเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นแค่ในยามดึกในป่าลึกที่เงียบสงัด

หรือไม่ก็อาจจะเกิดแค่ในบางช่วงที่แหล่งอาหาร แหล่งเกลือในธรรมชาตินั้นขาดแคลน

อย่าลืมว่านกหลายชนิดกินแมลง เป็นไปได้เหมือนกันว่านี่เป็นเรื่องที่มันน่าจะไม่อยากทำ เพราะการแหย่ตานกของผีเสื้อกลางคืน ก็ไม่ต่างกับการกระตุกหนวดเสือ

สายพันธุ์ผีเสื้อที่กล้าบ้าบิ่นขนาดนั้น อาจจะมีเหลือรอดอยู่ไม่มาก เพราะถ้าแหย่ไปแหย่มาแล้วตื่น รับรองสนุกสนานแน่นอน

แต่ในความเป็นจริง แม้จะพบในนกไม่บ่อย พฤติกรรมกินน้ำตาในแมลง หรือที่ศัพท์วิชาการเรียกว่า Lacryphagy นั้นต้องบอกว่าพบได้ทั่วไปในธรรมชาติ ทั้งนี้เพราะในน้ำตานั้นอุดมไปด้วยโปรตีนมากมายหลายชนิด รวมทั้งเป็นแหล่งเกลือโซเดียมที่จำเป็นมากต่อแมลงในการดำรงอยู่และสืบพันธุ์

ซึ่งเกลือโซเดียมนี้ หาได้ยากมาก และที่พีกที่สุดคืออาหารทั่วๆ ไปที่มันกิน อย่างเช่น น้ำหวานจากดอกไม้ต่างๆ นั้นไม่มี

แมลงก็เลยต้องหาแหล่งเกลือเพิ่มเติม บางชนิดนิยมโป่งดิน บางชนิดก็กินเอาจากเหงื่อ บางชนิดดูดจากซากเน่า สิ่งปฏิกูล และบางชนิดก็จัดเต็มมาจากกอง…อิ๊…ที่อะไรซักตัวปล่อยทิ้งเอาไว้

หยดน้ำตาก็เลยฟังดูเป็นแหล่งเกลือที่มีรสนิยมขึ้นมาทันที แม้จะแอบสยองขวัญไปนิดก็ตาม

ผีเสื้อกลางคืนกำลังกินน้ำตานก (ภาพโดย Leandro Jo?

และถ้าจะย้อนดูในประวัติศาสตร์ รายงานเปิบน้ำตาของพวกแมลงรสนิยมพิลึกฉบับแรกๆ น่าจะออกมาในราวๆ ปี 1915 จากแถบแอฟริกา ที่ซึ่งทีมนักวิจัยลงสำรวจแล้วต้องเซอร์ไพรส์เพราะเจอผีเสื้อกลางคืนมาแอบดูดกินน้ำตาของม้า และสัตว์กีบอื่นๆ และอีกครั้งในปี 1958 จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีรายงานผีเสื้อกลางคืนเปิบพิสดารมาดูดกินน้ำตาของโค กวาง สุกร แกะ เก้ง ม้า ลา กระบือ และช้าง ทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา

เรียกว่ามุ่งเป้าไปที่สัตว์เท้ากีบ ที่น่าจะไม่มีพิษมีภัยล้วนๆ ไม่เหมือนนก แม้จะมารังควานตอนตื่น สัตว์พวกนี้บางตัวอาจจะไม่สนใจ ไม่แคร์ ปล่อยให้พวกมันปาร์ตี้น้ำตากันได้อย่างสบายใจเฉิบเสียด้วยซ้ำ

ไม่ใช่แค่สัตว์เท้ากีบเท่านั้นที่ผีเสื้อจะสนใจ แม้แต่สัตว์เลื้อยคลานที่น่าสะพรึงกลัวอย่างจระเข้ พวกมันก็ยังไม่เว้น

ว่าแต่จระเข้มีน้ำตาด้วยเหรอ?

“มี” เคนต์ วเลียต (Kent Vliet) นักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญสัตว์เลื้อยคลาน จากมหาวิทยาลัยฟลอริดา (University of Florida) ยืนกราน “ต่อมน้ำตาของจระเข้จะเชื่อมกับโพรงไซนัสของมัน ไอเดียหนึ่งก็คือน้ำตาจระเข้จะสร้างจากตาก่อน แล้วจึงไหลลงไปในโพรงไซนัส ก่อนจะผ่านไปที่คอหอย ช่วยในการหล่อลื่นอาหารให้ไหลลงไปในท้องได้ง่ายขึ้นในตอนที่จระเข้กลืนเหยื่อ น้ำตาของมันน่าจะทำงานในการย่อยอาหารคล้ายๆ กับน้ำลายของคน”

น้ำตาจระเข้จึงน่าจะมีองค์ประกอบไม่เหมือนน้ำตาทั่วไป นอกจากอุดมไปด้วยเกลือแล้ว ยังมีโปรตีน เอนไซม์ และสารอาหารต่างๆ อีกมากมาย และนั่นอาจจะเป็นสาเหตุให้ผีเสื้อ ผึ้งและแมลงอีกหลายชนิดติดใจน้ำตาจระเข้

แน่นอน มีหลักฐานชัดเจนว่าผีเสื้อหลายชนิดติดใจน้ำตาจระเข้

ภาพถ่ายโดยคาลอส เดอ ลา โรซา (Carlos de la Rosa) ผู้อำนวยการสถานีวิจัยชีวภาพลาเซลวา องค์การเพื่อการศึกษาเขตร้อนภาคสนาม (La Selva Biological Station, Organization for Tropical Field Studies) ในคอสตาริกาคือหนึ่งในหลักฐานที่ชัดเจนและน่าทึ่งที่สุด

ราวกับหลุดมาจากการ์ตูนดิสนีย์ ผีเสื้อสีสันสดใสฟรุ้งฟริ้ง กับผึ้งตัวอ้วนกลมกำลังดอมดมใบหน้าของจระเข้เคแมนขนาด 2.5 เมตรที่นอนอ้าปากโชว์เขี้ยว อาบแดดอยู่

แต่จระเข้ไม่กินผีเสื้อนี่นา นั่นหมายความว่าเคสจระเข้ สำหรับผีเสื้อ ก็ไม่น่าจะมีอะไรน่ากลัว

 

นอกจากจระเข้แล้ว เต่าก็ใช่จะไม่โดน ในปี 2018 คลิปโชว์ทริปล่องแม่น้ำแทมโบพาตา (Tambopata river) ในประเทศเปรู ของฟิล ทอร์เรส (Phil Torres) นักกีฏวิทยาและยูทูบเบอร์ชื่อดังเจ้าของช่อง The Jungle Diaries มีบางช่วงที่น่าสนใจ

เป็นภาพฝูงผีเสื้อฝูงใหญ่สีสันสนใสกำลังบินว่อน มะรุมมะตุ้มอยู่รอบๆ เต่าสีเทาตัวอ้วน 2 ตัวที่กำลังนอนอาบแดดอยู่ที่ริมฝั่ง

ฝูงผีเสื้อสีสันตระการตากำลังไล่ตอมดวงตาของเต่าตัวเขื่องอย่างกระตือรือร้น บางตัวถึงขั้นเกาะติดแล้วดูดน้ำตาจากเต่าให้เห็นกันชัดๆ แบบไม่ต้องหลบซ่อนกันเลย

ฟิลเผยว่ามีผีเสื้อกว่า 8 ชนิด จาก 3 ตระกูลที่คอยไต่ตอมไล่กินน้ำตาจากเต่าที่น่าสงสาร

ฟิลเชื่อว่าอะไรที่นอนนิ่งๆ นานๆ แล้วไม่เป็นพิษเป็นภัย ก็น่าจะเป็นเหยื่อให้ผีเสื้อพวกนี้รุกรานเอาได้หมด

“ที่เต่าทำได้ก็แค่หันหัวไปอีกข้างให้ผีเสื้อบินหนีไป ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไร”

ผีเสื้อพวกนี้มั่นคงมาก กับการจู่โจมเหยื่อ…พวกมันไม่ยอมไปไหนเลย

“นี่เป็นภาพที่สวยงามที่สุด แปลกที่สุด เพี้ยนที่สุด และน่าตื่นตาตื่นใจที่สุดที่ผมเคยเห็นมาในชีวิตนี้” ฟิลกล่าว “ผมกล้าพนันเลยว่าถ้าผมนอนนิ่งๆ นานพอ พวกมันจะต้องมากินเหงื่อของผมแน่นอน ซึ่งนั่นพบได้ตลอด เผลอๆ บางตัวอาจจะเลยขึ้นไปกินน้ำตาของผมเลยด้วย”

 

ซึ่งที่ฟิลคิดนั้นมีเค้าความเป็นไปได้อยู่เยอะมาก เพราะจากการศึกษามาในอดีต พบว่าผีเสื้อบางชนิดนั้นพิศวาสน้ำตามนุษย์ถึงขั้นสุด ไม่ใช่แค่ชื่นชอบเฉยๆ นะ แต่ถึงขั้นคลั่งไคล้

ในปี 1969 ฮานส์ แบนซิเกอร์ (Hans B?nziger) นักกีฏวิทยาจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ ซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Federal Institute of Technology, Zurich, Switzerland) เผยในเปเปอร์ Records of Eye-Frequenting Lepidoptera from Man ที่ตีพิมพ์ออกมาในวารสาร Journal of Medical Entomology ว่าผีเสื้อกลางคืนหลายชนิด “ในประเทศไทย” มีรสนิยมชื่นชมน้ำตามนุษย์

ในปี 1965 ฮานส์โดนผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่งเข้าจู่โจมอยู่หลายนาที ในขณะที่กำลังเก็บตัวอย่างในยามค่ำคืนที่มวกเหล็ก มันพยายามเกาะที่หน้าของเขา และยื่นปากที่เป็นเหมือนงวงมาดูดกินน้ำตาของเขา แม้ว่าการจู่โจมของผีเสื้อชนิดนี้จะไม่เจ็บปวดอะไรเท่าไร แต่ปากที่เป็นงวงของมันก็ทำให้ระคายเคืองพอที่จะทำให้เขาหลั่งน้ำตาออกมาอย่างมากมายให้มันได้ดื่มกิน

แม้มนุษย์ก็ยังกล้าจู่โจม ต้องบอกเลยช่างกล้า

 

และในปี 1966 ฮานส์ก็ทดลองกับตัวเองโดยใช้ผีเสื้อกลางคืน Lobocrapis griseifusa ที่ขึ้นชื่อลือชาในความแสบ ผีเสื้อชนิดนี้ไม่ได้แอบขโมยน้ำตาตอนหลับ แต่จะเน้นการลากปากยาวๆ ที่มีปลายเหมือนฉมวกไปมาบนผิวตา ทำให้ระคาย สุดท้าย ก็ต้องหลั่งน้ำตาออกมาให้มันดื่มกิน

เขาเก็บผีเสื้อกลางคืน 3 ตัวไว้ในมุ้ง โดยจับอดข้าวอดน้ำ ไม่ให้กินอะไรราวๆ 50 ชั่วโมง แม้ผีเสื้อทั้งสามจะยอมปล่อยเขาให้นอนหลับสบายตลอดทั้งคืน แต่แล้วในช่วงเวลาเช้าตรู่ราวๆ 6 โมงเช้า เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ผีเสื้อที่หิวโหยตัวหนึ่งพุ่งเข้าโจมตีเขา

ฮานส์เล่าว่าผีเสื้อ Lobocrapis griseifusa ที่ร้ายกาจเฝ้าจู่โจมเขาอย่างไม่ลดละ ปัดยังไงก็ไม่ยอมถอย คอยแต่จะบินวนไปวนมา รอหาทางจะดูดกินน้ำตาของเขาให้ได้ หลังจากที่ต่อต้านลองเชิงกันอยู่หลายนาที ฮานส์ก็ยอมปล่อยให้ผีเสื้อแสบลองลิ้มชิมรสน้ำตาของเขา

ปากผีเสื้อชนิดนี้เหมือนฉมวก ความรู้สึกเวลาที่ปากมันแตะโดนนั้นจะเจ็บแสบเหมือนโดนทิ่มเเทง แค่โดนบนเปลือกตาก็ยังรู้สึกแสบไหม้ได้ ถ้าโดนผิวตานี่หายห่วง ต้องมีถึงขั้นน้ำตาไหลพรากแก้มกันเลยทีเดียว

ฮานส์ลองหลับตา กะพริบตา ดูว่าผีเสื้อจะยอมถอนปากแหลมๆ ของมันออกไปมั้ย ปรากฏว่าเจ้าผีเสื้อแสบยังคงเกาะแน่น โนสน โนแคร์ ยังคงพยายามดูดกินน้ำจากตาของเขาแบบชิลล์ๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะตามเกาะ ตามรังควานแบบนี้ ถ้าไม่ใช่ฮานส์ อาจโดนฝ่ามืออรหันต์จนกลายเป็นวิญญาณผีเสื้อไปได้ง่ายๆ เรียกว่าหิวน้ำตาจนใจกล้าบ้าบิ่น เป็นไปได้ว่าในน้ำตามนุษย์อาจจะมีอะไรพิเศษที่เย้ายวนใจผีเสื้อพวกนี้เสียจนลืมกลัว

 

ฮานส์เผยว่าไม่ใช่ผีเสื้อเท่านั้นที่แอบกระเหี้ยนกระหือรืออยากกินน้ำตามนุษย์ ผึ้งก็เช่นกัน

ในปี 2009 ฮานส์และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Chiang Mai University) ก็ได้ตีพิมพ์ลิสต์สปีชีส์ของผึ้งและชันโรงที่มีรสนิยมชอบเปิบน้ำตามนุษย์ลงในวารสาร Journal of the Kansas Entomological Society

ว่าแต่ทุกอย่างนี้ แค่เพื่อ “เกลือ” เท่านั้นหรือ นี่คือสิ่งที่ควรจะลองมาวิเคราะห์กันดู

สิ่งแรกที่ต้องถาม ก็คือ อะไรคือจุดมุ่งหมายของการดำรงอยู่ของผีเสื้อกลางคืน ซึ่งคำตอบมันชัดเจนอยู่แล้ว ก็คือเพื่อหาคู่ และสืบต่อเชื้อสายวงศ์วานว่านเครือ

นั่นหมายความว่าผีเสื้อหนุ่มจะต้องหาทางมัดใจสาวๆ เพื่อเอามาเป็นคู่ตุนาหงันให้ได้จะได้ผลิตทายาทผีเสื้อรุ่นใหม่ออกมาสืบสานต่อสปีชีส์ต่อไปไม่ให้สูญพันธุ์

และเพื่อเอาชนะใจผีเสื้อสาว ผีเสื้อหนุ่มจะต้องกินโป่ง ซดเหงื่อ ดื่มน้ำตา หรือแม้แต่ทะลวงอิ๊ เพื่อหาเกลือจำนวนมหาศาลมาเก็บสะสมเอาไว้เพื่อจะเอามาทำเป็นสินสอดหมั้นหมายที่เรียกว่า nuptial gift ใช้กำนัลผีเสื้อสาวในตอนขอผสมพันธุ์ เพื่อให้สาวเจ้ายินยอม

ซึ่งสินสอดสายเกลือที่ว่า สาวเจ้าบางตัวก็อาจจะเก็บเอาไว้กินเล่นเย็นๆ ใจกันเองในช่วงผสมพันธุ์ หรือบางตัวก็อาจจะยังประหยัดเอาไว้เพื่อส่งต่อไปให้รุ่นลูกเป็นต้นทุนในการเริ่มชีวิตใหม่

จินตนาการกลยุทธ์จีบหญิงที่ต้องทั้งเสี่ยงภัย กินดิน กินน้ำตา แค่เพื่อหาเกลือเอามาเก็บไว้เอาใจอิสตรี กลายเป็นเลิฟสตอรี่แบบซึ้งๆ คะแนนความทุ่มเทควรได้เต็ม

อย่างว่า ถึงแม้หน้าตาจะสวยงาม ปีกก็สดใส แต่ระหว่างทาง ไม่รู้น้องไปเกาะ ไปดูดอะไรมาบ้าง มีเชื้อโรคอะไรติดมาหรือเปล่าก็ไม่รู้

แม้จะอินกับความทุ่มเทแค่ไหน แต่ถ้ามาเกาะแกะตาผมละก็ ต้องเจอฝ่ามืออรหันต์!!!