วิถีชีวิตชาวกรุง สมัยน้ำท่วมพระนคร 2485/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

วิถีชีวิตชาวกรุง สมัยน้ำท่วมพระนคร 2485

 

“ในบ้านฉัน น้ำท่วมดิน สิ้นทุกแห่ง กลับกลายแปลง ดินเป็นน้ำ ย่ำไม่สุด ต้องใช้เรือ ขนของ เที่ยวท่องรุด เหมือนกับขุด ให้มีน้ำ เป็นลำคลอง”

(พระยาอรรถศาสตร์ฯ, 35)

 

น้ำเหนือไหลบ่าพระนคร

มวลกระแสน้ำจากทางเหนือค่อยๆ ไหลบ่าลงทางใต้ นับแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมาน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและตามลำคลองในพระนครและธนบุรีเริ่มปริ่มตลิ่ง พื้นที่ต่ำน้ำเริ่มท่วม เมื่อน้ำจากทางเหนือไหลบ่ามาถึงทุ่งรังสิต ปทุมธานีแล้ว ตั้งแต่ช่วงกลางกันยายน รัฐบาล-กรมชลประทานประกาศเตือนประชาชนให้เก็บข้าวของหนีน้ำ (ศรศัลย์, 96)

ในช่วงแรก น้ำมีระดับเพียงตาตุ่ม หรือหัวเข่า การเดินทางทางรถเมล์ หรือรถรางยังเดินไปมาได้ แต่ต่อมาระดับน้ำขึ้นถึงหน้าอก และคอ ทำให้เรือกลายเป็นพาหนะสำคัญ และรถลากที่เคยหายไปจากการเดินทางได้กลับมาเห็นบนท้องถนนอีกครั้ง (ลาวัลย์, 2536)

ในถนนบางสายมีกระแสน้ำสูงและพัดแรงทำให้ประชาชนที่ไม่แข็งแรงมิอาจต้านทานกระแสน้ำไหลเชี่ยวได้ กระแสน้ำขุ่นได้กลบร่องถนนหรือท่อระบายน้ำมิอาจมองเห็นได้ มีข่าวว่าชาวบ้านตกท่อระบายน้ำตาย (ขุนวิจิตรมาตรา, 474)

รอรถ-ต่อเรือไปทำงานและชุดลุยน้ำท่วมของชาวพระนครเมื่อ 2485 (ศรีกรุง 7 พฤศจิกายน 2485)

ชีวิตคนทำงานออฟฟิศครั้งน้ำท่วม

ชีวิตการเดินทางชาวพระนครไปทำงานในครั้งนั้นคือ ขึ้นรถลงเรือและเดินลุยน้ำ การลุยน้ำของหนุ่มสาวเป็นเรื่องปกติธรรมดาในยุคน้ำท่วม ทั้งชายและหญิงต่างนุ่งกางเกงขาสั้น เพื่อสะดวกในการลุยน้ำท่วม คนที่ไม่คุ้นกับกางเกงขาสั้น ก็จะม้วนขากางเกงขึ้นเหนือหัวเข่า ผู้หญิงใช้การถกกระโปรงดูทุลักทุเล ส่วนรองเท้าใช้รองเท้าที่ทำจากยางนอกรถยนต์ (ลาวัลย์, 2536)

เวลาเดินลุยน้ำต้องระวังคลื่นจากรถยนต์ขนาดใหญ่เพราะมันอาจซัดคนเดินถนนจนหกล้มได้ บางครั้งก็ต้องเขย่งตัวให้พ้นคลื่นสูง มิให้เปียกทั้งตัว คนทั่วไปในช่วงนั้นนุ่งกางเกงขาสั้น รองเท้ายาง เหมาะกับชุดลุยน้ำท่วมมากที่สุด (เหม, 161)

การแต่งกายไปทำงานของข้าราชการยุคน้ำท่วม คือ แต่งกายตามสบายออกจากบ้าน ใส่เสื้อชั้นใน นุ่งกางเกงขาสั้น สวมรองเท้าแตะ โดยเอาชุดข้าราชการสีกากีหรือเสื้อนอก ห่อใส่ผ้าไปเปลี่ยนที่ทำงาน เนื่องจากต้องนั่งเรือและลุยน้ำ ข้าราชการบางคนเอาชุดข้าราชการเก็บไปที่ทำงานเลย ทุกเช้าจะใส่ชุดลุยน้ำออกจากบ้าน (ขุนวิจิตรมาตรา, 476)

ผู้พิพากษาคนหนึ่งเล่าว่า เทศบาลได้ช่วยเหลือบริการประชาชนทั้งน้ำประปา แท่นที่พักผู้โดยสารอย่างแข็งขันมากว่า “ตามถนน แถวถิ่น น้ำท่วม ทำท่อสวม ท่อประปา ให้ใช้ได้ น้ำสะอาด จะปราศโรคโพยภัย ทำที่พัก เพื่อให้โดยสารรถ” (พระยาอรรถศาสตร์ฯ, 42)

ในครั้งนั้น ระดับน้ำช่วงคลองบางลำพูเหนือลึกมาก ขุนวิจิตรมาตราเล่าว่า ครั้งช่วงที่เขาไปประชุมวรรณคดีสมาคมที่วังสวนกุหลาบนั้น เขาต้องนั่งเรือจากบ้านที่แพร่งสรรพศาสตร์พายไปยังริมคลองผุดงกรุงเกษมตรงหัวถนนราชสีมา เพื่อต่อเรือของชาวบ้านที่จอดรับส่งคนไปทำงาน มีครั้งหนึ่งรอเรือนานมากกลัวไปประชุมไม่ทัน เขาจึงต้องลงลุยน้ำระดับหน้าอกไปประชุม มือสองข้างยกแฟ้มรายงานการประชุมเดินชูเหนือน้ำ เดินไปกว่าครึ่งชั่วโมงจึงถึงตึกประชุม (ขุนวิจิตรมาตรา, 474)

จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี เขียนเล่าว่าถึงความยากลำบากในการเดินทางมาทำงานของข้าราชการ ดังเช่น หลวงพันเอกสารานุประพันธ์ ผู้แต่งเพลงชาติไทย และอธิบดีกรมว่า หลวงสาราฯ เดินทางมาทำงานใช้เวลานานมาก จนไม่อยากไปทำงานอื่นที่หน่วยงานอื่น เช่น การตรวจข่าวที่กรมไปรษณีย์ เพราะต้องไช้เวลาเดินทางไป 3 ชั่วโมง กลับ 3 ชั่วโมงโดยทางเรือ หมดเวลาทำงานพอดี และหลวงสาราฯ มีรถยนต์คันหนึ่งที่ลุยน้ำได้ รถแล่นไปที่ไหนเด็กๆ ในพระนครจำได้ว่าเป็นรถของหลวงสาราฯ (สามัคคีไทย, 89)

บนถนนเยาวราช มีรถลาก รถเมล์และเรือพาย บนถนนสายเดียวกันครั้งน้ำท่วม 2485

ท่านผู้นำสั่งเลื่อนเวลาทำงาน

ความยากลำบากในการเดินทางมาบริการประชาชนของข้าราชการในครั้งนั้นมีมาก จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีสั่งการไปยังหน่วยราชการให้เลื่อนเวลาเข้างานจาก 08.00 น. เป็น 09.00 น. ต่อมาเลื่อนออกไปเป็น 09.00-10.00 น. (ศรีกรุงฯ, 6 ตุลาคม 2485)

เหม เวชกร เล่าว่า ในช่วงน้ำท่วม รัฐบาลผ่อนปรนการเข้าทำงานของข้าราชการให้สายออกไปบ้างเนื่องจากข้าราชการบางคนบ้านอยู่ไกลหรือใกล้แตกต่างกัน พวกอยู่ในพระนครสามารถเดินลุยน้ำท่วมมาได้ทันเวลา แต่บางคนบ้านไกล หรืออยู่ย่านฝั่งธนฯ มาทำงานฝั่งพระนครในยามเช้านั้นจะลำบาก จำต้องนั่งเรือจากแถวบ้านมาสุดทางที่สะพานพุทธฯ กระแสน้ำในแม่น้ำไหลเชี่ยวมาก จากนั้น เดินข้ามสะพานพุทธฯ เดินลุยน้ำต่อผ่านโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ในช่วงแรกๆ ยังมีรถรางวิ่งได้ในบางช่วง แต่ภายหลังนั้น ต้องต่อเรือจ้างไปทำงาน เมื่อน้ำท่วมสูง รถรางหยุดเดินเพราะไฟฟ้าดูด

เขาบันทึกอย่างมีอารมณ์ขันว่า เมื่อต้องลุยน้ำท่วม เกิดท่วงท่าเดินลุยน้ำ เช่น ท่าสเต็ปลุยน้ำด้วยการยกเข่าสูง แล้วจุ่มขาลง แล้วยกขึ้น ทำไปเรื่อยจนกว่าจะเดินได้ตามปกติ ชุดลุยน้ำท่วมของข้าราชการมีลักษณะนุ่งกางเกงขาสั้น ผ้าขาวม้าคาดพุง บนหัวจะมีของเล็กๆ น้อยๆ เช่น กระเป๋าเงิน บุหรี่ ใส่ผ้าเทินหัว เหมือนช่างไม้ออกจากบ้านลุยน้ำต่อเรือไปทำงาน (เหม, 160)

ชาวพระนครสัญจรด้วยสามล้อ เครดิตภาพ : ประวิทย์ สังข์มี

สัตว์ที่ไม่ได้เลี้ยงของชาวพระนคร

สําหรับชีวิตชาวพระนครหลังกลับถึงบ้านยามค่ำแล้ว ต้องระมัดระวังสัตว์ร้าย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง หนู ที่หนีน้ำมาหลบซ่อนตามที่แห้งในบ้าน ตามห้อง ตามที่นอน ดังนั้น ทุกคืนต้องคอยเคาะ กระทุ้ง คลี่เสื่อ ตีเบาะเพื่อขับไล่สัตว์ที่อาจมาแอบซ่อน ยามจะปูที่นอนหมอนมุ้ง จะคลี่เสื่อก่อนนอนต้องโยนม้วนเสื่อออกไปไกลๆ ตัวเพื่อให้สัตว์ร้ายตกใจหนีออกจากม้วนเสื่อนั้นเสียก่อน

ความทรงจำของคนชั้นกลางที่อาศัยในพระนคร บันทึกไว้ว่า “บางวันนอนๆ อยู่เห็นงูเลื้อยพันอยู่บนเสาเตียง มองดูที่ช่องลมเห็นงู เห็นหนู หัวใจจะวาย บางทีหิวข้าว เปิดตู้กับข้าวจะหยิบจานกับข้าวมากิน งูนอนขดเสงี่ยมอยู่ในจานกับข้าว ไปตรงไหนก็พบความตายอยู่แค่คืบ” (ลาวัลย์, 2536)

ช่วงนั้นมีข่าวว่า อำเภอพระโขนงมีงูพิษหนีน้ำเข้าบ้านเรือน บ้างก็เลื้อยขึ้นไปบนหลังคาบ้านของประชาชนและกัดประชาชน จนสภากาชาดได้ส่งหน่วยฉีดเซรุ่มไปยังสถานีตำรวจพระโขนง (ศรีกรุง, 16 ตุลาคม 2485)

แม้กระทั่งจอมพล ป.พิบูลสงคราม ใช้นามปากกาว่า “สามัคคีไทย” บันทึกถึงสัตว์ร้ายที่อพยพเข้ามาในบริเวณบ้านไว้ว่า “ที่บ้านฉันกลางนาบริเวณหลักสี่มีสาลาน้ำหยู่หลังหนึ่ง เวลานี้น้ำท่วม งูสามเหลี่ยมตัวโตถนัดได้เข้าไปนอนหยู่อย่างสบาย เลยทำให้สาลาน้ำนั้นไม่มีใครกล้าเข้าไป เพราะกลัวงูกัดตาย รองปลัดกะซวงกลาโหม น.อ.ยุทธสาตรโกสล บ้านหยู่พระโขนง งูสามเหลี่ยมตัวเท่าแขนได้ลอยเข้าไปที่นอกชาน ซาบว่าเจ้าของเลยขนของไปอาศัยหยู่ที่ตึกชั้นบนของห้างไวท์เอเวเก่า จนบัดนี้” (สามัคคีไทย, 2486, 89)

น้ำท่วมพระนครเมื่อครั้ง 2485 สร้างความยากลำบากแก่ชาวพระนครเป็นอย่างมาก ดังปรากฏเป็นหลักฐานทั้งในวรรณกรรม บทความ และหนังสือพิมพ์ที่ท่ามกลางสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ระเบิดขึ้น

รถเมล์พลังงานแก๊สจากถ่านในยามน้ำมันขาดแคลนช่วงสงครามยามน้ำท่วมพระนคร 2485 เครดิตภาพ : ประวิทย์ สังข์มี
รถเมล์สายท่าเตียน-ถนนตก บนถนนเจิญกรุง ปี 2485 เครดิตภาพ : หอภาพยนต์แห่งชาติ
เรือพายและเรือแจวรับผู้โดยสารเมื่อครั้งน้ำท่วม 2485 เครดิตภาพ : หอภาพยนต์แห่งชาติ