ระทึก 30 กันยายน 2565 ศาลนัดชี้ชะตา ‘ประยุทธ์’ คดีใหญ่ วาระนายกฯ 8 ปี หลักฐานมัด ว่อนโซเชียล/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ระทึก 30 กันยายน 2565

ศาลนัดชี้ชะตา ‘ประยุทธ์’

คดีใหญ่ วาระนายกฯ 8 ปี

หลักฐานมัด ว่อนโซเชียล

 

คดีวาระนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คดีใหญ่ทางการเมือง ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุดคดีหนึ่ง มาถึงจุดที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยชี้ขาด วันที่ 30 กันยายน 2565

ย้อนไทม์ไลน์กลับไปวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุม มีมติเอกฉันท์รับคำร้องพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ยื่นผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ไว้พิจารณาวินิจฉัย

โดยให้ผู้ถูกร้องคือ พล.อ.ประยุทธ์ ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลภายใน 15 วัน

พร้อมมีมติ 5 ต่อ 4 สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย คำสั่งดังกล่าวถือเป็นเรื่องพลิกความคาดหมายพอสมควร

หลังมีมติรับคำร้อง ศาลเริ่มดำเนินการตามวิธีพิจารณาตามขั้นตอน นอกจากให้ พล.อ.ประยุทธ์ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา

ยังมีคำสั่งให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และนายปกรณ์ นิลประพันธ์ อดีตเลขานุการ กรธ. ทำคำชี้แจงยื่นต่อศาล นำมาประกอบการพิจารณาวินิจฉัย

ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ นายมีชัย และนายปกรณ์ ได้ส่งคำชี้แจงต่อศาลเป็นที่เรียบร้อย ช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เร็วกว่า 15 วันตามกำหนด

ต่อมาปรากฏว่า เอกสารคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์และนายมีชัย ถูกปล่อยหลุดออกมาในโลกโซเชียล โดยไม่มีผู้เกี่ยวข้องหรือใครปฏิเสธว่าไม่ใช่เอกสารจริง

คำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ มีทั้งหมด 23 หน้า 8 หัวข้อ สาระสำคัญยืนยันวาระนายกฯ 8 ปี เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 โดยต้องเริ่มนับอายุวาระจากวันรัฐธรรมนูญประกาศใช้ 6 เมษายน 2560

ประเด็นชี้แจงสรุปว่า แม้การดำรงตำแหน่งนายกฯ ครั้งแรกจะเริ่มตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557 และเป็นนายกฯ ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

แต่ไม่อาจนำระยะเวลาดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มานับรวมกับการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2560 ได้

เนื่องจากความเป็นนายกฯ ครั้งแรกตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2560 สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 พร้อมกับการสิ้นสุดลงของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557

ดังนั้น ความเป็นนายกฯ ครั้งแรกจึงขาดตอนจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ในวันที่ 6 เมษายน 2560

ส่วนข้อกำหนดห้ามเป็นนายกฯ เกิน 8 ปี ตามมาตรา 158 เป็นบทบัญญัติกฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิ ดังนั้น ต้องตีความอย่างแคบและโดยเคร่งครัด จะตีความอย่างกว้างให้หมายความรวมถึงการเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นมิได้

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันการดำรงตำแหน่งของตนเอง ไม่ขัดกับหลักมาตรฐานสากลและเจตนารมณ์มาตรา 158 วรรคสี่ โดยระบุว่า ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์สุจริตและด้วยความจงรักภักดี

ดังนั้น ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นระยะเวลาเท่าใด ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งไม่เคยใช้อำนาจผู้นำประเทศเพื่อประโยชน์ของตัวเอง หรือของวงศาคณาญาติ หรือพวกพ้อง

ไม่เคยคิดช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้ทำความเสียหายให้ประเทศ หรือประโยชน์ของสาธารณะ ของประชาชน ให้กลับมามีอำนาจหรือเป็นผู้นำประเทศ เพื่อใช้อำนาจก่อผลเสียต่อประโยชน์ของประเทศอย่างรุนแรงได้อีก

ตอนท้ายยังย้ำว่า การดำรงตำแหน่งที่มีข้อจำกัดห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158 วรรคสี่ หมายถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่น

หากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีเจตนารมณ์ให้หมายรวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นด้วยย่อมต้องบัญญัติไว้โดยแจ้งชัด

ข้อกล่าวหาของผู้ร้องจึงไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

 

ที่เป็นปัญหาถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ไม่แพ้กันคือ

คำชี้แจงของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเอกสาร 3 แผ่น มีใจความและรายละเอียดน่าสนใจ

โดยเฉพาะประเด็นรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ในคำชี้แจงยืนยันการนับวาระนายกฯ 8 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 สอดรับกับคำแก้ข้อกล่าวหาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

มีการหยิบยกบทบัญญัติที่ใช้กับ ครม.ที่ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นที่มาของการบัญญัติมาตรา 264 ที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ที่บริหารอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็น ครม.ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่

ซึ่งผลของมาตรา 264 ครม.รวมถึงนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่บังคับใช้คือ 6 เมษายน 2560

และระยะเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นไป

ตอนท้าย นายมีชัยยังชี้แจงถึงรายงานการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 ว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับคำกล่าวของตนเองนั้น เป็นการจดรายงานที่ไม่ครบถ้วน เป็นการสรุปตามความเข้าใจของผู้จด

อีกทั้ง กรธ.ยังไม่ได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมนั้น เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย และ กรธ.ประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 12 กันยายน 2561

ทั้งนี้ รายงานการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 คือรายงานบันทึกการประชุม ที่เป็นการหารือประเด็นนับรวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560

เนื้อหาในบันทึกรายงานดังกล่าว ระบุตอนหนึ่งว่า

นายมีชัยสอบถามในที่ประชุมว่า ผู้เป็นนายกฯ อยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ สามารถนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ เข้ากับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่

ก่อนที่นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ.คนที่หนึ่ง จะกล่าวว่า หากนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ ควรนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งรวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย

 

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเท่ากับว่า บันทึกการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 คือหลักฐานความเห็นของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2 คน ซึ่งตีความได้ว่าวาระนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์สิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2565

และนั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมนายมีชัยถึงได้พยายามทำลายน้ำหนักบันทึกดังกล่าว โดยชี้แจงต่อศาล อ้างว่าเป็นรายงานการประชุมที่ กรธ. “ยังไม่ได้ตรวจรับรอง” เพราะ “เป็นการประชุมครั้งสุดท้าย”

แต่แล้วในโลกโซเชียลก็ได้เผยแพร่หลักฐานบันทึกรายงานการประชุม กรธ.ครั้งที่ 501

ในระเบียบวาระที่ 2 รับรองบันทึกการประชุม ระบุ คณะกรรมการมีมติรับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 497 วันอังคารที่ 28 สิงหาคม 2561 ถึงครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561

บันทึกการประชุม กรธ.ครั้งที่ 501 จึงเป็นหลักฐานหักล้างคำชี้แจงของนายมีชัย ใน 2 ประเด็น คือ การประชุมครั้งที่ 500 ไม่ใช่การประชุมครั้งสุดท้าย และบันทึกการประชุม มีมติรับรองความถูกต้องไว้ด้วย

เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดส่งสำเนาบันทึกการประชุม และรายงานการประชุม กรธ.ครั้งที่ 501 มาให้ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาวินิจฉัย

 

คําชี้แจงต่อศาลของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ในคดีวาระนายกฯ 8 ปี ซึ่งถูกหักล้างด้วยบันทึกการประชุม กรธ.ครั้งที่ 501 ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงในเจตนาของอดีตประธาน กรธ.

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ถึงประเด็นนี้ “บันทึกการประชุมครั้งที่ 501 บอกอะไรเราบ้าง”

บันทึกฉบับที่ 501 เป็นการระบุว่า ที่ประชุมได้รับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 โดยไม่มีการแก้ไข

จึงเป็นหลักฐานแย้งที่นายมีชัยทำหนังสือชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า บันทึกครั้งที่ 500 ที่ระบุว่า 8 ปีต้องนับก่อนหน้า 2560 ด้วยนั้น เลขาฯ จดผิด จากความเข้าใจเลขาฯ เอง

จากบันทึกรายงานการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500-501 ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหนังสือขอจากรัฐสภา หากนายมีชัยให้การเท็จในจดหมายชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ โปรดเตรียมตัวย้ายบ้านด้วย

ขณะที่ฝ่ายผู้ร้อง พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านประธานสภา เป็นบันทึกรายงานการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 และ 501 เช่นกัน

หลังจากเคยส่งหลักฐานความเห็นของอาจารย์นิติศาสตร์ 51 คนจาก 15 มหาวิทยาลัย ของนายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯ และอาจารย์สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษา และอดีต ป.ป.ช. ผ่านประธานสภาไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้วก่อนหน้า

ผู้ร้องมองว่า คำชี้แจงของนายมีชัย อาจเข้าข่ายให้การเท็จต่อศาล จึงรวบรวมความเห็นคัดค้าน โต้แย้ง เพื่อยืนยันวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องนับตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557

 

ข้อขัดแย้งประเด็นวาระนายกฯ 8 ปี มาจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน แต่ตีความกันคนละแบบ สุดท้ายเป็นหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด

ศาลเข้าสู่ขั้นตอนประชุมพิจารณาแล้ว 3 ครั้ง วันที่ 24 สิงหาคม และ 8 กันยายน

ล่าสุด 14 กันยายน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประชุมพิจารณาคดีวาระนายกฯ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกครั้ง

หลังได้รับเอกสารสำเนาบันทึกการประชุม และรายงานการประชุม กรธ.ครั้งที่ 501 วันที่ 11 กันยายน 2561 ซึ่งมีวาระการประชุม รับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 วันที่ 7 กันยายน 2561 ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุม และรายงานการประชุมตรวจทานแล้วโดยไม่มีการแก้ไข จากเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565

ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า

คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง

กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติและอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ในวันที่ 30 กันยายน 2565 เวลา 15.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดี ชั้น 3 ศาลรัฐธรรมนูญ

30 กันยายน 2565 ไม่เพียงเป็นวันตัดสินชะตา พล.อ.ประยุทธ์ แต่ยังตัดสินชะตาการเมืองไทยและประเทศชาติอีกด้วย