เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา สู้ 23 ปี-ปิดคดี ‘เดอะบีช’ ฟื้นฟู ‘อ่าวมาหยา’ ดังเดิม บริษัทยอมจ่าย 10 ล้าน/อาชญา ข่าวสด

อาชญา ข่าวสด

 

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา

สู้ 23 ปี-ปิดคดี ‘เดอะบีช’

ฟื้นฟู ‘อ่าวมาหยา’ ดังเดิม

บริษัทยอมจ่าย 10 ล้าน

 

เป็นอีก 1 คดีที่ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างกว้างขวาง สำหรับกรณีภาพยนตร์เดอะบีช ที่โลเกชั่นหาดมาหยา จ.กระบี่ ถ่ายทำในประเทศไทย เมื่อปี 2541 ที่มีนักแสดงระดับโลก อย่างลีโอนาโด ดิ คาปริโอ ซูเปอร์สตาร์ระดับโลกแสดงนำ

ทั้งที่ควรจะเป็นสิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้แหล่งท่องเที่ยวของไทยที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ ทั้งหน้าผาที่โอบล้อม ตะกอนทรายที่ขาวละเอียด ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อโลก และเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้กลับมายังประเทศไทย เสมือนเป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่ล้ำค่า

กลับเกิดปัญหาขึ้นมา เมื่อพบว่ากองถ่ายภาพยนตร์ได้ใช้เครื่องจักรหนัก ดัดแปลงสภาพภูมิประเทศของอ่าวมาหยา บนเกาะพีพี จนเสียหาย ทั้งจากการใช้แพขนานยนต์ การถมทราย หรือการปรับพื้นที่เพื่อปลูกต้นมะพร้าว และสร้างเพิงพักชั่วคราว จนทำให้ธรรมชาติเสียหาย

นำมาซึ่งการฟ้องร้องต่อศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม โดยมี อบจ.กระบี่ เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ โดยขอเรียกค่าเสียหายจากกระบวนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมบนอ่าวมาหยา เป็นเงิน 100 ล้านบาท

ถือเป็นคดีตัวอย่างในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ

และในที่สุดก็ถึงบทสรุป เมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาหลังจากเหตุการณ์ความเสียหายผ่านไปถึง 23 ปี

ฎีกาปิดฉากคดีเดอะบีช

ในที่สุดคดีมหากาพย์ก็ถึงจุดสิ้นสุด โดยเมื่อวันที่ 13 กันยายน ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาของแผนกคดีสิ่งแวดล้อม คดีที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ อบต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ และพวกรวม 19 คนยื่นฟ้อง รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นจำเลยที่ 1 กรมป่าไม้ เป็นจำเลยที่ 2 อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นจำเลยที่ 3 บริษัท ซันต้า อินเตอร์เนชั่นแนล โปรดักชั่น จำกัด เป็นจำเลยที่ 4 และบริษัท ทแวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์ จำกัด จำเลยที่ 5

เพื่อเรียกค่าเสียหายจากการกระบวนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม บนอ่าวมาหยา จากการทำลายอ่าวมาหยา ในปี 2541 เพื่อถ่ายภาพยนตร์เรื่องเดอะบีช โดยฟ้องเรียกร้องขอให้ชดเชยค่าเสียหายเป็นเงิน 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ระบุว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 รับผิดในการปรับปรุงแก้ไขหาดมาหยาให้กลับคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทำแผนการฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนอ่าวมาหยา จึงสอดคล้องกับภาระหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและอยู่ในขอบเขตแห่งคำฟ้องและคำข้อท้ายฟ้อง

และศาลยังวินิจฉัยต่อไปว่า คำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายหยิบยกปัญหาข้อเท็จจริงขึ้นโต้แย้งอ้างว่า ปัจจุบันหาดมาหยามีสภาพตามธรรมชาติดังเดิมแล้ว เพราะได้มีการปิดอ่าวและปล่อยให้ธรรมชาติได้เยียวยาตนเองแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องบังคับคำขอท้ายคำฟ้อง

ศาลเห็นว่า ข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 ยกขึ้นมาลอยๆ ในคำแก้ฎีกาแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนให้เชื่อถือได้

อย่างไรก็ตาม การนำสืบคู่ความทั้งสองยอมรับตรงกันว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไปสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศบริเวณอ่าวมาหยาจะสามารถฟื้นฟูได้เองตามธรรมชาติ ประกอบกับข้อพิพาทในคดีนี้เกิดขึ้นมานานเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว อันเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร

เพื่อให้การบังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นสอดคล้องกับสภาพตามจริงในปัจจุบันและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งในคำพิพากษาชั้นต้นดังกล่าวให้เหมาะสมแก่สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

ฎีกาของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 และคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน คำแก้ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้ออื่นนอกจากนี้ไม่เป็นสาระสำคัญ อันจะทำให้ผลคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำเป็นต้องวินิฉัย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทั้งนี้ จนกว่าหาดมาหยามีสภาพเดิมตามธรรมชาติ ตามที่จำเลยที่ 2 และคณะทำงานเพื่อทำแผนการแก้ไขฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบริเวณอ่าวมาหยาเห็นชอบร่วมกันหรือตามศาลเห็นสมควร ในกรณีที่จำเลยที่ 2 และคณะทำงานดังกล่าวไม่สามารถเห็นชอบร่วมกันได้ นอกจากนั้นที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

สำหรับจำเลยที่ 4-5 ให้รับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งตามสัญญานั้น จำเลยที่ 5 ประสงค์และยินดีจะอำนวยการช่วยเหลืออนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยมอบเงิน 10 ล้านบาท เพื่อให้โจทก์ที่ 1-2 นำไปใช้เพื่อการอนุรักษ์ตามอำนาจหน้าที่ และโจทก์ที่ 1 จะรายงานผลการปฏิบัติงานต่อศาลทุกกำหนด 1 ปีต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3 ปีหรือจนกว่าเงินจะหมด

บทสรุปที่ยาวนานกว่า 23 ปี

มุมมองอนุรักษ์-กระตุ้น ศก.

หลังจากทราบคำพิพากษา นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะชาวกระบี่ และเป็น 1 ในโจทก์ ระบุว่า ที่ผ่านมาการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องเดอะบีช ที่อ่าวมาหยา ทุกคนก็เห็นแล้วว่า ความเสื่อมโทรมทางด้านทรัพยากรมากแค่ไหน เพราะเชื่อว่าเมื่อการถ่ายทำภาพยนตร์เกิดขึ้น ก็จะต้องมีการปรับแต่งสถานที่ ทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป เป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องทบทวน

ที่ผ่านมาบริษัทถ่ายทำภาพยนตร์มักจะอ้างว่าเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวและประเทศให้ ซึ่งด้วยศักยภาพของจังหวัดกระบี่ ไม่จำเป็นต้องใช้ภาพยนตร์ในการประชาสัมพันธ์ อ่าวมาหยาเป็นต้นแบบความเสียหายจากกองถ่ายทำภาพยนตร์ ถึงแม้ว่าจะได้รับการฟื้นฟูแล้ว ก็ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม

ต้องมองด้วยเหตุและผล มีประโยชน์จริงๆ ต่อคนกระบี่หรือไม่ อยากให้กลุ่มทุน และผู้สนับสนุนที่มีอำนาจ เวลาจะมีการขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ อย่าพยายามบีบให้มีการอนุญาต เพราะที่ผ่านมาได้ไม่คุ้มเสีย

ด้านนายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ย่านอ่าวนาง ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ และอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การถ่ายทำภาพยนตร์ในพื้นที่ แยกได้เป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรก จังหวัดกระบี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่อาศัยทรัพยากรทางธรรมชาติเป็นต้นทุน ในขณะเดียวกันการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เป็นหน้าที่ของทุกคน

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ ก็ต้องมองควบคู่ไปด้วยหากว่ามีภาพยนตร์เข้ามาถ่ายทำ สิ่งที่คนกระบี่จะได้รับก็คือเม็ดเงินมหาศาล สร้างรายได้ให้กับชาวจังหวัดกระบี่ได้เป็นอย่างดี

ข้อกังวลที่ว่า การถ่ายทำภาพยนตร์จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ซึ่งกองถ่ายภาพยนตร์ก็มีหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่แล้ว เป็นผู้พิจารณากลั่นกรองความเหมาะสม เมื่อมีการนำภาพยนตร์ออกไปฉายทั่วโลก คนก็จะรู้จักจังหวัดกระบี่และประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากภาพยนตร์เรื่องเดอะบีช หลังจากที่ภาพยนตร์ออกฉาย ก็มีนักท่องเที่ยวตามรอยมาท่องเที่ยวอ่าวมาหยาจากทั่วโลก ผู้ประกอบการก็อยากให้มีการถ่ายภาพยนตร์ที่กระบี่อีก

เป็นสองมุมมองต่อกรณีดังกล่าว

ภาพยนตร์เดอะบีช

ย้อน 23 ปีพิพาทอ่าวมาหยา

สําหรับกรณีภาพยนตร์ เดอะบีช นั้น เริ่มต้นตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2541 ซึ่งกองถ่ายภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดแห่งหนึ่งทำเรื่องขออนุญาตกรมป่าไม้ เพื่อขอใช้พื้นที่อ่าวมาหยา หมู่เกาะพีพี เป็นที่ถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งถือเป็นเรื่องโด่งดังในยุคนั้น มีการเห็นความสำคัญที่จะได้เผยแพร่แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามของไทยไปสู่สายตาโลก ยิ่งอ่าวมาหยาที่มีความงดงามระดับโลก ทั้งทิวทัศน์หน้าผาที่โอบล้อม หาดทรายขาวละเอียด จึงเชื่อว่าจะเป็นผลดีของประเทศ

ไม่แปลกที่กรมป่าไม้ในขณะนั้นจะพิจารณาอนุมัติ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่อนุญาตแล้วพบว่ามีรายละเอียดสำคัญที่บริษัทระบุจะต้องปรับแต่งชายหาดให้เข้ากับบทภาพยนตร์ ทั้งที่อ่าวมาหยาอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพีพี เริ่มเกิดข้อถกเถียงว่าการเปลี่ยนสภาพภูมิประเทศ หรือสภาพแวดล้อมโดยเครื่องจักรและแรงคนเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้หรือไม่

ในขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐยืนยันในอำนาจการอนุญาตถ่ายทำ ก็ปรากฏภาพเครื่องจักรขนาดใหญ่ รถแบ๊กโฮเข้าปรับพื้นที่ขุดหาด และสันทราย

มีการนำต้นมะพร้าวมาปลูกเพิ่ม มีการถมทรายซึ่งนำมาจากที่อื่น ส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนกับหาดทรายที่ขาวสะอาด พันธุ์ไม้ชายหาด เช่น รักทะเล พลับพลึงทะเล เตยทะเล ผักบุ้งทะเล ถูกขุดเคลื่อนย้ายออกไป

เกิดกรณีเรือของทีมงานแล่นผ่านปะการังน้ำตื้นขึ้นมาชายหาด ซึ่งเป็นการทำลายแหล่งปะการังอย่างร้ายแรงที่สุด มีการปรับพื้นที่ทำที่อยู่อาศัยทีมงาน และสั่งห้ามบุคคลอื่นเข้ามาในพื้นที่อ่าวมาหยา จนกลายเป็นข้อถกเถียงว่าเป็นการใช้อำนาจล้นเกินจนส่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่

และในที่สุด อบจ.กระบี่ ก็เป็นผู้นำในการฟ้องคดี เพื่อเรียกค่าชดเชยกว่า 100 ล้านบาท และขอให้ผู้เกี่ยวข้องฟื้นฟูธรรมชาติและสภาพแวดล้อมอ่าวมาหยากลับมาดังเดิม

ต่อสู้กันมาถึง 3 ศาล จนได้ข้อสรุปต้องตั้งกรรมการฟื้นฟูจนกว่าจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม

เป็นกรณีศึกษาของการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ โดยประชาชนคนธรรมดาทั่วไป ที่มีผลเป็นรูปธรรม!!