คุยกับ ‘สุนันทา’ นักแปลเจ้าของรางวัล คุณสมบัติสำคัญและความเอะใจที่ต้องมี/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

คุยกับ ‘สุนันทา’ นักแปลเจ้าของรางวัล

คุณสมบัติสำคัญและความเอะใจที่ต้องมี

 

ในวงการนักแปล ต่างรู้กันดีว่ารางวัลสุรินทราชาที่สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยมอบให้นักแปลและล่ามผู้มีผลงานดีเด่นเผยแพร่เป็นเวลานาน และสร้างคุณูปการแก่วงการวรรณกรรม สังคมและประเทศชาตินั้น ทรงคุณค่าขนาดไหน ด้วยเหตุนี้เมื่อได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2564 ผศ.ดร.สุนันทา วรรณสินธ์ เบล จึงบอกว่า ทั้งรู้สึกดีใจและเป็นเกียรติ

“มีกำลังใจที่ทำผลงานออกมาแล้วมีคนเล็งเห็น และเหมือนเป็นที่ยอมรับ”

อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.สุนันทา ซึ่งทำทั้งงานแปลหนังสือ และเป็นบรรณาธิการหนังสือควบคู่ โดยมีผลงานรวมแล้วราว 50 เล่ม แบ่งเป็นอย่างละครึ่ง-ครึ่ง ก็ว่าในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่มาพร้อมกับรางวัลและความรู้สึกดีๆ ดังกล่าว คือ ‘ความเกร็ง’

“พอเรามีชื่ออยู่ในรางวัล งานชิ้นต่อๆ ไปที่จะทำก็เหมือนมีความข้องเกี่ยวกับรางวัลและสถาบันนักแปล ถ้าเกิดเราทำได้ไม่ดี จะไม่เสียคนเดียว อาจจะทำให้คุณภาพของกลุ่มคนแปลที่เขาเคยได้รางวัล ถูกตั้งคำถาม อย่างนี้ก็ได้รางวัลเหรอ”

ด้วยเหตุนั้นที่เคยตั้งใจทำให้ดีอยู่แล้วก็ต้องดีต่อไป ดีให้มากขึ้นๆ

ในการทำงาน คนที่มีประสบการณ์ด้านนี้มาราว 13 ปี บอกว่าในความเห็นของเธอนี่คืองานที่ไม่ใช่แค่ ‘ยาก’ หากแต่ต้องมี ‘ความอดทน’ ร่วมด้วย

“ต้องทุ่มเทแล้วมีเวลาให้ คนที่มีงานประจำอยู่แล้ว แล้วสามารถทำงานแปลได้ด้วย นี่สุดยอดมากค่ะ นับถือเลย เพราะเรื่องหนึ่งต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก”

อย่างเธอเอง “เอาเป็นว่าถ้า 1 หน้า ครึ่งชั่วโมงถือว่าเก่งและเร็วมาก”

และถึงแม้จะเป็นอย่างนั้น การทำงานแปลแบบ ‘เกือบประจำ’ อย่างเธอ คือทำงานวันละ 4 ชั่วโมง ตลอดวันจันทร์ถึงศุกร์ ก็ต้องใช้เวลา 4-6 เดือนกับหนังสือ 1 เล่ม

ขณะเดียวกันคนทำงานนี้ก็ต้องมีความละเอียดในหลายๆ เรื่อง

ดังนั้น ในความเห็นของเธอ การจะเป็นนักแปล แค่เก่งภาษาจึงยังไม่พอ แต่ต้องเอาตัวเองไปอยู่ในวัฒนธรรมนั้น ต้องทำความรู้จักวัฒนธรรมนั้นๆ อย่างถ่องแท้

“บางทีมันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราจะพลาด คือต้องรู้ละเอียด รู้จริงๆ”

 

ตัวอย่างหนึ่งซึ่งเธอยกมาประกอบ คือคำว่า fruit matchine ที่อ่านเจอในนวนิยายเรื่องหนึ่ง ซึ่งถ้าเกิดคนแปลไม่ระวัง ก็คงจะต้องได้เครื่องอะไรแปลกๆ มาแทนที่ตู้เกมหยอดเหรียญ คล้ายปาจิงโกะ ที่พอหยอดปุ๊บภาพผลไม้ในเครื่องก็จะหมุน และเมื่อไหร่ที่ภาพออกมาตามที่กำหนดก็จะได้เงินรางวัล

“คือต้องมีความเอะใจด้วยค่ะ”

“บางทีเราไม่ได้แปลคำเป็นคำ แต่ต้องเก็บนัยยะของมัน เก็บสาร เก็บข้อความ แล้วมาถ่ายทอดอีกทีหนึ่ง ถ้าแปลตรงๆ จะไม่เข้าใจ ออกมาเป็นภาษาแปล เป็นไทยที่ไม่เป็นไทย แล้วงงกัน”

ในเรื่องค่าตอบแทน เธอบอกว่า ถ้าพูดแบบรวมๆ ตามมาตรฐานกลาง “ถ้าจะทำเป็นอาชีพ คิดว่าหาเลี้ยงชีพคงไม่พอ” ผศ.ดร.สุนันทา ที่เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ก่อนย้ายไปอยู่ประเทศอังกฤษกับครอบครัวบอก

“เพราะถ้าเกิดเอาแบบแปลเร็วๆ เล่มหนึ่ง 3 เดือนหรือ 4 เดือน คุณอาจจะได้เงินมาไม่ถึงแสน เล่มดีๆ หน่อยอาจจะได้ 8 หมื่น ถ้าทำ 4 เดือน เท่ากับได้เดือนละ 2 หมื่น ก็คือปริ่มๆใช่ไหมคะ แต่นั่นคือกรณีที่ถ้ามันไปได้สวย คุณถึงจะได้เท่านั้น แต่ถ้าจะโชคดี คือเกิดได้พิมพ์ซ้ำ ซึ่งโอกาสที่จะมีก็ค่อนข้างน้อย ต้องโชคดีจริงๆ ที่มีโอกาสได้แปลหนังสือที่ขายดี ที่มีคนนิยมมากๆ”

คนทำอาชีพนี้จึง “นอกจากจะใจรักแล้ว ต้องเป็นคนสมถะด้วยมั้งคะ ไม่มีการใช้จ่ายเยอะ” เธอบอกพลางหัวเราะ

 

เรื่องผลตอบแทนนั้น ผศ.ดร.สุนันทาบอกว่าที่พูดไม่ได้เป็นการตำหนิ หรือโจมตี ต่อว่าสำนักพิมพ์ต่างๆ เพราะรู้ดีว่าส่วนใหญ่มีการจ่ายในอัตราที่เป็นไปได้ เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวพันกับหลายปัจจัย ทั้งการขาย ทั้งรายได้ ทั้งจำนวนคนอ่าน

การจะทำให้ทุกอย่างมีการขยับขยาย เพื่อส่งผลให้อะไรข้างต้นดีขึ้น “มันต้องมีแรงสนับสนุนจากข้างนอกค่ะ”

“คือไม่ใช่แค่เราจะโปรโมตยังไงให้หนังสือขายได้ เราจะทำหนังสือให้ดียังไง เพื่อที่จะดึงคนอ่าน แต่ต้องมีแรงสนับสนุนอย่างจากภาครัฐ อาจจะเป็นแรงสนับสนุนในเรื่องของวงเงินด้วย”

อย่างที่เธอเคยได้ยินมา ในบางประเทศอาจให้เงินสนับสนุน ถ้ามีการแปลหนังสือผลงานจากนักเขียนในประเทศของเขา เป็นต้น

“แล้วไม่ใช่เฉพาะเงินทุน แต่มันเหมือนการสร้างโอกาส อย่างงานหนังสือที่กำลังจะมีขึ้น ถ้าภาครัฐช่วยสนับสนุนมากกว่านี้ ทั้งในเชิงโปรโมต เชิงการให้พื้นที่ วงการหนังสือก็จะไปได้มากกว่านี้ และถ้ากลับมาที่เรื่องเงิน ถ้าวงการหนังสือได้เงินสนับสนุนจากรัฐ จากสปอนเซอร์ หรืออะไรก็ตามแต่ ก็จะทำให้หนังสือราคาถูกลง คนก็อาจจะซื้อหนังสือได้มากขึ้น”

“คนทำหนังสือ เราทำกันสุดใจอยู่แล้ว ทำสุดแรง ทำให้ดีที่สุดอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มีแรงผลักดันทางอื่น มันก็จะก้าวหน้าได้ลำบากเหมือนกัน”