สู่ที่สุดของ ‘อดทน’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

สู่ที่สุดของ ‘อดทน’

 

เรามาถึงช่วงเวลาของประเทศที่ “ผู้นำที่เข้าควบคุมประเทศด้วยการใช้อาวุธและกองกำลังยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”

จากนั้นแก้กติกาโครงสร้างอำนาจทั้งหมด ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ จนถึงกฎหมายลูกเพื่อเอื้อต่อการอ้างความชอบธรรมเพื่อสืบทอดอำนาจ และสมปรารถนาในปฏิบัติการมายาวนาน 8 ปี ออกมาประกาศว่าจะอยู่ต่อไป และสัญญาว่าจะสร้างความรุ่งเรืองให้ชีวิตประชาชนในอีก 2 ปีด้วย 3 แกนแห่งการพัฒนา โดยการชี้ชวนให้มีความหวังว่าผลงานใน 3 เรื่อง จะทำให้ประเทศพลิกจากสภาวะด้อยพัฒนาไปสู่ความศิวิไลซ์

โดยไม่รู้สึกว่าเป็นการกระตุ้นฝันอย่างน่าประหลาดที่คิดว่าประชาชนจะไม่นำไปเปรียบเทียบกับ 8 ปีที่ผ่านมาแล้วประเมินว่า 2 ปีที่เอ่ยอ้างจะสู่สมฝันได้อย่างไร

มองไม่เห็นหรือว่าที่อวดอ้างนั้นประชาชนเห็นอะไรใน 3 แกนที่ผ่านมา

1. โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟ ถนน และอื่นๆ ไม่เพียงถูกวิจารณ์หนักถึงความคุ้มค่า และใช้ได้จริงอย่างเหมาะสมกับเทคโนโลยีปัจจุบันที่พัฒนาไปไกล แต่ละโครงการยังเต็มไปด้วยเรื่องราวของการเอื้อกลุ่มทุน และความฉ้อฉลสารพัด

2. อุตสาหกรรมที่เป็นภาพสะท้อนไม่แตกต่างกันของการขยายความเหลื่อมล้ำ นำทรัพยากรที่เป็นทุนของภาคเกษตรและคนตัวเล็ก มาสยบยอมกับทุนใหญ่ทั้งจากต่างชาติและในประเทศ โดยเอื้อประโยชน์ให้จนมองไม่เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่จะได้อะไรขึ้นมา ท่ามกลางข่าวคราวสารพัดในทางเอื้อประโยชน์กับกลไกผู้มีอำนาจ

3. ระบบธนาคาร สร้างความฝันว่าจะสนองต่อคนตัวเล็กตัวน้อย ทั้งที่เป็นเรื่องพล่ามตลอดห้วงแห่งการมีอำนาจ ทั้งๆ ที่ผ่านมาชัดเจนว่า อย่าว่าแต่เงินที่จะมาใช้เป็นทุนประกอบอาชีพ กระทั่งทุนที่คนไทยตาดำๆ จะใช้หาอาหารเลี้ยงชีวิต ยังต้องอยู่กับความโหดของหนี้นอกระบบ จนมีข่าวที่ต้องหนีหนี้ด้วยการฆ่าตัวและคนในครอบครัวอยู่บ่อยๆ

จะต้องเชื่อกันจริงๆ หรือว่าผลงานอัปยศมาตลอด 8 ปีจะมาเป็นความหวังอันเลิศหรูด้วยการเห็นดีเห็นงามให้สืบอำนาจต่อจริงหรือ

 

ล่าสุด “นิด้าโพล” นำเสนอผลสำรวจเรื่อง “ปัญหาการใช้จ่ายของประชาชน”

ในคำถามเรื่องรายได้ ร้อยละ 47.10 ตอบว่าลดลง, ร้อยละ 46.72 เท่าเดิม, ร้อยละ 6.18 เท่านั้นที่ตอบว่ามากขึ้น

เมื่อเทียบกับรายจ่ายในแต่ละเดือนร้อยละ 60.06 ตอบว่ารายได้น้อยกว่ารายจ่าย, ร้อยละ 36.62 พอๆ กัน, ร้อยละแค่ 7.2 เท่านั้นที่รายได้มากกว่ารายจ่าย

ถ้าคิดว่าคนส่วนใหญ่ชักหน้าไม่ถึงหลังเพราะฟุ่มเฟือย

คำตอบคงได้จากคำถามถึงรายจ่ายที่สร้างผลกระทบมากที่สุด ร้อยละ 32.7 น้ำมันเชื้อเพลิง, ร้อยละ 25.79 อาหาร, ร้อยละ 13.47 ค่าไฟฟ้า, ร้อยละ 6.10 ก๊าซหุงต้ม, ร้อยละ 3.36 ผ่อนรถ, ร้อยละ 3.18 น้ำประปา, ร้อยละ 2.79 ผ่อนบ้าน, ร้อยละ 2.32 อุปกรณ์และวัตถุดิบประกอบอาชีพ และค่าเล่าเรียนบุตรเท่ากัน

ที่เหลือเป็นอื่นๆ

มีแค่รวมแล้วร้อยละ 0.04 เท่านั้นที่ตอบว่าเป็นหนี้นอกระบบ, ค่ามือมือ, อินเตอร์เน็ต, เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัว

ที่เป็นภาระหนักเป็นรายจ่ายที่จำเป็น

 

นั่นเป็นผลงาน 8 ปีต่อชีวิตประชาชนส่วนใหญ่

วันนี้มาสร้างความฝัน 2 ปี เพื่อชวนให้เห็นดีเห็นงามกับการครองอำนาจต่อ

พร้อมกับสั่งการให้รัฐสภาผ่าน พ.ร.บ.เลือกตั้ง โดยกลืนน้ำลายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลว่าพรรคคู่แข่งแลนด์สไลด์ ทำให้ตัวเองขาดความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจ

ช่างเป็นการเล่นเกมการเมืองที่ชวนติดตามยิ่งว่า ประชาชนจะทนเข้าไปได้อย่างไร

และหากประชาชนหมดความอดทนจะเกิดอะไรขึ้น