เมื่อ ‘พปชร.’ อ่อนล้า ส่วน ‘ธรรมนัส’ อ่อนแรง/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

เมื่อ ‘พปชร.’ อ่อนล้า

ส่วน ‘ธรรมนัส’ อ่อนแรง

 

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าสนใจหลายเรื่อง ตั้งแต่ประเด็น พ.ร.ป.เลือกตั้ง ที่รัฐสภาลงมติย้อนกลับไปใช้สูตร “หาร 500” ในการคำนวณจำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ แทนสูตร “หาร 100” ตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก

จนถึงผลเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดลำปาง ซึ่งปรากฏว่าผู้สมัครพรรคเสรีรวมไทยเอาชนะผู้สมัครพรรคเศรษฐกิจไทยไปได้

เวลาเดียวกัน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี ได้สนทนากับนักวิชาการสองราย ในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับพรรคพลังประชารัฐ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งถือเป็นตัวละครสำคัญของความเคลื่อนไหวข้างต้น

ดังรายละเอียดต่อไปนี้

เริ่มต้นด้วย “พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาช่วยไขความกระจ่างว่า เพราะเหตุใดพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเคยสนับสนุน “สูตรหาร 100” หรือการคำนวณจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แบบรัฐธรรมนูญ 2540 จึงกลับลำหันไปชู “สูตรหาร 500” จนเกิดวิวาทะลั่นรัฐสภา

อาจารย์พรสันต์ขึ้นต้นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้ระบบเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” นั้น เป็นการออกแบบภูมิทัศน์ทางการเมืองไทย ให้เต็มไปด้วยพรรคการเมืองขนาดกลางและเล็ก

แม้แต่พรรคพลังประชารัฐเองก็ก่อตัวขึ้นในฐานะ “พรรคขนาดกลาง” กระทั่งหลังการเลือกตั้ง 2562 เป็นต้นมา พลังประชารัฐจึงเริ่มคาดการณ์อนาคตในมุมใหม่ว่า ตนเองสามารถพัฒนาขึ้นเป็น “พรรคการเมืองขนาดใหญ่” ได้

ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ผู้นำพรรคพลังประชารัฐจึงเห็นพ้องว่า ควรเปลี่ยนระบบเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่เอื้อประโยชน์ให้พรรคขนาดกลาง กลับไปเป็นระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เอื้อประโยชน์กับพรรคขนาดใหญ่

คำถามคือ แล้วทำไมพลังประชารัฐจึงกลับหลังหันแบบ 180 องศา?

 

ดร.พรสันต์ระบุว่า ธรรมชาติของพรรคพลังประชารัฐนั้นเป็น “พรรคการเมืองเฉพาะกิจ” ที่เต็มไปด้วยกลุ่มก๊กทางการเมืองร้อยพ่อพันแม่

แม้พรรคการเมืองอื่นๆ ก็มีกลุ่มก้อนภายในเช่นกัน แต่กลุ่มต่างๆ มักค่อยๆ รวมตัวขึ้นภายหลังการเกิดพรรค ผิดกับพลังประชารัฐ ที่อาศัยกลไกทางการเมืองและกฎหมาย ในการรวบรวมมุ้งต่างๆ เข้ามาอยู่ในกำมือ ก่อนจะก่อตัวขึ้นเป็นพรรคการเมือง

จึงสามารถพูดได้ว่าความขัดแย้งระหว่างก๊กการเมืองต่างๆ นั้นเป็นธรรมชาติโดยกำเนิดของพรรคพลังประชารัฐ แต่ “รอยร้าว” ได้แผ่ขยายออกเป็นวงกว้างยิ่งขึ้น จากการวางบทบาทของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ดังที่นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ระบุว่า

“จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจมิทราบ แต่ผมอธิบายในทางวิชาการว่า การวางบทบาทของนายกรัฐมนตรีว่าอยู่เหนือความขัดแย้ง หลายเรื่องที่มันเกิดขึ้น สภาล่มบ้าง การผ่าน-ไม่ผ่านกฎหมาย เรื่องของการสนับสนุนเสียงข้างมาก-เสียงข้างน้อย ถ้าสังเกตให้ดี คุณประยุทธ์จะพูดเสมอว่าเป็นเรื่องของสภา ไม่ใช่เรื่องของ ครม. ไม่ใช่เรื่องรัฐบาล

“การที่นายกรัฐมนตรีไปวางบทบาทแบบนี้ มันจึงยิ่งเป็นปัจจัยเร่งทำให้การมีความขัดแย้งกันในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมันมีของมันอยู่แล้ว มันยิ่งปะทุเร็วและแรงมากขึ้น

“จนสุดท้ายคุณธรรมนัสก็แยกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ เมื่อแยกไปเป็นพรรคการเมืองใหม่ มันเกิดสภาวะอะไรครับ? คุณธรรมนัสเขาคุม ส.ส.ค่อนข้างเยอะ 10-20 กว่าคน มันส่งผลต่อเสถียรภาพ ความมั่นคง หรือขนาดของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเดิมเขาวางตัวเองว่าเขากำลังเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่

“แต่เมื่อคุณธรรมนัสย้ายออกไป พลังประชารัฐอยู่ในสภาวะวิกฤตแล้ว กลายเป็นพรรคการเมืองขนาดกลางเหมือนเดิม”

ในมุมมองอาจารย์พรสันต์ นี่คือเหตุปัจจัยหลักที่ผลักดันให้พรรคพลังประชารัฐต้องย้อนกลับไปโหวตหนุนระบบ “หาร 500”

ถัดจากนั้น มติชนทีวีไปสนทนากับ “วันวิชิต บุญโปร่ง” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยมีประเด็นพาดพิงไปถึงบทบาททางการเมืองของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย

เริ่มจากท่าทีครึ่งๆ กลางๆ ของ ร.อ.ธรรมนัส ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ด้านหนึ่ง ก็ยังประกาศไว้วางใจ “บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” เจ้านายเก่า แต่อีกด้าน ก็ขู่รัฐมนตรีคนอื่นๆ ให้ระวังตัวเอาไว้

อาจารย์วันวิชิตมองว่า คำพูดช่วงหลังของหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทยมีน้ำหนัก-พลังลดน้อยลงเรื่อยๆ

“เหมือนรีวิวหนัง สปอยล์หนังเรียบร้อย โห! น่าดูมากเลย มันแน่ๆ แต่พอเราได้ตั๋วหนังมาปุ๊บ จู่ๆ เราไม่อยากเข้าโรงหนัง คุณมีอารมณ์แบบนั้นไหม? รู้แล้วว่าพระเอกมันต้องตายตอนจบ คุณธรรมนัสพูดอะไรเออออหมดทุกอย่าง แต่เราเห็นหลายครั้งหลายครามันทำให้ทุกอย่างปิดทางเลือกการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคุณธรรมนัส”

เช่น การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณปี 2566 ที่มีคนใกล้ชิด ร.อ.ธรรมนัส จากพรรคเศรษฐกิจไทย ได้เข้าไปนั่งเก้าอี้ กมธ. ในโควต้าคณะรัฐมนตรี พร้อมๆ กับที่ผู้กองคนดังยังส่งเสียงขู่รัฐมนตรีบางรายใน ครม.อยู่

 

อาจารย์ ม.รังสิต วิเคราะห์ว่าสถานภาพของ ร.อ.ธรรมนัสในวันนี้ ไม่เหมือนวันวาน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และอยู่ใต้ร่มเงา พล.อ.ประวิตร จนสามารถระดมสรรพกำลังต่างๆ และโชว์ฤทธิ์เดชได้เยอะ

แต่ครั้นแยกตัวออกมาจากพลังประชารัฐ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทยก็กลายเป็นคนที่เพิ่งเริ่มต้นสร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง โดยยังไม่มีอิทธิพลอย่างแท้จริง

“ไม่งั้น พ่อ-ลูกตระกูลช่างเหลาไม่ย้ายออกหรอก นั่นคนที่รู้ใจคุณธรรมนัสดีที่สุด ทำไมไม่ร่วมหัวจมท้ายอยู่ด้วยกัน? ถูกไหมครับ เขาต้องเห็นสัญญาณลมทางการเมือง”

ในฐานะหัวหน้าพรรคการเมืองคนหนึ่ง ร.อ.ธรรมนัสยังเอาชนะใจประชาชนไม่ได้ และอยู่ในสภาพที่ พล.อ.ประวิตร เป็นเหมือนเสาหลักสุดท้ายที่ตนต้องยืนพิงเอาไว้ โดยไม่มีพันธมิตรเข้มแข็งรายอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามา แถมยังมีศัตรูทางการเมืองรายล้อมเต็มไปหมด

“หรือการชูเพื่อนบ้านเก่า มาจากเพื่อไทยด้วยกัน ด้วยความเคารพ คุณธรรมนัสจะหันหลังกลับไปเพื่อไทย คุณก็ไม่ได้อยู่แถวหน้า คุณต้องไปอยู่แถวธรรมชาติที่คุณเคยออกมา ระดับไหนก็อยู่ระดับนั้น”

นี่คือความเป็นจริงที่อาจารย์วันวิชิตมองว่า “ปากประตูนรกทางการเมือง” กำลังเปิดรอผู้กว้างขวางแห่งจังหวัดพะเยาอยู่

 

แม้แต่ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ก็ประเมินว่ามีแนวโน้มสูงที่สมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทยอาจยกมือหนุนฝ่ายรัฐบาลเป็นหลัก แล้วอ้างว่าเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.

“คือหลังๆ คุณธรรมนัสแกจะแต่งคำพูดหล่อๆ เสมอ คุณสังเกตดีๆ จะพูดว่าเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง 1 2 3 4 พรรคฟังดูดีครับ เห็นด้วยครับที่พูดมา แต่ในแง่ความเป็นจริงที่เราเห็น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

เมื่อทีมข่าวมติชนทีวีตั้งคำถามว่า ผลงานครั้งอดีตที่เขาเคยช่วยให้พรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้งซ่อมในหลายสนาม ไม่ได้ช่วยเพิ่มเครดิตทางการเมืองให้แก่ ร.อ.ธรรมนัสบ้างเลยหรือ?

อาจารย์วันวิชิตตอบทันทีว่า ในระยะยาว ผลงานเหล่านั้นดูจะไม่ใช่ “ของจริง” สักเท่าใด

“คือคุณธรรมนัสเหมาะกับการทำงานหลังฉาก ทำงานใต้ดิน แต่เมื่อตัวเองมาอยู่งานหน้าฉาก ความเคลื่อนไหวต่างๆ มันจะปรากฏว่าคุณธรรมนัสอาจจะเหมือนม้าพยศ (ผู้มีอำนาจต้องรู้ว่า) เลี้ยงม้าพยศอย่างไรให้เป็นประโยชน์ แต่อย่าให้โต คุณประวิตรจะใช้ (กลยุทธ์) แบบนี้มาตลอด”

ดังนั้น พลังทางการเมืองของคนชื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จึงคล้ายจะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ

ทั้งหมดคือการวิเคราะห์วิจารณ์ก่อนผลการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดลำปางจะปรากฏออกมา