‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ ไม่เถียง ดอกเบี้ยขึ้น-กระทบกลุ่มเปราะบาง ย้ำต้องคุมเงินเฟ้อ

‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ ไม่เถียง ขึ้นดอกเบี้ยกระทบกลุ่มเปราะบาง ย้ำต้องคุมเงินเฟ้อ ชี้เงินไหลออกน้อยแม้บาทอ่อนหนัก

 

วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ประจำปี 2565 หัวข้อชีพจรเศรษฐกิจการเงินภาคใต้และความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม ว่า สำหรับปัจจุบันหลายอย่างดีขึ้น แต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น การฟื้นตัวเศรษฐกิจช้า แต่ก็เห็นความต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวเลขจีดีพีภาพรวมไตรมาส 1 และ 2 ออกมาดีจากอุปสงค์ภายในประเทศ การบริโภค กิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้นจากการผ่อนคลาย คาดว่าจะไม่ได้มาแค่วูบเดียว เนื่องจากรายได้ของประชาชนดีขึ้น หลังจากที่ลดลงมาก หากเทียบกับครัวเรือนที่เคยติดลบ อีกทั้งรายได้ภาคการเกษตรมีการเติบโตช่วยให้การฟื้นตัวภาคบริโภคดีขึ้น

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า แม้ข่าวดีคือมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น และข่าวไม่ดีที่เห็นชัดเรื่องเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย ล่าสุดเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นมา 7.6% ค่อนข้างสูงกว่ากรอบเงินเฟ้อของ ธปท. ที่ 1.3% มากพอสมควร และปัญหาหลักมาจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และการคว่ำบาทของนานาประเทศ ส่งผลให้เงินเฟ้อวิ่งไปสูง และมีผลข้างเคียงค่อนข้างเยอะ ขณะที่เงินเฟ้อภาคใต้เดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ 8.6% เพิ่มจากปีที่แล้วที่ 1.7% เพิ่มขึ้นมากพอสมควร และมีผลกระทบต่อครัวเรือน ธปท.มีการดูแลผลกระทบเงินเฟ้อต่อครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนที่เปราะบาง

โดยโจทย์เงินเฟ้อเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับประเทศ และสำหรับภาคใต้ หากดูครัวเรือนที่มีความเปราะบางสูง ความจำเป็นเรื่องของเงินเฟ้อเป็นหน้าที่หลักของธนาคารหลักทุกประเทศ ซึ่งการดูแลเสถียรภาพเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น และอยู่ในกรอบ 1.3% ในความหมายของยืดหยุ่นคือ 1.ไม่ได้บอกว่าเงินเฟ้อต้องอยู่ในกรอบตลอด มันเป็นเรื่องของระยะปานกลาง บางช่วงอาจหลุดจากกรอบบ้าง แต่โดยรวมระยะยาวอยากให้อยู่ในกรอบที่วางไว้

2.ขึ้นอยู่กับบริบทของเศรษฐกิจในบางจังหวะ สิ่งสำคัญต้องดูเรื่องกรอบเงินเฟ้อ ประกอบด้วย เงินเฟ้อ เศรษฐกิจ และเสถียรภาพรวมการเงิน โดยต้องชั่ง 3 เป้า เมื่อย้อนกลับไปตอนเผชิญปัญหาโควิดกระทบหนักก็ให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องของเงินเฟ้อ แต่ตอนนี้ด้วยบริบทเศรษฐกิจที่เปลี่ยนการฟื้นตัวเศรษฐกิจมีความชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกันความเสี่ยงเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น น้ำหนักที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ให้ดูแลเรื่องของเงินเฟ้อมากขึ้น เห็นได้จากผลการประชุมครั้งสุดท้ายของ กนง. ที่คณะกรรมการทั้ง 7 ท่าน มีเสียงโหวตออกมาเป็น 4:3 เสียง เรื่องของการคงดอกเบี้ย และสะท้อนถึงการดำเนินงานข้างหน้าว่าจะกระทำในทิศทางใด

ขณะเดียวกันมองกลับมาว่าจะทำอย่างไรในการดูแลเงินเฟ้อ อย่างแรกราคาของที่ขึ้นหลักๆ มาจากเรื่องราคาพลังงาน ซึ่งราคาของที่ขึ้นต้องแยกระหว่างของที่ขึ้นกับเงินเฟ้อ เช่น ราคาของที่ขึ้นจาก 100 บาท เป็น 150 บาท เป็นผลจากราคาน้ำมันโลกสูงจากภาวะสงครามจึงไม่สามารถทำอะไรได้ ส่งผลให้เงินเฟ้อขึ้นช็อตแรก

“ถ้าเครื่องยนต์เงินเฟ้อไม่ติด หลังจากนั้นราคาก็ไม่ควรไปต่อจากระดับนี้ หรือวิ่งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหน้าที่ ธปท.ต้องยืนยันว่าเงินเฟ้อจะไม่ติดเครื่องยนต์ โดยให้ความสำคัญเรื่องการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตว่าจะไม่สูงขึ้นมากจนเลยกรอบการคาดการณ์” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

ถ้าดูเรื่องคาดการณ์เงินเฟ้อตลาดการเงินและจากนักวิเคราะห์การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวจริงๆ คือเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบ จากการคาดว่าเงินเฟ้อจะขึ้นและท้ายที่สุดจะเข้ามาในกรอบ ขณะที่การคาดการณ์ระยะสั้นจากการสำรวจข้อมูลของภาคครัวเรือนและธุรกิจยังรู้สึกว่าตัวเลขพุ่งขึ้นสูง เนื่องจากเฟ้อยังสูงขึ้นต่อเนื่อง

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า หน้าที่หลักของทุกธนาคารกลางทั่วโลกต้องคาดการณ์เงินเฟ้อไม่ให้หลุดไปมากเพราะเมื่อดึงกลับมามันจะเหนื่อย ซึ่งนักวิเคราะห์ นักเศรษฐศาสตร์บางคนบอกว่าเงินเฟ้อมาจากอุปทานไม่ได้มาจากอุปสงค์ ธปท.อาจคุมอะไรไม่ได้ แต่หน้าที่ของ ธปท.แม้ควบคุมราคาพลังงานไม่ได้ แต่คุมเรื่องการคาดการณ์เงินเฟ้อได้ ดังนั้น ธปท.จะดูแลกรอบเงินเฟ้อโดยการขึ้นดอกเบี้ยในยามจำเป็น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในสถานการณ์ให้เหมาะสม

ดังนั้น การทำนโยบายการเงินจะต้องค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งต่างจากเมืองนอกที่ต้องเหยียบเบรกแรง แต่ไทยต้องถอนคันเร่งน้อยลง จากที่ผ่านมาดอกเบี้ยไทยต่ำมาก และเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นดอกเบี้ยต่ำสุดในประวัติการณ์ จึงได้ปรับนโยบายการเงินกลับเข้าสู่สภาวะปกติ หากไม่ปรับผลข้างเคียงอาจเกิดความเสียหาย เช่น เราไม่เริ่มปรับดอกเบี้ยให้ใกล้เคียงสภาวะปกติมากขึ้นเงินเฟ้อจะไปไกลและคนที่เดือดร้อนคือกลุ่มเปราะบาง

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า การดูแลกลุ่มเปราะบางและกลุ่มธุรกิจหลังการขยับดอกเบี้ยนั้น โจทย์ตอนนี้ตามบริบทเศรษฐกิจหากทำนโยบายเช่นเดิมจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ จึงยังไม่มีคำตอบอะไรที่ควรทำแบบสุดโต่งเพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ ทุกอย่างเป็นเรื่องการหาจุดสมดุล โดยการทำนโยบายการเงิน และสถาบันการเงิน ต้องทำควบคู่กันไปเพื่อรักษาสมดุลระหว่างการปรับนโยบายเพื่อแก้ปัญหาที่จำเป็น แต่ต้องหาวิธีดูแลกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากการฟื้นตัวยังไม่สม่ำเสมอ

โดยจังหวะและเวลาในการทำนโยบายมีกรอบการพิจารณามาตรการต่างๆ คือ 1.กระบวนการปรับมาตรการแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำเร็วไปไม่ได้ ทำช้าไปไม่ได้ ถ้าทำเร็วไปการฟื้นตัวที่อยากเห็นจะไม่เกิดขึ้นจะสะดุด เช่น ทำเร็วแบบเฟดในการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เราก็ไม่ควรทำ แต่ถ้าทำช้าไป ธปท.อาจขาดเรื่องการดูแลเงินเฟ้อ ทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อวิ่งไปสูงและจะทำให้เศรษฐกิจสะดุด

2.ทำอย่างยืดหยุ่นและเหมาะสม เช่น นโยบายต่างๆ ที่มีการปูพรมและกว้าง ด้วยบริบทที่เปลี่ยน จึงเห็นสมควรที่จะถอนนโยบาย และคงบางมาตรการที่จำเป็นเพื่อช่วยกลุ่มเปราะบางก็ควรมีอยู่ และอาจต่อในบางมาตรการหากการฟื้นฟูยังไม่ดี อย่างไรก็ตาม ก็จะมีมาตรการที่รองรับแต่ละกลุ่มที่มีปัญหาและตรงจุดมากขึ้น

“ไม่เถียงว่าหากดอกเบี้ยขึ้นจะกระทบภาคครัวเรือน เพราะบ้านเราหนี้ครัวเรือนสูง ขณะเดียวกันหากเงินเฟ้อเพิ่ม ค่าครองชีพเพิ่มจะกระทบหนักกว่าการขึ้นดอกเบี้ยและภาระหนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงหลังสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้นกระทบต่อกลุ่มรายได้ต่ำเป็นพิเศษที่เป็นเรื่องราคาพลังงานและอาหาร จึงเป็นหน้าที่หลัก ธปท.ต้องดูแลกลุ่มเปราะบางด้วย” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า เรื่องแนวทางดูแลอัตราแลกเปลี่ยน จากเงินบาทอ่อนมากมาจากปัจจัยหลักคือเงินเหรียญสหรัฐแข็งทำให้เงินบาทอ่อน แต่ภาพรวมเงินบาทไม่ได้อ่อนค่ามากเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค และเงินบาทอ่อนค่าอยู่ระดับกลางๆ ซึ่งก็เป็นไปตามกลไกตลาด เมื่อเงินเหรียญสหรัฐแข็งเงินบาทก็จะอ่อน เมื่อเงินเหรียญสหรัฐอ่อน แนวโน้มเงินบาทจะแข็งขึ้น ซึ่ง ธปท.มีข้อจำกัดในการเข้าไปดูแล

โดยทิศทางจะปล่อยเป็นไปตามทิศทางของกลไกตลาดและทำได้ในยามจำเป็น ซึ่ง ธปท.ไม่อยากเห็นการปรับตัวเร็วเกินไป เนื่องจากผู้ส่งออก และนำเข้าอาจมีความลำบากในการปรับตัว เพราะสัดส่วนผู้ส่งออก ผู้นำเข้าที่ทำเฮดจิ้งค่อนข้างต่ำโดยเฉพาะรายเล็ก จึงไม่อยากเห็นการเคลื่อนไหวเงินรวดเร็วเกินไป

อย่างไรก็ตาม ความกังวลเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น ยังไม่เห็นเงินทุนไหลออกมากมหาศาล และไม่เห็นที่เป็นผิดปกติ อีกทั้งถ้ามองไปข้างหน้าเป็นไปได้ที่เงินเหรียญสหรัฐจะกลับมาอ่อน ถ้าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเปลี่ยน รวมถึงความกังวลการคาดการณ์เฟดเปลี่ยนแปลง จากสถานการณ์กำลังผันผวนสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

“สิ่งที่ ธปท.กำลังทำอยู่คือการปรับกรอบเงื่อนไขต่างๆ ให้สะดวกขึ้น จากบริบทที่เปลี่ยนไป จึงอยากให้กรอบการทำงานดีขึ้น เช่น การปรับปรุงการเป็นผู้ให้บริการด้านการเงินที่กว้างขวางขึ้น และผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงในต้นทุนที่ถูกลงตามสถานการณ์เปลี่ยนได้ทุกเมื่อ” นายเศรษฐพุฒิกล่าว