จาตุรนต์’ แนะ 2 มาตรการ แก้รถสาธารณะหยุดบริการหลังอ่วมน้ำมันแพง ชี้ปชช.เดือดร้อนหนัก

รองนายกฯเสนอทางแก้รถสาธารณะหยุดบริการ ด้วย 2 มาตรการ เตือนรัฐบาลหากไม่มีทางช่วยเหลือ ปชช.ผู้ใช้บริการเดือดร้อนหนักแน่

 

วันที่ 22 มิถุนายน 2565 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความคิดเห็นต่อภาวะราคาน้ำมันแพงที่ส่งผลทำให้รถสาธารณะเริ่มหยุดให้บริการและคาดว่าจะหยุดถึง 80% จนส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ที่พึ่งพาระบบขนส่งมวลชนในชีวิตประจำวันว่า

การที่รถร่วมฯ 27 บริษัทจะลดการให้บริการใน 143 เส้นทางทั่วประเทศเป็นเรื่องใหญ่มาก โดยเฉพาะที่บอกว่าอาจหยุดให้บริการถึง 80 % ก็จะกระทบกับประชาชนนับล้านคนทีเดียว หากรัฐบาลไม่มีแผนแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังทันท่วงที ประชาชนที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนมีรายได้น้อยหรือยากจนจะเดือดร้อนสาหัสแน่

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิดทำให้มีผู้เดินทางน้อยลงมากทำให้กิจการรถร่วมทั่วประเทศรวมทั้งในกรุงเทพประสบภาวะขาดทุนไปตามๆกัน แต่ได้รับการเยียวยาน้อยมาก ทำให้ต้องหยุดหรือเลิกกิจการไปไม่น้อย พอมาเจอกับปัญหาน้ำมัน แก๊สแพงขึ้นมากทำให้รถร่วมจำนวนมากไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ต้องหยุดหรือลดการให้บริการลง

ลองนึกภาพว่าหากไม่มีรถโดยสารประจำทางวิ่งให้บริการ นักเรียนจำนวนมากที่ต้องนั่งรถโดยสารประจำทางไปโรงเรียนจะทำอย่างไร ผู้ที่ใช้บริการอยู่เป็นประจำจะทำอย่างไร จะเปลี่ยนไปใช้รถโดยสารอย่างอื่นก็จะแพงขึ้นมาก อาจต้องนั่งหลายต่อ หรือไม่ก็ต้องรวมกันเช่ารถหรือช่วยกันเติมน้ำมันเพื่อนอาศัยรถ ซึ่งก็จะแพงกว่าเดิมหลายเท่า คนที่ทำงานรายได้ต่ำๆ แม้แต่ค่ารถไปกลับก็ไม่พอจ่ายแล้ว อีกจำนวนมากจะไม่สามารถไปทำงานได้เลยด้วยซ้ำ

ทางออกในเรื่องนี้ รัฐบาลต้องตั้งหลักก่อนว่าการให้บริการรถโดยสารสาธารณะเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งยวดและเป็นหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นจะต้องหาทางให้มีรถโดยสารสาธารณะทั้งของรัฐ รถร่วมและรถโดยสารเอกชนให้บริการประชาชนอย่างเพียงพอ ไม่ให้เขาต้องหยุดบริการกันไป

มาตรการที่ควรใช้ก็คือ 1.สำรวจความเสียหายในช่วงสถานการณ์โควิด แล้วให้การเยียวยาแก่ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะอย่างเหมาะสมทั้งระบบ และ 2.การให้ความช่วยเหลือค่าน้ำมันเชื้อเพลิงแก่รถโดยสารประจำทางทั้งหลาย อาจจะตกลงร่วมมือกับบริษัทปั๊มแก๊สปั๊มน้ำมันทั่วประเทศให้เข้าโครงการโดยรัฐบาลจะร่วมจ่ายค่าแก๊สค่าน้ำมันในรถโดยสารทุกคั้งที่เติมน้ำมันตามอัตราและปริมาณที่กำหนด วิธีนี้จะทำให้ผู้ประกอบกิจการรถโดยสารสามารถให้บริการต่อไปได้โดยไม่ต้องขึ้นค่าโดยสารด้วย

สำหรับในกรุงเทพฯ ต้องแก้ปัญหาทั้งเก่าและใหม่ไปพร้อมกัน รถของขสมก.ไม่พอและขาดแคลนคนขับหลายร้อยคนเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขโดยด่วน ส่วนรถร่วม 2,000-3,000 คันที่เป็นหนี้และถูกสั่งให้หยุดวิ่งควรได้รับการเยียวยาและอนุโลมให้กลับมาวิ่งบริการได้ นอกนั้นก็ใช้มาตรการเดียวกันกับทั่วประเทศ

คนเป็นล้านๆคนทั่วประเทศกำลังเดือดร้อน รัฐบาลจะทำเป็นงงๆอยู่ต่อไปไม่ได้แล้ว