รูปหล่อใหญ่ พ.ศ.2497 หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม พระเกจิชื่อดัง จ.ราชบุรี | โฟกัสพระเครื่อง

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ

[email protected]

 

รูปหล่อใหญ่ พ.ศ.2497

หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม

พระเกจิชื่อดัง จ.ราชบุรี

 

“หลวงพ่อชุ่ม พุทธสโร” วัดราชคาม อ.เมือง จ.ราชบุรี พระเกจิอาจารย์ที่ชาวราชบุรีให้ความนับถือ เพราะมีเมตตากรุณา ช่วยเหลือชาวบ้านที่ทุกข์ร้อนป่วยไข้ก็ช่วยเหลือช่วยรักษาทุกราย

ทรงภูมิความรู้และวิทยาคมหลายอย่าง เป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นพระอาจารย์ เป็นคณาจารย์การปกครอง เป็นพระอาจารย์สอนปริยัติธรรมกัมมัฏฐาน ประพฤติเป็นประโยชน์แก่ทุกคน

สร้างวัตถุมงคลไว้ได้แก่ เช่น ผ้ายันต์ ตะกรุด แหวน ฯลฯ เป็นที่นิยมและหวงแหนมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รูปหล่อใหญ่” ที่ระลึกแก่ศิษยานุศิษย์

รูปหล่อใหญ่หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม

สร้างในปี พ.ศ.2497 คณะศิษย์หลายจังหวัดและผู้เลื่อมใสศรัทธามีมติที่จะประกอบพิธีหล่อรูปปฏิมากรขนาดเท่าจริง กำหนดหล่อต้นปี พ.ศ.2498 ขนาดเล็กหน้าตักประมาณ 1 นิ้ว เพื่อสมนาคุณสำหรับผู้ร่วมทำบุญบริจาคทรัพย์ ในการหล่อรูปเหมือนขนาดใหญ่เท่าจริง

สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง อุดกริ่งที่ใต้ฐานปิดทับด้วยทองแดง จำนวนการสร้าง 1,110 องค์

เป็นรูปหล่อลอยองค์ ด้านหน้าจำลองรูปหลวงพ่อชุ่ม ประทับนั่งสมาธิบนฐานเขียง ห่มจีวรพาดผ้าสังฆาฏิเฉียง

ด้านหลัง เป็นรอยสังฆาฏิและจีวรอย่างชัดเจน

ใต้ฐาน ตอกโค้ด “พระครูชุ่ม” ตรงกลางเยื้องไปด้านหลังมีรอยอุดด้วยทองแดงอย่างเห็นได้ชัด เป็นรอยอุดเม็ดกริ่งและผงพุทธคุณไว้ด้านใน

โดยในการสร้างครั้งแรกนั้น ช่างที่กรุงเทพฯ สร้างตัวอย่างมาถวายให้หลวงพ่อเลือกจำนวน 10 องค์ ภายหลังแจกให้แก่กรรมการวัด โดยทั้ง 10 องค์มีการตกแต่งมาเรียบร้อยแล้ว

แต่ด้วยการสร้างแล้ว แต่งองค์พระทีละองค์ ทำให้เสียเวลา คณะศิษย์กลัวว่าจะสร้างไม่ทันวันงานหล่อรูปเท่าจริง รวมทั้งต้นทุนที่แพงเกินไป จึงไม่ได้ทำออกมา แต่ได้เลือกเอาพระที่หล่อเสร็จแล้วไม่ได้ตกแต่ง แต่ให้รมดำแทน

ด้านวิทยาคมโดดเด่นด้านมหาอุด คงกระพันชาตรี เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ที่ได้ครอบครอง จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทั้งคุ้งน้ำว่า “มหาอุดแห่งวัดราชคาม”

จัดเป็นวัตถุมงคลหายากและเป็นที่นิยมของวงการพระเครื่องและชาวราชบุรี

หลวงพ่อชุ่ม พุทธสโร

ถือกำเนิดที่ราชบุรี เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ปีเถาะ จุลศักราช 1241 อันตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน 2422 ที่ ต.คุ้งน้ำวน อ.เมือง จ.ราชบุรี บิดา-มารดาชื่อ นายทุ้ม และนางลำใย กลิ่นเทพเกษร เป็นบุตรคนโต ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 9 คน

อายุ 9 ปี บิดานำมาฝากเรียนหนังสือขอมและไทยกับหลวงปู่โต๊ะ วัดราชคาม กระทั่งอายุ 16 ปี จึงบรรพชา

อายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดท่าสุวรรณ อ.เมือง จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2441 ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ จุลศักราช 1260 มีพระอธิการพู่ วัดราชคาม เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า พุทธสโร

อยู่ศึกษาเล่าเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานจากพระอธิการพู่ และพระอธิการอินทร์

ปี พ.ศ.2448 เมื่อพระอธิการพู่มรณภาพ หลวงพ่อชุ่ม ได้รับการนิมนต์ให้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสืบแทน

ดำเนินการทำนุบำรุงวัดสุดความสามารถ บูรณปฏิสังขรณ์ทั้งในด้านถาวรวัตถุ ตลอดจนการศึกษาด้านพระปริยัติธรรม

นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินการจัดสร้างโรงเรียน เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาของลูกหลานชาวบ้านในละแวกวัด มีชื่อว่า โรงเรียนประชาบาลชุ่มประชานุกูล

ลำดับงานปกครองและสมณศักดิ์ พ.ศ.2458 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดราชคาม

พ.ศ.2467 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2473 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลคุ้งน้ำวน (เจ้าคณะหมวด)

พ.ศ.2479 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นประทวน

 

มีความสามารถทั้งทางด้านการพัฒนาถาวรวัตถุและจิตใจของทุกคน นำความเจริญมาสู่วัดราชคาม มากด้วยความเก่งกล้ามีคาถาอาคม ช่วยเหลือชาวบ้านในทุกทาง ชำนาญด้านการแพทย์แผนโบราณ วิชาทำน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ปลุกเสกลงเลขยันต์และอื่นๆ

ตามคำบอกเล่าของหลวงพ่อป้อม เจ้าอาวาสรูปถัดมา เล่าถึงประวัติการเดินธุดงค์ซึ่งได้รับฟังจากปากของหลวงพ่อชุ่มเอง ว่า เมื่อบวชได้ 3 พรรษา เริ่มสนใจในวิทยาคม พยายามศึกษาเล่าเรียนและเริ่มออกเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ คราวละ 3 ปี บางครั้งก็ธุดงค์ไปพม่าบ้าง

ครั้งหนึ่งเดินธุดงค์จนถึงวัดมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท ขณะนั้นราวปี พ.ศ.2446 หลวงปู่ศุข ปกครองวัดมะขามเฒ่า หลวงพ่อชุ่มศึกษาวิชาจากหลวงปู่ศุขหลายแขนงเกี่ยวกับวิชาด้านคาถาอาคม จนครั้งหนึ่งกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เคยเสด็จมายังวัดราชคาม เนื่องด้วยเป็นศิษย์สำนักเดียวกัน และเมื่อหลวงพ่อชุ่มกลับมาอยู่วัดราชคาม จนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ขณะนั้นชื่อเสียงของท่านเป็นที่เลื่องลือมาก

จากการที่ธุดงค์จนเป็นกิจวัตร ทำให้ได้รู้จักกับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ เมื่อคราวออกธุดงค์ไปศึกษาวิชากับหลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า ทำให้ท่านทั้ง 2 เป็นสหมิกธรรมกันเรื่อยมา

เริ่มอาพาธประกอบกับย่างเข้าวัยชราไม่ได้พักผ่อนเท่าใดนัก จึงทรุดหนักลงในเร็ววัน คณะศิษย์และผู้เคารพนับถือ ร่วมกันรักษาพยาบาลอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่สามารถทำให้อาการทุเลาลงได้

กระทั่งวันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2498 เวลาตีสี่ครึ่ง จึงมรณภาพด้วยอาการสงบ

สิริอายุ 77 ปี พรรษา 57 และประชุมเพลิง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2500 •