‘ไอติม พริษฐ์’ จากวิธีมัดใจ ‘คนรุ่นใหม่’ สู่การปฏิรูปผ่าน ‘หนังสือ 3 เล่ม’/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘ไอติม พริษฐ์’

จากวิธีมัดใจ ‘คนรุ่นใหม่’

สู่การปฏิรูปผ่าน ‘หนังสือ 3 เล่ม’

“ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ” หลานชายของอดีตนายกรัฐมนตรี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เคยเปิดตัวทางการเมืองครั้งแรกในฐานะผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งยังเคยเป็นแกนนำคนรุ่นใหม่กลุ่ม “นิวเดม” ในพรรคการเมืองดังกล่าว

ก่อนที่เขาจะหันมาร่วมรณรงค์-ผลักดันการจัดทำ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” พร้อมนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยหลายคน รวมทั้ง “ปิยบุตร แสงกนกกุล” อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และเลขาธิการคณะก้าวหน้า

แล้วในที่สุด เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565 “ไอติม พริษฐ์” ก็ไปเปิดตัวร่วมงานกับพรรคก้าวไกลอย่างเป็นทางการ ในฐานะผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรค

 

บนเวทีการประชุมใหญ่พรรคก้าวไกลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ผู้จัดการการสื่อสารฯ คนใหม่ของพรรค ได้ระบุถึง “หนังสือสามเล่ม” ที่บ่งชี้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทยไว้อย่างชัดเจน

นั่นคือ รัฐธรรมนูญ, งบประมาณแผ่นดินประจำปี และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน

พร้อมทั้งเสนอโมเดล “รัฐธรรมนูญ-งบประมาณ-การศึกษาฉบับก้าวไกล”

ตามความเห็นของไอติม รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ผ่านการดำรงอยู่ของ 250 ส.ว. ที่สามารถลงมติต่างๆ โดยขัดต่อเจตนารมณ์ของคนไทยส่วนใหญ่ การเปิดช่องให้สถาบันทางการเมืองต่างๆ รับรองการรัฐประหาร และการนิรโทษกรรมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย

การผูกขาดทางการเมืองเช่นนั้นยังล้อไปกับการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ซึ่งวางพื้นฐานอยู่บนปัญหาเดียวกัน คือ การขาดกระบวนการตรวจสอบที่โปร่งใส อันเอื้อต่อพฤติกรรมทุจริต

ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญควรคุ้มครองสิทธิประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ คุ้มครองสิทธิผู้แทนประชาชนในตรวจสอบทุกหน่วยงานภาครัฐอย่างไร้ข้อยกเว้น และคุ้มครองประชาชน-ข้าราชการที่ออกมาเปิดโปงกรณีทุจริตให้ได้รับความปลอดภัย

พริษฐ์ประกาศว่า ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล “รัฐธรรมนูญฉบับก้าวไกล” จะถูกประกาศใช้แทนรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นการชั่วคราว และเป็นเอกสารอ้างอิงให้ ส.ส.ร.ที่มาจากเลือกตั้งทั้งหมด ได้ใช้พิจารณาในขั้นตอนของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทุกหมวด ทุกมาตรา

ในส่วนของเรื่องงบประมาณ ไอติมมองว่าปัจจุบัน ครอบครัวหนึ่งๆ ต้องจ่ายภาษีให้รัฐโดยเฉลี่ยหนึ่งหมื่นบาทต่อเดือน ทว่า เงินเหล่านั้น กลับถูกแปรออกมาเป็นบริการที่ไม่คุ้มค่า

เขายกตัวอย่างสวัสดิการประชาชนที่อ่อนด้อยกว่าสวัสดิการของข้าราชการ การจัดงบประมาณแบบรวมศูนย์อำนาจ ผ่านการล็อกรายได้ขององค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น และล็อกเงินอุดหนุนจากส่วนกลางที่จะจัดส่งให้ท้องถิ่น

รวมถึงการบริหารจัดการงบฯ ในลักษณะ “เลือกคนไม่ตรงกับงาน เลือกหน่วยงานไม่ตรงภารกิจ”

พริษฐ์ตั้งคำถามว่า ถ้าภัยคุกคามความมั่นคงที่น่ากลัวที่สุดในตอนนี้ คือ ภาวะโลกรวน ซึ่งนำสู่ภัยพิบัติธรรมชาติ การขาดแคลนพลังงาน และปัญหาโรคระบาด แล้วทำไมรัฐไทยจึงยังทุ่มงบประมาณไปกับการเกณฑ์ทหารเป็นแสนคนต่อปี แทนที่จะนำมาสร้างงานและสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนไปพัฒนา “อุตสาหกรรมสีเขียว” ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม?

หรือถ้าภัยสังคมเร่งด่วนที่สุดคือภัยคุกคามทางเพศ แล้วทำไมภาครัฐจึงยังอัดฉีดงบฯ ไปที่ กอ.รมน. ซึ่งดูจะหลงออกมาจากยุคสงครามเย็น แทนที่จะเอางบประมาณไปจ้างตำรวจหญิงในทุกสถานี เพื่อรับมือคดีล่วงละเมิดทางเพศ?

สําหรับเรื่องหลักสูตรการศึกษา บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดวิจารณ์ว่าตอนนี้ เด็กไทยอยู่ในภาวะเรียนหนัก แต่มีทักษะที่แข่งขันกับนานาชาติไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ออกแบบ “อนาคตการศึกษา” บนพื้นฐาน “การศึกษาอนาคต”

เขาเสนอว่า หากผู้มีอำนาจตระหนักว่าเทคโนโลยีกำลังจะมาแทนแรงงานมนุษย์ในอุตสาหกรรมเดิมๆ ประเทศไทยก็จำเป็นต้องออกแบบการศึกษาที่มุ่งพัฒนาทักษะ-สมรรถนะ เพื่อสร้างงานและนวัตกรรมใหม่ๆ

ไม่ว่าจะเป็นทักษะการคิดวิเคราะห์ที่ได้จากห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ทักษะการสื่อสารจากห้องเรียนภาษาอังกฤษ หรือถ้ามนุษย์ในโลกอนาคตต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เราก็ต้องออกแบบการศึกษาที่ไม่ทำให้คนหมดไฟตั้งแต่เด็ก แต่เติมไฟให้ทุกคนพร้อมจะเรียนรู้ตลอดชีวิต

ถ้ามนุษย์ในโลกอนาคตต้องอยู่ด้วยกันภายใต้ความแตกต่างหลากหลาย เราก็ต้องออกแบบการศึกษาที่สนับสนุนประชาธิปไตยตั้งแต่ในห้องเรียน โดยไม่ให้เยาวชนถูกลงโทษเกินขอบเขต ถูกล่วงละเมิดทางเพศ และเปิดโอกาสให้พวกเขาตั้งคำถามอย่างมั่นใจ

 

ย้อนไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 “พริษฐ์ วัชรสินธุ” เคยมาร่วมรายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง” ในหัวข้อสนทนาว่าด้วยเรื่องคนรุ่นใหม่กับประชาธิปไตย

แม้เมื่อครึ่งปีก่อน ไอติมจะยังไม่ได้เปิดตัวร่วมงานกับพรรคก้าวไกล แต่เขาก็แสดงความเห็นเอาไว้ว่า เป้าหมายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่หวังจะครอบครองใจคนรุ่นใหม่นั้น ต้องเผชิญหน้ากับ “เรื่องท้าทาย” มากๆ ในสองเหตุผล ดังรายละเอียดต่อไปนี้

“ในยุคปัจจุบัน การพยายามจะได้ใจคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องที่ท้าทายขึ้น และอาจต้องอาศัยยุทธศาสตร์ที่แตกต่างจากก่อนเยอะมาก (ด้วย) สองเหตุผล

“เหตุแรก คือเราเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ-สังคม มันเกิดขึ้นในอัตราที่รวดเร็วขึ้น พอโลกมันหมุนไปเร็วขึ้น มันทำให้คนแต่ละรุ่นมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันมาก แทบจะเหมือนกับว่าคนแต่ละรุ่นอยู่กันในคนละโลก เติบโตมาในคนละโลก

“อย่างคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมา เขาเติบโตมาในโลกที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี คุ้นเคยกับโลกออนไลน์ เป็นโลกที่ไร้พรมแดน เพราะฉะนั้น ความสนใจของเขา ค่านิยมของเขา มันก็จะแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อน ที่อาจจะเติบโตมาในยุคที่ไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีโลกออนไลน์เท่ากับทุกวันนี้ (ถามว่า) มันส่งผลยังไง?

“อย่างหนึ่งคือถ้าเราไปดูงานวิจัยของ PISA เราจะเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเด็กไทย คนรุ่นใหม่ในประเทศไทย มีสัดส่วนที่สูงมากที่มองตัวเองไม่ใช่คนของชาติใดชาติหนึ่ง แต่มองตัวเองเป็นพลเมืองโลก มีความต้องการอยากจะแก้ปัญหาระดับโลก แก้ปัญหาระดับภูมิภาค

“เพราะฉะนั้น เขาจะสนใจว่าพรรคแต่ละพรรคจะสามารถเอาประเทศไทยไปอยู่ในเวทีโลกได้อย่างไร พรรคมีจุดยืนอย่างไรต่อปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนอกประเทศ อย่างเช่นจุดยืนต่อประเด็นการรัฐประหารในเมียนมา นโยบายการต่างประเทศต่างๆ

“อันนี้มันเป็นมิติหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่าคนรุ่นใหม่อาจจะมีความสนใจค่านิยมต่างๆ ที่มันแตกต่างจากคนรุ่นก่อน เพราะฉะนั้น ถ้าพรรคอยากครองใจคนรุ่นใหม่ การทำให้เห็นว่าใครจะอยู่ตรงไหนในเวทีโลก ผมว่าก็เป็นมิติที่สำคัญ”

“แต่เหตุผลที่สองที่ทำให้การได้ใจคนรุ่นใหม่ยากขึ้นไปอีก เพราะว่าถ้าเรามองถึงคนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบันที่จะเติบโตขึ้นมา เขากำลังจะเจออนาคตที่มันไม่แน่นอน เขากำลังจะเจออนาคตที่มันท้าทายกว่าคนรุ่นก่อนเยอะมากในหลายมิติ

“มิติหนึ่งคือเรามีเทคโนโลยีเข้ามา ซึ่งแน่นอน ก็อาจจะมีข้อดีหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่มันจะเกิดขึ้น คือเราจะเริ่มเห็นงานหลายประเภทที่ถูกทดแทนโดยเทคโนโลยีมากขึ้นกว่าเดิม ในอนาคต เราอาจจะเจอสภาพเศรษฐกิจที่คนต้องตกงานบ่อยขึ้น คนต้องเปลี่ยนงานบ่อยขึ้น งานที่ทำมาตลอดชีวิตต้องมาถูกทำโดยหุ่นยนต์แทน คนรุ่นใหม่จะเจออนาคตที่มันไม่แน่นอนเรื่องการงาน

“คนรุ่นใหม่จะเจออนาคตที่ไม่แน่นอนในเรื่องสวัสดิการ เพราะว่าพอเราก้าวไปสู่สังคมสูงวัย คนวัยทำงานต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเรื่องเอาไปดูแลผู้สูงอายุเยอะขึ้น หรือว่าสัดส่วนของคนวัยทำงานต่อผู้สูงอายุจะลดลง มันก็ทำให้การวางแผนทางการเงิน ระบบประกันสังคม สวัสดิการของภาครัฐที่มาช่วยคนวัยทำงานตรงนี้จะสำคัญมากขึ้น อันนี้เป็นความไม่มั่นคงอีกมิติหนึ่งที่คนรุ่นใหม่เจอ

“อีกมิติสุดท้าย คือมิติของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราไม่รู้เลยนะครับว่าเราจะสามารถลดแก๊ซเรือนกระจกในระดับโลกได้มากน้อยแค่ไหน แต่ว่าถ้าเราทำไม่ได้ตามเป้า มันมีความเป็นไปได้สูงว่าเราจะเจอสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า น้ำท่วม หรือว่าฝุ่นต่างๆ ที่เข้ามาบ่อยขึ้น ซึ่งมันก็ส่งผลต่อความมั่นคงในชีวิตของคนรุ่นใหม่เหมือนกัน

“เพราะฉะนั้น พอมันเป็นอนาคตที่เราไม่เคยเจอมาก่อน มันกลายเป็นว่าพรรคการเมืองก็ต้องคิดค้นนโยบายที่แตกต่างจากสิ่งเดิมๆ สิ่งที่เคยทำสำเร็จใน 20 ปีที่แล้ว ก็อาจจะไม่สำเร็จในวันนี้

“อันนี้แหละครับ ผมว่ามันเป็นความท้าทายที่ทุกพรรคก็ต้องพยายามปรับตัว และตอบโจทย์ให้ได้ว่าจะมีชุดนโยบายอย่างไรที่ทั้งให้ความสำคัญกับค่านิยมที่คนรุ่นใหม่อาจจะยึดเหนี่ยว ซึ่งแตกต่างจากคนรุ่นก่อน และให้ความมั่นใจว่าอนาคตของเขามันจะสามารถมั่นคงเพียงพอที่จะเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ที่เข้ามาได้”

ดูเหมือนเค้าโครงความคิดของ “ไอติม พริษฐ์” ณ วันนั้น จะเชื่อมโยงมาถึงเนื้อหาการปราศรัยบางส่วนของเขาบนเวทีการประชุมใหญ่พรรคก้าวไกล เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้