6 ปี ‘อาชีวะเอกชน’ ใต้ปีก สอศ. 72% โหวตไม่อยู่ ขอกลับไปซบอก ‘สช.’ / การศึกษา

การศึกษา

 

6 ปี ‘อาชีวะเอกชน’ ใต้ปีก สอศ.

72% โหวตไม่อยู่

ขอกลับไปซบอก ‘สช.’

 

สืบเนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 8/2559 ที่ทำให้ “วิทยาลัยอาชีวะเอกชน” ต้องย้ายจากสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ไปอยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

แต่ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา อาชีวะเอกชนมักออกมาบอกเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้การดูแลของ สอศ.ว่า “ไม่ได้” รับความเป็นธรรม หรือความเท่าเทียม โดยได้รับการปฏิบัติแบบ 2 มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาครู นักเรียน หรือการจัดการศึกษา ที่อาชีวะรัฐมักได้รับการสนับสนุนมากกว่าในทุกๆ ด้าน

ทำให้อาชีวะเอกชน เกิดความรู้สึกว่าถูก “ลดทอน” ศักดิ์ศรีอย่างมาก!!

ปัญหาที่คุกรุ่นมาตลอด ล่าสุดเหล่าวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนจะไม่ขอทนอีก เรียกประชุมวิสามัญสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.) โดยด่วน เพื่อลงมติว่าจะอยู่ในสังกัด สอศ.หรือย้ายกลับไปซบอก สช.เช่นเดิม!!

นายประเสริฐ กลิ่นชู ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) ในฐาะนายก สวทอ.เปิดเผยผลการลงมติ ว่า 72% มีมติให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนย้ายไปสังกัด สช.เหมือนเดิม โดยมีวิทยาลัยอาชีวะเอกชนเข้าร่วม 200 กว่าแห่ง จากทั้งหมดกว่า 400 แห่ง

“ตลอด 6 ปีที่อาชีวะเอกชนย้ายมาอยู่ในสังกัด สอศ.ได้รับการดูแลที่ไม่เท่าเทียมกับอาชีวะรัฐ อีกทั้งสวัสดิการ การอบรมให้ความรู้ และการพัฒนาครู ทางครูอาชีวะรัฐจะได้รับการพัฒนาก่อนครูอาชีวะเอกชนเสมอ ขั้นต่อไปจะเข้าไปชี้แจงกับนายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) และทำหนังสือเสนอ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณา” นายประเสริฐระบุ

 

เมื่อได้สอบถามความเห็นเกี่ยวกับมติดังกล่าวกับตัวแทนอาชีวะเอกชน ก็มีความคิดเห็นที่สอดคล้องกัน อาทิ ดร.อดิศร สินประสงค์ ที่ปรึกษา สวทอ.แสดงความเห็นอย่างร้อนแรงว่า ตั้งแต่สถานศึกษาอาชีวะเอกชนย้ายมาสังกัด สอศ. 6 ปี ยังไม่เห็น สอศ.ดูแลตามหน้าที่อย่างแท้จริง และอาชีวะเอกชนก็ไม่ได้รับการสนับสนุนให้จัดการศึกษาเท่าเทียมกับอาชีวะรัฐ เช่น เดิมอาชีวะเอกชนจัดการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในรูปแบบทวิภาคีตามหลักสูตรได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ช่วงหลังต้องรายงานในลักษณะที่เหมือนขออนุญาตจัดการศึกษารูปแบบทวิภาคี ขณะที่อาชีวะรัฐสามารถจัดการศึกษารูปแบบทวีภาคีโดยไม่ขออนุญาตใดๆ เป็นต้น

แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้อาชีวะเอกชนทนไม่ไหว และต้องการกลับไปอยู่ภายใต้การดูแลของ สช.นั้น นายอดิศรระบุว่า การดูแลระดับภูมิภาคที่ไม่เท่าเทียมกัน เนื่องจาก “ผู้อำนวยการสถาบันอาชีวะรัฐ” ในจังหวัดต่างๆ ถูกแต่งตั้งเป็น “ประธานกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัด” ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของสถานศึกษาอาชีวะรัฐ และเอกชน แต่ในบางจังหวัดการตรวจสอบระหว่างรัฐและเอกชนไม่เหมือนกัน โดยอาชีวะเอกชนได้รับการปฏิบัติแบบ 2 มาตรฐาน

“ที่ผ่านมา อาชีวะเอกชนได้รับการตรวจสอบที่เข้มงวดมากกว่ารัฐ เช่น เวลาตรวจสอบเงินอุดหนุน ก็มีระเบียบและวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกัน อาชีวะรัฐไม่มีระเบียบ หรือแนวปฏิบัติเหมือนอาชีวะเอกชน ทำให้อาชีวะเอกชนเกิดคำถามว่าศักดิ์ศรีของอาชีวะเอกชนอยู่ตรงไหน ในเมื่อมีเอกสาร มีรายละเอียดเหมือนกัน แต่เมื่อถึงเวลาตรวจสอบเงินอุดหนุนรายหัว ประธานอาชีวศึกษาจังหวัด กลับขนครู และบุคลากรมาตรวจสอบอาชีวะเอกชนจำนวนมาก” ดร.อดิศรระบุ

ดังนั้น แทนที่อาชีวะเอกชนมาอยู่ในสังกัด สอศ.แล้วจะได้รับการดูแลที่มีมาตรฐาน ได้รับการพัฒนาด้านวิชาการ และครูที่เท่ากัน แต่ในความเป็นจริง กลับได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน…

จึงไม่แปลกใจที่ผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวะเอกชนส่วนใหญ่ เห็นตรงกันว่าอยากกลับไปอยู่ในอ้อมกอดของ สช.เหมือนเดิม เพราะอย่างน้อยก็ไม่ได้อยู่กับ “คู่แข่ง” ไม่ได้ให้คู่แข่งมาดูแล เพราะเมื่อกลับไปอยู่ใน สช.จะไม่มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และจะได้รับการดูแลที่เป็นกลางมากกว่า!!

ขณะที่ ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ก็เห็นด้วยที่สถานศึกษาอาชีวะเอกชนจะกลับมาอยู่ในสังกัด สช. เพราะที่ผ่านมา เมื่ออาชีวะเอกชนมาอยู่ในสังกัด สอศ.ก็หวังว่าจะร่วมกันพัฒนาเด็ก จึงพยายามปรับตัวเข้าหา แต่สถานศึกษาอาชีวะรัฐกลับมองสถานศึกษาอาชีวะเอกชนเป็น “คู่แข่ง” ครูและผู้เรียนก็ไม่ได้รับการดูแลเท่าเทียมกัน

ทำให้อาชีวะเอกชนน้อยเนื้อต่ำใจ และอยากกลับมาอยู่ในสังกัด สช.เหมือนเดิม!!

 

หลังมีกระแสเรียกร้องไม่นาน นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) รีบออกตัว และตอบประเด็นข้อกังขานี้ทันที โดยระบุว่าทราบเรื่องแล้ว ซึ่งกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเรียกร้องกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้เคยชี้แจง น.ส.ตรีนุชให้ทราบเบื้องต้น ว่าขณะนี้สถานศึกษาอาชีวะเอกชนแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ยังอยากอยู่กับ สอศ. 18% และกลุ่มที่อยากย้ายกลับไปสังกัด สช. 72%

ส่วนที่สถานศึกษาอาชีวะเอกชนส่วนหนึ่ง มองว่าได้รับการดูแลไม่เท่าเทียมกับอาชีวะรัฐนั้น นายสุเทพอธิบายว่า เรื่องใดที่ สอศ.ช่วยพัฒนาการจัดการศึกษาได้ตามกฎหมาย สอศ.ก็เร่งดำเนินการให้ ทั้งการขอเพิ่มงบฯ อุดหนุนรายหัว และอบรมครูอาชีวะ ล่าสุดได้มอบหมายให้ศึกษานิเทศก์เข้าไปช่วยแนะนำเรื่องการพัฒนาการจัดการศึกษา

“จะนำเรื่องนี้หารือรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เพื่อขอความเห็นว่าจะดำเนินการอย่างไร ส่วนตัวมองว่าอาชีวะเอกชนจะอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ถ้ามองในแง่การสร้างความเข้มแข็งให้กับการจัดการอาชีวะ ผมอยากให้อยู่กับ สอศ.เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถผลิตกำลังคนได้ตรงตามความต้องการของประเทศ”

นายสุเทพกล่าว

 

ทั้งนี้ ปัญหาของสถานศึกษาอาชีวะเอกชนขณะนี้ คงจะเป็นอีกหนึ่งความ “ท้าทาย” ครั้งใหญ่สำหรับเจ้ากระทรวงอย่าง “ครูเหน่ง” และผู้บริหาร สอศ.ว่าจะจัดการแก้ปัญหาให้สถานศึกษาอาชีวะเอกชนได้อย่างไร??

แม้หลายฝ่ายมองว่าสถานศึกษาอาชีวะเอกชนออกมาเรียกร้อง เพราะต้องการผลประโยชน์ และต้องการได้รับการดูแลเพิ่มขึ้นเท่านั้น!!

ขณะที่บางส่วนเห็นว่าการที่สถานศึกษาอาชีวะรัฐ และเอกชนอยู่ร่วมกัน เหมือนจับคู่แข่งมาอยู่ในสังกัดเดียวกัน แล้วจะพัฒนาการศึกษาร่วมกันได้อย่างไร??

ต้องจับตาดูต่อไป ว่าปัญหานี้จะลงเอยอย่างไร แต่ขอให้ผู้บริหาร และสถานศึกษา คำนึงถึงประโยชน์ของ “เด็ก” และ “คุณภาพการศึกษา” เป็นที่ตั้งด้วย!! •