ย้อนรอย ‘คาร์ล บ็อค’ ลอบย้าย ‘พระพุทธรูปเมืองฝาง’ ไปยุโรป / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

ย้อนรอย ‘คาร์ล บ็อค’

ลอบย้าย ‘พระพุทธรูปเมืองฝาง’ ไปยุโรป

 

ผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 5 ย่อมเคยได้ยินชื่อนาย Carl Bock (คาร์ล บ็อค) ผู้อ้างตัวต่อราชสำนักสยามว่าเป็นนักสำรวจธรรมชาติ (นักธรรมชาติวิทยา) ซ้ำยังใช้สถานะของข้าราชการที่ทำงานอยู่ในสถานกงสุลต่างประเทศนอร์เวย์-สวีเดนที่ท่าเรือกริมสบี ประเทศอังกฤษเป็นเวลาหกปี ให้เกิดความน่าเชื่อถืออีกด้วย

ทว่าอีกด้านหนึ่งนั้น ชาวเมืองฝางเมื่อได้อ่านหนังสือเรื่อง Temples and Elephants ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยโดยเสถียร พันธรังสี และอัมพร ทีขะระ ใช้ชื่อว่า ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง ย่อมรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวแสนสาหัสจากการกระทำของนายคาร์ล บ็อค อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ต่อกรณีที่เขาได้ขนย้ายเอาพระพุทธรูปสมัยล้านนาสกุลช่างเมืองฝางจำนวนหลายองค์ (ไม่แน่ชัดนักว่ากี่องค์ อย่างน้อย 5-6 องค์ชิ้นงามๆ) โดยอ้างว่าวัดนั้นๆ ถูกทิ้งร้างลงนานแล้ว ชาวบ้านไม่สนใจ (ประมาณว่าเขาจึงมีความชอบธรรมที่จะขนย้ายไปได้โดยพลการกระนั้นหรือ?)

พระพุทธรูปสำริดสกุลช่างเมืองฝางจำนวนหนึ่ง ถูกนายคาร์ล บ็อค ขนออกจากเชียงใหม่ไหลล่องลงแม่ปิงสู่เจ้าพระยา และออกจากสยามประเทศ นำไปไว้ที่ยุโรป และจากนั้นก็จำหน่ายให้แก่พิพิธภัณฑ์ชื่อก้องโลก British Museum ณ กรุงลอนดอน

ช่วงนี้ดิฉันกำลังสนใจเรื่องราวของพระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝาง จึงขอเริ่มต้นตอนแรกจากประเด็นของนายคาร์ล บ็อค ก่อน

 

หนุ่มนักผจญภัยชาวสแกนดิเนเวียน

ตามประวัติข้อมูลที่พบจากวิกีพีเดียระบุว่า คาร์ล บ็อค มีบิดามารดาเป็นเจ้าของโรงงานทอผ้าฝ้ายในประเทศสวีเดน ต่อมาทั้งสองเดินทางมาทำธุรกิจที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ทำให้คาร์ล บ็อค ถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศนี้ เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2392

คาร์ล บ็อค เติบโตที่เมืองคริสเตียนซันด์ (Kristiansand) ช่วงวัยเยาว์เข้าศึกษาในโรงเรียนสอนศาสนาท้องถิ่น (Kristiansand Cathedral) และศึกษาต่อที่ Christiansfeld ใน S?nderjylland ประเทศเดนมาร์ก ภายหลังเดินทางไปศึกษาด้านสัตววิทยาและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ปี พ.ศ.2424 ขณะอายุได้ 32 ปีเขาเดินทางมายังสยาม โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไยวงศ์ (ต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ) เสด็จมาให้การต้อนรับ

ภาพเหมือนที่นายคาร์ล บ็อค วาดรูปตัวเองแบบลายเส้น

คาร์ล บ็อค ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พร้อมด้วยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเดินทางโดยรอบภาคเหนือของสยามและลาว เพื่อศึกษาธรรมชาติวิทยา ภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของผู้คน

ผลพลอยได้จากเหตุการณ์ดังกล่าวคือ เขาได้ทำการบันทึกสภาพบ้านเมือง วิถีชีวิต สังคม อาชีพของพลเมืองชาวสยาม พรรณนาถึงสถานที่ต่างๆ โดยวาดภาพประกอบเป็นลายเส้นเอาไว้ด้วย ก่อนจะกลับเขาได้เข้าถวายบังคมลาล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เพื่อเดินทางออกจากสยามเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2425

หน้าปกหนังสือ Temples and Elephants เขียนโดย Carl Bock

เมื่อกลับไปยังยุโรปก็เขาทำการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Temples and Elephants ครั้งแรกเป็นภาษาเยอรมัน ภายหลังได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ และอีกไม่นานเขาได้ผจญภัยต่อในอินโดนีเซีย

เส้นทางชีวิตของคาร์ล บ็อค โคจรมาสู่การทำงานในสถานกงสุลต่างประเทศสวีเดน-นอร์เวย์ เริ่มจากประจำที่เซี่ยงไฮ้, แอนต์เวิร์ป, ลิสบอน ในที่สุดเขาออกจากสถานกงสุลต่างประเทศในปี พ.ศ.2446 และไปตั้งรกรากที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

คาร์ล บ็อค สมัครเป็นสมาชิกของ Norwegian Academy of Science and Letters (Videnskapsselskapet i Kristiania) ชาวยุโรปผู้มีรสนิยมรู้จักเขาในฐานะนักสะสมโบราณวัตถุล้ำค่าที่ส่วนใหญ่ได้มาจากประเทศไทยและอินโดนีเซียสมัยที่เขาเคยลักลอบขุดจากแหล่งโบราณสถานร้างของสองประเทศนี้ในวัยหนุ่ม ปัจจุบันโบราณวัตถุเหล่านี้ถูกเก็บไว้ที่บริติชมิวเซียม กรุงลอนดอนเป็นหลัก

คาร์ล บ็อค ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2475 ณ กรุงบรัสเซลส์ ขณะอายุได้ 82 ปี

 

คาร์ล บ็อค ขโมยพระพุทธรูปเมืองฝาง

ควรใช้คำว่าอะไรดี ระหว่าง “ลักลอบย้าย” (ตามที่ดิฉันตั้งชื่อหัวเรื่องบทความ เพื่อลดอุณหภูมิความร้อนแรง) หรือ “ถือวิสาสะเอาไป” หรือจะใช้คำว่า “ขโมย” แบบตรงไปตรงมาไปเลย เรามาดูพฤติกรรมดังกล่าวกันให้ชัดๆ กันดีกว่าว่าควรจะเรียกอย่างไรให้ถูกต้อง

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นช่วงเดือนมีนาคมของปี 2425 คาร์ล บ็อค ได้ใช้จดหมายจากการที่ตนเข้าเฝ้าฯ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเดินทางสำรวจพื้นที่ต่างๆ ในสยาม จากพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เป็นใบเบิกทาง โดยนำมาอ้างต่อเจ้าหลวงลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เพื่อให้ทุกหนแห่งเปิดไฟเขียวให้เขาซอกแซกซอกซอนไปทั่วทุกหนแห่ง

เมื่อถึงเชียงใหม่ เขาต้องการเดินทางไปยังชนบทแห่งใด ก็จักใช้หนังสือของเจ้าหลวงเชียงใหม่เป็นใบเบิกทางให้ผ่านพ้นอุปสรรค หรือการปฏิเสธจากเจ้าเมือง เจ้านายในพื้นที่บ้านเล็กเมืองน้อยด้วยอีกต่อหนึ่ง

กระทั่งนายคาร์ล บ็อค เดินทางมาถึงเมืองฝาง เขาพบว่าที่นี่โบราณสถานถูกทิ้งร้างกล่นเกลื่อน จึงถือโอกาสจ้างคนในพื้นที่คนละ 1-2 รูเปีย (รูปี-หน่วยเงินจากอินเดียที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในล้านนา) ตะลุยขุดคุ้ยค้นหาโบราณวัตถุจนได้พระพุทธรูปสำริดสกุลช่างเมืองฝางจำนวนหลายองค์

เขาพรรณนาว่า ตอนแรกนั้น ชาวบ้านต่างเต็มใจรับจ้างขุดจนโบราณสถานกระจุยกระจายเพราะเห็นแก่อามิสสินจ้าง แต่แล้วจู่ๆ ก็มีพระภิกษุสองรูปเดินทางมาจากเมืองเชียงใหม่ เข้ามาห้ามปรามเขา โดยให้เหตุผลว่า พระภิกษุและชาวบ้านกำลังเตรียมจะฟื้นวัดร้างอยู่พอดี จึงขอบิณฑบาตวัตถุกลับคืนมา ทั้งได้ประณามคนลักขุดว่ากำลังกระทำบาป

คาร์ล บ็อค ต้องโต้เถียงกับพระสองรูปนั้น จนในที่สุดชาวบ้านที่รับจ้างเขาขุดก็เกิดความกลัวล่าถอยไป หลังจากที่มีพระภิกษุมาปกป้องพระพุทธรูปแล้ว ยังมีบุคคลอีกคนหนึ่ง มีสถานะเป็น “พญาฝาง” ก็เข้ามาปรามเขาอีกชั้นหนึ่ง ขอให้เขาส่งพระพุทธรูปกลับคืนสถานที่เดิม อย่างน้อยที่สุด พระพุทธรูปที่ขุดได้จำนวนมากกว่า 10 องค์นั้น ต้องเอาองค์ใหญ่สุด 2 องค์คืนมา หากจะเอาไป อนุญาตให้เฉพาะองค์ขนาดเล็กเท่านั้น

พระพุทธรูปสิกขี (สิขีพุทธปฏิมา) สกุลช่างเมืองฝางที่คาร์ล บ็อค นำไป ปัจจุบันจัดแสดงในบริติชมิวเซียม

สถานที่ที่คาร์ล บ็อค ลักลอบขุดพระพุทธรูปโบราณนั้น ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นวัดใดในเขตเมืองฝาง เนื่องจากในอดีตนั้นเมืองฝางมีขนาดใหญ่มาก ครอบคลุมพื้นที่สามอำเภอได้แก่ ไชยปราการ ฝาง และแม่อาย ทั้งนี้ คาร์ล บ็อค ยังได้เดินทางไปสอดส่องด้อมๆ มองๆ พระพุทธรูปในถ้ำตับเตาที่ถูกทิ้งร้างอีกด้วย

การห้ามปรามมิให้คาร์ล บ็อค นำพระพุทธรูปออกนอกพื้นที่ของพญาฝางนั้น แทนที่จะอธิบายตรงๆ ถึงความหวงแหนของผู้คนชาวเมืองฝางที่มีต่อพระพุทธรูป กลับเลือกใช้คำอธิบายที่เป็นเรื่อง “เหนือธรรมชาติ” จนเปิดช่องโหว่ให้คาร์ล บ็อค หักล้างได้

นั่นคือไปอ้างว่า การลักลอบเอาพระพุทธรูปไปของคาร์ล บ็อค ถือเป็นการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เจ้าป่าพิโรธ บันดาลให้เกิด “เสือร้าย” เข้ามาในหมู่บ้าน คนหัวเสอย่างคาร์ล บ็อค ศอกกลับไปว่า

แล้วไงหรือ? เมื่อเสือร้ายเข้ามาในหมู่บ้าน มันก็ได้กินวัวหนุ่มที่ผูกไว้ ณ กระท่อมที่พักของข้าพเจ้า เป็นการสังเวยแลกเปลี่ยนกันไปแล้ว และในที่สุดนางเสือก็ถูกยิงตายไปแล้วมิใช่หรือ…

อีกอย่าง การขุดหาโบราณวัตถุของข้าพเจ้า ก็เอาเฉพาะพระพุทธรูปเป็นองค์ๆ ไปเท่านั้น บางองค์ถูกควักเอาของมีค่าออกไปแล้วด้วยซ้ำ ในขณะที่พวกท่านที่เป็นชาวบ้าน ก็ล้วนเคยลักขุด ด้วยความละโมบ ลอกเอาแต่ทองคำ ควักเอาแต่เพชร พลอย ทับทิม แก้วแหวนมีค่าจากวัตถุไปด้วยเช่นกัน…

คนบ้านๆ มีหรือจักอาจหาญไปตอบโต้ต้านทานคนรอบจัดเช่นคาร์ล บ็อค เขาต้องทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอดให้พ้นผิด ผู้ตั้งปณิธานไว้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร ก็ต้องขอขนเอาพระพุทธรูปสกุลช่างฝางออกจากพื้นที่กลับสู่ยุโรปให้จงได้

แม้จะมีปากมีเสียงกับคนในพื้นที่ที่หวงแหนโบราณวัตถุ จนทำให้คาร์ล บ็อค หงุดหงิดอยู่แรมเดือน ทว่าความดื้อของเขา ก็ไม่ยอมส่งคืนพระพุทธรูปทั้งหมด ครั้นเมื่อคาร์ล บ็อค เดินทางลงไปเมืองเชียงใหม่ เขารีบปกป้องตัวเองอย่างเร่งด่วน ก่อนที่เจ้าเมืองเชียงใหม่จะลงโทษเขา จากกรณีที่พญาฝางอาจฟ้องร้องเขาก่อน

คาร์ล บ็อค บอกเจ้าเมืองเชียงใหม่ว่า คนที่ฝางดื้อ ไม่เข้าใจว่าการที่เขาค้นหาโบราณวัตถุนั้น เขาทำภายใต้การขออนุญาตจากพระเจ้ากรุงสยามมาก่อนแล้ว ซ้ำตอนที่เขาเอาหนังสืออนุญาตจากเจ้าหลวงเชียงใหม่ให้พญาฝางดู ว่าเขาได้รับใบเบิกทาง พญาฝางยังอุกอาจถุยน้ำลายใส่ราชสาส์นนั้นด้วย โดยไม่เคารพยำเกรง

แทนที่เจ้าเมืองเชียงใหม่จะโกรธที่คาร์ล บ็อค เอาพระพุทธรูปไปจากเมืองฝาง คนที่ถูกลงโทษแทนกลับกลายเป็นพญาฝาง โทษฐานที่ถุยน้ำลายใส่ราชสาส์นไปซะงั้น

เป็นเหตุให้คาร์ล บ็อค สามารถนำพระพุทธรูปสำริดองค์ขนาดเขื่อง (ไม่ใหญ่ไม่เล็ก) ออกนอกสยามกลับสู่สแกนดิเนเวียนไปได้สะดวกดาย ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าจำนวนทั้งสิ้นกี่องค์

 

ภาพสเกตช์พระพุทธรูปสกุลช่างฝาง ในหนังสือของคาร์ล บ็อค มีจารึกระบุว่าสร้างปี พ.ศ.2111

ภาพประกอบในบทความนี้ มีพระพุทธรูปเมืองฝาง 2 องค์ที่คาร์ล บ็อค เอาไปอย่างแน่อนอน องค์แรก ภาพลายเส้นจากหนังสือ Temples and Elephants ที่คาร์ล บ็อค สเกตช์เอง ฐานพระพุทธรูประบุชื่อผู้สร้าง 8 คนนำโดย ธัมมัตจุลา-นางตา ส่วนศักราชที่สร้าง ตรงกับ พ.ศ.2111

ภาพสเกตช์พระพุทธรูปเมืองฝางอีกองค์หนึ่ง ปรากฏในหนังสือ Temples and Elephants ฉบับภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีในฉบับแปลภาษาไทย ปัจจุบันจัดแสดงในบริติชมิวเซียมเช่นกัน

กับอีกองค์ คือภาพที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในเว็บไซต์ของบริติชมิวเซียม ระบุว่าเป็นพระพุทธรูปที่ได้มาจากนายคาร์ล บ็อค ที่ฐานเขียนว่า “พระสิกขี/สิขี” หมายถึงพระทรงเครื่องสวมเทริดขนนก (สิกขี=กินรี / นกยูง) สร้างโดยนางเฮียง บ้านป่ามะหวด ปี พ.ศ.2083

สัปดาห์หน้าจะกล่าวถึงพุทธลักษณ์ของพระพุทธรูปสกุลช่างเมืองฝางว่ามีสุนทรีย์เช่นไร นายคาร์ล บ็อค จึงได้เกิดแรงปรารถนา จากประสบการณ์ตรงที่ดิฉันได้ลงเก็บข้อมูลจากพื้นที่จริงในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา