เปิดหู | มัลติเวิร์สทางดนตรี ตอน มาร์ชสาธิตสามัคคี กับเพลงคู่ขนาน I’ve Been Working on the Railroad

อัษฎา อาทรไผท

มัลติเวิร์สทางดนตรี ตอน มาร์ชสาธิตสามัคคี กับเพลงคู่ขนาน I’ve Been Working on the Railroad

สำหรับผมที่เป็นคนรักในเสียงเพลงจนเข้าเส้น เรื่องเพลงถือเป็นเรื่องใหญ่ และจังหวะชีวิตต่างๆ ตั้งแต่จำความได้ล้วนมีเพลงต่างๆ ในช่วงเวลานั้นๆ เป็นแบ็คกราวด์เหตุการณ์ ที่บางทีแค่ได้ยินเสียงเพลง จิตใจก็ล่องลอยไปสู่ห้วงเวลาต่างๆ บางทีจมูกยังพาลจะได้กลิ่นแห่งความทรงจำอีกต่างหาก

ผมได้ร่ำเรียนที่โรงเรียนสาธิตประสานมิตรมาตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก(ก่อนประถมศึกษา) ไปจนจบระดับมัธยมต้น รวมระยะเวลา 7 ปี มีเรื่องราวสนุก มึน มัน กินใจ มากมายให้จดจำ และเหตุการณ์หนึ่งที่หมุนเวียนมาทุกๆ ปี ก็คือการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่กว่ากีฬาสี เพราะเป็นการยกทัพนักกีฬาชาวสาธิตทั้งหลาย มาแข่งขันกันทั่วประเทศอย่างยิ่งใหญ่ มหกรรมกีฬานี้มีชื่อว่า สาธิตสามัคคี

ทุกๆ ปีที่มีการแข่ง ทางโรงเรียนจะกระหน่ำเปิดเพลง “มาร์ชสาธิตสามัคคี” ให้นักเรียนฟังและหัดร้องจนขึ้นใจ เหล่านักเรียนทุกคนเมื่อร้องจนคล่องก็ได้ไปร้องจริงๆ ในกองเชียร์กีฬาสาธิตสามัคคี ที่แต่ละสาธิตหมนุนเวียนกันจัดไปคนละปี ผมเชื่อเลยว่าทุกๆ คนที่ผ่านการเรียนที่สาธิต ต้องจดจำเพลงนี้ได้ดี และนี่ก็คือเพลงที่เป็นฉากหลังของช่วงชีวิตผมตอนนั้น

ผมเองก็เช่นกันที่แม้ไม่ได้ชื่นชอบเพลงนี้เป็นพิเศษ แต่ทั้งเนื้อร้องและทำนองของมัน ได้ถูกอัพโหลดเข้าไปฝังในฮาร์ดดิสก์ธรรมชาติของผมชนิดลบไม่ออกแล้ว และน่าแปลกที่บางทีก็ฮัมมันออกมาเล่นๆ เวลาเผลอ

สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยเพลงนี้ ผมขอแนะนำให้ลองฟังทาง YouTube ก็ได้ครับ เขาระบุไว้ว่าเพลงนี้เวอร์ชั่นดั้งเดิม เนื้อร้องและทำนองประพันธ์โดย ผศ. ระลึก สัทธาพงศ์ เรียบเรียงโดยคุณพิมพ์ปฏิกา พึ่งธรรมจิตต์ และขับร้องโดยคุณนิทัศน์ ละอองศรี คุณศรีสุดา เริงใจ และนักร้องวงวิตราทัศน์ โดยมีเนื้อร้องว่า

“วันที่เราเฝ้าคอยมานานวัน วันนั้นคือวันนี้
วันที่เราเฝ้าคอยอย่างตั้งจิต สาธิตสามัคคี
มวลหมู่มิตรทุกทิศทุกทางมุ่งหลายผดุงไมตรี
ด้วยกีฬาสาธิสามัคคี หลอมฤดีมั่นคง

สาธิตสามัคคี สาธิตสามัคคี สาธิตสามัคคีกีฬาร่วมใจ
สาธิตสามัคคี สาธิตสามัคคี สาธิตสามัคคีร่วมใจ

เสริมปัญญาพลานามัยให้อุดม
ร่วมสร้างสมสายสัมพันธ์อันยิ่งใหญ่
สามัคคีมีค่ากว่าสิ่งไหน
ช่วยชูเชิดชาติไทยยืนยง”

เสียงเพลงมาร์ชนี้ดังกระหึ่มให้ใจฮึกเหิมอยู่เป็นพักๆ ผมนึกปลื้มใจในเพลงอันทรงพลังเพลงนี้มาตลอด จนกระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่ผมศึกษาอยู่ที่อเมริกา และได้ไปเป็นอาสาสมัครช่วยเลี้ยงเด็กเล็กในโรงเรียนอนุบาลที่ชานเมืองนิวยอร์ก ผมก็พบเข้าให้กับฝาแฝดต่างมิติของมัน!

คุณครูแหม่มมักพาเด็กๆ ร้องเพลงประกอบท่าเต้นอยู่เสมอๆ วันนั้นผมจำได้ดี เพลงนี้มีท่าเต้นทำมือประสานกันเหมือนขุดอะไรสักอย่าง สลับกับท่าดึงหวูดรถไฟ ก่อนจะโดดกันกระหยองกระแหยง เนื้อร้องไม่คุ้น แต่ทำนองและเมโลดี้มันช่างคุ้นเคยชนิดถอดด้าม

ใช่แล้วครับ ผมกำลังฟัง สาธิตสามัคคี จากจักรวาลอื่น ครั้งนี้มันมาในธีมคนกำลังสร้างทางรถไฟ ในชื่อ I’ve Been Working on the Railroad เพลงที่คนอเมริกันทุกคนคุ้นเคยดี เพราะต่างก็โตมากับมัน เหมือนที่เราคุ้นเคยกับเพลง “หากพวกเรากำลังสบายจงตบมือพลัน” (ซึ่งก็มีเวอร์ชั่นมัลติเวิร์สเช่นกัน) ต่างกันที่เนื้อหาของเพลงนี้มันคนละเรื่องกันเลยครับ

หลังจากค้นพบว่าเพลงที่คุ้นเคยมาแต่เด็ก มีคู่แฝดอยู่ที่อเมริกาด้วย ผมก็เริ่มค้นคว้าตามประสาคนบ้าดนตรี จนพบว่าเพลง “I’ve Been Working on the Railroad” นี้ มีหลักฐานการมีมาตั้งแต่กว่า 100 ปีก่อน โดยได้ตีพิมพ์โน๊ตเพลงครั้งแรกใน ค.ศ. 1894 โดยมหาวิทยาลัย Princeton และมีหลักฐานการบันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1927 โดย Sandhills Sixteen

ส่วนผู้ประพันธ์เพลงนี้ไม่มีการบันทึกไว้ แต่เชื่อว่าเมโลดี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนาทีแรกของการโซโล่เชลโลจาก Poet and Peasant overture ของ Franz von Suppe  นักประพันธ์โอเปร่าชาวออสเตรีย

โดยเนื้อเพลงของเวอร์ชั่นอเมริกัน ไม่ได้ทรงพลังอย่างของไทยที่ผมคุ้นเคย เนื้อหาทั้งเพลงก็ดูออกจะไม่ค่อยสอดคล้องกัน เหมาะจะเป็นเพลงให้เด็กๆ ร้องกันสนุกสนานมากกว่า

“I’ve been working on the railroad.  All the live-long day.
I’ve been working on the railroad.  Just to pass the time away.

Can’t you hear the whistle blowing, Rise up so early in the morn; Can’t you hear the captain shouting, “Dinah, blow your horn!…….(มีต่ออีกนะครับ แต่ขอนำเสนอแค่นี้ )”

เนื้อร้องทั้งหมด สามารถเอาไปร้องทับกับดนตรีของสาธิตสามัคคีได้เลย และเราก็สามารถเอาเนื้อเพลงสาธิตสามัคคี มาใส่เข้าไปคำต่อคำกับเพลงนี้ได้เช่นกันตั้งแต่ต้นจนจบ ถือเป็นคู่แฝดอภินิหารทางดนตรี ที่ดูจากปีที่เวอร์ชั่นฝรั่งบันทึกไว้แล้ว ผมมั่นใจและฟันธงได้ว่า มาร์ชสาธิตสามัคคี ได้แรงบันดาลใจเต็ม 100 มาจากเพลง I’ve Been Working on the Railroad แน่นอนครับ

ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไม่มีการให้เครดิตที่มาของเพลงนี้ให้นักเรียนสาธิตทราบกัน เผมคิดว่าผลงานศิลปะทุกชนิด น่าจะมีการให้เกียรติที่มา แม้เพลงนี้ไม่มีการบันทึกชื่อผู้แต่ง แต่ชื่อเพลงก็มีอยู่ ทว่าสมัยก่อนข้อมูลเข้าถึงยาก บางทีผู้รับผิดชอบก็อาจไม่ทราบเอง

สืบไปสืบมาก็พบว่านอกจากไทยแล้ว เวอร์ชั่นญี่ปุ่นก็มี แต่ของญี่ปุ่นเขาทราบกันว่าแปลมาจากไหน และยังเป็นเพลงที่เกี่ยวกับรถไฟอยู่ โดยเริ่มปรากฏครั้งแรกในรายการทีวีของ NHK เมื่อปี ค.ศ. 1967 ภายใต้ชื่อเพลง “Senro wa Tsubuku yo doko made mo” หรือแปลเป็นภาษาไทยได้ประมาณว่าทางรถไฟที่ไร้จุดสิ้นสุด

นอกจากนี้เมโลดี้เพลงนี้ ยังถูกนำไปใช้เปิดแจ้งการเข้าชานชาลาของรถไฟ Hanshin Line ที่โอซาก้า และที่สถานี โอคะยามา ใน Sanyo Line อีกด้วย

ถ้ามีเวลาว่าง ลองมาเปิดหูกัน ด้วยการหาทั้งแบบไทย อเมริกัน และญี่ปุ่นมาลองฟังดูนะครับ เดี๋ยวนี้เพลงอะไรๆ ก็หาฟังได้ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วครับ แต่คงไม่ง่ายถ้าจะมาสวมเนื้อเพลงกันดื้อๆ เพราะลิขสิทธิ์ปัจจุบันก็ครอบคลุมทั่วถึง เพียงปลายนิ้วสัมผัสเช่นกันครับ