กลอนไล่เดือน / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

กลอนไล่เดือน

 

เดือนไทยนั้นนับเดือนแรกราวปลายพฤศจิกายนต่อธันวาคม เรียกชื่อเป็นเดือนอ้าย เดือนที่สองต่อไปเป็นเดือนยี่ แล้วจึงต่อเป็นเดือนสามสี่ตามลำดับไปจนถึงเดือนสิบสอง

เข้าใจว่าสังคมไทยถือฤดูกาลตามสังคมเกษตรกรรมเป็นหลัก กับกำหนดช่วงฤดูร้อนฝนหนาวเป็นสำคัญ มีผู้เคยเปรียบว่าสามฤดูก็เหมือนหนึ่งวัน คือช่วงเช้าอากาศเย็น กลางวันร้อน ตอนเย็นย่ำขมุกขมัว เปรียบดังฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝนพอดี ประมาณว่าฤดูละสี่เดือน สามฤดูก็สิบสองเดือนครบ

เดือนอ้ายจึงถือเป็นเดือนต้นฤดู

 

กลอนไล่เดือนนี่พยายามสะท้อนวิถีเกษตรกรรมคือสังคมไร่นาเป็นหลัก จึงลำดับดังนี้

“เดือนอ้ายย่าง นกกระยางย่ำทุ่ง”

นึกถึงคำนิยามเดิมๆ ที่ว่า “เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง เดือนอ้ายน้ำไหลรี่ เดือนยี่น้ำไหลลง”

ดังนั้น เดือนอ้าย น้ำเริ่มจะลงแล้ว เหล่ากุ้งหอยปูปลาก็เริ่มจะเห็นตัวชัดขึ้น นกกระยางจึง “ย่ำทุ่ง” ออกหาอาหารในท้องไร่ท้องนากันเปรมปรีดิ์

“เดือนยี่รุ่งรุ้งน้อยกินน้ำ”

ช่วงนี้แหละเรียกว่า “ปลายฝนต้นหนาว” มักมีฝนโปรยปรายลงมาเสมอ ฟ้าหลังฝนช่วงนี้งามนักด้วยมักมีรุ้งกินน้ำ โค้งคุ้งข้ามขอบดินนา ดังวรรคกวีอุชเชนีที่ว่า “เพื่อเรืองข่าวพราวแพร้วทั่วแนวนา” นั้น

“เดือนสามซ้ำย่ำทองข้าวตก”

เดือนสามไทยก็ตกราวเดือนกุมภาพันธ์ ดังมีเพลงไทยที่เคยร้องในชั่วโมงขับร้องว่า

กุมภาพันธ์ผันมาสู่ฤดูร้อน

ทินกรเรืองแรงส่องแสงกล้า

เป็นฤดูเกี่ยวข้าวของชาวนา

ขนข้าวกล้ามาบ้านสำราญใจ

ตอนเย็นๆ เด็กๆ และหนุ่มสาวจะออกไปเก็บ “ข้าวตก” ที่หลงเกี่ยวเรี่ยรายอยู่ในท้องนา นี่แหละ “ทองข้าวตก”

 

“เดือนสี่วกฝนตกชะลาน”

จากปลายฝนต้นหนาวมาถึงหลังเกี่ยว มักมีฝนตกอีก เรียก “ฝนชะลาน” คือลานนวดข้าวอันเตรียมไว้หลังเกี่ยวแล้ว

“เดือนห้าพานสาวทรงแม่ศรี”

สิ้นเดือนสี่ ถือเป็นสิ้นปีไทย ที่เรียกเป็นเทศกาล “ตรุษไทย” นั้น

จากตรุษก็เข้าสงกรานต์ นับเป็นวาระเริ่มรอบราศีขึ้นปีใหม่ไทย ดังก่อนนั้นเรานับเดือนเมษายนเป็นต้นปีแบบทางการ เพิ่งเปลี่ยนตามสากลถือมกราคมเป็นต้นปีเมื่อ พ.ศ.2484 เพราะฉะนั้น ปี พ.ศ.2483 จึงมีแค่แปดเดือน ด้วยยังนับเมษายนเป็นเดือนต้นปีอยู่

จากตรุษถึงสงกรานต์จึงเป็นช่วงเฉลิมฉลองด้วยเสร็จงานไร่นาพร้อมจะขึ้นปีใหม่และเข้าสู่ฤดูร้อนเต็มที่ ชะรอยด้วยเหตุนี้กระมัง เราจึงทั้งรดน้ำและเล่นสาดน้ำสนุกสนานเป็นการใหญ่

จำกลอนของใครไม่รู้ เหมือนจะเป็นของขรรค์ชัย บุนปาน ว่า

น้ำเย็นเย็นกระเซ็นหยาด

ยามแม่ปาดจากแก้ม

หวานยิ้มปนแย้ม…เยื่อใย

ที่ว่า “สาวทรงแม่ศรี” นี่ก็เล่นทรงแม่ศรีกันในเทศกาลสงกรานต์เดือนห้าเช่นกัน

“เดือนหกพลีฝนแรกนาขวัญ”

เป็นสัญญาเริ่มงานนารอบใหม่รับฤดูฝนใหม่กันอีก ดังจัดเป็นพิธีหลวงเรียกจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนั้น

 

“เดือนเจ็ดผันปั้นไร่ปั้นนา”

ชาวนาเริ่มหว่านดำปลูกข้าวในไร่นาหลังขดหลังแข็งกันแล้ว หลังจากเตรียมแปลงนาด้วยการไถคราด

“เดือนแปดพาตะวันอ้อมข้าว”

เดือนแปดจะมีช่วงวันยาวกว่าเดือนอื่น ดังเรียกเดือนแปดสองหน และมีเทศกาลเข้าพรรษา หลังปลูกข้าวเสร็จ ซึ่งบรรดาคนหนุ่มผู้ใช้แรงงานในไร่นามีอายุครบบวชก็จะบวชเรียนในพรรษาให้พ่อแม่และทุกคนในหมู่บ้านได้ร่วมทำบุญ เข้าวัดเข้าวาฟังเทศน์ฟังธรรมทุกวันพระ ดังเรียกวันธรรมสวนะนั้น

“เดือนเก้าดาวตกผีพุ่งไต้”

เป็นช่วงกลางฤดูฝน ท้องฟ้ามืดดำ บางคืนจะเห็นดาวตกที่เรียก “ผีพุ่งไต้” ช่วงกันยายน-ตุลาคม ซึ่งดูจะเป็นอาถรรพ์ชอบกลอยู่

 

“เดือนสิบใสดอกไม้เกล้าเกศ”

เป็นฤดูเทศกาลสารทเดือนสิบ ออกพรรษาต่อเนื่องพอดี ดูจะเป็นนิมิตดีที่บุญเดือนสิบจะนำพืชผลในไร่นามาทำบุญใหญ่โต เสมือนนำผลผลิตที่ได้จากการลงแรงในไร่นาเมื่อต้นพรรษามาเฉลิมฉลองเลี้ยงดูกันอย่างอิ่มเอมใจในช่วงออกพรรษาพอดี รวมทั้งข้าวตอกดอกไม้สะพรั่งพราว

สาวๆ แห่งหมู่บ้านก็แต่งตัวราวจะรอหลวงพี่หลังสึกหาลาเพศหลังบวชเรียนแล้ว

“เดือนสิบเอ็ดปักเบ็ดน้ำนอง”

ฝนหลังพรรษานำความอุดมสมบูรณ์สู่แผ่นดิน ดังโวหารว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” นั้น

“เดือนสิบสองน้ำต้องเดือนหงาย”

ก็เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง ให้เราได้ไปลอยกระทงในคืนเพ็ญเดือนสิบสอง ฉลองเทศกาลแห่งวิถีสังคมเกษตรอันเป็นรากเหง้าของแผ่นดินไทยและสังคมไทย ที่ยังเลี้ยงดูผู้คนทั้งโลกได้จริงแม้จนวันนี้อยู่นี่ไง

เรามาร่วมร้องร่วมท่อง “กลอนไล่เดือน” กลับไปกลับมากันดีไหม…เอ้า

“…เดือนสิบสองน้ำต้องเดือนหงาย

เดือนอ้ายย่างนกกระยางย่ำทุ่ง…ฯ”

กลอนไล่เดือน

เดือนอ้ายย่าง นกกระยางย่ำทุ่ง

เดือนยี่รุ่ง รุ้งน้อยกินน้ำ

เดือนสามซ้ำ ย่ำทองข้าวตก

เดือนสี่วก ฝนตกชะลาน

เดือนห้าพาน สาวทรงแม่ศรี

เดือนหกพลี ฝนแรกนาขวัญ

เดือนเจ็ดผัน ปั้นไร่ปั้นนา

เดือนแปดพา ตาวันอ้อมข้าว

เดือนเก้าดาว ตกผีพุ่งไต้

เดือนสิบใส ดอกไม้เกล้าเกศ

เดือนสิบเอ็ด ปักเบ็ดน้ำนอง

เดือนสิบสอง น้ำต้องเดือนหงาย ฯ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์