กรณ์ เตือน! สินค้าแพงกระทบหนัก คนละครึ่งเริ่มไม่เวิร์ก คนจนจริง ไม่มีอีกครึ่ง

กรณ์ เตือนสินค้าแพงกระทบหนัก คนละครึ่งเริ่มไม่เวิร์ก คนยากคนจนจริง ไม่มีแม้อีกครึ่ง

เมื่อวันที่ 15 มกราคม นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า เขียนข้อความแสดงความเห็นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ และกรณีข้าวของขึ้นราคา โดย ระบุว่า

เศรษฐกิจประเทศ ต้องมีมืออาชีพดูแล

‘ของแพง’ เป็นปัญหาเศรษฐกิจที่น่ากลัวที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง กระทบคนจนมากกว่าคนรวย และเป็นปัญหาที่เมื่อปล่อยให้เกิดขึ้นแล้วแก้ยากที่สุด

ที่รัฐบาลและโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์พลาดก่อนหน้านี้คือ การพลาดในการประเมินสถานการณ์ อย่างเรื่องหมูมีนักวิชาการเตือนมาเป็นปี แต่รัฐบาลไม่ฟังและอาจจะแม้แต่พยายามปกปิดข้อเท็จจริง

กว่ารัฐบาลจะรับรู้และยอมรับว่ามีปัญหาก็สายไปแล้ว พอคนเริ่มเชื่อว่าราคาสินค้าจะต้องแพงขึ้น นั่นแหละคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ข้าวของแพงขึ้นจริง และจะแพงขึ้นอย่างยกแผง ซึ่งเมื่อปรับราคาขึ้นแล้ว ทุกคนเข้าใจในสัจธรรมว่าการปรับลงจะยากมาก วันไหนที่ราคาหมูหน้าเขียงปรับลดลงมา ใช่ว่าราคาข้าวหมูแดงจะปรับกลับลงมาด้วย

แม้แต่การเร่งมาตรการ ‘คนละครึ่ง’ ตามข่าววันนี้ ผมเข้าใจว่าต้องทำ แต่ ‘คนละครึ่ง’ จะมีผลข้างเคียงเสมือนเป็นตัวเร่งให้ร้านค้าปรับราคาขึ้นไปเพราะมีรัฐบาลมาช่วยจ่ายแทนประชาชน ปัญหาคือเมื่อหมดสิทธิคนละครึ่ง ไม่มีรัฐบาลมาช่วยแล้ว

และในสถานการณ์ปัจจุบันมาตรการอย่างคนละครึ่งเริ่มส่งผลน้อยลงมากกับคนยากคนจนที่ไม่มีแม้แต่ครึ่งเดียว (150 บาท) ที่จะเข้าร่วมโครงการ ในพื้นที่ผมพบว่าหลายคนต้องยืมเงินเพื่อจะใช้สิทธิของตน หรือไม่ต้องยอมแบ่งส่วน 50 บาทเพื่อรักษาสิทธิ 150 บาทในการซื้อของ

เมื่อเป็นเช่นนี้ มาตรการลูบหน้าปะจมูกไม่พอครับ รัฐบาลต้องจริงจังกับการเจาะลึกในทุกห่วงโซ่อุปทาน อย่างในกรณีหมู ต้องวิเคราะห์ให้ขาดถึงประเด็นจำนวนหมูในตลาดโลกที่ลดลง หรือประเด็นอาหารเลี้ยงหมูที่ราคาสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดหรือถั่วเหลือง ต้องบริหารด้วยความโปร่งใส และต้องมีมาตรการเด็ดขาดเมื่อพบปัจจัยที่มีโอกาสจะส่งผลต่ออุปทานสินค้า

อย่าลืมว่าที่ผ่านมาราคาสินค้ามีปัญหาเพราะปัญหาด้านอุปทาน แต่หากเศรษฐกิจฟื้นคงตัว มีการเปิดประเทศ สิ่งที่ตามมาคือ ‘อุปสงค์’ ที่จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะความต้องการสินค้าจากต่างประเทศ เมื่อถึงเวลานั้น ราคาสินค้าจะทะยานขึ้นไปอีก ประชาชนคนไทยจะเดือดร้อนหนักขึ้นอีกมาก

ประเทศต้องบริหารด้วยความเป็นมืออาชีพมากขึ้นครับ