วงค์ ตาวัน : นับถอยหลัง

วงค์ ตาวัน

ชะตากรรมของอดีตนายกฯ หญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น มีผลต่อเนื่องในระยะยาวอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศ ที่ คสช. ยืนยันมั่นเหมาะว่าจะมีในปี 2561 แต่ขณะเดียวกัน การที่ คสช. ยังไม่สามารถระบุวันเวลาในการคืนประชาธิปไตยกลับสู่ปกติให้ชัดเจนออกมานั้น

“น่าจะเป็นเพราะต้องการประเมินสถานการณ์หลังผ่านเดือนสิงหาคมนี้ไปก่อน”

การยังครองความนิยมในหมู่ประชาชนได้อย่างกว้างขวางและเป็นมาตลอดของยิ่งลักษณ์ เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ คสช. ต้องประเมินผลอย่างมากมายที่จะตามมา

จึงเชื่อกันว่า การรอดูสถานการณ์หลังพ้นปลายเดือนสิงหาคม น่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การกำหนดวันเลือกตั้งยังล่าช้าอยู่

ยิ่งผลสะเทือน แรงกระเพื่อมที่ตามมา มีมากมายมหาศาล ก็ยิ่งทำให้ คสช. ต้องคิดมาก

“ที่ต้องคิดมาก เพราะ คสช. เตรียมตัวที่จะสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยนั่นเอง!”

อันเป็นไปตามสูตรที่รู้กันทั่วไปว่า จะต้องมีการตั้งพรรรคการเมืองขึ้นมารองรับอย่างแน่ๆ

“เพื่อผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ในฐานะคนนอก”

โดยมีเสียงของวุฒิสภา เป็นฐานกำลังหลักในการโหวตเลือกนายกฯ คนนอกอยู่แล้ว ซึ่งต้องผสมเข้ากับเสียง ส.ส. จากการเลือกตั้ง จึงต้องมีพรรคของตนเองที่ชัดเจนขึ้นมา

แต่ปัญหาที่ต้องขบคิดและต้องรอผลประเมินก่อนก็คือ

“เหตุการณ์ใหญ่ในปลายเดือนสิงหาคมนี้ จะมีผลให้คะแนนนิยมในหมู่ประชาชนเทไปทางไหน!?”

ถ้าเทไปทางพรรคเพื่อไทย ก็ต้องมาเตรียมขั้นตอนการต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง ที่ละเอียดรอบคอบมากขึ้น

แต่แนวโน้มที่รู้ๆ กันอยู่ก็คือ หลังมีรัฐบาลทหารปกครองประเทศมา 3 ปีเศษ สังคมเริ่มมีปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

หลังปัญหาเศรษฐกิจแก้ไม่ตก มีผลต่อปากท้องชาวบ้าน ต่อการค้าการลงทุน ชาวบ้านเริ่มมีคำถามกับรัฐบาลอำนาจนอกระบบ

แล้วผสมเข้ากับเรื่องราวของอดีตนายกฯ หญิง ที่มีคนรักใคร่กว้างขวาง

เหล่านี้พอจะมองเห็นแนวโน้มคะแนนนิยมในหมู่ประชาชนได้อยู่แล้วว่า จะเทไปทางไหน!

ความจริงตามธรรมชาติของสังคมมนุษย์ มีบทสรุปว่าเมื่อชาวบ้านอยู่กับรัฐบาลไหนในระยะเวลายาวนานพอควรแล้ว ถ้าหากรัฐบาลนั้นไม่มีนโยบายเด็ดๆ ออกมาสร้างความนิยมให้พุ่งเพิ่มขึ้น พอจะชี้ได้เลยว่ารัฐบาลนั้นจะเสื่อมความนิยมในหมู่ประชาชนลงไปอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

เป็นเช่นนี้มาโดยตลอด

3 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลทหาร สามารถตรวจสอบได้ไม่ยากว่า มีนโยบายอะไรที่เด็ดๆ มาครองใจประชาชนได้บ้าง

“แทบจะไม่เห็นเลย”

ยิ่งรัฐบาลนี้ มักจะเน้นเรื่องความมั่นคง การควบคุมสังคม เพื่อต้องการยุติปัญหากลุ่มสีต่างๆ ก็ยิ่งไม่มีเวลาไปคิดเรื่องพัฒนาอะไรใหม่ๆ

ผลที่กระทบชาวบ้านในทันทีก็คือ การถูกกำจัดเสรีภาพ

ผลต่อมาคือเรื่องเศรษฐกิจ เพราะความเป็นรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ถูกโลกปิดล้อมทางการค้า อีกทั้งทุนในประเทศก็ระมัดระวังการควักกระเป๋า ก็เลยยิ่งทำให้ปัญหาปากท้องประชาชนแผ่กว้าง

“ทั้งหมดนี้ช่วยไม่ได้ ที่จะทำให้ชาวบ้านเริ่มโหยหาพรรคการเมืองที่เคยทำให้เศรษฐกิจฉูดฉาด ปากท้องชาวบ้านไม่หิวโหย”

ดังนั้น เมื่อเข้าโค้งสุดท้ายของรัฐบาล คสช. แล้วเป็นโค้งที่รู้กันดีว่า จะต้องเตรียมการเพื่อเข้าสู่อำนาจต่อไปในสมัยหน้า เมื่อมีการเลือกตั้งให้ได้

จึงต้องมาทบทวนว่าจุดอ่อนคืออะไร และจะต้องเร่งแก้ให้ได้ในโค้งสุดท้ายนี้

“จึงเริ่มมีข่าวสะพัดว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กำลังเตรียมทิ้งไพ่ใบสุดท้าย นั่นคือ การเดินเครื่องแก้ปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหญ่!”

จะต้องฟื้นกลับมาให้ได้ จะต้องกู้คะแนนนิยมชาวบ้านในเรื่องปากท้องให้ได้

จึงคาดว่า ในเร็วๆ นี้จะต้องมีการปรับเปลี่ยนบทบาทของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มือเศรษฐกิจคนสำคัญ ให้มีบทบาทมากขึ้น และจะต้องระดมเครือข่ายนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ตัวแทนกลุ่มทุนใหญ่ให้เข้ามาร่วมกันในนามรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ พลิกฟื้นการค้าให้เห็นหน้าเห็นหลังให้ได้

ความเชื่อที่ว่า ถ้าระดมมือบริหารเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว มีประสบการณ์เรื่องการเงินการลงทุนอย่างโชกโชนให้เข้ามาทำงานในนามรัฐบาล

“จะกู้คะแนนนิยมด้านนี้ให้กับรัฐบาลชุดปัจจุบันได้”

แล้วถ้าทำได้ดีจริง ก็จะกลายเป็นฐานปูทาง ไปสู่พรรคการเมืองใหม่ ซึ่งจะมีภาพของพรรคด้านมืออาชีพทางเศรษฐกิจ

อันหวังว่าจะเป็นพรรคสำคัญ ที่ลงสู้ศึกเลือกตั้งที่จะมาถึงได้อย่างสูสีกับพรรคเครือข่ายทักษิณ

ปมประเด็นเศรษฐกิจจึงเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะไขไปสู่ความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งหน้า

แต่จะไขได้หรือไม่ ต้องคอยดูกันต่อไป!?

ความที่รัฐบาล คสช. ซึ่งมาจากการรัฐประหาร ไม่เดินตามแนวทางของคณะปฏิวัติรุ่นพี่ นั่นคือ แทนที่เข้ามาควบคุมการปกครอง จัดระบบระเบียบ เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อวางแนวทางการเมืองให้เป็นไปตามที่ต้องการ แล้วรีบถอยกลับกรมกอง

เพราะรู้กันดีว่า รัฐบาลรัฐประหาร จะเสียเปรียบเรื่องเศรษฐกิจ อยู่นานยิ่งทำให้ปากท้องชาวบ้านมีปัญหา แล้วจะมีผลให้คนเริ่มขาดศรัทธา

“สูตรของรัฐบาลรัฐประหารทุกยุค จึงมาเร็วไปเร็ว อยู่ราว 1 ปีก็จบ”

แต่เพราะรัฐบาลทหาร คสช. ต้องการไม่ให้เสียของ เข้ามางวดนี้เลยต้องการจัดระบบระเบียบบ้านเมือง เพื่อสร้างสังคมไทยและการเมืองไทยให้เป็นไปตามแนวทางอนุรักษนิยมที่เป็นเป้าหมายหลัก

ต้องเด็ดปีกนักการเมืองและกลุ่มทุนเสรี ไม่ให้กลับมามีอำนาจได้อีก

“ความพยายามสร้างสังคมไทยให้เหมือนเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว และต้องการแช่แข็งให้อยู่อย่างนี้ไปยาวนานที่สุด เป็นเหตุให้รัฐบาล คสช. ต้องอยู่ในอำนาจ ซึ่งกำลังจะอยู่ถึง 4 ปี”

แต่นี่เท่ากับฝืนธรรมชาติของรัฐบาลจากการปฏิวัติ

แถมเมื่ออยู่นาน คราวนี้ก็เลยต้องเตรียมตัวอยู่ต่อไป เพื่อรักษาอำนาจและสภาพการเมืองแบบนี้ให้ดำรงอยู่ต่อไป

“ดังนั้น จึงเริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อไป ในฐานะนายกฯ คนนอก ตามที่เขียนรัฐธรรมนูญเตรียมไว้แล้ว”

ขั้นต่อไปคือต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อลงสนามเลือกตั้ง เพราะลำพังวุฒิฯ ที่มีอยู่ 250 เสียง ก็ยังไม่เพียงพอ

“กลุ่มที่กำลังเดินเครื่องเตรียมการทุกอย่าง ประกอบด้วย เพื่อน”รุ่น 12″ และเครือข่ายกลุ่มเศรษฐกิจที่แวดล้อมนายสมคิดอยู่”

โดยจะต้องมีภาพมือเศรษฐกิจนำหน้าพรรค เพื่อให้ต่างจากพรรคทหารในอดีต

แต่แน่นอนว่า การพิสูจน์ฝีมือในการกู้เศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. ในช่วงโค้งสุดท้าย จะเป็นตัวตัดสินว่า พรรคใหม่นี้จะรุ่งหรือร่วง

แถมที่จะต้องกังวลมากขึ้นไปอีกก็คือ

สถานการณ์หลังสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ ที่คะแนนนิยมคะแนนสงสาร จะเทไปยังกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามมหาศาลเพียงใด!