ต้นธารของ ‘กระดุมใหญ่ขอไฝว้เผด็จการ’ : ศึกษานารีกับ ‘การสร้างชาติ’ ใหม่หลัง 2475/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

ต้นธารของ ‘กระดุมใหญ่ขอไฝว้เผด็จการ’

: ศึกษานารีกับ ‘การสร้างชาติ’ ใหม่หลัง 2475

 

“การเปลี่ยนแปลงจากระบอบราชาธิปไตยมาเป็นประชาธิปไตยซึ่งมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักสำคัญนั้น นับเป็นอุดมฤกษ์ของความรุ่งเรืองอันจะนำชาติไทยไปสู่ความเจริญและอารยธรรมทัดเทียมประเทศมหาอำนาจอันได้รับการยกย่องว่าเป็นอารยประเทศ”

(น.ส.บุญเจือ มิ่งขวัญ, 2483)

 

จากข้อความข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงด้านกลับของสิ่งที่ น.ส.บุญเจือไม่ได้กล่าวความในใจออกมา คือ ระบอบราชาธิปไตยนั้นหาได้เป็นสิ่งที่จะนำชาติไทยไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองเทียบเท่าอารยประเทศนั่นเอง นั่นคือ จิตสำนึกทางการเมืองของนักเรียนมัธยมปลายของโรงเรียนศึกษานารี เมื่อปี 2483

หากกลับมายังปี 2563 ที่ผ่านมา สังคมไทยเกิดปรากฏการณ์การลุกขึ้นทวงความเป็นธรรม ทวงอนาคต ทวงสังคมที่เป็นประชาธิปไตยให้กลับคืนมาจากกลุ่มผู้นำเผด็จการทหารอนุรักษนิยม โดยเหล่าเยาวรุ่นใหม่ นักเรียนจากโรงเรียนศึกษานารี โรงเรียนสตรีชื่อดังย่านฝั่งธนบุรี เป็นนักเรียนสตรีที่มีบทบาทโดดเด่นแห่งหนึ่งในการลุกขึ้นสู้

หากมองในแง่ความคิดแล้วพวกเธอหาได้เป็นวัยรุ่นที่นอกคอกจากขนบของการเป็นนักเรียนหญิงแต่อย่างใด เนื่องจากบรรพสตรีรุ่นพี่ของโรงเรียนของพวกเธอก็เคยแสดงความคิดความหวังถึงอนาคตที่ดีไว้เมื่อกว่า 80 ปีที่แล้วเช่นกัน

หากมีผู้ตั้งคำถามว่า “คนหนุ่มสาวสมัยปฏิวัติมีความใฝ่ฝันถึงอะไร?”

หนทางหนึ่งในการเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนในอดีต คือ การอ่านความคิดของพวกเขาและเธองานในความเรียงฉลองรัฐธรรมนูญที่ถูกถักทอร้อยเรียงความฝันมาในรูปตัวอักษรโดยเยาวชนคนหนุ่มสาวเมื่อครั้งการปฏิวัติ 2475

ในครั้งนั้น สำนักงานโฆษณาจัดประกวดเรียงความฉลองรัฐธรรมนูญ ในระดับมัธยมและอุดมศึกษาขึ้น โดยคณะกรรมการตัดสินเรียงความงานฉลองรัฐธรรมนูญ ประจำปี 2483 ประกอบด้วย เดือน บุนนาค หลวงสิทธิสยามการ พระยาอนุมานราชธน สัญญา ธรรมศักดิ์ เชื้อ พิทักษากร วิจิตร ลุลิตานนท์ ไพโรจน์ ชัยนาม ว่าที่พันตรีขุนวิสุทธิจรรยา สมประสงค์ หงสนันท์ และพระราชธรรมนิเทศ ซึ่งหัวข้อคือ “รัฐนิยมส่งเสริมอารยธรรมของชาติอย่างไร” ในระดับมัธยมมีผู้ส่งจำนวน 377 คน

โดย น.ส.บุญเจือ มิ่งขวัญ อายุ 17 ปี นักเรียนมัธยม 6 โรงเรียนศึกษานารีเป็นผู้เขียนเรียงความดีที่สุด

นักเรียนศึกษานารีชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารเมื่อ 2563

สิ่งที่ข้าพเจ้าได้พบเห็น

น.ส.บุญเจือเปรียบเทียบระบอบเก่ากับใหม่ว่า “การปกครองระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ อำนวยความร่มเย็นเป็นสุขแก่ปวงชนชาวไทยให้ได้รับสิทธิในทางเสรีภาพ สมภาพ ภราดรภาพในส่วนตัวเสมอหน้า ได้มีสิทธิรู้เห็นและดำเนินการปกครองประเทศร่วมกับรัฐบาลฉันพี่น้องกัน ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่ากันตามกฎหมาย ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะกันดังแต่กาลก่อนอีกต่อไป…”

อีกทั้งเธอได้เล่าถึงการคาดหวังถึงอนาคตใหม่ของไทยว่า “การเปลี่ยนแปลงจากระบอบราชาธิปไตยมาเป็นประชาธิปไตยซึ่งมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักสำคัญนั้น นับเป็นอุดมฤกษ์ของความรุ่งเรืองอันจะนำชาติไทยไปสู่ความเจริญและอารยธรรมทัดเทียมประเทศมหาอำนาจอันได้รับการยกย่องว่าเป็นอารยประเทศ”

จากข้อเขียนของเธอย่อมสะท้อนให้เห็นว่า เธอไม่เห็นว่าการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ผ่านพ้นไปจะเป็นการปกครองที่ทำให้ไทยมีอารยะทัดเทียมสากลโลกแต่อย่างใด

เธอประเมินว่า “นับแต่วันที่เริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเป็นเวลาเพียง 8 ปีเศษ ชาวไทยเราทั้งปวงก็ได้ประสบความเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วมาก… กิจการบ้านเมืองรัฐบาลของเราก็มิได้นิ่งนอนใจปล่อยปละละเลยเสีย ได้พยายามเปลี่ยนแปลงและทะนุบำรุงให้ดียิ่งขึ้นโดยเต็มความสามารถ เราจะเห็นได้ว่า เดี๋ยวนี้พี่น้องชาวไทยทั้งหลายได้รับความสะดวกสบายในกิจการต่างๆ และดำรงชีพด้วยความผาสุกขึ้นกว่าแต่เดิมเพียงไร…”

ในสายตาของนักเรียนหญิง เธอเห็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของสังคมไทยภายหลังการปฏิวัติว่า “การคมนาคมและการศึกษาภายในประเทศก็เริ่มขยายตัวทวียิ่งขึ้น การทำมาหากินก็สมบูรณ์ไม่อัตคัดขาดแคลน เพราะรัฐบาลไทยพยายามช่วยเหลือสนับสนุนชาวไทยทุกคนให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขเสมอหน้ากัน”

เป็นไปได้ว่า บุญเจือเป็นนักเรียนที่น่าจะพักอาศัยในย่านฝั่งธนบุรีแถววัดอนงคาราม แถบบางกอกใหญ่หรือฝั่งกรุงเทพฯ ที่ไม่ไกลไปจากโรงเรียนนัก แม้นเธอจะมีอายุเพียง 17 ปี แต่คาดว่าเธอเคยมีประสบการณ์ในระบอบเก่าที่น่าได้รับความยากลำบากและได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองใหม่ภายหลังการปฏิวัติ 2475 เธอจึงเปรียบเทียบสิ่งที่เธอได้พบเห็นออกมาเป็นความเรียงนี้

หนังสือเรียงความฉลองรัฐธรรมนูญ 2483 และเทพีพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

ประเทศชาติเจริญด้วยประชาชน

เธอเล่าต่อไปว่า “การที่ประเทศไทยเจริญรวดเร็วมาได้จนถึงเพียงนี้ย่อมเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า… พวกพี่น้องร่วมชาติของเราทั้งหลายสู้อุตส่าห์ยอมสละกำลังกายและกำลังความคิดร่วมกับรัฐบาลทะนุบำรุงประเทศชาติให้วัฒนาถาวรมาได้ถึงเพียงนี้แล้วนั้น โปรดอย่าเพิ่งคิดเลยว่า ประเทศชาติของเราเจริญเพียงพอแล้ว ขอให้พี่น้องชาวไทยผู้เป็นหน่วยสำคัญของชาติจงพร้อมใจพร้อมกำลังพยายามสร้างชาติของเราให้เจริญและแผ่เกียรติยศให้กว้างใหญ่ไพศาลยิ่งขึ้นต่อไปเถิด” ข้อเขียนของบุญเจือสะท้อนให้เห็นว่า เธอมีโลกทัศน์ทางการเมืองที่เชื่อว่า อนาคตดีกว่าอดีต และจะดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งแตกต่างไปจากทัศนะแบบอนุรักษนิยมที่ถวิลหาอาวรณ์แต่อดีตที่รุ่งเรือง

ดังนั้น สังคมใหม่ที่เกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติสำหรับเธอเปิดโอกาสให้ปัจเจกชนแต่ละคนมีโอกาสในการเลื่อนชั้นทางสังคมว่า “หลักสำคัญในการสร้างชาติมีอยู่ว่า ชาวไทยทุกคนจะต้องสร้างตนเองให้เจริญรุ่งเรืองเสียก่อน แล้วการสร้างชาติก็จะอุบัติขึ้นเองในภายหลัง” และการสร้างชาติจะเป็นเหตุที่จะนำพาไทยและพลเมืองไปสู่การยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ากับอารยประเทศ การมีสำนึกรักชาติ การปฏิบัติตามวัฒนธรรมตามรัฐนิยมที่มุ่งหมายปลูกฝังขัดเกลาจิตใจแบบใหม่ที่เป็นอารยะให้กับคนไทย ให้เกิดความรักในความยุติธรรม รู้จักความเสียสละเพื่อชาติ เนื่องจากชาตินั้นคือ ประชาชน

เธอเป็นคนหนุ่มสาวที่ชื่นชอบคณะราษฎรที่ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองและสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ให้กับคนไทยทั้งมวลว่า

“…ชาวไทยทั้งหลายตื่นตัวตื่นใจและคำนึงถึงความก้าวหน้าของประเทศชาติอันเป็นที่รักยิ่งของตน ด้วยความปลาบปลื้มและภาคภูมิใจ และรู้สึกระลึกถึงบุญคุณอันยิ่งใหญ่หลวงของคณะราษฎรผู้จัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น”

น่าเสียดายที่เราไม่สามารถสืบค้นเรื่องราวของบุญเจือได้มากนัก ด้วยเหตุที่ต่อมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐบาลส่งเสริมให้ผู้คนเปลี่ยนชื่อให้ตรงกับเพศของตน จึงมีความเป็นไปได้ว่า เธอคงเปลี่ยนชื่อไปตามสมัยนิยม และต่อมาเธอคงได้สมรสเปลี่ยนนามสกุลไปตามสามีอีก จึงเป็นเรื่องยากที่จะสืบค้นเรื่องราวของเธอต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ผลงานของเธอ นักเรียนหญิงสมัยสร้างชาติขึ้นใหม่ ผู้ได้รับรางวัลในระดับมัธยมที่อายุน้อยที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจในการปลูกฝังขัดเกลาวัฒนธรรมใหม่ สร้างความเชื่อใหม่ให้กับสังคมไทยในความคิดของคนรุ่นใหม่ในครั้งนั้น ด้วยเธอเห็นว่า การสร้างชาตินั้น รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับพลเมืองไทยทั้งมวล ให้ประชาชนรู้จักความรักชาติและความเสียสละต่อส่วนรวมอันจะนำไทยไปสู่ความก้าวหน้าที่ไม่หยุดยั้ง

การปฏิวัติทางวัฒนธรรมในช่วงสร้างชาติ
เหรียญที่ระลึกงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2483