คุยกับทูต แร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน ไทย-ดัตช์ สายสัมพันธ์สี่ศตวรรษ (ตอน 3)

 

คุยกับทูต แร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน

ไทย-ดัตช์ สายสัมพันธ์สี่ศตวรรษ (ตอน 3)

 

“ชาวดัตช์สร้างความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างเป็นทางการกับสยามครั้งแรกในปี 1604 ตามด้วยการเปิดสำนักงานการค้าของบริษัทดัตช์อีสต์อินเดียที่อยุธยาในปี 1608 การค้าทวิภาคีของเราเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงกว่า 400 ปีที่ผ่านมา”

นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน (H.E. Mr. Remco Johannes van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำราชอาณาจักรไทย เล่าถึงความสัมพันธ์ทวิภาคี

ก่อนที่จะกล่าวต่อไป เรามาศึกษาประวัติความสัมพันธ์ไทยกับเนเธอร์แลนด์ 400 ปีที่ผ่านมาจากสำนักหอจดหมายแห่งชาติ กรมศิลปากร ปี 2015

นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน (H.E. Mr. Remco Johannes van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำราชอาณาจักรไทย

ชาวฮอลันดาเริ่มเข้ามาครั้งแรกเมื่อยาคอบ ฟาน เนก (Jacob Van Neck) ตั้งสถานีการค้าที่เมืองปัตตานี เมื่อราวปี 1602 (พ.ศ.2145) ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รัฐบาลฮอลันดาได้ส่งนายคอร์เนลีส สเปกซ์ (Cornelis Specx) มาเป็นราชทูตเจรจากับพระเจ้าแผ่นดินสยาม เพื่อขอพระบรมราชานุญาตตั้งสถานีการค้าที่กรุงศรีอยุธยาในปี 1604 (พ.ศ.2147)

จึงถือเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์แบบเป็นทางการระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรก

ระหว่างปี 1633-1634 (พ.ศ.2176-2179) นายโยสต์ สเคาเต็น (Joost Schouten) ผู้แทนการค้าของบริษัทยูไนเต็ดอีสต์อินเดีย หรือ VOC (ซึ่งมาจากชื่อบริษัทในภาษาดัตช์ Vereenigde Oostindische Compagnie) ที่กรุงศรีอยุธยา เป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องเมืองไทยและเคยเป็นผู้แทนนำราชสาส์นและเครื่องบรรณาการจากเจ้าชายออเรนจ์มาถวายสมเด็จพระเจ้าปราสาททองซึ่งได้พระราชทานที่ดินสำหรับชาวฮอลันดาเพื่อตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยและอาคารสถานีการค้าอย่างถาวรภายในกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ยังเหลือร่องรอยที่ “บ้านฮอลันดา”

เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกพม่ายึดครองในปี 1767 (พ.ศ.2310) ความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงขาดหายไป

 

สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ เจ้าฟ้าชายวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ มกุฎราชกุมาร (พระยศในขณะนั้น) และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ บ้านฮอลันดา

 

บ้านฮอลันดา-จ.พระนครศรีอยุธยา

 

บ้านฮอลันดา-ตั้งอยู่ใน-ต.คลองสวนพลู-อ.พระนครศรีอยุธยา-จ.พระนครศรีอยุธยา

 

ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศและกับฮอลันดากระทำโดยผ่านพ่อค้าชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ ในระหว่างที่บ้านเมืองยังคงบอบช้ำจากภาวะสงคราม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงสั่งซื้อปืนใหญ่จากบริษัท VOC

ในขณะเดียวกันฮอลันดาก็สั่งซื้อไม้ฝางจากไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศยังคงมีอยู่เสมอแม้ในช่วงที่บ้านเมืองต้องตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีแห่งใหม่สืบต่อจากกรุงธนบุรี ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งด้านการเมือง การปกครอง และด้านศิลปะวิทยาการต่างๆ ส่วนการค้าค่อยๆ ขยายขึ้นเรื่อยๆ

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการติดต่อค้าขายกับฮอลันดาโดยผ่านพ่อค้าชาวจีน

บ้านฮอลันดา- พิธีเปิดแผ่นโลหะที่ระลึก VOC โดย N.A.J. de Voogd เอกอัครราชทูต เมื่อ 19 สิงหาคม 1956. (วารสารสามปีของ Ben Oostdam (1954-1957) ในประเทศไทย) ภาพ – ayutthaya-history.comDisclaimer

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์เริ่มรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ในปี 1860 (พ.ศ.2403) รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้แต่งตั้งราชทูตนำพระราชสาส์นและเครื่องบรรณาการมาขอทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้าขายกับไทย

ต่อมาในปี 1862 (พ.ศ.2405) พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 ได้แต่งตั้งราชทูตอัญเชิญพระราชสาส์นเข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับไทย

และในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชสาส์นตอบรับ ลงวันที่ 19 มิถุนายน ปี 1863 (พ.ศ.2406) จากนั้นพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 ทรงมอบให้ผู้สำเร็จราชการทั่วไปที่เนเธอร์แลนด์ อีสต์ อินดีส นำหนังสือสัญญาที่ประทับตราแผ่นดินเนเธอร์แลนด์มาแลกเปลี่ยนกับหนังสือสัญญาที่ประทับตราของฝ่ายไทย

ในช่วงนี้ประเทศไทยเริ่มมีปัญหากับชาติตะวันตกที่เข้ามาล่าอาณานิคม พระองค์จึงทรงวางแนวทางให้ก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาประเทศตะวันตก โดยส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการในต่างประเทศ

แผ่นโลหะที่ระลึก VOC ภาพ – ayutthaya-history.comDisclaimer

 

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จที่ต่างๆ ทั้งในและนอกพระราชอาณาจักร ทั้งใกล้และไกลอย่างเป็นทางการและส่วนพระองค์ เพื่อศึกษาแนวทางการบริหารและพัฒนาบ้านเมือง และนำมาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศ โดยเสด็จไปยังเมืองปัตเตเวียในเกาะชวาถึง 3 ครั้ง ซึ่งในขณะนั้นชวาเป็นเขตอาณานิคมที่มีผู้สำเร็จราชการของฮอลันดาเป็นผู้ปกครอง

ปี 1901 (พ.ศ.2444) เป็นการเสด็จเยือนชวาครั้งที่ 3 เพื่อทอดพระเนตรการวางระบบชลประทาน และได้ว่าจ้างนายเจ โฮมัน วัน เดอ ไฮเด (J. Homan Van der Heide) เข้ามารับราชการในตำแหน่งวิศวกรกรมคลอง กระทรวงเกษตราธิการ ระหว่างปี 1992-1909 (พ.ศ.2445-2452)

ปี 1897 (พ.ศ. 2440) พระองค์ได้เสด็จประพาสประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปหลายประเทศรวมทั้งเนเธอร์แลนด์ ทรงประทับในพระราชวังพาไลซ์ นอร์ดไอน์เดอ (Paleis Noordeinde) ณ กรุงเฮก พร้อมได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าเอ็มมา ผู้สำเร็จราชการ (The Queen Regent Emma) และพระนางเจ้าวิลเฮมมินา (Her Majesty Queen Wilhelmina of the Netherlands) ณ พระราชวังเฮตโล (Het Loo) และเสด็จประพาสเมืองอัมสเตอร์ดัม

ทรงประทับอยู่ในเนเธอร์แลนด์ระหว่างวันที่ 6-9 กันยายน ปี 1897 (พ.ศ.2440)

นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน (H.E. Mr. Remco Johannes van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำราชอาณาจักรไทย

จากนั้นสายสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในรัชกาลต่อๆ มา เนื่องจากเนเธอร์แลนด์ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะครอบครองดินแดนไทยเหมือนชาติอื่น

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ส่งข้าราชการไปศึกษาดูงานด้านการเกษตรและชลประทานที่เมืองสุรบายา เกาะชวา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จประพาสเกาะชวา เมื่อปี 1929 (พ.ศ.2472)

ปี 1932 (พ.ศ.2475) เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น เจ้านายหลายพระองค์ได้เสด็จไปประทับที่ชวาเป็นเวลานาน ในช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศได้หยุดชะงักลงชั่วคราว เนื่องจากเวลานั้นมีเชลยศึกชาวเนเธอร์แลนด์จำนวนมากถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟสายมรณะที่จังหวัดกาญจนบุรี ภายหลังได้มีการฟื้นฟูสัมพันธไมตรีขึ้นอีกครั้ง โดยการแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตในปี 1947 (พ.ศ.2490)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปเยือนประเทศเนเธอร์แลนด์อย่างเป็นทางการ ในระหว่างวันที่ 24-27 ตุลาคม ปี 1960

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์ พระราชกรณียกิจที่สำคัญประการแรกๆ ก็คือ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ เพื่อเป็นการกระชับสัมพันธไมตรีที่มีต่อกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จไปเยือนประเทศเนเธอร์แลนด์อย่างเป็นทางการ ในระหว่างวันที่ 24-27 ตุลาคม ปี 1960 (พ.ศ.2503) และในขณะเดียวกันทางพระราชวงศ์ของเนเธอร์แลนด์ก็ได้เสด็จมาเยือนประเทศไทยหลายต่อหลายครั้ง ทั้งในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และการเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นการส่วนพระองค์ แสดงถึงสัมพันธไมตรีของทั้งสองพระราชวงศ์ที่ใกล้ชิดกันอย่างยิ่ง

นอกจากสัมพันธไมตรีในระดับราชวงศ์แล้ว ความสัมพันธ์และความร่วมมือในด้านอื่นๆ เช่น ด้านการค้า ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านวิชาการ ด้านการท่องเที่ยว ฯลฯ ระดับภาครัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชนระหว่างทั้งสองประเทศดำเนินไปด้วยดีเช่นกัน กล่าวได้ว่าเนเธอร์แลนด์เป็นมิตรประเทศที่สำคัญประเทศหนึ่งของไทย

นับจากปี 1604 (พ.ศ.2147) ราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ได้มีสัมพันธไมตรีกันมาเป็นเวลาช้านานโดยเริ่มต้นจากการค้า และทางการทูต จนกระทั่งได้มีการเจริญพระราชไมตรีระหว่างพระมหากษัตริย์ของทั้งสองประเทศในเวลาต่อมา ย่อมแสดงถึงสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศที่ได้หยั่งรากลึกลงอย่างมั่นคง

สัมพันธไมตรีดังกล่าวได้เวียนมาบรรจบครบ 400 ปี ในปี 2004 (พ.ศ.2547) และในโอกาสสมเด็จพระบรมราชินีนาถเบียทริกซ์และมกุฎราชกุมารแห่งเนเธอร์แลนด์ เสด็จเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะ เมื่อวันที่ 19-24 มกราคม ปี 2004 (พ.ศ.2547) จึงนับเป็นการยืนยันถึงสัมพันธภาพอันแน่นแฟ้นดังกล่าว และสิ่งสำคัญ สัมพันธไมตรีนี้ย่อมต้องเจริญงอกงามเพิ่มยิ่งขึ้นในอนาคต

เจ้าชายวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ มกุฎราชกุมารแห่งเนเธอร์แลนด์ (พระยศในขณะนั้น)ขณะเสด็จฯ เยือนไทย พร้อมด้วยเจ้าหญิงมักซิมา พระชายา เพื่อทรงเข้าร่วมพระราชพิธีฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี 12-14 มิ.ย. 2006

 

ความสัมพันธ์ทวิภาคีในปัจจุบัน

“ครอบคลุมหลากหลายประเด็นและเป็นไปอย่างเข้มข้น เศรษฐกิจอยู่ในประเด็นหลัก สำหรับประเทศไทย เนเธอร์แลนด์เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ในยุโรปรองจากเยอรมนี ส่วนเนเธอร์แลนด์ ไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่เป็นอันดับ 4 ในอาเซียน โดยปีที่แล้ว (2020) การค้าระหว่างไทยและเนเธอร์แลนด์มีมูลค่าเกือบ 4.2 พันล้านยูโร เป็นการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยจำนวน 3.2 พันล้านยูโร” นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน ชี้แจง

“เนเธอร์แลนด์และไทยเป็นผู้เล่นระดับโลกในการส่งออกสินค้าเกษตร ทั้งยังเป็นผู้ผลิตผักและผลไม้ชั้นนำ เราทั้งสองประเทศเป็นรัฐชายฝั่งทะเลอันเป็นที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ ทำให้เราเป็นศูนย์กลางในด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค และในฐานะที่เราเป็นรัฐชายฝั่งต่างก็เผชิญกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

“เนเธอร์แลนด์และไทยร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือเอ็มโอยู (MoU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่าง กระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการน้ำแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อเดือนมีนาคม (2021) ที่ผ่านมา”

“โดยบันทึกความเข้าใจนี้ มีเป้าหมายที่จะกระชับความร่วมมือระหว่างภาคส่วนน้ำของเนเธอร์แลนด์และไทยว่าทั้งสองประเทศมีประเด็นเกี่ยวกับน้ำเหมือนกันซึ่งเชื่อมโยงกับพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่มีประชากรหนาแน่น และผมยินดีที่ได้เห็นความร่วมมือที่เข้มข้นขึ้นจากบันทึกความเข้าใจนี้ และหวังว่าจะมีการดำเนินการอื่นๆ ตามมาอีก”

นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน (H.E. Mr. Remco Johannes van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำราชอาณาจักรไทย

สํานักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเปิดเผยว่า เอ็มโอยูฉบับนี้เป็นความร่วมมือในสาขาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี และจะขยายเวลาออกไปโดยอัตโนมัติหรือต่อเนื่องอีกคราวละ 5 ปี ในสาขาความร่วมมือที่สองประเทศเห็นพ้องร่วมกัน

โดยเฉพาะการจัดการอุทกภัยและการระบายน้ำในเขตเมืองที่เนเธอร์แลนด์มีความเชี่ยวชาญในการป้องกันน้ำท่วมและจัดการน้ำมาตั้งแต่ในอดีต และพัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นประเทศที่มีระบบการบริการจัดการน้ำที่ดีมากที่สุดประเทศหนึ่ง

“ในด้านความร่วมมือทางการเกษตร ไทยเป็นประเทศแรกที่ตอบรับคำเชิญให้เข้าร่วมงาน Floriade 2022 เป็นการให้สัตยาบันที่ชัดเจนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในด้านพืชสวน และไม่เพียงแต่ในเรื่องความสัมพันธ์ทางการค้า แต่ยังรวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยของเราด้วย”

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมงาน The International Horticultural Expo (EXPO 2022 Floriade Almere) ณ เมือง Almere เนเธอร์แลนด์ เมษายน-ตุลาคม 2022 ภายใต้ชื่อ Thailand Pavilion โดยแนวคิด “TRUST Thailand” ซึ่งหมายถึง “เป็นที่นิยม (Trendy) เข้าถึงง่าย (Reachable) ใช้ประโยชน์ได้ (Utility) อย่างปลอดภัย (Safety) ยั่งยืน (Sustainability) และใช้เทคโนโลยี (Technology)”

มีแนวคิดย่อย คือ 3S : Safety, Security and Sustainability ตลอดจนใช้ BCG โมเดล หรือการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy)

รวมทั้ง Smart City สนับสนุนแนวคิดและนำไปประกอบในการจัดนิทรรศการใน Thailand Pavilion ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ประเทศไทย ทั้งด้านการเกษตร อาหาร ตลอดจนการท่องเที่ยว

นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน (H.E. Mr. Remco Johannes van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำราชอาณาจักรไทย

 

บริเวณสวนหน้าทำเนียบ

ชาวดัตช์ดำเนินกิจการเดินเรือ ประมง เกษตรกรรม ค้าขาย และธนาคารมายาวนานตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เศรษฐกิจมีเสรีภาพสูง อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่ง และเป็นประตูสู่ยุโรป

เนเธอร์แลนด์กับการค้าต่างประเทศจึงมีความสำคัญ

“เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแห่งการค้า การค้าระหว่างประเทศในสินค้าและบริการมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจแบบเปิดดังเช่นเนเธอร์แลนด์ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ GDP เนเธอร์แลนด์พึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการซึ่งสร้างงานเต็มเวลาแก่ชาวดัตช์ 2.5 ล้านตำแหน่ง”

“ปี 2019 เนเธอร์แลนด์เป็นผู้ค้าสินค้าและบริการเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก ด้วยมูลค่าการค้ารวมกว่า 1,550 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้เป็นประเทศที่มีขนาดและจำนวนประชากรค่อนข้างน้อย”

แนวทางการเพิ่มขีดความสามารถในการลงทุนระหว่างกัน

“ประเทศไทยเป็นปลายทางการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่สำคัญสำหรับเนเธอร์แลนด์อยู่แล้ว จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย เนเธอร์แลนด์ได้ลงทุนสะสมในประเทศไทยไปแล้วกว่า 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผมเข้าใจว่าคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทยมีบทบาทอย่างแข็งขันในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย”

“อันที่จริงเนเธอร์แลนด์ก็เป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งสำหรับการลงทุนโดยตรงของไทยในสหภาพยุโรปด้วยเงินลงทุนเกือบ 13 พันล้านเหรียญสหรัฐ”

“บรรยากาศทางธุรกิจของไทยเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับบริษัทต่างๆ ที่จะเข้ามาตั้งรกรากหรือทำธุรกิจที่นี่ สถานทูตจะให้ความสำคัญกับการมีบรรยากาศทางธุรกิจที่ดีและมีการแข่งขันที่เท่าเทียมกันสำหรับบริษัทต่างชาติ”

เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ฝากความหวังว่า

“สถานเอกอัครราชทูตร่วมกับสำนักงานการลงทุนต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์คาดหวังว่าจะสามารถดึงดูดบริษัทไทยเพิ่มขึ้นด้วยบรรยากาศทางธุรกิจที่สร้างสรรค์และที่มีคุณภาพสูงของชาวดัตช์ และผมก็หวังด้วยว่า จะได้พบกับบริษัทไทยที่มีแผนการลงทุน เพื่อเราจะได้หารือกันถึงแนวทางในการสนับสนุนต่อไป”

 

นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน (H.E. Mr. Remco Johannes van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำราชอาณาจักรไทย