ผีร้ายชนะผีดี/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

ผีร้ายชนะผีดี

 

ภาพยนตร์ไทยเรื่อง “คนทรงเจ้า” กับ “ร่างทรง” นั้นทิ้งระยะห่างกัน 32 ปี จะว่าไปก็เป็นคนละช่วงอายุ แต่แม้ “คนทรงเจ้า” จะเป็นหนังรุ่นเก่าเก็บ เทคนิคการสร้างฉากถ่ายภาพล้าสมัยกว่า “ร่างทรง” ที่กำลังเขย่าขวัญทั้งผู้สร้างและผู้ชมแล้ว หากกล่าวในด้านเนื้อหาแล้ว “คนทรงเจ้า” หนักแน่นพุ่งเป้า “ตีเข้าแสกหน้า”

ส่วน “ร่างทรง” เลิศล้ำด้วยฉากและการสร้างภาพ ตัดต่อแพรวพราว แต่งแต้มได้เนี้ยบเนียนราวกับผู้ชมได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์จริง

ตอนจบของภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ร่างทรง” ผีฝ่ายร้ายฆ่าผีฝ่ายดีกับคนดีตายเกลี้ยงแบบเลือดสาดชวนสยดสยอง นั่นอาจเป็นเพราะภาพยนตร์ต้องคำนึงการตลาด ใช้ “ผีไทย” เป็นสะพานแล้วเติมสไตล์ผีเกาหลีเข้าไปให้ดูอินเตอร์ ซึ่งสุดท้ายเนื้อหาภาพยนตร์เรื่องร่างทรงก็ท้าทายให้ทบทวนว่า “ธรรมะชนะอธรรม” ในโลกนี้มีจริงหรือ

ไหนว่า ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร

จากหนังไทย 2 เรื่องชวนให้คิดเตลิดไปถึงการเมืองไทยที่แต่ละยุคสมัยก็มีการแบ่งขั้วเหมือนกับ “ผีดี” และ “ผีร้าย”!

หรือว่าในโลกที่เป็นจริงของการเมืองไทย “ผีฝ่ายดี” ก็ตายเกลี้ยงเหมือนกัน ธรรมะใช่ว่าจะชนะอธรรมเสมอไป

“เวร” จึงไม่อาจระงับ

การต่อสู้ขับเคี่ยวกันระหว่างผีฝ่ายดีกับผีฝ่ายร้ายทางการเมืองยังคงดำเนินต่อไปอีกยาวนาน

 

ย้อนไปทบทวนดูตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 นับมาตั้งแต่รุ่นคุณทวด คุณปู่ คุณพ่อ จนบัดนี้ถึงรุ่นลูกหลานเหลน ส่วนใหญ่ “ผีร้าย” เป็นฝ่ายชนะ

4 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 “พระยาพหลพลพยุหเสนา” นายกรัฐมนตรี อุตส่าห์จัดพิธีฝัง “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ” นิมนต์พระชั้นผู้ใหญ่สวดชัยมงคลบริกรรมคาถาหวังช่วยปกปักษ์ “ระบอบรัฐธรรมนูญ” ที่สถาปนาให้อยู่ยั้งยืนยง “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ” จะเป็นอนุสรณ์ให้อนุชนรุ่นหลังไม่หลงลืมประวัติศาสตร์

แต่เมื่อล่วงผ่านไป ในวันนี้ “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ” กลับอันตรธานไปไร้ร่องรอย

ใช่แต่เท่านั้น ขณะอรุณรุ่งแห่งประชาธิปไตยกำลังฉายฉานในปี พ.ศ.2489 ไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด ยืนอยู่ได้แค่ปีเดียว ในเดือนพฤศจิกายน 2490 ทั้งหมดทั้งมวลที่ “คณะราษฎร” ก่อร่างสร้างกันมาตั้งแต่การคบคิดที่ปารีสจนถึงปฏิบัติ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ตลอดจนคาถาอาคมที่ฝังลงไปพร้อมกับหมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญพลันคลายมนต์ขลังสิ้น

ตั้งแต่รัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2490 เป็นต้น ระบอบรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงฉากละคร

ร่างทรงทางอุดมการณ์ของคณะราษฎรถูกโค่นสิ้น

“แปลก ขีตตะสังคะ” หรือ ป.พิบูลสงคราม ที่แท้เปลี่ยนไปหรือคนเดิม

2490 ไทยเปลี่ยนครั้งใหญ่อีกครา ผีดีพ่าย ผีร้ายฉลองชัย สังคมเปลี่ยนจากความนิยมเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญเป็นระบบใครพวกมากก็สามารถลากปืนเข้าแย่งยึดอำนาจอธิปไตย

ถึงแม้ในภายหลัง จอมพล ป.จะเบนเข็ม คิดเปลี่ยนจาก “การใช้ปืน” เป็น “การใช้กติกา” หรือรัฐธรรมนูญ แต่ก็สายไปเสียแล้ว

จอมพล ป. “ตาสว่าง” เมื่อต้องระเห็ดระเหเร่ร่อนลี้ภัยไปพำนักอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นจนวาระสุดท้ายซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับ “ปรีดี พนมยงค์” ผู้นำการเปลี่ยนแปลง 2475 ที่ถูกเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดเล่นงาน

 

นับตั้งแต่รัฐประหาร 2490 ประเทศไทยตกอยู่ใต้ระบอบเผด็จการทหาร เก็บกดกันมาเกือบ 3 ทศวรรษ จนปะทุในยุค ถนอม-ประภาส-ณรงค์ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหมือนเปิดรูระบายให้พวยพุ่งจนดูคล้ายๆ ผีฝ่ายร้ายจะถูกสะกดวิญญาณลงหม้อหมดฤทธิ์ แต่ก็เพียง 3 ปีเท่านั้น

การล้อมปราบนิสิตนักศึกษาประชาชนในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ช่างละม้ายฉากในหนังร่างทรงที่ “มิ้ง” ซึ่งเป็นตัวแทนผีฝ่ายร้ายเข้าเข่นฆ่าฝ่ายตรงข้ามเลือดสาดสยดสยอง

อาจจะกล่าวได้ว่า บนถนนการเมืองไทย การต่อสู้ระหว่าง “ฝ่ายอนุรักษนิยม” กับ “ประชาธิปไตย” ยังคงดำเนินต่อไปอีกยาวไกล จากรุ่นสู่รุ่น จากรุ่นทวดสู่รุ่นปู่ สู่รุ่นพ่อ ถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน เหลน “รัฐธรรมนูญ” ยังคงถูกเขียนขึ้นและใช้เป็นเครื่องมือให้ “ผี” ได้อาละวาด

เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ใช่กติกาที่คำนึงถึงประโยชน์ชนส่วนใหญ่ ผู้คนก็หมิ่นแคลน ไม่วางใจรัฐธรรมนูญที่เป็นของผีพวกหนึ่ง

นับวันการเมือง “แบ่งขั้ว” ชัดเจน แนวโน้มการเบียดเบียนรุนแรง

 

หนังไทยเรื่อง “คนทรงเจ้า” ออกฉายเมื่อปี 2532 ส่วนเรื่อง “ร่างทรง” ฉายในปี 2564 ห่างกันถึง 3 ทศวรรษ ภาพยนตร์สองเรื่องนี้ต่างกันแค่จุดเน้นของเนื้อหากับเทคนิค ยังถูกวิจารณ์ว่า สะท้อนภาพเดิมๆ ความเชื่อเดิมๆ ย่ำอยู่กับที่ ไม่ได้ไปไหน

ถ้าเทียบกับการเมืองไทยซึ่งเคยมี “รัฐธรรมนูญ 2489” ที่เรียกว่า “เป็นประชาธิปไตยที่สุด” เมื่อมาถึงปี 2560 ที่ประเทศไทยมี “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ซึ่งเกื้อกูลให้คณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ได้สืบทอดอำนาจ

สะท้อนว่า การเมืองไทยย้อนถอยไปไกลมาก

ล้าหลังกว่า 7 ทศวรรษก่อนหน้า!?!!!