จาก “ยิ่งลักษณ์” ถึง “บิ๊กตู่” เปรียบปี 2554 กับ 2560 น้ำท่วมซ้ำซาก-ไร้ยุทธศาสตร์

กรมชลประทานออกมายืนยันอย่างชัดเจนเลยว่า เพราะ “น้ำกัดเซาะสันเขื่อน” รวมถึงระดับน้ำล้นกว่าระดับกักเก็บถึงร้อยละ 127 ทำให้อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น จ.สกลนคร มีน้ำไหลทะลักออกมาทางด้านท้าย ไปรวมกับน้ำที่เกิดจากพายุเซินกาแผลงฤทธิ์ถล่มพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานอย่างหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมขังกลายเป็นเมืองบาดาล

ไม่ใช่เพราะเขื่อนแตก! อย่างที่ประชาชนแชร์ตามโซเชียลมีเดีย

แต่สภาพอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นที่เคยมีน้ำเต็มความจุ 2.66 ล้านลูกบาศก์เมตร 3 วันให้หลัง กลับพบการกัดเซาะสันเขื่อนความยาว 20 เมตร ลึก 4 เมตร พังทลาย เหลือเพียงดินโคลน ตอไม้ใต้อ่างที่ผุดขึ้นมา

น้ำที่หายไปจากอ่างเก็บน้ำจำนวนมาก คงยากที่จะทำให้เชื่อว่าเป็นเพียงการกัดเซาะสันเขื่อน

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ก็คิดแบบเดียวกัน เลยออกมาร้องเรียนว่ากรมชลประทานบิดเบือนข้อมูล และปล่อยปละละเลยให้มีการกักเก็บน้ำจนล้นคันเขื่อน เป็นเหตุให้สันเขื่อนแตก น้ำทะลัก ทำชาวบ้านเดือดร้อน

พร้อมจี้ไปยัง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ปลด รมว.เกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมชลประทาน เพื่อแสดงความรับผิดชอบ

 

ด้าน “บิ๊กตู่” ก็ออกมาย้ำชัดๆ เลยว่า รัฐไม่เคยปิดข้อมูลสถานการณ์อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น แถมแจ้งเตือนปริมาณน้ำฝนที่จะตกล่วงหน้าแล้ว ก็ต้องหามาตรการรองรับทุกเขื่อน หากรับไม่ไหวก็คือไม่ไหว เพราะภัยธรรมชาติมากขึ้น ส่วนเขื่อนจะแตกหรือไม่แตกนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ จะเถียงกันทำไม

“ฉะนั้น การมาเถียงกันเรื่องเขื่อนแตกหรือไม่แตก มันไร้สาระ ไม่รู้จะเถียงกันทำไม ไม่ใช่เขื่อนแตกแล้วน้ำจะท่วม แต่มันเคลื่อนทั้งหมด รวมถึงเขื่อนด้วย เป็นน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาภูพาน ไหลมาจากทุกทิศทาง เขื่อนนี้สร้างมา 63 ปีแล้ว ไม่เคยมีปัญหา มีความแข็งแรง หากเป็นสถานการณ์ปกติต้องรับปริมาณน้ำฝนได้แน่นอน และเขื่อนนี้ทำไว้รองรับน้ำประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่น้ำไหลเข้ามา 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็ต้องล้นเป็นธรรมดา เมื่อน้ำล้นก็ต้องเซาะเขื่อน ฉะนั้น อย่าไปเถียงกันว่าแตกหรือไม่แตก หรือใครต้องรับผิดชอบ”

แถมบอกด้วยว่า อย่าไปเปรียบเทียบกับการบริหารจัดการน้ำของเก่าสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2554

 

แต่ก็คงห้ามไม่ได้ เพราะเหตุการณ์ซ้ำซาก ไม่น้ำท่วมหนัก ก็แล้งจัด จนทำให้เกษตรกรทำมาหากินไม่ได้ วนเวียนมาตลอดในช่วง 10 ปีแล้ว จนอดคิดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบความต่าง ความคล้ายคลึง

รัฐบาล คสช. บอกเขื่อนไม่แตก เป็นแค่น้ำกัดเซาะสันเขื่อน

ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร บอกชาวกรุงเทพฯ ให้ไปอยู่บนดอย เพื่อหนีน้ำ

ส่วนรัฐบาลนายกฯ หญิง บอก “เอาอยู่”

แต่ที่พีกที่สุดก็คือ หลังน้ำท่วมใหญ่คราวนั้น รัฐมนตรีเกษตรฯ ที่ชื่อ “ธีระ วงศ์สมุทร” ยอมรับว่าเป็นคนสั่งให้กักน้ำในเขื่อนเมื่อปี 2554 กลายเป็นมหาอุทกภัยในครั้งนั้น

“ผมยอมรับว่าพูดจริงที่สั่งชะลอน้ำเพื่อให้พี่น้องชาวนาได้เกี่ยวข้าว ก่อนปล่อยน้ำเข้าทุ่ง”

 

แม้มวลน้ำในครั้งนั้นจะผ่านไปแล้ว แต่มวลน้ำปัจจุบันยังอยู่ เช่นเดียวกับคำพูดของตัวแทนรัฐบาลทั้งหลาย ที่ประชาชนจดจำได้ดี ถึงคำพลิกแพลงที่ย้อนแย้งกับความเป็นจริงอย่างช่วยไม่ได้

เพราะพายุ 1-2 ลูก จะมาเยือนประเทศไทย ในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมเป็นกิจวัตรประจำทุกปี จนเรียกได้ว่าเป็นแขกรับเชิญประจำ ที่รัฐบาลไม่ว่ายุคไหนก็ต้องเตรียมพร้อมในการรับมือ แต่ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ยังไม่มียุทธศาสตร์การบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างยั่งยืน เมื่อน้ำผ่านไปก็เร่งเยียวยากันไปตามสภาพ

อย่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลังมวลน้ำที่ท่วมหนัก โดยเฉพาะภาคเหนือ และทางผ่านของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ไหลลงมาจนถึงกรุงเทพมหานครผ่านไป รัฐบาลก็ผุดโครงการเร่งด่วน ยกเครื่องปฏิรูปน้ำให้เป็นวาระแห่งชาติ ถึงตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่าคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. และมีตึกหนึ่งในทำเนียบรัฐบาล ที่สื่อมวลชนทั่วไปเรียกสั้นๆ ว่า ตึกน้ำ เอาไว้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้งานโดยเฉพาะ โดยเน้นแก้ปัญหาอุทกภัย ไปที่การระบายน้ำ

ซึ่งการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ทั้ง 10 โมดูลนั้น ก็เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับความคลุมเครือในการประมูลทีโออาร์ทั้ง 10 โมดูล แถมการดำเนินการก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง หลายอย่างไม่ตอบสนองกับสภาพพื้นที่ มีการถกเถียงจนถึงขั้นฟ้องร้องศาลปกครองเพื่อให้ทำประชาพิจารณ์

ขณะที่รัฐบาล “บิ๊กตู่” นั้น เมื่อเข้ามาก็สั่งยุติโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในทันที แล้วสั่งระดมทำแผนขึ้นมาใหม่ โดยนำแผนการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทมารื้อ และจัดทำแผนใหม่ ซึ่งต่างจากเดิมตรงที่แผนใหม่จะครอบคลุมทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม พื้นที่การเกษตร

ที่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เห็นแผนที่ชัดเจนออกมา เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากเกินไป ถึง 34 หน่วยงาน

แม้วันก่อน “บิ๊กตู่” จะออกมาบอกว่า การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ประสบเคราะห์กรรมในครั้งนี้เป็นไปได้ดี เพราะมีประสบการณ์จากเหตุการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคใต้มาแล้ว แต่การตามแก้ปัญหา กับการตั้งรับเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด ย่อมต่างกัน

 

รัฐบาล คสช. ย่างเข้าสู่ปีที่ 3 และเตรียมพร้อมหลายๆ งานที่จะส่งมอบ แต่ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำกลับยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เห็นก็เพียงแต่ภาพทหารลงพื้นที่เข้าช่วยผู้ประสบภัย กลายเป็นฮีโร่ขวัญใจชาวบ้าน

แต่ทั้งหมดนี้ก็มาพร้อมกับความคาดหวัง หวังว่ารัฐบาล คสช. จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยไม่โบ้ยความผิดให้รัฐบาลที่ผ่านมาเสียที ไม่อย่างนั้น รัฐบาลท็อปบู๊ตก็จะอาจจะเจอคำกล่าวที่ว่า ทหารคงไม่ต่างกับนักการเมือง ที่บอกเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหา คืนความสุขให้ประชาชน

วันนี้มองไปทางไหนก็มีแต่น้ำและความทุกข์ แม้คนไทยในชนบทจะคุ้นชินกับการอยู่กับน้ำมาแต่ไหนแต่ไร และมีวิธีการบริหารจัดการในแต่ละชุมชนมาช้านาน แต่การบริหารจัดการในภาพรวม จำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาลที่เข้าใจบริบทและภูมิศาสตร์แต่ละพื้นที่ และเรียนรู้บทเรียนการอยู่กับน้ำของชุมชนอย่างแท้จริงเข้ามาช่วย

ล่าสุด ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกมาเตือนว่าจะมีพายุถล่มซ้ำอีก 2 ลูก ให้ระวังซ้ำรอยปี 2554!

ก็ไม่รู้รัฐบาล “บิ๊กตู่” จะพร้อมแค่ไหนในการจัดการ ก็ได้แต่หวังว่า จะไม่รอน้ำท่วมจนสาหัสแล้วมาเยียวยากันในภายหลังเหมือนอย่างที่ผ่านมา