ก้าวหน้าอย่างสันติเพื่ออนาคตร่วมของมนุษยชาติ

สมาคมรัฐศาสตร์ (Political Studies Association) ในประเทศอังกฤษ ได้เสนอบทความ “What Makes a Speech Political?” เพื่ออธิบายว่าสุนทรพจน์ทางการเมืองสามารถสะท้อนการตัดสินใจเกี่ยวกับอะไรก็ตามที่สุ่มเสี่ยงต่อกระแสวิพากษ์และโดนท้าทาย สุนทรพจน์ทางการเมืองจึงไม่ใช่คำกล่าวทั่วไป แต่อาจบ่งบอกเป้าหมายสำคัญ หากนำคำอธิบายนี้มาทำความเข้าใจสุนทรพจน์ระหว่างประเทศ จะเห็นความนัยซึ่งเชื่อมโยงกับสถานการณ์โลกตามช่วงเวลาต่างๆ ได้

นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 76 วันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 2021 ความน่าสนใจของสุนทรพจน์ครั้งนี้คือการเป็นคำกล่าวก่อนงานเฉลิมฉลองวันชาติจีนวันที่ 1 ตุลาคมและยังเป็นคำกล่าวในวาระครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนบวกวาระครบรอบ 50 ปีของการเริ่มสมาชิกภาพในสหประชาชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อผสมกับสถานการณ์โลกซึ่งเต็มไปด้วยโรคระบาด ความขัดแย้ง รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจซบเซา นี่จึงเป็นห้วงเวลาอันเหมาะสมที่จีนจะใช้เวทีโลกสื่อสารกับประเทศต่างๆ เกี่ยวกับบทบาทของจีน

เนื้อความในสุนทรพจน์ไม่ได้มุ่งเป้าแค่ความท้าทายของจีน ทว่าครอบคลุมความท้าทายของโลกทั้งใบในยุคหลังโควิด-19 มีสาระ 4 ประการด้วยกัน ได้แก่

  1. การฝ่าฟันภัยโควิด-19
  2. การพัฒนาตามหลัก SDGs (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ
  3. การสร้างเอกภาพและเคารพความแตกต่างในประเด็นระหว่างประเทศ
  4. การชูสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศเป็นศูนย์รวมการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ของภูมิภาคต่างๆ

สาระแต่ละประการมีรายละเอียดค่อนข้างเฉพาะตัว แต่ทุกประการกลับแฝงจุดร่วมอันนำไปสู่บทสรุปเกี่ยวกับท่าทีของจีน

จุดร่วมอย่างแรกคือการให้ความสำคัญแก่ทรัพยากรมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาโควิด-19 ก็ดี หรือ การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมก็ดี จีนมองว่าประโยชน์สุขของประชาชนต้องเป็นตัวตั้ง การกระทำใดๆ ต้องไม่เบียดเบียนคุณภาพชีวิต สิทธิ และความสุขของบุคคล

จุดร่วมอย่างที่สองคือการมองความยั่งยืนเป็นหัวใจสู่อนาคต เหตุที่จีนพยายามสะท้อนประเด็นนี้สืบเนื่องมาจากความเป็นไปของโลกในอดีตมักว่าด้วยการสู้รบและ/หรือการพัฒนาเพื่อสนองความมั่งคั่งของคนกลุ่มน้อยแต่ทำลายโอกาสของคนกลุ่มใหญ่ ในภาวะที่จีนเร่งปรับตัวเชิงความรู้ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ จีนต้องการให้โลกเข้าใจว่าจะไม่มีการซ้ำรอยความผิดพลาดดังกล่าว

จุดร่วมอย่างที่สามเห็นได้จากการย้ำคำว่า “ความร่วมมือ” จีนจะมุ่งเน้นการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างประชาชาติ รวมทั้งยอมรับความแตกต่างทางความคิด หรือ ความหลากหลายทางการปกครอง จีนต้องการให้โลกเชื่อว่าระบอบการเมือง หรือ ปูมหลังทางวัฒนธรรมไม่จัดเป็นอุปสรรคแก่การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกัน ความสมานฉันท์เกิดขึ้นได้ทุกมุมโลกโดยไม่ต้องมีพรมแดนทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ หรือ การเมืองกางกั้น

จุดร่วมอย่างที่สี่คือการไม่นำระเบียบของชาติใดชาติหนึ่งมาเป็นเกณฑ์ แต่ให้ใช้ระเบียบแบบแผนตามกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ หมายความว่าทุกประเทศอยู่ในแนวปฏิบัติสากล หาใช่อำนาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

จุดร่วมอย่างสุดท้ายและอาจเป็นจุดสำคัญที่สุดคือการหยุดความเสียหายจากการใช้อำนาจระหว่างประเทศ การคุกคาม และการพัฒนาอย่างที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ สำหรับจีนโลกต้องเดินหน้าด้วยความปรองดองพร้อมให้ความสำคัญแก่สันติวิธี การแทรกแซงทั้งในทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะยอมรับ

เมื่อนำคำอธิบายของสมาคมรัฐศาสตร์มาวิเคราะห์ จะพบว่าสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เผยเป้าหมายของจีนและยังทำหน้าที่คล้ายสัญญาประชาคม ประการแรก จีนจะวางตัวเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและความมั่นคงแห่งใหม่โดยไม่ทำตัวเป็นภัยแก่ฝ่ายใดแต่จะไม่ยอมให้ใครมาเป็นภัยแก่ฝ่ายจีนด้วยเช่นกัน ในทางตรงข้ามจีนจะไม่มองข้ามการจัดการที่จะยังประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ภัยที่กำลังคุกคามสันติสุขของมวลชน เช่น โรคระบาด ภัยธรรมชาติ ฯลฯ ต้องได้รับการบรรเทาโดยจีนพร้อมให้ความช่วยเหลือ ในแง่นี้จีนได้ประกาศมอบความช่วยเหลือระหว่างประเทศไปแล้ว เช่น เงินช่วยเหลือจำนวน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้าเพื่อให้ชาติต่างๆ ต่อสู้กับโรคระบาดและฟื้นตัว ประการถัดมา จีนปรารถนาจะเป็นแบบอย่างการพัฒนาที่ยึดหลักสันติ ยั่งยืนในทุกประเด็น และต้องมีการกระจายความมั่นคั่งให้แก่ประชาชนซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของไทย คนชั้นล่างต้องดำรงอยู่ได้โดยปราศจากความอัตคัดขณะที่คนชั้นบนต้องไม่กุมความมั่งคั่งอย่างไร้ขอบเขต ในเวลาเดียวกันอำนาจทุนอันมากล้นทั้งในและระหว่างประเทศต้องถูกระงับเพื่อไม่ให้ก่อกวนภาวะเศรษฐกิจ และจีนจะไม่พยายามสูบความมั่งคั่งดั่งปรากฏในภาพวาดของใครหลายคน

สุนทรพจน์คราวนี้จึงสื่อความนัยว่าจีนไม่ได้พัฒนาเพื่อยกตนเป็นชาติที่วิเศษเหนือชาติอื่น แต่เพื่อสร้างเสริมโลกทั้งใบให้เป็นที่ที่จีนและชาติต่างๆ สามารถอยู่ร่วมกัน ทั้งหมดคือแนวทางสายใหม่ที่เป็นไปได้และโลกควรพิจารณาดังที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวในตอนจบว่า

“โลกได้ยืนบริเวณทางแยกของประวัติศาสตร์อีกครั้ง เราเชื่อมั่นว่า กระแสที่มนุษยชาติจะพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างสันตินั้นเป็นเรื่องที่ขัดขวางไม่ได้ ขอให้เรามีความมั่นใจอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ ร่วมกันรับมือภัยคุกคามและความท้ายทายต่าง ๆ ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ผลักดันการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ ตลอดจนร่วมกันสร้างสรรค์โลกที่ดีงามยิ่งขึ้น”

ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ นักวิจัยด้านอุตสาหกรรมบันเทิงระหว่างประเทศ วัฒนธรรม และความมั่นคงร่วมสมัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย