เกษตรลงนามพิธีสารจีนเปิด16 ด่านรับการขนส่งในอนาคตไหลลื่น

จีนเป็นตลาดสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย ส่งออกมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี มีเส้นทางการขนส่งทางบกที่สำคัญคือ  R9 และเส้นทาง R3A  แต่ที่ผ่านมาจีนเปิดด่านให้ผ่านได้ 2 ด่านเท่านั้น ทำให้การจราจรแออัดและสินค้าเน่าเสีย กระทรวงเกษตรฯจึงเจรจาและขอเปิดด่านเพิ่ม เป็น 16 ด่าน ในจำนวนนี้ มี 3 ด่านรองรับการขนส่งระบบรางรถไฟจีน-สปป.ลาว ที่จะเปิดให้บริการในสิ้นปีนี้ด้วย

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการลงนามพิธีสาร  กับนายหวัง หลิงจุน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า ด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งที่ผ่านมา ไทยและจีนได้มีการลงนามพิธีสารเกี่ยวการส่งออกและนำเข้าผลไม้ทางบก ผ่านประเทศที่สาม ทั้งหมด 2 ฉบับ ได้แก่ เส้นทาง R9 ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2552  และเส้นทาง R3A ลงนามเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2554 ทั้งนี้ พิธีสารทั้ง 2 ฉบับ ครอบคลุม ผลไม้จากไทย 22 ชนิด

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเส้นทาง R9 และ R3A ได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเกิดปัญหาการจราจรติดขัด บริเวณหน้าด่านนำเข้าของจีน โดยเฉพาะด่านโหย่วอี้กว่าน ซึ่งส่งผลให้รถขนส่งสินค้าติดอยู่ที่ชายแดนจีนเป็นเวลานาน ทำให้สินค้าผลไม้สด โดยเฉพาะทุเรียนไทยที่ส่งไปจีนนั้นเสียหาย กระทรวงเกษตรฯหารือแนวทางการแก้ไขปัญหากับจีน เมื่อเดือนพ.ย. 2562 และได้เห็นชอบร่วมกัน ในหลักการจัดทำพิธีสารฉบับใหม่ เพื่อเปิดด่านนำเข้าผลไม้จากไทยไปจีนเพิ่มเติม  และต่อมาต้นปี 2563 ได้มอบหมายสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมวิชาการเกษตร หารือกับฝ่ายจีน

เพื่อจัดทำร่างพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามจนสำเร็จลุล่วง จึงได้มีการลงนามร่วมกันในวันนี้(13 ก.ย.64 ) ส่งผลให้มีด่านนำเข้า – ส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น รวมจำนวนทั้งสิ้น 16 ด่าน โดยเป็นด่านของไทย 6 ด่าน  ประกอบด้วย ด่านเชียงของ มุกดาหาร นครพนม บ้านผักกาด บึงกาฬ หนองคาย และด่านของจีน 10 ด่าน โหย่วอี้กว่าน โม่ฮาน ตงซิง ด่านรถไฟผิงเสียง ด่านรถไฟโม่ฮาน เหอโข่ว ด่านรถไฟเหอโข่ว หลงปัง เทียนเป่า และสุยโข่ว

ทั้งนี้ ด้านด่านรถไฟโม่ฮาน ด่านรถไฟเหอโข่ว  และ รถไฟผิงเสียง นั้นจะอยู่ในเส้นทางที่เชื่อมระหว่างจีนและสปป.ลาว โดยมีกำหนดจะเปิดใช้บริการในสิ้นปีนี้  ดังนั้นการลงนามพิธีสารดังกล่าว จึงเป็นการเตรียมความพร้อมเบื้องต้นเพื่อรองรับการขนส่งระบบรางเชื่อม 4 ประเทศในอนาคต โดยหลังจากนี้ ไทยต้องเดินหน้าเจรจาเพื่อทำพิธีสารกับสปป.ลาว และ เวียดนามต่อไป

ปัจจุบันการขนส่งทางรางจากหนองคาย ผู้ประกอบการจำเป็นต้องขนส่งผลไม้ทางถนนมายังด่านหนองคาย เพื่อเปลี่ยนถ่ายสินค้าสำหรับขนส่งทางรางไปยังจีน โดยการพัฒนาพื้นที่สำหรับตรวจปล่อยสินค้าขาออกบริเวณหนองสองห้องสำหรับการส่งออกสินค้าทางรางจากหนองคายมีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2564

ส่วนความพร้อมของรางรถไฟจากหนองคายไปยังโม่ฮาน เส้นทางรถไฟหนองคาย (ไทย) – ท่านาแล้ง (ลาว) มีความพร้อมรองรับการขนส่ง ในขณะที่เส้นทางรางเวียงจันทน์ใต้ (ลาว) – คุนหมิง (จีน) อยู่ระหว่างก่อสร้างมีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนธ.ค.2564 เส้นทางรถไฟท่านาแล้ง – เวียงจันทน์ใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางรางในพื้นที่ประเทศลาว เชื่อมต่อจากไทยไปยังจีนยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และไม่มีกำหนดเสร็จ ส่งผลให้สินค้าขนส่งทางรางจากหนองคายไปยังจีนต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าในลาว ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งผลไม้

สำหรับการพิธีสารระหว่างไทยกับจีน นี้ กรมวิชาการเกษตร ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก ด้านการตรวจสอบกักกันพืช และออกใบรับรองสุขอนามัยพืช จะดำเนินการแจ้งเวียนรายชื่อด่าน ที่จีนและไทยอนุญาตให้นำเข้าและส่งออกผลไม้ ตามพิธีสารฯ ให้กับด่านตรวจพืชต่าง ๆ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง พร้อมประกาศรายชื่อด่านดังกล่าวลงในเว็บไซต์ของกรม และจะดำเนินการประสานกับฝ่ายจีน เพื่อกำหนดแนวทางการแลกเปลี่ยนใบรับรองสุขอนามัยพืช ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างด่านนำเข้า – ส่งออก ต่อไป ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไปจีนผ่านด่าน ต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง การขอใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับผลไม้ส่งออกจากราชอาณาจักรไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2564

“ในปี 65 เมื่อการคมนาคมดีขึ้น โรคระบาดลดลง กระทรวงเกษตรฯจะตั้งทีมเดินทางไปจีนเพื่อผลักดันการส่งออกสินค้าที่น่าสนใจมากขึ้น เพราะจีนยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพรองรับสินค้าเกษตรจากไทยได้มากึงปีละ 1 แสนล้านบาท  “

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กล่าวว่า ผลไม้ 3 อันดับแรก คือทุเรียน มังคุด และ ลำไย ซึ่งจากข้อมูลการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน เฉพาะที่มีใบรับรองสุขอนามัยพืช โดยผ่านเส้นทาง เส้นทาง R9 มุกดาหาร, นครพนม – โหย่วอี้กวน  และ R3A  เชียงของ-โม่ฮาน  พบว่า ไทยมีปริมาณการส่งออกและมูลค่าเติบโตต่อเนื่อง จะเห็นได้จาก 3 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย13 %  ต่อปี และมูลค่าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 50% ต่อปี โดยปี 2561 ส่งออกผลไม้ผ่าน R9 และ R3A รวมปริมาณ 421,657 ตัน มูลค่า 17,857 ล้านบาท และในปี 2564 ระยะเวลา 8 เดือน (ม.ค.-7 ก.ย. 2564) ส่งออก 691,653 ตัน มูลค่า 66,370 ล้านบาท

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการลงนามพิธีสาร นอกจากจะทำให้มีด่านส่งออกและนำเข้าทั้งจากไทยและจีนมากขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการไทย ยังมีทางเลือกในการใช้เส้นทางขนส่งเพิ่มขึ้น สามารถเลือกใช้เส้นทางที่สะดวกและเหมาะสม ลดต้นทุน การขนส่งสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ไทย เป็นผลไม้เมืองร้อน มีอายุการเก็บรักษาสั้น ดังนั้น การขยายด่านขนส่ง จึงเป็นผลดีต่อสินค้าเกษตร ให้สามารถกระจายไปยังมณฑลต่างๆ ของจีนได้อย่างทั่วถึงในระยะอันสั้น

และจัดส่งได้รวดเร็วกว่าการขนส่งทางเรือ ที่สำคัญเป็นการสร้างโอกาสให้กับเกษตรกร เพราะเมื่อมีการส่งออกกระจายสินค้าได้รวดเร็ว ย่อมส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรไทยมีราคาที่ดีไปด้วย อีกทั้งผู้บริโภคจีน ยังได้มีโอกาสบริโภค ลิ้มลองรสชาติผลไม้ไทยได้จำนวนมากและหลากหลายชนิดมากขึ้น