ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : มอญกับนิทานเรื่องสมณทูตของพระเจ้าอโศก

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

หลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับนิทานเรื่อง พระเจ้าอโศกทรงส่งสมณทูตไปยังพื้นที่ต่างๆ 9 สาย เพิ่งเริ่มมีระบุอยู่ในสมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นคัมภีร์รุ่นอรรถกถา (คือเป็น อรรถกถาพระวินัยปิฎก) ที่ประพันธ์ขึ้นในเกาะลังกา โดยพระพุทธโฆษาจารย์ ที่มีชีวิตอยู่เมื่อระหว่าง พ.ศ.927-973

และมีอยู่ในหนังสือ “มหาวงศ์” ซึ่งเป็นพงศาวดารลังกาทวีป ที่ประพันธ์ขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้ามหานามะ ผู้ครองราชย์อยู่ที่เมืองอนุราธปุระ บนเกาะลังกา ในช่วงระหว่าง พ.ศ.955-977

จึงกล่าวได้ว่า หนังสือทั้งสองเล่มนี้ถูกแต่งขึ้นในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกัน

ซ้ำยังแต่งขึ้นบนเกาะลังกาเหมือนกันอย่างมีนัยยะสำคัญอีกด้วย

ที่สำคัญก็คือ ในบรรดาเส้นทางที่พระเจ้าอโศกทรงส่งสมณทูตไปทั้ง 9 สายดังกล่าวนั้น สายหนึ่งก็คือ “สุวรรณภูมิ” ซึ่งก็หมายถึงพื้นที่บริเวณที่เป็นภูมิภาค “อุษาคเนย์” ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ในปัจจุบันนั่นเอง

สมณทูตที่พระเจ้าอโศกส่งมายังสุวรรณภูมิ ตามที่มีความอ้างอิงอยู่ในสมันตปาสาทิกา และมหาวงศ์นั้นก็คือ พระโสณเถระ และพระอุตตรเถระ ตามอย่างที่คนไทยที่นับถือพุทธศาสนาโดยทั่วไปมักจะรู้จักกันดีอยู่แล้ว

และถึงแม้ว่าทั้งสมันตปาสาทิกา และหนังสือมหาวงศ์จะแต่งขึ้นหลังยุคของพระเจ้าอโศกราว 700 ปี แถมยังไม่มีหลักฐานใดในสมัยของพระเจ้าอโศกที่ระบุเรื่องราวข้างต้นเอาไว้เลยสักนิด

แต่ก็ดูเหมือนว่านิทานเรื่องนี้จะมีพลังในหมู่ชาวพุทธของอุษาคเนย์ สำหรับใช้ในเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับจักรวาลวิทยาของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก

จนทำให้เกิดความพยายามจะระบุว่า พื้นที่แห่งใดในภูมิภาคอุษาคเนย์กันแน่ ที่พระสมณทูตทั้งสองของพระเจ้าอโศกได้จาริกมาถึง?

 

หลักฐานของความพยายามดังกล่าว ที่เก่าแก่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอุษาคเนย์ก็คือ ความพยายามของพวกมอญ อันเป็นชนชาติที่มีชื่อเสียงในเรื่องความเก่าแก่ และศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท อันมีพระเจ้าอโศกเป็นแบบอย่างสำคัญของกษัตริย์ผู้เป็นราชาธิราช คือราชาผู้อยู่เหนือราชาทั้งหลาย ในพระพุทธศาสนานิกายนี้

“จารึกกัลยาณี” เป็นศิลาจารึกที่สำคัญที่สุดหลักหนึ่งของพวกมอญ สร้างขึ้นในสมัยของกษัตริย์มอญผู้ทรงพระนามว่า “พระเจ้าธรรมเจดีย์” (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2013-2035) นั้นได้ระบุเอาไว้ว่า “สุวรรณภูมิ” ที่พระโสณเถระ และพระอุตตรเถระ สมณทูตของพระเจ้าอโศกทั้งสององค์ได้จาริกมาถึงนั้น มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “รามัญประเทศ” ซึ่งก็แปลความตรงตัวได้ “ประเทศของชาวมอญ” หรือชาวรามัญนั่นเอง

จารึกหลักนี้ยังได้เล่าต่อไปอีกด้วยว่า ในครั้งนั้นกษัตริย์ผู้ครองสุวรรณภูมิทรงพระนามว่า พระเจ้าสิริมาโศก เมืองสุวรรณภูมิของพระองค์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ เกลาศภปัพพตะเจดีย์ (Kelasabhapabbatacetiya) ซึ่งก็คือเจดีย์ที่สร้างขึ้นบนยอดเขาเกลาศะ (Kelasa) อันมีตำนานว่าเป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุ คือเส้นผมของพระพุทธเจ้าจำนวน 3 เส้น (เช่นเดียวกับตำนานของพระธาตุอินทร์แขวน ซึ่งก็ประดิษฐานพระเกศาธาตุจำนวน 3 เส้น ที่ได้มาจากฤๅษีที่ชื่อเกลาศะ ชื่อเดียวกับภูเขาลูกนี้ แถมยังตั้งอยู่ในละแวกใกล้เคียงกันอีกด้วย)

แต่ว่าในสมัยของพระเจ้าธรรมเจดีย์ผู้ทรงสร้างจารึกกัลยาณีนั้น เมืองสุวรรณภูมิก็ได้สูญหายไปเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

ข้อความในจารึกหลักนี้จึงได้สันนิษฐานเอาไว้ว่า คือพื้นที่บริเวณเมืองโกละมัททิกะนคร (Golamattikanagara) ของพวกชาวโกละ ซึ่งบรรดานักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดีชาวพม่า มักจะสันนิษฐานไปในทำนองเดียวกันว่าคือ แหล่งโบราณคดีเทียกกะละ (Taikkala) ในหมู่บ้านอเยทเธมา (Ayetthema) ที่ตรงตีนเขาเกลาศะ ห่างจากตัวเมืองสะเทิมในปัจจุบันไปราว 30 ไมล์นั่นแหละ

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยนะครับ ที่ทางประเทศพม่าจะพยายามนำเสนอว่า หมู่บ้าน “อเยทเธมา” นี่แหละคือดินแดน “สุวรรณภูมิ” ที่ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์ทางศาสนาของอินเดีย ไม่ว่าะเป็นคัมภีร์พุทธ หรือคัมภีร์พราหมณ์ฉบับต่างๆ

นิทานที่เล่าอยู่ในจารึกกัลยาณีหลักนี้อย่างเรื่องที่พระโสณเถระ และพระอุตตรเถระ ได้ปราบ “รักขาสี” (Rakkhasi) อสูรร้ายที่มีรูปเป็นสิงโตที่มีหนึ่งหัวร่วมกันในร่างกายสองตัว ซึ่งอาศัยอยู่ในทะเล และมีนิสัยชอบจับเอาเด็กที่เกิดในพระราชวังของพระราชาไปเผาเล่นเสียจนแพ้กระเจิง

จึงถูกถ่ายทอดออกมาจัดแสดงเป็นรูปประติมากรรมอยู่ตามวัดต่างๆ ในละแวกดังกล่าว มาแต่ครั้งโบราณและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อตอกย้ำความเป็นสุวรรณภูมิของตนเอง

 

นอกจากนิทานเรื่องที่ปรากฏอยู่ในจารึกกัลยาณีข้างต้นนี้แล้ว ในดินแดนละแวกดังกล่าวยังมีนิทานอีกเรื่องที่ไม่ปรากฏความอยู่ในจารึก โดยเล่าต่อๆ กันมาว่า พระโสณเถระ และพระอุตตรเถระ ได้ปราบผีนัต ซึ่งก็คือผีพื้นเมืองตามความเชื่อของชาวพม่า ในดินแดนละแวกที่ว่า จนทำให้มีการสร้างรูปประติมากรรมเล่าเรื่องนิทานดังกล่าว ในวัดวาอารามบริเวณนั้นอยู่บ่อยครั้งเช่นกัน

ลักษณะอย่างนี้คงเป็นไปในทำนองเดียวกับนิทาน หรือตำนานทางฝ่ายไทย ที่มักจะเล่าถึงการที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาปราบ “นาค” อันเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อพื้นเมือง หรือคนพื้นเมืองอยู่บ่อยๆ เช่นกัน

เห็นได้อย่างชัดเจนเลยนะครับว่า การที่จารึกกัลยาณีได้นำเอานิทานเรื่องพระเจ้าอโศกส่งสมณทูตไปยังดินแดนต่างๆ จากคัมภีร์สองเล่มที่แต่งขึ้นในเกาะลังกาเมื่อช่วงก่อน พ.ศ.1000 เล็กน้อยอย่างสมันตปาสาทิกา และมหาวงศ์ มาขยายและต่อเติมความเชื่อพื้นเมืองผสมปนเปลงไปนั้น ก็ทำให้ความเชื่อเรื่องพระเจ้าอโศกส่งสมณทูตมายังเมืองมอญ ลงหลักปักฐานอย่างแน่นหนา และมั่นคงในศรัทธาของพุทธบริษัทชาวมอญมาตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าธรรมเจดีย์เป็นอย่างน้อย

การที่จารึกหลักนี้อ้างอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “สุวรรณภูมิ” คือ “เมืองมอญ” (รามัญประเทศ ตามสำนวนในจารึก) แถมยังระบุให้ชัดเจนลงไปกว่านั้นด้วยว่าคือพื้นที่บริเวณโกละมัททิกะนคร ในสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ หรือหมู่บ้านอเยทเธมาในปัจจุบัน ก็ยิ่งชวนให้ผู้คนรู้สึกจับต้องได้ และเป็นส่วนหนึ่งกับจักรวาลวิทยาในศาสนาพุทธมากยิ่งขึ้น

แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ทั้งหมดของสิ่งที่ทำให้จารึกกัลยาณี กลายเป็นจารึกหลักสำคัญที่สุดหลักหนึ่งในอารยธรรมมอญหรอกนะครับ เพราะเรื่องสมณทูตของพระเจ้าอโศกเป็นเพียงส่วนอารัมภบทของจารึกหลักนี้เท่านั้นเอง

 

เนื้อความโดยรวมของจารึกหลักนี้เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ของชนชาติมอญ ที่อิงอยู่กับพงศาวดารของสมณวงศ์ ฝ่ายเถรวาท ซึ่งทำให้จักรวาลวิทยา และประวัติศาสตร์ของชนชาติมอญแนบแน่นอยู่กับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก

และควรจะสังเกตด้วยว่า พระเจ้าธรรมเจดีย์ ผู้ทรงสถาปนาจารึกกัลยาณีขึ้นนั้น ทรงครองสมณเพศเป็นพระภิกษุ ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์นั้น และเมื่อหลังจากครองราชย์แล้ว พระองค์ก็ทรงปฏิรูปพระพุทธศาสนาของมอญขนานใหญ่

โดยหลักฐานสำคัญที่เล่าเกี่ยวกับการปฏิรูปดังกล่าวของพระองค์ก็ถูกเล่าเอาไว้ในจารึกกัลยาณี ที่อ้างว่าพระเจ้าอโศกส่งสมณทูตมาที่เมืองโบราณของพวกมอญนี่เอง

ไม่ว่าเบื้องหลังพระราชดำริของพระเจ้าธรรมเจดีย์ เกี่ยวกับเรื่องสมณทูตของพระเจ้าอโศกจะเป็นอย่างไรก็ตาม (แน่นอนว่าอาจจะมีชาวมอญคนอื่นคิดเช่นนี้มาก่อนพระเจ้าธรรมเจดีย์ก็ได้)

แต่แนวคิดดังกล่าวก็ฝังรากให้ชาวมอญมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องสมณทูตของพระเจ้าอโศกที่ฝังรากลึกเป็นอย่างมากเลยทีเดียว

เรื่องที่พระเจ้าอโศกส่งพระโสณเถระ และพระอุตตรเถระ เป็นสมณทูตจาริกมาถึงเมืองมอญนั้น จึงเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่พระเจ้าธรรมเจดีย์ทรงใช้ในการปฏิรูปพระพุทธศาสนาในยุคสมัยของพระองค์ พร้อมกันกับที่ยึดโยงเอาชนชาติมอญเข้ามาเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันกับประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท

จนทำให้ใครต่อใครพากันเข้าใจผิดไปว่า นิทานเรื่องนี้มีรากฐานมาจากประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง