คุยกับทูต จูอาว บีอร์นาร์ดู ไวน์สไตน์ ชีวิตที่อยู่ในต่างแดน มากกว่าบ้านเกิดในโปรตุเกส (ตอนจบ)

 

คุยกับทูต จูอาว บีอร์นาร์ดู ไวน์สไตน์

ชีวิตที่อยู่ในต่างแดน

มากกว่าบ้านเกิดในโปรตุเกส (ตอนจบ)

 

ในยุคที่การติดต่อสื่อสารเปิดกว้างมากขึ้น ภาษาได้เข้ามามีบทบาทสำคัญทั้งในเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา ดังนั้น การใช้ภาษาแม่เพียงภาษาเดียวในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ การส่งเสริมภาษาโปรตุเกสในต่างประเทศจึงเป็นความสำคัญอีกเรื่องหนึ่งในนโยบายต่างประเทศของโปรตุเกส

นายจูอาว บีอร์นาร์ดู ไวน์สไตน์ (João Bernardo Weinstein) เอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย

นายจูอาว บีอร์นาร์ดู ไวน์สไตน์ (João Bernardo Weinstein) เอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย ชี้แจงว่า

“เรามีสถาบันกามอยช์ (Camões Institute) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงต่างประเทศของโปรตุเกส รับผิดชอบในการส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมโปรตุเกสในต่างประเทศ”

“สถาบันกามอยช์ในประเทศไทย มีข้อตกลงร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมานานกว่า 30 ปี โดยแต่งตั้งอาจารย์มาสอนภาษาโปรตุเกส ซึ่งเป็นทั้งวิชาเลือก และวิชาบังคับ ไม่ได้สอนเฉพาะนักเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบุคคลทั่วไปด้วย ที่ศูนย์ภาษาแห่งจุฬาลงกรณ์ฯ แผนกภาษาโปรตุเกส”

“ที่ผ่านมา ผู้มีอาชีพทางการท่องเที่ยวและการโรงแรมของไทยจำนวนมากลงทะเบียนเรียนหลักสูตรภาษาโปรตุเกสแบบเร่งรัด และประสบความสำเร็จ สามารถสื่อสารภาษาโปรตุเกสได้เป็นอย่างดี”

ทั้งนี้ ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วยสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน อิตาเลียน โปรตุเกส รัสเซีย และละตินอเมริกาศึกษา รับผิดชอบการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก รวมทั้งสิ้น 9 หลักสูตร

ภาษาโปรตุเกสเป็นอีกหนึ่งภาษาที่นำไปใช้ในการพูดมากที่สุดในโลก

เป็นองค์กรทางวิชาการที่มุ่งศึกษา ค้นคว้า พัฒนา สร้างสรรค์ ถ่ายทอดและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านภาษา ปรัชญาความคิด และวัฒนธรรมของประเทศตะวันตกที่ใช้ภาษาดังกล่าว เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมทั้งในด้านวิชาการและงานอาชีพ

 

รวมทั้งเพื่อประสานและสร้างสมดุลทางวัฒนธรรมอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

“นอกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว อาจารย์ของเราสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย เนื่องจากมีข้อตกลงร่วมกับโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Southeast Asian Studies Program) จำนวนนักศึกษาในทุกหลักสูตรของภาษาโปรตุเกส มีเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในทุกระดับช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา”

“ล่าสุด กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 11 คนเพิ่งเสร็จสิ้นการฝึกงานที่สถาบันกามอยช์-ศูนย์วัฒนธรรมโปรตุเกส โดยนักศึกษาเหล่านี้ได้รับการดูแลจากอาจารย์และผู้อำนวยการ Maria Madureira ของเรา ความร่วมมือดังกล่าวนี้จะดำเนินต่อไปเพราะความสนใจของนักเรียนมีเพิ่มขึ้น”

นายจูอาว บีอร์นาร์ดู ไวน์สไตน์ (João Bernardo Weinstein) เอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย

สถาบันกามอยช์ (Instituto Camões) เป็นสถาบันเพื่อส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมโปรตุเกสที่มีอยู่ทั่วโลก รัฐบาลโปรตุเกสจัดตั้งสถาบันแห่งนี้ในปี ค.ศ.1992 ภายใต้กระทรวงต่างประเทศของโปรตุเกส

สถาบันกามอยช์ในประเทศต่างๆ หลายแห่ง แบ่งเป็นศูนย์ภาษาโปรตุเกส (Centros de Língua Portuguesa) และศูนย์วัฒนธรรมโปรตุเกส (Centro Cultural Português) สถาบันกามอยช์ในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่สถานทูตโปรตุเกส กรุงเทพฯ

“ในด้านทุนการศึกษา สถาบันกามอยช์ได้มอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนไทยเพื่อไปเรียนภาษาโปรตุเกสในประเทศโปรตุเกส หลักสูตรภาคฤดูร้อนหรือหลักสูตรประจำปี”

งานวันภาษาโปรตุเกส

“ตั้งแต่ปี ค.ศ.2016 ศูนย์วัฒนธรรมโปรตุเกสพยายามส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมโปรตุเกสผ่านการอ่านเช่นกัน ปัจจุบัน มีบทประพันธ์โปรตุเกสจำนวนมากที่แปลเป็นภาษาไทย ช่วยดึงดูดผู้อ่านต่างวัยในหลายพื้นที่เพื่อให้เกิดความสนใจในภาษาและวัฒนธรรมของเรา”

“ซึ่งเราได้ปรับปรุงข้อมูลเพื่อให้คนทั่วไปได้สามารถเข้าถึงภาษาและวัฒนธรรมโปรตุเกสได้อย่างกว้างขวาง ชัดเจน และลึกซึ้งยิ่งขึ้น”

 

ท่านทูตเล่าถึงความสำเร็จในการดำเนินงานของศูนย์วัฒนธรรมโปรตุเกสในประเทศไทย

“ศูนย์วัฒนธรรมฯ ประสบความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือกับสถาบันในกรุงเทพฯ เช่น มูลนิธิเพื่อนศิลปะ (FOTAF : Friends of the Art Foundation), แกลเลอรีที่ใช้ศิลปะสะท้อนภาวะสังคม (WTF Gallery), ร้านหนังสือ บุ๊คโมบี้ (Bookmoby), ร้านหนังสือไลบรารี่ เฮ้าส์ (Library House) เป็นต้น เป็นการเชื่อมโยงศิลปินและนักเขียนทั้งชาวไทยและชาวโปรตุเกส”

“นอกจากนี้ ทางศูนย์ยังได้จัดกิจกรรมที่กรุงเทพฯ ร่วมกับเหล่านักเต้น (Olga Roriz, Companhia de Dança Contemporânea de Évora), นักดนตรี (Rodrigo Leão) และศิลปิน (Vhils) ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลก”

การแสดงคอนเสิร์ตRodrigo Leão

“ศูนย์วัฒนธรรมโปรตุเกสยังเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง Eunic Thailand Cluster ซึ่งเป็นสาขาของสหภาพยุโรปที่รวมศูนย์วัฒนธรรมและสถานทูตของยุโรปในท้องถิ่นเข้าด้วยกัน ได้ร่วมกันพัฒนาโครงการต่างๆ เช่น ที่พำนักทางศิลปะสำหรับนักศึกษาด้านการออกแบบและการถ่ายภาพชาวไทยและชาวยุโรป”

 

ประวัติความเป็นมาของศูนย์วัฒนธรรมโปรตุเกส

ศูนย์วัฒนธรรมโปรตุเกสก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1993 แต่เดิมอยู่ภายในทำเนียบเอกอัครราชทูต แต่ได้ย้ายมายังอาคารสำนักงานที่บูรณะใหม่เมื่อปี ค.ศ.2004 ปัจจุบัน คือสถานทูตโปรตุเกส

สถานทูตโปรตุเกสถือว่าเป็นที่ทำการสถานทูตที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย โดยเมื่อปี ค.ศ.1820 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระราชทานที่ดินแก่ประเทศโปรตุเกส เพื่อให้ก่อตั้งโรงงานและเป็นที่พำนักของคาร์ลอส มานูแอล ซิลเวียรา (Carlos Manuel Silviera) กงสุลโปรตุเกสประจำประเทศไทยคนแรก

ศูนย์วัฒนธรรมโปรตุเกสมีพันธกิจหลักในการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรมโปรตุเกสในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นความร่วมมือและจัดกิจกรรมอันเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม

 

การรวมตัวของ Eunic Thailand Cluster

เป็นความร่วมมือในการก่อตั้งเครือข่ายทางวัฒนธรรมที่มีจุดประสงค์ในการส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรม และการใช้ภาษาของยุโรป รวมไปถึงการสนทนา และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป การรวมตัวนี้มีชื่อว่า EUNIC Thailand (European Union National Institutes of Culture Thailand) ก่อตั้งขึ้นโดยองค์กรส่งเสริมความสัมพันธ์ทางด้านภาษาและวัฒนธรรมของประเทศสมาชิก ได้แก่ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ สถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย บริติช เคาน์ซิล สถาบันเกอเธ่ ศูนย์วัฒนธรรมโปรตุเกส สถานทูตอิตาลี และสถานทูตสเปน โดยความสนับสนุนจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

เทศกาลภาพยนตร์สหภาพยุโรปกลางแจ้ง

โดยองค์กรสมาชิกเหล่านี้จะยังคงจัดกิจกรรมต่างๆ ของตนเองขึ้น และจะร่วมกันจัดกิจกรรมภายใต้ EUNIC Thailand ซึ่งมีประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ และสหภาพยุโรปให้การสนับสนุนด้านเงินทุน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความหลากหลายของวัฒนธรรมยุโรป สร้างเสริมบรรยากาศเพื่อการแลกเปลี่ยนระหว่างวัฒนธรรม และความร่วมมือระหว่างยุโรปกับประเทศไทย

EUNIC Thailand เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายที่เรียกว่า ‘EUNIC clusters’ ในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ EUNIC ได้ถูกก่อตั้งขึ้นแล้วในประเทศฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ส่วนตำแหน่งประธาน EUNIC Thailand จะเวียนไประหว่างชาติสมาชิก

 

เพราะหนังสือเป็นประดุจ “ทูตทางวัฒนธรรม”

“ผมอยากให้คนไทยได้เข้าใจประเทศของเรา ประชาชนของเรา และวิธีคิดของเรา วิธีที่ดีที่สุดโดยผ่านวรรณคดีสากล จึงขอแนะนำวรรณกรรมแปลเล่มใหม่ล่าสุดเรื่อง บอด (Blindness) และ The History of the Siege of Lisbon ทั้งสองเล่มนี้ ประพันธ์โดย โฮเซ่ ซารามาโก (José Saramago) ชาวโปรตุเกส ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม”

งานแนะนำหนังสือเรื่อง บอด – Blindness by José Saramago

“รวมทั้งหนังสือเรื่อง เหตุเกิดที่กัลไวอัช (Galveias) โดย โจเซ ลูอิส เปโชตู (José Luís Peixoto) และหนังสือเรื่อง หนังสือที่กลืนกินคุณพ่อของผม (The Books that Devoured my Father) โดยอาฟองโซ ครูซ (Afonso Cruz)”

“หนังสือที่กล่าวมา ฉบับแปลภาษาไทย สามารถหาได้ที่ร้านหนังสือในประเทศไทย และอาจเป็นก้าวแรกของคนไทยในการเดินทางไปโปรตุเกสผ่านตัวอักษร”

 

การวางแผนงานร่วมกับประเทศไทยเมื่อวิกฤตโรคระบาดผ่านพ้นไป

“ผมหวังว่าเราจะได้ดำเนินกิจกรรมทางวัฒนธรรมของเราต่อไป ซึ่งได้แก่ การแสดงดนตรีคลาสสิค นิทรรศการภาพถ่าย ศิลปะการแสดงต่างๆ เช่น การเต้น ทัวร์แบบมีไกด์พาไปยังสถานที่สำคัญที่เป็นมรดกของโปรตุเกสในประเทศไทย การอ่านหนังสือโปรตุเกส และอื่นๆ”

“สำหรับการลงทุนเพื่อส่งเสริมภาษาของเรานั้น จะดำเนินต่อไปเพื่อดึงดูดคนหนุ่มสาวให้มาเรียนภาษาโปรตุเกสกันมากขึ้น และตอนนี้เราได้เปิด Instagram สำหรับบ้านโปรตุเกส (Baan Portugal) แล้ว ซึ่งจะช่วยให้เราได้เพิ่มความใกล้ชิดกับคนรุ่นใหม่”

“ในขณะเดียวกันก็ทำให้ทุกคนได้รับข้อมูลสำคัญและข้อเท็จจริง เกี่ยวกับโปรตุเกส”

นายจูอาว บีอร์นาร์ดู ไวน์สไตน์ (João Bernardo Weinstein) เอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย

ความประทับใจของท่านทูตอารมณ์ดี

“โดยปกติ ผมเป็นคนชอบการติดต่อสื่อสารอยู่แล้ว เมื่อได้มาพบกับความเป็นมิตรและอัธยาศัยไมตรีที่ไม่มีความก้าวร้าวของคนไทย ซึ่งหาได้ยาก แม้ว่าบางคนอาจจะไม่พูดภาษาอังกฤษ แต่ก็ส่งยิ้มเป็นการแสดงปฏิกิริยาที่ดีตอบ และคนไทยก็จะพยายามให้ความช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ ผมชื่นชมมาก”

“ผมมีความสุขเมื่อได้พบปะผู้คน ชอบมองให้ไกล เพื่อเข้าใจโลก เข้าใจคน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพียงแค่เปิดใจ ก็ทำให้มุมมองของเรากว้างขึ้นแล้ว” ท่านทูตไวน์สไตน์ยิ้มและกล่าวเสริมในตอนท้าย

“โปรดอย่าลืมว่า เราเป็นเพื่อนกันมาเกือบหกร้อยปีแล้ว จึงควรพยายามเรียนรู้วัฒนธรรมของกันและกัน ชาวโปรตุเกสจะยินดีเป็นอย่างยิ่งหากได้มีโอกาสต้อนรับเพื่อนเก่าชาวสยาม ในดินแดนแห่งมรดกโลก ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม อันสวยงามของเรา”