‘หนุ่มเมืองจันท์’ เล่าเรื่องทางของ ‘ตูน’

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์ / www.facebook.com/boycitychanFC

 

ทางของ ‘ตูน’

 

เห็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ “ตูน บอดี้สแลม” ช่วงที่ผ่านมาแล้ว

สงสาร “ตูน”

แต่ก็เข้าใจคนที่เรียกร้องให้เขาออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง หรือรณรงค์ช่วยเพื่อนในวงการดนตรี

ในมุมของผม ไม่มีใครผิด

ถ้าเราเชื่อใน “ความแตกต่าง”

ยอมรับว่าคนเราไม่เหมือนกัน

ทุกคนมี “ทาง” ของตัวเอง

เรื่องนี้ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก

ผมนึกถึงสมัยทำกิจกรรมนักศึกษา นักกิจกรรมทุกคนคิดถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ปัญหาบ้านเมือง

เพื่อนกลุ่มหนึ่งเชื่อในแนวทางเคลื่อนไหว ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สู้เรื่องโครงสร้าง ความไม่เป็นธรรมต่างๆ

แต่อีกกลุ่มหนึ่ง คิดแบบเล็กๆ

เชื่อว่าถ้าทุกคนช่วยจุดไฟดวงเล็กๆ แก้ปัญหาที่มีในสังคมไทย

ไฟเล็กๆ รวมกันจะทำให้ประเทศสว่างไสวขึ้นมา

ไม่ต้องเป็น “สปอตไลต์” เหมือนกลุ่มแรก

แล้วเขาก็ไปช่วยสอนหนังสือในสลัม หรือหมู่บ้านชาวเขา และอื่นๆ อีกมากมาย

ผมอยู่ในกลุ่มแรก

แต่ก็มีเพื่อนแบบที่สอง

เรายังคงเป็นเพื่อนกัน

เถียงกันบ้าง

แต่ก็เคารพในความคิดที่แตกต่างกัน

เพราะเชื่อว่าโลกนี้ไม่ได้มีทางเดียวให้เดิน

 

จําได้ว่าตอนที่ “ตูน” คิดโครงการ “ก้าวคนละก้าว” วิ่งจาก กทม.ไปบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่บางสะพานต้องการเงินบริจาค 5 ล้านบาท ซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์

ผมยังบอกเขาเลยว่าเงินจำนวนเท่านี้ แค่ “ตูน” จัดคอนเสิร์ตการกุศลก็น่าจะได้แล้ว

ง่ายกว่าตั้งเยอะ

แต่เขาไม่ทำ

เขาเลือกทางที่ “ยาก” คือการวิ่ง 400 ก.ม.

เป้าหมายมีอยู่ 2 อย่าง

เรื่องแรก คือ ต้องการใช้เวลา 10 วันบอกเล่าเรื่องการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ทุกคนได้รับรู้

เป็นวิธีคิดของเขา

ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งก็บอกว่าทำแบบนี้ไม่ได้แก้ปัญหาที่โครงสร้าง

รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาลมากขึ้น

ไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนที่บริจาค

เรื่องที่สอง เขาต้องการรณรงค์ให้คนมาออกกำลังกาย

เพราะถ้าร่างกายแข็งแรง จะป่วยยาก

ลดภาระของคุณหมอ พยาบาลและการใช้อุปกรณ์การแพทย์

เรื่องนี้ได้ผลมาก

หลังจากกิจกรรมนี้เป็นต้นมา คนไทยออกกำลังกายด้วยการวิ่งมากขึ้น

“รองเท้าวิ่ง” ขายดีมาก

ส่วนเรื่องแรก ที่ “ตูน” ต้องการพูดเสียงดังๆ ให้คนได้ยิน

สำเร็จเช่นกัน

คนในสังคมรับรู้ปัญหาเรื่องนี้มากขึ้น

แต่รัฐบาลไม่ได้ยินเหมือนเดิม

“ตูน” เคยเล่าบนเวทีถึงสิ่งที่เขาได้พบเจอจากการกลับไปที่โรงพยาบาลบางสะพาน

เขาเจอเด็กผู้หญิงที่ไม่ต้องตัดขา เพราะเครื่องมือใหม่ที่ได้จากการบริจาคของประชาชน

เด็กที่คลอดก่อนกำหนดได้เข้า “ตู้อบ” แบบเต็มเวลา

ไม่ต้องรีบเอาออก เพราะมีเด็กอื่นรอคิวอยู่

ยิ่งฟัง-ยิ่งได้เห็น เขายิ่งรู้สึกว่าต้องทำอีก

ยังมีความต้องการมากมายรออยู่

ถ้าเป็นผม ผมจะใช้พลังของความเป็นคนดัง และมีคนจำนวนมากสนับสนุน เรียกร้องรัฐบาลให้จัดสรรงบประมาณมาซื้ออุปกรณ์การแพทย์มากขึ้น

เสียงของ “ตูน” น่าจะมีพลังเพียงพอ

แต่มันไม่ใช่ทางของ “ตูน”

เขาเลือกทางที่เหนื่อยกว่า คือ การวิ่งจากใต้สุดไปเหนือสุดของประเทศ

2,191 กิโลเมตร

หาเงินซื้ออุปกรณ์การแพทย์ไปทั่วประเทศ

 

การวิ่งครั้งนั้น กระแสแรงมาก

รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนอย่างเต็มที่ ส่งทหารมาร่วมวิ่งด้วยในช่วง 3 จังหวัดชายแดนใต้

หรืออำนวยความสะดวกทุกอย่าง

ในมุมการเมือง คนส่วนหนึ่งมองว่ารัฐบาลต้องการอิงกระแส “ตูน”

ผมเคยคุยกับทีมงานของเขา ทุกคนมองออกและพยายามระมัดระวังเต็มที่

คืนสุดท้ายหรือใกล้ๆ วันสุดท้าย มีการส่งนายทหารนายหนึ่งไปหา “ตูน” ที่รถนอนของเขา

ตามปกติ นายทหารจะต้องมีทหารติดตามมาคอยถ่ายรูปเพื่อประชาสัมพันธ์

เขาแจ้งทีมงานของ “ตูน”

ทีมงานก็ให้ขึ้นรถไป แต่ให้ขึ้นได้คนเดียว

ช่างภาพไม่ให้ขึ้น

อ้างว่ารถแคบ

นายทหารคนนั้นมาแจ้งว่านายกฯ ได้สั่งให้กองทัพบกเตรียมเครื่องบินพา “ตูน” และทีมงานกลับ กทม.

และรถรับ-ส่ง นำขบวนอย่างยิ่งใหญ่

พอนึกภาพออกใช่ไหมครับว่า ภาพหลังจากลงเครื่องที่สนามบินจะเป็นอย่างไร

ถ้าเป็นคุณ คุณจะทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาล

และหากปฏิเสธ จะให้เหตุผลอย่างไรที่นายกฯ โกรธไม่ลง

น้องเล่าว่า “ตูน” แจ้งกับนายทหารท่านนั้นแบบนุ่มนวลว่าเขาอยากกลับ กทม.ด้วยรถตู้

อยากสัมผัสบรรยากาศตลอดเส้นทางที่เขาวิ่งมาอีกครั้ง

เพราะตอนวิ่งมันเหนื่อยและคนเยอะ

เห็นไม่ชัด

เป็นเหตุผลแบบ “ติสต์-ติสต์” ที่ยากจะเถียง

ถ้าจำได้ว่าหลังจากจบการวิ่งที่แม่สาย เชียงราย

“ตูน” เดินทางกลับด้วยรถตู้อย่างเงียบๆ

ไม่มีใครรู้ว่าพักที่ไหน ถึง กทม.เมื่อไร

เขาหายไปกับสายลมทันที

นั่นคือ ทางของ “ตูน”

 

ผมเคยสัมภาษณ์ “ตูน” บนเวทีงานหนังสือที่เชียงใหม่เปิดตัวหนังสือ “เล่มที่ก้าว” ของเขา

มีตอนหนึ่งในหนังสือ “ตูน” เขียนว่าอยากให้คนตัวเล็กๆ ได้รู้ถึงพลังเล็กๆ ของตัวเอง

ผมถามเขาว่าวันนี้อยากฝากอะไรให้กับคนตัวเล็กๆ ทุกคนบ้าง

“ตูน” ตอบผมด้วยการเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟัง

วันหนึ่งเขาไปเดินร้านหนังสือ มีน้องคนหนึ่งมาขอถ่ายรูปแล้วบอกว่าเขากำลังเรียนครูอยู่

น้องคนนี้ขอบคุณ “ตูน” ที่ทำโครงการนี้ขึ้นมา

“ผมสัญญาว่าถ้าเรียนจบ ผมจะเป็นครูที่ดี จะทำเพื่อคนอื่น และจะสอนนักเรียนให้ทำแบบนี้”

“ตูน” บอกว่า เขาไม่เคยคิดว่าจะมีใครมาทักเขาแบบนี้

“มันเป็นกำลังใจที่ดีมาก”

เขามีความสุขกับเรื่องแบบนี้

ตอนช่วงโควิด น้องในทีมงานเล่าว่ามีคนขอความช่วยเหลือจาก “ตูน” และ “ก้อย” เยอะมาก

เป็นเงินหลายล้านบาท

ทุกครั้งที่มีคนขอความช่วยเหลือ เขาไม่เคยปฏิเสธเลย

บริจาคเงียบๆ ทำเงียบๆ

เพราะนั่นคือ ทางที่เขาเลือก

เป็นทางที่อาจแตกต่างจากความรู้สึกของคนหลายคน

แต่ “โลกนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว”

หนังสือเล่มนี้ดีมากครับ