ใต้ปีกวรรณกรรม และความทรงจำแบบ ‘being there’/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

ใต้ปีกวรรณกรรม

และความทรงจำแบบ ‘being there’

 

เจียความจริงที่เราพบว่า นักวิจัยชาวญี่ปุ่นต่างหากที่ทำให้เราเข้าถึงวรรณกรรมกัมพูชาร่วมสมัย

ไม่ใช่ทั้งชาวเขมร และฝรั่งเศสนั่นปะไร

เขามีชื่อว่า ดร.โทโมโกะ โอคาดะ ซึ่งมันก็นานมากแล้วล่ะ

จากนั้นมา บทความชิ้นนี้ ก็ช่วยต่อยอดนักศึกษาวรรณคดีและงานวิจัยอื่นๆ ซึ่งจะเป็นจากสำนักวิจัยแห่งชาติฝรั่งเศส (โดยนักวิจัยเขมร) หรืออาจารย์วรรณคดีต่างประเทศ ณ มหาวิทยาลัยกรุงพนมเปญก็ดี

ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสืบค้นผลงานเหล่านี้

มันทำให้ฉันคิดถึงบรรยากาศสมัยเรียนของตนกับการพบ “ฟอสซิล” ชิ้นพิเศษในวรรณกรรมต่างประเทศบางชิ้นที่แปลโดยอาจารย์นักแปลที่เราไม่เคยเห็นตัวตนอย่าง มโนภาษ เนาวรังษี โดยเฉพาะ “being there” หรือ “ที่เห็นและเป็นอยู่” ที่เขียนโดย Jerzy Kosinski (2524)

ต้องขอบคุณอาจารย์สมบัติ เครือทอง ผู้จุดประกายคบเพลิงเล็กๆ ณ ตอนนั้น ขณะที่เราเริ่มสนใจวรรณกรรมแต่ก็ทิ้งภาษาฝรั่งเศสนี่เสียแล้ว

cr : google/twitter

อย่างไรก็ตาม เราไม่ทราบเลยว่ามันส่งผลต่อจิตใจอันตามมาในวันหนึ่งที่การตั้งประเด็นตามหานักเขียนที่หายไปในเขมรจะเชื่อมโยงกับชีวิตและงานอันลึกเร้นของมโนภาษ เนาวรังษี ที่มีต่อเรานั้น โดยเฉพาะการชีวิตอย่างกะทันหันและ “ความไม่มีแก่นสารของชีวิต” ในลัทธิอัตถิภาวนิยม (existentialism) ของอัลแบร์ การ์มูส์ หรือแบบโคซินสกี้

ไม่ต่างจากชีวิตของมโนภาษ เนาวรังษี นักเขียนเขมรกลุ่มนี้ก็เช่นกัน พวกเขาก็ล้วนแต่เป็น “ตนเอง” และ “คนอื่น” ซึ่งเฝ้ามองเข้าไปใน “ตน” และ “คนนอก” เช่นนั้น

น่าแปลกว่าที่ยุคเดียวร่วมสมัยของนักเขียนและนักแปลเขมรไทยและยุโรปกลุ่มนี้ ต่างร่องรอยของความถวิลหา ไม่ว่า “การเสียชีวิตและจากไปอย่างฉับพลัน”

หรือมิฉะนั้นก็หลงอยู่ในโลกในแบบ “ที่เห็นและเป็นอยู่” แห่งการตกหล่น-สูญหายและไม่อาจจัดหมวดหมู่ได้กระมัง?

เพราะจนถึงวันนี้ นับแต่วันที่โทโมโกะ โอกาดะ ได้ค้นพบนักเขียนกลุ่มนี้ ดู Okada, Tomoko: Modern Short Stories-people’s experiences and memories recorded by novelists, สิกขาจักรฉบับ 3 (2003) ทั้งฆุน สรุน, เมา สำนาง, ซุน สุทธาวี และโสธ โปลิน (สุทธิ์ โปลิน) ก็ยังคงเป็นเพียงฟอสซิลที่ถูกลืมและปลิดปลิวไปกับยุคถ่ายผ่านที่สั้นมากของตน

มันยังเหือดแห้งและจางหายและทำให้ “being there-ที่เห็นและเป็นอยู่” ฉบับมโนภาษ เนาวรังษี เป็นของดีที่ไม่เคยหายไปในความคิด

cr : amazon

โสธ โปลิน (1943) อดีตกลุ่มคนหนุ่ม-นักหนังสือพิมพ์ยุค “เกาะสันติเพียบ” “นครทม” และ “เขมรเอกเรียช” ซึ่งทั้ง 3 หัวฉบับโด่งดังแถวหน้าสังคมกัมพูชาเวลานั้น ปัจจุบันเหลือแต่ “เกาะสันติเพียบ” ที่เป็นแค่กระบอกเสียงของรัฐอำนาจ หาใช่สื่อเพื่อสังคมก้าวหน้าอีกต่อไป

ทว่ายุคสมัยของโปลินและพวกที่เคยรุ่งรางด้วยความตื่นตัวการเมืองของชาวกัมพูชา ที่แน่ล่ะพวกเขามักถูกกองเซ็นเซอร์ของประมุขแห่งรัฐหรือกษัตริย์สีหนุเล่นงาน แต่เฉพาะโสธ โปลิน ที่เป็นหลานคนดังนักธุรกิจหนังสือพิมพ์ ซึ่งแม้จะอยู่ในห้วงที่ฝ่ายประชาธิปไตยถูกคุกคาม แต่ในแง่ชีวิตส่วนตัวแล้ว โสธ โปลิน ดูจะไม่ต้องต่อสู้อะไรนัก สำหรับเครือข่ายหนังสือพิมพ์ที่ส่งเสริมงานเขียนตน

ตั้งแต่สำเร็จการศึกษาปรัชญาและวรรณกรรมฝรั่งเศส โสธ โปลิน ก็เริ่มต้นเขียนนิยายและตีพิมพ์โดยทันทีจากสำนักพิมพ์ที่น้าชายของตนร่วมทุนด้วยผลงาน “ชีวิตที่ไร้แก่นสาร” (2507/1964) กลับขายดี ส่งให้โสธ โปลิน การเขียนนิยายและบทความหนังสือพิมพ์เป็นอาชีพ และงานเขียนแนวอัตถิภาวนิยมโดยฌ็อง ปอล ซาร์ต ที่เขาหลงใหลในขนบแบบ “ตนเองและผู้อื่น”

หรือ “การมีอยู่และความว่างเปล่า” และนี่คืองานเขียนวรรณกรรมสมัยใหม่ที่แหวกไปจากงานเขียนแนวจารีตดั้งเดิมของกัมพูชาของทศวรรษที่ ’60

อย่างไรก็ตาม อาจจะมีน้อยมากสำหรับคนที่เพิ่งจบการศึกษาและยึดอาชีพนักเขียน โดยสมัยที่เขายังเรียนหนังสือนั้น อาจารย์ปรัชญาหัวแถวคนหนึ่งที่เขาชื่นชมมีชื่อว่าสลอต ซอ (Slot Sar)

ซึ่งต่อมาร่วมสิบปีโปลินจึงทราบภายหลังว่า อาจารย์ซอ (ขาว) ผู้นั้นคือเดียวกับพล พต

cr : ยูทิวบ์

ย้อนไปในสิ่งที่ทำให้โสธ โปลิน หัวใจสลายและสูญสิ้นอุดมการณ์และความเชื่อมั่นใดๆ ต่อสังคมเขมรอีกต่อไป นั่นคือ การที่ ตัจ เพื่อนรักและรัฐมนตรีหนุ่มแห่งกระทรวงธรรมการถูกลอบสังหารในการประท้วงของนักศึกษาที่จังหวัดกำปงจาม

ทั้งตัจและโปลินคือคนหนุ่มกลุ่มเสรีนิยมใหม่ที่ร่วมกันโค่นล้มระบอบสีหนุราช (1970) กระทั่งตัจที่เพิ่งจะสามสิบปีได้ร่วมรัฐบาลลอน นอล และเป็นรัฐมนตรี การตายของตัจทำให้โปลินรู้สึกโดดเดี่ยวและไม่อาจอยู่ต่อพนมเปญได้อีก เขาไปฝรั่งเศสราวปี 1974 และใช้ชีวิตไปกับการขับแท็กซี่และชีวิตที่หมดไปกับความไร้แก่นสาร

ก่อนเขาบินไปฝรั่งเศสนั้น โสธ โปลิน มีรวมเรื่องสั้นชุดหนึ่งซี่งทั้ง 4 เรื่อง บ่งถึงความแปลกแยกของตัวละคร ข้อจำกัดในการ “สื่อสาร” และโลกอุดมคติที่มีแต่ความโดดเดี่ยวเป็นผลลัพธ์ และทั้งหมดตัวแทนชนชั้นกลางชาวพนมเปญที่พยายามปลดแอกตัวเองออกจากพันธนาการ ทั้ง “สั่งมา-ข้าทำ” และอีก 3 เรื่องคือผลงานที่แปลกใหม่ที่ต่างจากงานเขียนแนวจารีตแบบเขมรที่ผ่านมา

เห็นได้ว่า สังคมเขมรสมัยนั้น ความปัจเจกนิยมก้าวหน้าได้ถือกำเนิดขึ้นราวทศวรรษ ’50-’60 กระแสเสรีนิยมใหม่และพลังตื่นตัวของหนุ่มสาวดูเปิดกว้างและโถมใส่ราว 10 ปีเท่านั้นที่วรรณกรรมสัจนิยมของกัมพูชาถูกปลุกขึ้นมาอย่างฉับพลัน และโสธ โปลิน โชคดีกว่าใครหมดในยุคนั้น

แม้ต่อมาเขาจะผิดหวังและออกไปค้นหาตัวเองทั้งฝรั่งเศสและอเมริกาและชีวิตหลังจากนั้น ที่พลังงานเขียนนวนิยายไม่อาจกลับมาได้อีก โดยเฉพาะชีวิตใหม่ในสหรัฐที่ทำให้เขาแทบจะไม่สร้างงานใหม่ๆ ที่น่าสนใจและในที่สุดก็ “เป็นอื่น”

มันทำให้ฉันสงสัยว่า อะไรที่ทำให้นักเขียนเขมรสูญเสียเป้าหมายเมื่อย้ายไปอยู่อเมริกา?

ใช่แต่โสธ โปลิน เท่านั้น ดังที่กล่าวไว้บางตอนของอัญเจียแขฺมร์ว่า ยังมี นักเขียนหนุ่มยุคสหัสวรรษ (2000) ไม่อาจกลับมาสร้างงานวรรณกรรมที่ก้าวหน้าได้อีก

หรือมันเป็นความผิดของ “คอมฟอร์ดโซน?”

ที่แม้แต่โสธ โปลิน ที่เคยมีเครดิตกับสำนักพิมพ์ในปารีส ก็ไม่อาจสร้างงานมิติใหม่ๆ เมื่อเทียบกับกลุ่มอดีตประเทศอินโดจีนเดียวกัน

cr : Mekong Review

อ้างว่า วรรณกรรมสมัยใหม่กัมพูชาถือกำเนิดปลายอาณานิคมฝรั่งเศสในต้นทศวรรษที่30 และยังผลให้การอ่านงานเขียนแบบตะวันตกได้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวางในกลางทศวรรษที่ ’40 ที่ประเทศนี้มีหนังสือพิมพ์ภาษาถิ่นฉบับแรกเป็นของตน

“ที่เห็นและเป็นอยู่” เพียงไม่กี่ปีของการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากในทางการเมืองก็ส่งผลต่อผู้คนอย่างเห็นได้ในงานเขียนที่กระเซ็นกระสายและถูกทำลายจากอำนาจรัฐ ตั้งแต่ยุคอดีตกษัตริย์สีหนุ, ลอน นอล, พล พต หรือแม้แต่ฮุน เซน แห่งยุคนี้

เช่นเดียวกับลัทธิในอดีตแบบฌ็อง ป็อง ซาร์ต ที่โสธ โปลิน เคยหลงใหล และนวนิยาย “ชีวิตที่ไร้แก่นสาร” ของเขาที่กลายเป็นเรื่องเล่าของประวัติวรรณกรรมแห่งความโดดเดี่ยวและชีวิตท่ามกลางคนแปลกหน้าที่ไม่อาจเข้าถึง “ตัวตน” และความ “เป็นอื่น” ซึ่งดับหายไปกับพรสวรรค์ของเขา

แด่ใต้ปีกของเวลา

ใน ‘ความเป็นอื่น’ ของ ‘โสธ โปลิน’ และ ‘มโนภาษ เนาวรังษี’

โปลินที่สหรัฐตอนใต้ ราว 2561 (cr : Wikipedia)