ตำนาน วัดอุโมงค์ ที่หลายคนไม่เคยทราบ | ล้านนาคำเมือง

ปากทางเข้าอุโมงค์ที่วัด (ภาพเก่า)

 

ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “วัดอุโมงค์”

วัดอุโมงค์ (เวฬุกัฏฐาราม) หรือสวนพุทธธรรม เป็นวัดเก่าแก่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยภูมิทัศน์ที่แตกต่างจากวัดโดยทั่วไป

กล่าวคือ วัดอุโมงค์มีเจดีย์ทรงลังกาประดิษฐานอยู่บนเนินสูง และภายใต้เจดีย์ มีอุโมงค์ 4 ทิศ สามารถเดินเข้าออกได้ทั่วถึง ฝาผนังได้เจาะเป็นช่องเพื่อจุดประทีปให้แสงสว่าง สะดวกแก่พระสงฆ์ในการเดินจงกรมและภาวนา

และเพดานด้านบนอุโมงค์ ได้เขียนภาพสีน้ำมันไว้ตลอดความยาวอุโมงค์ เป็นภาพนกสลับลายดอกโบตั๋นและดอกบัวสลับลายเมฆ ซึ่งปัจจุบันได้ลบเลือนไปตามกาลเวลา

ความร่มรื่นและความชื้นในอากาศ ทำให้เกิดมอสสีเขียวเข้มบนพื้นผิวด้านหน้าอุโมงค์ทำให้เกิดความสวยงาม ผู้พบเห็นเกิดความสงบ ร่มเย็น

สมกับที่ได้เข้ามาอยู่ในบริเวณพุทธศาสนสถาน

 

ประวัติของวัดอุโมงค์มีว่า ในปี พ.ศ.1839 ยุคปฐมกษัตริย์ล้านนาคือพญามังราย ได้สร้างวัดเวฬุกัฏฐาราม หรือวัดไผ่ 11 กอ บนพื้นที่ปัจจุบัน เพื่อให้เป็นที่พำนักของคณะสงฆ์ที่นิมนต์มาจากลังกา

จวบจนถึงปี พ.ศ.1910 สมัยของพระเจ้ากือนาธรรมิกราช พระองค์ได้บูรณะวัดขึ้นใหม่ และได้สร้างอุโมงค์ดังกล่าวขึ้น ด้วยความศรัทธาในพระมหาเถรจันทร์ ซึ่งเป็นผู้แตกฉานพระไตรปิฎก มีความรู้ในภาษามคธ และมีปฏิภาณโต้ตอบปัญหาเป็นเยี่ยม

แต่พระมหาเถรจันทร์ชอบจาริกอยู่ตามป่า ไม่มีที่อยู่แน่นอน พระเจ้ากือนาฯ จึงจัดสร้างอุโมงค์ใหญ่ขึ้นที่ด้านเหนือฐานพระเจดีย์ และนิมนต์ท่านมาอยู่ เพื่อความสะดวก เมื่อเวลาต้องการโต้ตอบปัญหาและศึกษาธรรม

ผู้คนจึงเรียกชื่อวัดนี้อีกชื่อว่าวัดอุโมงค์เถรจันทร์มาจนถึงปัจจุบัน

ในบริเวณด้านหน้าทางเข้าอุโมงค์ มีรูปหล่อหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เนื่องด้วยในช่วงหลังที่วัดอุโมงค์ขาดการทะนุบำรุง อุบาสกเชื้อสายเจ้านายชื่อเจ้าชื่น สิโรรสได้เข้ามาแผ้วถางบูรณะ และท่านมีความศรัทธาในองค์ท่านพุทธทาสแห่งสวนโมกข์ จึงได้กราบอาราธนานิมนต์ท่านพุทธทาสมายังเชียงใหม่ แต่ท่านพุทธทาสมีกิจมากมายที่สวนโมกข์ จึงได้ส่งท่านปัญญานันทะมาแทน

หลังจากนั้นหลวงพ่อปัญญาฯ ก็ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาที่วัดอุโมงค์ สร้างความศรัทธาให้แก่ผู้คนในเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง

วัดอุโมงค์จึงได้จัดสร้างรูปหล่อหลวงพ่อปัญญาฯ ไว้ให้ประชาชนได้กราบสักการะ

นอกจากนี้ ยังมีส่วนสำคัญอื่นๆ อีกทำนองเดียวกับสวนพุทธธรรมของท่านพุทธทาส เช่น เสาหินอโศกจำลอง หลักศิลาจารึก พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง โรงภาพปริศนาธรรม หอสมุดธรรมโฆษณ์ พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติฯ อีกด้วย

ในส่วนของภาพจิตรกรรมบนเพดานในอุโมงค์นั้น นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ร่วมมือกันนำองค์ความรู้ที่มี ทั้งเคมี คณิตศาสตร์ วิศวกรรมโครงสร้าง สถาปัตยกรรม คอมพิวเตอร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี เพื่อทำให้ภาพจิตรกรรมที่รางเลือนกลับมาเป็นภาพอันสมบูรณ์สวยงาม ดังที่เคยปรากฏเมื่อ 500 กว่าปีก่อนอีกครั้ง

ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมได้ที่วัดอุโมงค์เชิงดอยสุเทพ หรือสามารถเยี่ยมชมในเว็บไซต์ “โครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์” ได้

ปากตางเข้าอุโมงค์ตี้วัด

แปลว่า ปากทางเข้าอุโมงค์ที่วัด