ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ สมาชิกคณะราษฎร : ผู้เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าชนชั้น/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ สมาชิกคณะราษฎร

: ผู้เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าชนชั้น

 

“ไม่กลัว กลัวแล้วไม่ทำ”

ม.ล.อุดม สนิทวงศ์

 

ในวาระเดือนมิถุนายน…ยังมีเรื่องราวหลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับคณะราษฎรที่น่ารู้

จึงขอนำเสนอเพื่อเกียรติคุณแด่คณะราษฎร ผู้บุกเบิกนำประชาธิปไตยให้สังคมไทย คือ ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ (2443-2525)

เขาเป็นบุตรของ ม.ร.ว.สท้าน สนิทวงศ์ เสนาบดีผู้เกรียงไกรและมั่งคั่ง ผู้ปฏิเสธความสุขแห่งชนชั้นตน ผู้ถูกพ่อไล่ออกจากบ้านเมื่อปฏิวัติสำเร็จ ผู้ไม่เคยเสียใจในการกระทำ แม้นถามตอนแก่ชราแล้ว เขาก็ยังบอกว่า ต้องทำ

คณะราษฎรประกอบไปด้วยคนหลายชนชั้น ตั้งแต่พระราชวงศ์ ปัญญาชน นักวิทยาศาสตร์ นักกฎหมาย เภสัชกร วิศวกร ข้าราชการ ทหาร พ่อค้า ชาวนา มิใช่คนหยิบมือเดียว หรือเป็นพวกคนชั้นกลางช่างริษยา แต่ที่พวกเขาตัดสินใจปฏิวัติเพราะพวกเขามีเหตุผล

ม.ล.อุดม สนิทวงศ์

ม.ล.อุดมเป็นบุตรชายของเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (ม.ร.ว.สท้าน) อดีตเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงคมนาคม ในระบอบเก่า ทรงเป็นพระอัยกาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับท่านผู้หญิงวงษานุประพัทธ์ (ตาด สิงหเสนี)

ต่อมา พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงเยาวภาพงศ์สนิท ทรงขอมาอุปภาระ เข้าศึกษาที่โรงเรียนราชกุมาร ในพระบรมมหาราชวัง เทพศิรินทร์และราชวิทยาลัยแล้ว ต่อมา ไปศึกษาต่อที่เยอรมนี

ดังนั้น เขาเติบโตภายใต้การฟูมฟักของสังคมเจ้านาย

ระหว่างที่เขาศึกษาในเยอรมนี ช่วงเวลานั้น ไทยประกาศสงครามกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาถูกจับเป็นเชลยศึก ถูกขังร่วมกับกลุ่มนักเรียนไทย เช่น ดร.ประจวบ บุนนาค ดร.ตั้ว ลพานุกรม-ผู้เป็นสมาชิกคณะราษฎรในเวลาต่อมา ที่ตำบลเซลเล ชะลอส (Celle-Schloss) เมืองแฮนโนเวอร์

ต่อมา เมื่อเขาถูกปลดปล่อย ความกล้าหาญและเสียสละ ด้วยวัยเพียง 18 ปีผลักดันให้เขาสมัครเป็นทหารอาสาไทยสังกัดฝ่ายสัมพันธมิตรในยุโรป ภายหลังสงครามสงบแล้ว เขาศึกษาต่อด้านวิศวกรรมเครื่องกลที่สวิตเซอร์แลนด์

และกลับไทยในปี 2473 เข้ารับราชการที่กรมรถไฟ

เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ และ ม.ล.อุดม ในวัยเยาว์

ด้วยเหตุที่เขาอยู่ในแวดวงราชสำนัก เขาจึงได้เห็นสภาพการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้เขาตัดสินใจเข้าร่วมการปฏิวัติ 2475 ว่า “เราก็มีความคิดกันบ้าง พวกเราที่ไปเรียนเมืองนอก ในหลวงรัชกาลที่ 6 ใช้จ่ายเงินเหลือเกิน ใครขอท่านให้หมด จนหมดกองพระคลัง บางทีต้องให้ขอยืมคนอื่นด้วยซ้ำ เราอยากเปลี่ยนแปลงการปกครองให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย” (อุดม, 2525)

แม้นในระหว่างศึกษาในยุโรป เขามีโอกาสพบเจอแกนนำคณะราษฎรหลายคน และมีการก่อตั้งคณะราษฎรขึ้นที่ปารีส แต่ไม่มีใครชวนเข้าร่วมปฏิวัติ เขาคาดว่า เนื่องจากเขาเป็นเชื้อพระวงศ์นั่นเอง

ต่อมาเมื่อเขากลับมาไทยทำงานที่กรมรถไฟในระยะหนึ่งแล้ว มีสมาชิกคณะราษฎรเข้ามาชักชวนเขาร่วมการปฏิวัติ ดังที่เขาเล่าว่า “พอกลับมาเมืองไทย คุณประยูร ภมรมนตรี, คุณทวี บุณยเกตุ เป็นคนมา approach ก่อน”

ภาพถ่ายหมู่เพื่อนร่วมตาย สมาชิกคณะราษฎสายพลเรือน นายปรีดี พนมยงค์ (นั่งกลาง) ม.ล.อุดม (ลูกศรชี้)

เขาเล่าต่ออีกว่า ต่อมา มี “หลวงประดิษฐ์ฯ หลวงสินสงครามชัย หลวงสุนทรเทพหัสดิน, ม.ล.กรี เดชาติวงศ์” มาชักชวนเขาเข้าร่วมคณะราษฎรเพื่อปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ในที่สุด เขาตัดสินในเข้าร่วมคณะราษฎร เพื่อรอวันเวลาที่เหมาะสม เขาเล่าว่า “แผนงานใหญ่ มีคนรู้กันไม่กี่คน” เมื่อถึงวันนั้น เขาเล่าถึงกลุ่มปฏิบัติการปฏิวัติในวันที่ 24 มิถุนายน ว่า มีการแบ่งกลุ่มปฏิบัติการกลุ่มละ 5-6 คน “แผนการเขาดี กระจายสายงานกันไป ต่างคนต่างมีหน้าที่”

ม.ล.อุดมเล่าว่า “กลุ่มเรามี 4 คน มีนายแช่ม มุสตาฟา (พรหมยงค์) นายบรรจง ศรีจรูญ, หลวงเดชาติวงศ์วราวัตร (ม.ล.กรี เดชาติวงศ์) และตัวผม มีหน้าที่ไปตัดคมนาคม สายโทรเลข อำเภอตลิ่งชันที่จะติดต่อไปยังหัวหิน”

จะเห็นได้ว่า แผนปฏิบัติการตัดการสื่อสารของระบอบเก่าโดยคณะราษฎรนั้น มีการกำหนดให้กลุ่มมีสมาชิกผู้เพียบพร้อมทั้งความรู้และความกล้าหาญร่วมปฏิบัติการด้วย

เขาเล่าถึงความมุ่งมั่นในการปฏิบัติการลับว่า “พวกเราหายตัวออกจากบ้านตั้งแต่วันที่ 22 ไปหลบที่บ้านนายทวี บุณยเกตุ ลงมือทำงานคืนวันที่ 23 เสร็จแล้วต่างคนต่างแยกย้ายกันไป ผมทำเสร็จแล้วก็กลับมา ไม่ได้หนีไปไหน เพราะอยากรู้ว่าผลเป็นอย่างไร”

เหล่าเพื่อนร่วมตายในการปฏิวัติ สมาชิกคณะราษฎรผู้เป็นมุสลิม (นั่งจากซ้าย) แช่ม พรหมยงค์ บรรจง ศรีจรูญ (ยืนจากซ้าย) และ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์

เขาเล่าความรู้สึกในการลงมือปฏิวัติว่า “ไม่กลัว กลัวแล้วไม่ทำ” เขาเล่าว่า การทำการใหญ่ขนาดนั้น เป็นเรื่องปกติหากสมาชิกบางคนมีความกลัว “มีพรรคพวกบางคน เช่น หลวงเดชาติวงศ์วรารัตน์ nerve กินป่วยไปหลายวัน นายควงทำเสร็จก็กบดานเงียบ ผมไปอยู่ที่พระที่นั่งอนันตฯ ซึ่งตอนนั้นถูกยึด หลวงศุภชลาศัยไปยื่น ultimatum กับในหลวงที่หัวหินก็ขาสั่นเหมือนกัน”

ภายหลังการปฏิวัติไทยเป็นประชาธิปไตยสำเร็จแล้ว ด้วยเหตุที่เขามาจากราชตระกูลที่เป็นชนชั้นปกครองของไทยแต่เดิม ส่งผลให้เขาผู้เป็นหม่อมหลวงได้รับผลกระทบจากพ่อ อดีตเสนาบดีในระบอบเก่า

เขาเล่าเสริมว่า “เราถูกไล่ออกจากบ้าน พ่อหาว่าเป็นกบฏ มีอยู่ 2 คนที่ถูกไล่ออกจากบ้าน มีผมกับไอ้เป้ (ดร.ประจวบ บุนนาค) เราเลยไปอยู่ตึกแถวชั้นเดียวหลัง Trocadero แล้วก็ย้ายไปอยู่บ้านรถไฟ ที่ไม่มีใครเขาอยู่ เพราะผีดุ แต่เราไม่กลัวผี ผีไม่มา”

นอกจากนี้ เขามีบทบาทช่วยรัฐบาลพิทักษ์ประชาธิปไตยจากกบฏบวรเดชด้วย

เขาเล่าว่า “ผมไปกับนายเล้ง ศรีสมวงศ์ หลวงสุนทรเทพหัสดิน ไปลงที่บ้านภาชี ได้รับประกาศเดินรถไฟ ก็รู้ว่า พวกพระองค์เจ้าบวรเดชกำลังมา และจะถึงกรุงเทพฯ ตอน 2 ยาม เขายึดหัวเมืองมาหมด ยึดโทรเลข เขาปล่อยรถคันสุดท้ายแล้วก็จะตามมา พอเรารู้ข่าวก็รีบกลับมา ระหว่างที่กลับมาก็สั่งสับหลีกขบวนรถ ทำให้เกิดการอลหม่านเพื่อจะได้มีเวลามาบอกในกรุงเทพฯ”

ต่อมาภายหลังการปฏิวัติ 2475 แล้ว เขาย้ายมาสังกัดกรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย ในช่วงสงครามโลก เขาโอนมาสังกัดกรมโลหกิจ กระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับหน้าที่ทางการเมืองนั้น เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คลังและคมนาคม อีกทั้งเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม และคมนาคมด้วย

ต่อมาภายหลังการรัฐประหาร 2490 เขาหลุดออกจากวงการเมือง และเข้าทำงานกับกลุ่มบริษัทปูนซิเมนต์ไทย และใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ จนอสัญกรรม

โรงแรมทรอคาเดโร ถนนสุริวงศ์ ที่เขาและ ดร.ประจวบ บุนนาค มาเช่าตึกแถวชั้นเดียวอยู่ ภายหลังถูกพ่อไล่ออกจากบ้าน กับภาพ ดร.ประจวบ มิตรคนสนิท

เขาเป็นนักอ่านที่จริงจัง และชอบอ่านงานลีโอ ตอลสตอย จึงนำงานเขียนของตอลสตอย เรื่องพระเมตตาจิตมีอยู่ที่ใด พระผู้เป็นเจ้าก็สถิตอยู่ ณ ที่นั้น สองผู้เฒ่า และจดหมายเกี่ยวกับการศึกษา รวมทั้งงานของนิโคไล โกกอล เรื่องเสื้อ พิมพ์ลงในหนังสืองานศพของเขาด้วย

ด้วยเหตุที่เขามาจากราชตระกูลสำคัญ ในหนังสืองานศพของเขามีภาพพระบรมวงศานุวงศ์มาร่วมงานศพเขา ควบคู่ไปกับการนำภาพพวงหรีดจากเพื่อนคณะราษฎร และภาพหมู่เพื่อนร่วมตายที่ปฏิบัติการนำประชาธิปไตยมาใช้ประชาชนไทยเมื่อครั้ง 2475 ด้วยความภาคภูมิใจยิ่งเช่นกัน

ตามความรู้สึกของ ม.ล.อุดม ผู้มาจากราชตระกูลและเห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ เขาเคยให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2525 ก่อนเขาถึงอสัญกรรมไม่นานถึงการเข้าร่วมการปฏิวัติอย่างมั่นคงในครั้งนั้นว่า

“ถาม : ถ้าให้ตัดสินใจใหม่ ท่านจะเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ตอบ : เข้าซิ มันมีเหตุผล เราทำโดยมีเหตุผล…พลาดก็ตาย”

พวงหรีดจากเพื่อนร่วมตาย และป้ายช่องอัฐิของเขาในเจดีย์สมาชิกคณะราษฎร วัดพระศรีมหาธาตุฯ