ผี พราหมณ์ พุทธ : บรรเทาใจในยามยาก : ชวนอ่าน ‘วิมลเกียรตินิรเทสสูตร’ ฉบับแปลใหม่

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
วิมลเกียรติ นิสเทสสูตร ฉบับ เสถียร โพธินันทะ : แปล

 

บรรเทาใจในยามยาก

: ชวนอ่าน ‘วิมลเกียรตินิรเทสสูตร’ ฉบับแปลใหม่

 

ช่วงนี้เพื่อนๆ หลายคนจิตตก ท้อแท้และโกรธเกรี้ยวเป็นพิเศษ เพราะปัญหาทางการเมืองก็ยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้นในเร็ววัน

โรคระบาดก็ยิ่งกลับดูเหมือนจะลุกลามรุนแรงยิ่งกว่าเดิม พร้อมๆ การจัดการของรัฐที่ไร้ประสิทธิภาพและล่าช้า

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีผู้ให้อนุสติว่า หากมีโอกาสเราก็ควรดูแลร่างกายและจิตใจไว้บ้าง เพราะยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากและยาวนาน

อย่าเพิ่งจมอยู่ในความโกรธ ความหดหู่มากเกินไป

ความโกรธเกรี้ยวหรือความรู้สึกบีบคั้นที่อยู่ในใจนั้น แม้อาจแปรไปเป็นพลังสู่การเคลื่อนไหวต่อสู้ได้ก็จริง อยู่

แต่หากไม่มีการระบายหรือปลดปล่อยออกไปบ้าง ก็อาจจะพาลให้เจ็บป่วยทั้งกายทั้งใจได้

ซึ่งเรามักไม่ค่อยตระหนักผลกระทบนี้ต่อตัวเราเอง

 

ผมจิตตกได้สักพัก เผอิญมีข่าวอันชุบชูใจเกิดขึ้นในแวดวงศาสนาอยู่บ้าง เป็นนิมิตมงคลเหมือนพระมาโปรด จิตใจก็ดีขึ้นมาหน่อย

เพราะได้ข่าวว่ามีการแปลและจัดพิมพ์พระสูตรฝ่ายมหายานที่สำคัญขึ้นมาพระสูตรหนึ่งคือ “วิมลเกียรตินิรเทสสูตร” ในโอกาสที่ท่านเจ้าคณะใหญ่จีนนิกายหรือพระอาจารย์เย็นเต็กมีอายุครบแปดสิบห้าปีในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

หลายท่านคงจำได้ว่าผมเคยกล่าวถึงพระสูตรนี้แล้วในบทความเรื่อง “วิมลเกียรตินิทเทสสูตร : เมื่อพระโพธิสัตว์ไปเยี่ยมเพื่อนพระโพธิสัตว์ที่ป่วย”

ตอนนั้นยกเอาประเด็นเรื่องพระโพธิสัตว์ที่ไปเยี่ยมเพื่อนพระโพธิสัตว์ที่ป่วยเพื่อเป็นคติธรรมในยามเผชิญความป่วยไข้ โดยใช้เนื้อความจากฉบับแปลของท่านอาจารย์เสถียร โพธินันทะ

อ้าว ในเมื่อท่านอาจารย์เสถียร ผู้ซึ่งเป็นปราชญ์ใหญ่ได้เคยแปลพระสูตรนี้ไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2506 อย่างสมบูรณ์ แถมยังพอหาได้จากสำนักพิมพ์ของมหาจุฬาฯ อีก ทำไมเรื่องนี้จึงกลายเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นยินดีเป็นพิเศษ

ที่น่ายินดีเป็นพิเศษก็เพราะฉบับที่แปลขึ้นใหม่นี้เป็นการแปลจากต้นฉบับภาษาสันสกฤตที่ค้นพบใหม่โดยตรงไงครับ

 

ผมต้องเล่าอย่างนี้ว่า บรรดาพระสูตรฝ่ายมหายานนั้น โดยมากเป็นการนำต้นฉบับสันสกฤตจากอินเดียเข้าไปแปลเป็นภาษาจีนในสมัยโบราณเสียส่วนมาก ดังเราจะได้ยินชื่อนักแปลพระสูตรคนสำคัญในจีนบ่อยๆ เช่น ท่านกุมารชีพและท่านเสวียนจ้างหรือพระถังซำจั๋ง อันนี้เป็นงานหลักอย่างหนึ่งของปราชญ์พุทธในเมืองจีน

พระสูตรที่สำคัญส่วนมากยังคงมีต้นฉบับภาษาสันสกฤตเหลือรอดมาถึงทุกวันนี้ แต่เผอิญต้นฉบับภาษาสันสกฤตของวิมลเกียรตินิรเทสสูตรได้หายสาบสูญไปนานหลายร้อยปี ชาวจีนแปลพระสูตรนี้ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่สามจนมาถึงคริสต์ศตวรรษที่หก จากนั้นก็ไม่ปรากฏต้นฉบับสันสกฤตอีกเลย

ดังนั้น พระสูตรนี้ที่ตกทอดลงมาถึงพวกเราในปัจจุบันทุกฉบับ ไม่ว่าจะถูกแปลในภาษาไหนก็ล้วนแปลมาจากต้นฉบับภาษาจีนทั้งสิ้น

ฉบับภาษาจีนมีการแปลไว้สามสำนวนใหญ่ คือฉบับของอุบาสกจือเฉียนในสมัยสามก๊ก ซึ่งว่ากันว่าเก่าแก่ที่สุด ฉบับของท่านกุมารชีพและฉบับของท่านพระเสวียนจ้างหรือพระถังซำจั๋ง

เล่มที่ท่านอาจารย์เสถียรนำมาแปลนั้น เป็นการแปลจากสำนวนของท่านพระกุมารชีพในราวคริสต์ศตวรรษที่สี่

 

ทีนี้ในปี ค.ศ.1999 คณะสำรวจจากมหาวิทยาลัยไทโชของญี่ปุ่นได้ไปสำรวจพระราชวังโปตาลาในทิเบต แล้วค้นพบต้นฉบับสันสกฤตของวิมลเกียรตินิรเทสสูตรในท่ามกลางใบลานเก่าแก่มากมาย

ต้นฉบับนี้ระบุว่า ผู้จารึกได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์โคปาลเทวะ ซึ่งน่าจะหมายถึงพระเจ้าโคปาลที่สามแห่งราชวงศ์ปาละของอินเดีย ครองราชย์อยู่ในต้นคริสต์ศตวรรษที่สิบสอง และจัดทำขึ้นโดยพระภิกษุทิเบตนามศีลธวัชผู้เคยเดินทางไปยังวิกรมศิลา มหาวิทยาลัยฝ่ายวัชรยานในอินเดียมาแล้ว

มหาวิทยาลัยไทโชได้ปริวรรต ตรวจทาน และตีพิมพ์ขึ้นในปี ค.ศ.2004 อันเป็นต้นฉบับที่ใช้ปริวรรตและแปลเป็นภาษาไทยใหม่ในครานี้เอง

อะโห กว่าจะค้นพบต้นฉบับสันสกฤตจนถึงการพิมพ์ครั้งใหม่ เวลาก็ผ่านไปเกือบพันปีแล้ว จะไม่น่าอัศจรรย์อย่างไรได้

ผมนี่ขนลุกขนพองนะครับพอทราบข่าวนี้ ยกมือไหว้สาธุว่าพระธรรมบาลเมตตารักษาพระคัมภีร์นี้ไว้จนมาถึงพวกเรา

อันที่จริงมีเรื่องตลกเล็กๆ คือผมสนใจมาตลอดว่าทำไมพระสูตรนี้ถึงไม่มีต้นฉบับสันสกฤตทั้งที่สำคัญมาก จึงไม่มีประเพณีการสวดท่องอย่างพระสูตรอื่น

วันหนึ่งเพจทางพุทธศาสนามหายานเพจหนึ่งนำหนังสือหายากที่สะสมไว้ออกขาย แล้วเขาก็เอาวิมลเกียรตินิรเทสสูตรฉบับสันสกฤตของมหาวิทยาลัยไทโชมาขายด้วยหนึ่งเล่ม

ตอนนั้นผมยังไม่ทราบข่าวว่าจะมีการแปลเป็นภาษาไทย และยังไม่ทราบว่ามีต้นฉบับนี้อยู่ด้วย

พอทราบว่ามีฉบับสันสกฤต ก็รู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างแรก พอจะทักแอดมินเพจเพื่อขอสั่งซื้อ เขาก็ปิดการขายให้คนอื่นไปอย่างรวดเร็วเพียงไม่กี่นาทีหลังจากโพสต์

ซึ่งแปลว่ามีคนอื่นตื่นเต้นยิ่งกว่าผมอีก

 

ตอนนั้นรู้สึกหงอยและคอตกเลยครับ แสนเสียดายบอกไม่ถูก แต่พอทราบข่าวว่าจะมีการแปลจากฉบับนั้นเป็นภาษาไทยและพิมพ์เผยแพร่ ผมนี่เหมือนต้นไม้แห้งได้ฝนใหม่ นับวันรออ่านอย่างใจจดใจจ่อ

เมื่อได้มาแล้วก็ยกขึ้นจบเหนือหัว พบว่าเป็นหนังสือเล่มเขื่องผิดกับฉบับของอาจารย์เสถียร เพราะมีพระสูตรแปลไทย, พระสูตรในภาษาจีน, ต้นฉบับภาษาสันสกฤตที่ปริวรรตเป็นอักษรไทย, กถามุข, อธิบายศัพท์, เชิงอรรถการแปล, ดรรชนีค้นคำ, คำอธิบายพระสูตรจากฉบับแปลเดิมของอาจารย์เสถียร ฯลฯ เรียกว่าสมบูรณ์มากทีเดียว

ผู้แปลฉบับนี้คืออาจารย์สุชิน ทองหยวก ที่ผมชอบมากๆ และรู้สึกว่าน่ารัก

คืออาจารย์สุชินเป็นศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์เสถียร ในการแปลอาจารย์ได้เทียบเคียงกับฉบับของอาจารย์เสถียรโดยตลอด อันไหนที่เห็นว่าควรคงมติของอาจารย์เสถียรไว้ก็จะบอกเหตุผล อันใดควรเปลี่ยนหรือมีความเห็นต่างก็บอกเหตุผลไว้ด้วยความเคารพ

ผมมองเห็นสายใยครูศิษย์ มองเห็นท่าทีความเคารพงานของคนรุ่นก่อนด้วยความอ่อนน้อม แต่ก็มีจุดยืนชัดเจน

ใครอยากได้ลองติดต่อคณะสงฆ์จีนนิกายและวัดโพธิ์แมนคุณารามเลยครับ น่าจะยังมีให้ทำบุญอยู่

 

ทําไมผมถึงตื่นเต้นกับพระสูตรนี้หนักหนา

ที่จริงไม่ใช่แค่ผมดอกครับ เมื่อพระสูตรนี้ถูกแปลในภาษาอังกฤษทำให้ฝรั่งเขาตื่นเต้นตื่นตัวกันมาก

วิจักขณ์ พานิช เคยเล่าให้ฟังว่า ในมหาวิทยาลัยนาโรปะ ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังมี “ชมรมวิมลเกียรติ” ที่ตั้งขึ้นสำหรับนักศึกษาที่สนใจพุทธศาสนาและสังคมไปด้วยพร้อมๆ กัน

ทำไมพระสูตรนี้ถึงน่าตื่นเต้น

เนื่องจากเป็นพระสูตรที่ใช้เสียงของ “ฆราวาส” ธรรมดาๆ เป็นผู้ประกาศธรรม ไม่ใช่พระพุทธะ ไม่ใช่พระสงฆ์สาวก

ฆราวาสวิมลเกียรติแก่ๆ ป่วยๆ คนนั้นแสดงธรรมด้วยอาการบันลือสีหนาทอย่างองอาจกล้าหาญ แถมยังมีบุคลิกยอกย้อนยียวนไม่เบา

แต่เป็นความยียวนชวนให้ตั้งคำถามกับความเข้าใจที่มีต่อคำสอนและการประพฤติธรรมของเราเอง

นี่คือการแสดงให้เห็นความสำคัญของฆราวาสตามมโนคติของฝ่ายมหายานว่า ฆราวาสก็มิได้ด้อยไปกว่าภิกษุ สามารถที่จะเข้าถึงธรรมชั้นสูงยิ่งกว่าภิกษุเสียก็ได้

ความเป็นฆราวาสจึงมิใช่เรื่องน่ารังเกียจ ไม่ใช่ชีวิตที่ต่ำต้อยอย่างที่มักเข้าใจ

 

ที่สำคัญ พระสูตรนี้ยังตั้งคำถามกับอคติทางเพศที่ชาวพุทธบางกลุ่มมีอยู่ เช่น ความคิดว่าผู้หญิงด้อยกว่าผู้ชาย เป็นหีนเพศ ไม่อาจเข้าถึงสถานะอันสูงส่ง โดยใช้ตัวละครสตรีย้อนถามพระสารีบุตร จนกระทั่งพระสารีบุตรจนมุม

พระสารีบุตรในเรื่องนี้ท่านเป็นตัวแทนปัญญาแบบหีนยาน (แนวคิด) นะครับ (เพราะพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกด้านปัญญา) การที่พระสารีบุตรถูกย้อนหลายครั้ง แสดงให้เห็นว่าปัญญาแบบหีนยานไม่เพียงพอที่จะลุถึงอุดมคติที่สูงกว่านั้น คือพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

อ่านแล้วก็นึกสงสารพระสารีบุตรนิดหน่อย มิน่าเล่า ว่ากันว่าเมื่อตีพิมพ์ฉบับแปลครั้งแรกของอาจารย์เสถียรนั้น ได้สร้างดราม่าในวงการพุทธศาสนาไทยไม่ใช่น้อย

นอกจากนี้ พระสูตรยังตั้งคำถามกับอีกหลายเรื่องที่ยึดมั่นถือมั่นกันผิดๆ เช่น การเคร่งครัดในศีลพรตโดยไม่เข้าใจเจตนารมณ์ที่แท้จริง การตีความคำสอนในทางคับแคบ ฯลฯ ทั้งยังได้เก็บคำสอนสำคัญของฝ่ายมหายานไว้ครบถ้วน เช่น มโนทัศน์เรื่องความว่าง เรื่องอุดมการณ์โพธิสัตว์ เรื่องความกรุณา ฯลฯ

“วิมลเกียรตินิรเทสสูตร” หรือคำสอนของวิมลเกียรติจึงเปรียบเสมือนเป็นสิ่งสำแดงจุดเปลี่ยนสำคัญของพุทธศาสนา มีภาพลักษณ์เชิงวรรณศิลป์อันน่ามหัศจรรย์

ที่สำคัญยังสอดคล้องกับคุณค่าของโลกสมัยใหม่ในหลายประเด็น จึงได้รับความนิยมในโลกพุทธศาสนาสากล

 

อ่านเถอะครับ หามาอ่านเถิด

ผมอ่านไปบางช่วงบางตอนก็ขนลุกชัน

บางช่วงบางตอนก็น้ำตาปริ่ม

บางครั้งก็ได้หัวเราะนิดๆ รวมๆ ก็อิ่มเอิบกำซาบ ได้ชุบชูใจในยามยากอย่างนี้

แค่ในผลานิสงส์ท้ายพระสูตร ท่านก็พูดอะไรที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังอันชวนพิศวงและอบอุ่นใจว่า การศึกษาพระสูตรทำให้เราได้มีเพื่อนพิเศษเพิ่มมาคนหนึ่ง

พระพุทธะกล่าวว่า “ผู้ใดถือธรรมบรรยายนี้ไว้ในมือ ได้ชื่อว่าทรงไว้ซึ่งธรรมรัตนครรภ์ ผู้ใดสวด ท่องบ่น สาธยาย อรรถาธิบาย

“ผู้นั้นเป็นสหายของพระตถาคต”