จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (10)

คนที่มีจิตใจละเอียดอ่อน ละเมียดละไม รักชอบความสวยงาม ศิลปวัฒนธรรม จะได้เปรียบมุมมอง วิธีคิดมากกว่า เรียกว่าเป็นต่อคนทั่วๆ ไป

คนเรารักสวยรักงาม แต่ผู้ที่มีพื้นฐานในด้านศิลปะมาแต่กำเนิด เมื่อได้รับการอบรมชี้แนะ ได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีก็จะประกอบกิจการงานต่างๆ ด้วยวิธีการละมุนละไมลึกซึ้งไม่แข็งกระด้าง แตกต่างกว่าผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะกับคนที่อยู่ในสังคมแวดล้อมซึ่งไม่สนใจ ไม่เข้าใจเรื่องความงาม

อาชีพนักการเมืองก็ไม่แตกต่างจากอาชีพอื่นๆ ที่ต้องอาศัยจิตวิทยา ความละเอียดอ่อนด้านจิตใจ ไม่น้อยด้อยไปกว่านักกฎหมาย นักปกครอง นักบริหาร และ ฯลฯ

เพราะนอกเหนือจากความจริง ความสามารถรอบรู้แล้ว ความงดงามของจิตใจย่อมมีส่วนช่วยในการโน้มน้าวให้เกิดความน่าเชื่อถือและไว้วางใจ

อาจารย์คึกฤทธิ์ เป็น (อดีต) นักการเมือง ผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี จนถึง “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งแตกต่างจากนายกรัฐมนตรีท่านอื่นๆ เนื่องจากท่านมีความรู้ความสามารถทางด้านนาฏศิลป์ ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม รักสวยรักงาม รักศิลปะ

รวมถึงเป็นนักประชาธิปไตย จึงแตกต่างจากอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศเรา ซึ่งส่วนมากมาจากโรงเรียนทหาร?

 

ความทันสมัยสิ่งแรกที่มองเห็นด้วยตาเปล่า เพราะเป็นเรื่องภายนอกก็เห็นจะอยู่ตรงการแต่งเนื้อแต่งตัวของท่าน จะสวยงามเลิศหรูดูมีรสนิยม

ซึ่งจะว่าไปก็มิได้มาจากราคาซื้อหาอันสูงส่งลิบลิ่วแต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับการสนใจเลือกสรรอันแตกต่างด้วยความเข้าใจศิลปะความงาม

อาจเป็นเพราะท่านเป็นนักเรียนเก่าจากประเทศอังกฤษ แต่คนไทยจำนวนไม่น้อยก็เคยผ่านการศึกษาจากประเทศนั้นเช่นเดียวกัน หากแต่กลับไม่ค่อยจะมีรสนิยมโดดเด่นเฉกเช่นท่าน

กระทั่งถึงอดีตนายกรัฐมนตรีรุ่นลูกหลานบางคน ซึ่งแตกต่างกันด้วยวัยถึงกว่า 50 ปีก็ยังคงดำรงการแต่งกายสมเป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ แต่ดูเหมือนว่าวุฒิภาวะด้านอื่นๆ กลับไม่สามารถเทียบเคียง

รวมทั้งจิตใจที่โหดกระด้าง สามารถทนดูประชาชนล้มหายตายจากไปต่อหน้าต่อตาเพียงเพื่อจะต่ออายุรัฐบาล

อาจารย์คึกฤทธิ์ เป็น (อดีต) นายกรัฐมนตรี ในช่วงระยะเวลาเพียงสั้นๆ แต่การเมืองเต็มไปด้วยสีสันของประชาธิปไตยอันสวยงาม

ขณะเดียวกันท่านเลือกจะยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนมากกว่าจะรักษาเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี”

รัฐบาลผสมของท่านจึงไม่ได้ถูก “ปฏิวัติ” โค่นล้มโดยทหาร ทั้งๆ ที่ในยุคสมัย (พ.ศ.2518) นั้นก็มากไปด้วยกลุ่มผู้กระหายอำนาจ

ที่ไม่ถูก “ทหารปฏิวัติ-ยึดอำนาจ” คงไม่มีใครปฏิเสธสติปัญญาลีลาชั้นเชิงทางการเมือง และความรอบรู้เท่าทัน จึงได้ชิงยุบสภาเสียก่อน เพื่อรักษาประชาธิปไตยเอาไว้ดังที่ทราบ

 

เมื่อไม่มีตำแหน่งทางการเมือง ได้กลับมาช่วยชุบชีวิตหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งได้ร่วงโรยลงไปมากในช่วงระยะเวลาที่ท่านเข้าสู่การเมือง ก่อตั้งพรรคกิจสังคมจนกระทั่งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยกลับมาเขียนประจำที่ “หน้า 5 สยามรัฐ” และเปลี่ยนชื่อคอลัมน์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเมือง เช่น “ข้างสังเวียน” – “ข้าวไกลนา” – “ข้าวนอกนา” และสุดท้ายคือคอลัมน์ “ซอยสวนพลู” อันอมตะ ซึ่งก็คือชื่อของซอยที่ท่านตั้งบ้านเรือนอยู่นั่นเอง

เมื่อ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งมาจากการปฏิวัติ (2520) ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งขอความสนับสนุนร่วมมือจากท่าน ซึ่งก็ยังโอบอุ้มด้วยการส่ง คุณบุญชู โรจนเสถียร (เสียชีวิต) รองหัวหน้าพรรคกิจสังคม นำทีมเศรษฐกิจของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ไปช่วยวางแผนงานด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งนำนโยบายเงินผันไปสอดแทรกสานต่อด้วย

ใกล้วันเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ.2522 อาจารย์คึกฤทธิ์ ได้ประกาศชัดเจนว่าพร้อมจะจัดตั้งรัฐบาลให้ถูกต้องตามครรลองประชาธิปไตย ซึ่งหัวหน้าพรรคการเมืองที่เสนอตัวเข้ารับการเลือกตั้งต้องมีเป้าหมายเพื่อเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และเป็นนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ได้รับความกดดันจากลุ่มทหารที่ให้การสนับสนุนจนเรียกได้ว่าไร้เสถียรภาพ จนมีข่าวออกมาตลอดเวลาเป็นระยะๆ ว่าเกิดความคิดมีความพยายามจะจัดตั้งเป็น “รัฐบาลแห่งชาติ” ขึ้น โดยต้องการให้อาจารย์คึกฤทธิ์ เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือเป็นรองนายกรัฐมนตรี

ข่าวเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ในเมื่อผู้สื่อข่าวไปสัมภาษณ์อาจารย์คึกฤทธิ์ ซึ่งท่านไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

จึงเกิดประโยคว่า “คนอย่างผมไม่เป็นสองรองใคร” เท่ากับเป็นการปฏิเสธข้อเสนออย่างสิ้นเชิง

 

พรรคกิจสังคมของอาจารย์คึกฤทธิ์ ได้รับเลือกตั้งเข้ามามากกว่าพรรคอื่น คือ 88 ที่นั่ง แต่ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลเนื่องจากฐานทางกองทัพ กลุ่มทหารผู้เป็นแรงสนับสนุนได้วางแผนปูทางให้พลเอกเกรียงศักดิ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง แต่พรรคกิจสังคมไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาล

คอลัมน์ “บทบาททางการเมืองของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” จากหนังสือ “100 ปี คึกฤทธิ์” เขียนไว้ท่อนหนึ่งว่า “อุปสรรคขวางกั้นการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเป็นปัจจัยอำนาจ การครองอำนาจ ของนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการ “ปฏิวัติ” ต่อไปก็คือ “วุฒิสมาชิก” ซึ่งได้รับการแต่งตั้งภายหลังการปฏิวัติ”

รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ นั้นผ่านมาแล้ว 38 ปี เป็นประวัติศาสตร์ทางการเมือง ตัวละครทั้งหลายล้วนสูงวัย และเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก แต่กลับมีความรู้สึกว่าค่อนข้างคุ้นเคย คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ทุกวันนี้ ซึ่งจะมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2561 หากไม่มีเรื่องราวอะไรพลิกผันให้วันเวลาเปลี่ยนแปลงยืดยาวออกไปอีก และวุฒิสมาชิกก็จะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่จะสนับสนุนให้คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปเช่นกัน

การเมืองไทยก็หมุนเวียนเป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้ เนื่องเพราะชนชั้นบางกลุ่มไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง ไม่สนใจว่าประเทศจะเป็นอะไร เพราะกลุ่มคนเหล่านั้นไม่ลำบากเหมือนราษฎร ในชนชั้นอื่นๆ ของประเทศ

ราษฎรต้องการการเลือกตั้งเพราะอยากปกครองตัวเอง มีตัวแทนเข้าไปบริหารชาติบ้านเมือง

ขณะเดียวกันก็สามารถตรวจสอบได้ มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกบ้าง เศรษฐกิจลื่นไหลขึ้นกว่ารัฐบาลเผด็จการจนเคียงข้างควบคู่ไปกับประเทศที่เจริญ ความเป็นอยู่จะได้ดีขึ้นบ้าง

อย่างไรก็ตาม อาจารย์คึกฤทธิ์ นั้นพยายามประคับประคองการเมืองระบอบประชาธิปไตย ระบบสภาให้อยู่คู่กับประเทศนี้ หรือให้สามารถเดินไปได้

อย่างกรณี พลเอกเกรียงศักดิ์ นายกรัฐมนตรีไม่ค่อยได้เข้าประชุมสภา ท่านก็ใช้คอลัมน์ “ข้างสังเวียน” เขียนติงว่า—

“การที่รัฐบาลไม่มาประชุมสภา หรือมาประชุมอย่างกระท่อนกระแท่นอย่างนี้ไม่ดีแน่ ทุกวันนี้ถึงแม้เราจะเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ หรืออะไรก็ตามที แต่สภาผู้แทนราษฎรนั้นได้อุบัติขึ้นแล้ว ไม่ควรประมาท หรือไม่เห็นความสำคัญ จะชั่วดีอย่างไรก็รักษาน้ำใจสภานี้ไว้ดีกว่า การที่ไม่โผล่มาให้เห็นหน้ากันเลยนั้นรังแต่จะก่อให้เกิดการเหินห่าง และความเหินห่างนั้นหากทิ้งไว้นาน ก็จะกลายเป็นความรู้สึกที่ไม่ดี กลายเป็นความรู้สึกในทางต่อต้านซึ่งจะเป็นผลไม่ดีต่อรัฐบาล”

หลังจากนั้นเพียง 5 วัน ปรากฏว่าพลเอกเกรียงศักดิ์ได้เดินทางมาประชุมสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการที่ท่านนายกรัฐมนตรีมาร่วมประชุมสภา เป็นเพราะถูกอาจารย์คึกฤทธิ์เขียนให้สติไว้ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

คอลัมน์ของอาจารย์คึกฤทธิ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐนั้นมีคุณค่า และทรงอิทธิพลมาก ทุกรัฐบาลต้องฟัง ครั้งหนึ่งเมื่อนายทหารของกองทัพไทย ซึ่งว่ากันว่ามีสมองระดับเลิศ กับนักการเมืองกลุ่มหนึ่งได้เสนอความคิดให้ปรับปรุงโครงสร้างการปกครองแบบประเทศคอมมิวนิสต์ โดยมี “สภาเปรซิเดียม”

อาจารย์คึกฤทธิ์คัดค้านสุดตัว ท่านได้เขียนบทความให้เห็นภัยของการปกครองระบอบนี้ และมุ่งมั่นในการขัดขวางแนวความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้ถึงที่สุด

โดยตบท้ายคอลัมน์ของท่านแบบออกลูกนักเลงว่า “กูไม่กลัวมึง”!