ภาพยนตร์ : I CARE A LOT ‘ความบิดเบี้ยวของระบบ’ / นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

 

I CARE A LOT

‘ความบิดเบี้ยวของระบบ’

 

กำกับการแสดง

J. Blakeson

นำแสดง

Rosamund Pike

Peter Dinklage

Dianne Wiest

Eiza Gonzalez

Chris Messina

 

หลักการที่ว่ารัฐจะต้องดูแลพลเมืองให้ดีที่สุด โดยเฉพาะคนที่ต้องการการดูแล ไม่ว่าเด็กหรือคนชรา เป็นความคิดสวยหรูและชวนอบอุ่นใจว่าไม่มีใครจะต้องถูกทิ้งให้เดียวดายโดยไม่มีคนอินังขังขอบ โดยเฉพาะหากเป็นคนไร้สมรรถภาพ

หนังเรื่องนี้เผยให้เห็นด้านมืดของรัฐสวัสดิการ ซึ่งคนสามารถหาผลประโยชน์มหาศาลจากระบบสังคม และทำอย่างเปิดเผยเป็นระบบ…โดยถูกต้องตามกฎหมายเสียด้วย

มาร์ลา เกรย์สัน (โรซามันด์ ไพก์) มีกิจการที่สร้างกำไรดี จากการหากินกับระบบ ตรงตามตัวอักษรที่กฎหมายบัญญัติไว้

ภายใต้คำสั่งศาล มาร์ลารับดูแลคนชราที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้สมรรถภาพ โดยก่อตั้งเป็นบริษัท และมีเครือข่ายติดต่อกับคนในวงการต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะสถานดูแลคนชราที่ร่ำรวย และแพทย์ที่ไร้จรรยาบรรณ

วัตถุประสงค์ข้อเดียวของบริษัทคือการถอนขนห่าน กล้อนขนแกะให้เกลี้ยง หรือสูบเลือดจากคนชราที่ร่ำรวยจนไม่เหลือ

 

เมื่อหนังเปิดเรื่อง มาร์ลาอยู่ในศาลเพื่อแก้ต่างให้แก่ตัวเอง ในกรณีที่ลูกชายของหญิงแก่ในความดูแลของเธอฟ้องร้องอย่างโกรธแค้นต่อศาลว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้แต่จะไปเยี่ยมแม่ที่ป่วยใกล้ตายก็ยังไม่รับอนุญาต

มาร์ลาแก้ด้วยเหตุผลว่าเธอเป็นผู้ที่เหมาะจะดูแลมากกว่าคนในครอบครัว เพราะเธอมีความเป็นกลาง และไม่เอาอารมณ์เข้าไปตัดสินเพื่อผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของคนในความดูแลของเธอ

แน่นอนว่ามาร์ลาชนะข้อพิพาทเหนือลูกชายแท้ๆ ของหญิงชรา และศาลยืนยันให้เธอทำหน้าที่ผู้ดูแลต่อไป

เราได้เห็นการทำงานอย่างเป็นระบบอย่างชวนขนหัวลุกของมาร์ลา ซึ่งมีหุ้นส่วน คู่คิด คู่ใจและคู่ขา คือ แฟรน (ไอซา กอนซาเลซ) และได้เห็นผู้ร่วมงานที่น่าขยะแขยงอีกคนคือ หมอเอมอส (อลิเชีย วิตต์) ที่ทำหน้าที่หา “เหยื่อ”…หรือที่เธอเรียกว่า “ลูกเชอร์รี่”…จากคนไข้ของตัวเอง

หมอเอมอสให้ข้อมูลของเจนนิเฟอร์ ปีเตอร์สัน (ไดแอนน์ วีสต์) ในฐานะที่เป็นหญิงสูงวัยผู้ร่ำรวย ที่อยู่ตัวคนเดียว ไม่มีครอบครัว และมีอาการแรกเริ่มของสมองเสื่อม เจนนิเฟอร์เป็นลูกเชอร์รี่ที่ฉ่ำหวานพร้อมให้หยิบใส่ปาก แล้วก็ยังไม่แก่มาก ท่าทางจะมีชีวิตอยู่ให้ “คนดูแล” สูบเลือดกินไปได้อีกนาน

ไม่ทันไร โดยที่เจ้าตัวยังไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำ และยังใช้ชีวิตปรกติ ทำอะไรต่อมิอะไรได้เหมือนคนทั่วไป มาร์ลาก็ไปเคาะประตูบ้าน ยื่นคำสั่งศาลให้ บอกว่านับแต่นี้เธอเป็น “ผู้ดูแล” ตามกฎหมายของเจนนิเฟอร์ และขอให้เจนนิเฟอร์เก็บข้าวเก็บของออกจากบ้านไปกับเธอ และขับรถพาไปเช็กอินเข้าสถานพักฟื้นคนชราอันหรูหราสุขสบาย ริบโทรศัพท์มือถือและตัดการติดต่อจากโลกภายนอกเสียอย่างแนบเนียน

พูดง่ายๆ ก็คือ เจนนิเฟอร์ผู้มั่งคั่งกลายเป็นนักโทษใต้อาณัติของมาร์ลาไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ระหว่างนั้น มาร์ลาก็เข้าไปรื้อค้นข้าวของของ “คนในความดูแล” อย่างสบายใจเฉิบ เอาข้าวของเครื่องใช้มีค่าในบ้านไปประมูลขาย และติดประกาศขายบ้านของเจนนิเฟอร์

 

ทว่าหญิงชรารายนี้ไม่ได้หวานหมูดังที่มาร์ลาคาด

เจนนิเฟอร์ผู้ดูไร้พิษสงคนนี้มีหลังฉากที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนอยู่เบื้องหลัง

เธอมีความเกี่ยวพันกับบุคคลที่ทรงอิทธิพลและอันตรายที่สุดคนหนึ่ง และเขาทำทุกวิถีทางที่จะช่วยให้เจนนิเฟอร์พ้นจาก “คุก” ในคราบของสถานดูแลคนชรา

มาร์ลาเป็นตัวเอกที่เดินเรื่องและเป็นคนเล่าเรื่อง แต่ไม่มีขณะใดเลยที่เราจะอยากเห็นเธอทำสำเร็จ นับเป็นตัวละครที่มิมีความน่าเห็นอกเห็นใจสักกระผีก

คู่ต่อสู้ของเธอคือ ชายร่างแคระโมโหร้ายที่พยายามควบคุมตัวเองไม่ให้ออกฤทธิ์ ต้องนับว่าปีเตอร์ ดิงก์เลจ เป็นนักแสดงร่างแคระที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกละมัง เคยดูเขาเล่นบทแสบสันอยู่หลายต่อหลายเรื่อง แต่บทที่น่าจดจำที่สุดเห็นจะเป็นบท “ทีเรียน แลนนิสเตอร์” ใน Game of Thrones

และอีกครั้งใน I Care A Lot ดิงก์เลจเป็นตัวละครที่น่าดูน่าชมอย่างยิ่ง

อีกคนที่ขอชมคือ คริส เมสซินา ในบททนายความผู้จัดการเรื่องราวต่างๆ ของเจ้าพ่อมาเฟีย ฉากที่น่าดูคือฉากที่เขาไปขอพบมาร์ลา และเชือดเฉือนกันอย่างเฉียบคม เหมือนเพชรตัดเพชร

ถ้าไม่พูดถึงโรซามันด์ ไพก์เลยก็คงแปลกอยู่สักหน่อย เพราะเธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมเป็นครั้งที่สามแล้วด้วยบทที่เล่นเป็นมาร์ลานี้ ผู้เขียนไม่เคยชอบโรซามันด์ ซึ่งดูเหมือนได้แต่แสดงบทเยือกเย็นเหมือนน้ำแข็ง นับแต่เล่นบท “สาวของเจมส์ บอนด์” เป็นมิแรนดา ฟรอสต์ ผู้เยือกเย็นเป็นน้ำแข็งตามนามสกุล แต่เธอก็เลือกบทได้สมกับตัวแทบทุกหน คือ เฉยเมย ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับอะไร และเป็นจอมบงการที่คิดคำนวณสะระตะไว้หมดทุกอย่าง

บทที่เด่นที่สุดของเธอคือ ภรรยาที่จัดฉากการหายตัวไปของเธอให้ดูเหมือนกับสามี (เบน แอฟเฟล็ก) เป็นคนทำ ใน Gone Girl

บทของมาร์ลาก็ดูไม่แตกต่างจาก Gone Girl อันที่จริงเป็นแคแร็กเตอร์เดียวกันก็ว่าได้ คือคนที่ปราศจากความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ถึงขั้นเป็นโรคจิตที่เป็นอันตรายต่อสังคมและคนรอบข้าง

 

โทนของหนังเรื่องนี้คือ black comedy แต่ก็เป็นตลกร้ายที่ชวนให้โกรธแค้นและรบกวนใจอย่างยิ่งทั้งในระหว่างที่ดูและหลังจากหนังจบ… เหมือนน้ำที่ถูกกวนให้ขุ่น และยังไม่ยอมตกตะกอน…

แม้ว่าตอนจบจะดูเหมือนว่ายังมีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่ในโลกนี้บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ความยุติธรรมที่มาพร้อมกับความถูกต้อง

บอกได้แต่ว่าเป็นหนังที่ดูแล้วงุ่นง่านหงุดหงิดพิลึกละ…