กวีนิพนธ์ของมุฮัมมัด อิกบาล (3) / มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

กวีนิพนธ์ของมุฮัมมัด อิกบาล (3)

 

อิกบาลไม่ใช่เป็นผู้ต่อต้านลัทธิมนุษยธรรมนิยม ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขาได้เน้นในเรื่องการพัฒนาพลังมนุษย์มากกว่า พลังมนุษย์ (คูดี) เป็นแก่นของปรัชญาของเขา แต่อิกบาลก็รู้สึกเมตตาสงสารและรับผิดชอบต่อผู้อ่อนแอไม่น้อยเลย

อันที่จริงแล้วความพยายามของเขาที่จะผสมผสานลัทธิสังคมนิยมกับอิสลามนั้นเป็นการอุทิศที่กระตือรือร้นที่สุดของเขาที่จะทำเพื่อคนยากจนและอ่อนแอ

อิกบาลต่อต้านลัทธิล่าเมืองขึ้นของตะวันตกเพราะการกอบโกยผลประโยชน์ของมัน

เขาประณามลัทธินายทุน เพราะความไร้หัวใจของมัน

แม้แต่รูปแบบของประชาธิปไตยแบบตะวันตกอิกบาลก็ไม่ยอมรับ

การกดขี่อันมหึมา

แฝงอยู่ในเสื้อคลุม

แห่งประชาธิปไตยและด้วยเท้าเหล็ก

มันกระทืบลงมาบนผู้อ่อนแอ โดยไม่มีความเสียใจ

แปลโดย Freeland Abbot

มีบทกวีจำนวนนับไม่ถ้วนซึ่งอิกบาลได้ประณามการที่ผู้แข็งแรงกอบโกยผลประโยชน์จากผู้อ่อนแอ เขาได้เขียนว่า

ชาติหนึ่งหาเลี้ยงตัวอยู่บนอีกชาติหนึ่ง

คนหนึ่งหว่านพืชซึ่งอีกคนเก็บเกี่ยวผล ปรัชญาสอนว่าต้องฉกฉวยอาหารจากมือคนอ่อนแอ

และส่งดวงวิญญาณของเขาไปจากร่างกาย

การรีดไถเพื่อนมนุษย์นั้นเป็นกฎของอารยธรรมใหม่

มันซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังผ้าคลุมแห่งการค้า

ในความมุ่งหมายของรอฟีก ซะการียา การกล่าวถึงลัทธิมนุษยธรรมอันกว้างขวางของอิกบาลก็เพื่อจะอธิบายว่าอิกบาลมิได้ติดอยู่กับการแบ่งพรรคพวกในอิสลาม

อิกบาลได้รับการดึงดูดจากคำสอนของท่านศาสดาเพราะความเชื่อขั้นรากฐานสองอย่างคือ เอกภาพของพระผู้เป็นเจ้าและภราดรภาพของมนุษย์

 

ในบทนำของคุชวันท์ สิงห์ ชาวฮินดูผู้แปลงานของอิกบาลเรื่องคำร้องทุกข์และคำตอบต่อการร้องทุกข์ภาษาอังกฤษเขาพูดถึงการแปลบทกวีของอิกบาลว่า

ข้าพเจ้าไม่ได้แสร้งทำเป็นผู้รู้เรื่องภาษาอุรดูหรือในเรื่องงานของอิกบาลเลย อันที่จริงนั้นข้าพเจ้าเกือบจะลืมภาษาอุรดูนิดๆ หน่อยๆ ที่ข้าพเจ้าเคยรู้ไปหมดแล้ว จนกระทั่งได้ฟื้นมันขึ้นมาใหม่ เมื่อคราวที่ข้าพเจ้ารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการนิตยสาร อิลลัสเตรต วีกลี่ อินเดีย เมื่อปี 1969

ในบรรดาสิ่งใหม่ๆ หลายอย่างที่ข้าพเจ้านำมาใช้ในนิตยสารนั้นก็คือได้เปิดคอลัมน์ให้ชาวอินเดียมุสลิมได้แสดงความคิดเห็นในปัญหาที่เกี่ยวกับประเทศชาติ

เนื่องจากว่าคำร้องทุกข์ของเขาเหล่านั้นรวมเอาเรื่องการแบ่งแยกต่อต้านการใช้ภาษาอุรดูอีกด้วย ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจที่จะกลับไปสู่ภาษานั้น

เหตุผลสำคัญที่ว่าเหตุใดข้าพเจ้าจึงเริ่มต้นขึ้นที่งานของอิกบาลก็คืออิกบาลมิได้ใช้ภาษานั้นด้วยความชำนิชำนาญอย่างงดงามเท่านั้นแต่เขาได้ใช้มันเป็นสื่อแสดงออก ซึ่งความหวังและความใฝ่ฝันปรารถนาของชาวอินเดียมุสลิม ในรุ่นข้าพเจ้าอีกด้วย จากข้อเขียนจำนวนมากมายมหาศาลของเขา ข้าพเจ้าได้เลือกเอาบทกวีสองเรื่อง ที่ขัดแย้งกันที่สุดมาถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษ

ข้าพเจ้าต้องยอมรับด้วยว่าเมื่อข้าพเจ้า ออกเดินทางค้นหาภาษาอุรดูใหม่นั้นก็ได้มีเสียงดนตรีอันดุเดือดของบางบรรทัดในบทกวีสองเรื่องนี่เองที่ได้ทำให้เพลิงแห่งความรักที่เกือบจะดับมอดลงแล้วของข้าพเจ้าในภาษานี้คุโพลงขึ้นมาอีกและทำให้เปลวแห่งความสนใจของข้าพเจ้าลุกโพลงอยู่ต่อไป

ข้าพเจ้าได้แปลบทกวีทั้งสองนี้ขึ้นเป็นการชำระหนี้ส่วนหนึ่งที่ข้าพเจ้ามีต่อความรู้สึกกตัญญูที่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเป็นหนี้บุญคุณต่ออิกบาลอยู่ในการที่เขาได้ยื่นเพชรอันล้ำค่าแห่งการใช้ภาษาอุรดูให้ข้าพเจ้าอีกครั้งหนึ่ง

การอ่านงานของอิกบาลซ้ำแล้วซ้ำอีกได้กลายเป็นประสบการณ์ที่น่าปิติที่สุดในระยะหลังๆ ของชีวิตข้าพเจ้าไปแล้ว

 

ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับความคิดที่ว่าการที่จะแปลบทกวีดีๆ จากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ นี่ยิ่งเป็นความจริงขึ้นไปอีกในการที่จะแปลร้อยแก้วของตะวันออกเป็นภาษายุโรปในขณะที่ทุกภาษาต่างก็มีถ้อยคำและความคิดของมันเอง ซึ่งจะหาคู่เคียงไม่ได้ในภาษาอื่น

นักกวีของตะวันออกก็ยังไปไกลกว่านั้นโดยการที่มักจะใช้คำที่ความหมายของมันไม่มีเขียนไว้ในพจนานุกรมอยู่บ่อยๆ ขอยกตัวอย่างเพียงสองคำก็คงจะเพียงพอ คือในบรรดาคำที่มักจะใช้อยู่ในบทกวีรักภาษาอุรดู-ฮินดี คือคำว่าชุบบาน (หรือญะวานในภาษาฮินดี) และคำว่าอังดาอี คำที่ใกล้เคียงที่สุดที่ภาษาอังกฤษมีอยู่สำหรับคำว่าชุบบาน ก็คือความเยาว์วัย แต่คำว่าชุบบานในภาษาอุรดู-ฮินดีนั้นมิได้หมายถึงความเยาว์วัยเท่านั้นแต่หมายโดยเฉพาะถึงความเยาว์วัยของหญิงสาวซึ่งทรวงอกเพิ่งจะผลิบาน

ด้วยคำว่า อังดาอี ก็เช่นเดียวกัน ในภาษาอังกฤษมันไม่ได้มีความหมายมากไปกว่าการเหยียดแขนเหยียดขาของคนที่เหน็ดเหนื่อย แต่ในบทกวีภาษาอุรดู-ฮินดีนั้นการเหยียดแขนขายังเป็นท่าทางแสดงความรักด้วย

นอกจากเรื่องการหาคำที่มีความหมายตรงกันแล้ว เมื่อมาถึงภาษาอุรดูเอง ผู้แปลยังต้องเข้าใจถึงแนวความคิดของคำที่หยิบยืมมาจากภาษาเปอร์เซียและภาษาอาหรับซึ่งกวีได้นำมาใช้อย่างเสรีอีกด้วย

ดังนั้น เราจึงมีคำว่าซาฮิด (มาจากคำว่าซูฮด-บริสุทธิ์ ใช้สำหรับผู้ให้คำแนะนำทางด้านศาสนา) คำว่าวาซ (ซึ่งมาจากคำว่าวะอฺซฺหมายถึงคำตักเตือนใช้สำหรับนักสั่งสอนศาสนา คำว่านาซิร (ที่ปรึกษา) และกอซิด (ผู้สื่อข่าวใช้สำหรับผู้ที่ทำตัวเป็นผู้สื่อสารระหว่างคู่รัก) ถึงแม้ว่าพจนานุกรม จะได้กล่าวถึงหน้าที่ที่แตกต่างของมันไว้แล้วก็ตาม

ในการใช้จริงๆ มันมักจะขยายบทบาทของมันออกไปเสมอ ตัวละครอีกตัวหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญในบทกวีภาษาอุรดู ก็คือซากี (ผู้เสิร์ฟเหล้าองุ่น) ซากีซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเพศหญิงเพศชายนั้นก็มักจะเป็นหวานใจในความหมายของทั้งความรักต่างเพศหรือความรักระหว่างเพศเดียวกันอยู่บ่อยๆ อีกด้วย

นกบุลบุลซึ่งในชีวิตจริงๆ นั้นส่งเสียงร้องที่ไม่ไพเราะเพราะพริ้งอะไรเลยและไม่ได้แสดงความชอบที่จะเลือกดอกไม้อะไรเป็นพิเศษนั้นก็ได้กลายเป็นนกไนติงเกล (ซึ่งร้องเพลงตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน) เพื่อจะทำให้มีน้ำเสียงที่ไพเราะและร้องเพลงคร่ำครวญถึงความรักที่สุมอยู่ในอกที่มันมีต่อดอกกุหลาบที่ไม่ตอบสนองความรักแก่มัน

แมลงเม่า (ปารวานา) ก็ได้กลายเป็นตัวอย่างของความรักสูงสุดเพราะด้วยอารมณ์รักรุนแรงที่มันมีต่อเปลวไฟ (ชัมอา) นั้นมันยอมทำลายตัวเองในไฟนั้น

 

อิกบาลใช้แนวความคิดเช่นนี้อยู่เสมอ ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากแนวเรื่องสำคัญของบทกวี ส่วนมากของเขาเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม จึงมีอยู่หลายตอนที่กล่าวพาดพิงถึงชีวิตของศาสดามุฮัมมัด มิตรสหายของท่านศาสดา บรรดาเคาะลีฟะฮฺ (กาหลิบ) และประวัติศาสตร์อิสลาม เหล่านี้บังคับให้ผู้แปลต้องให้คำอธิบายไว้ที่เชิงอรรถด้วย

กวีสองบทที่ได้รับการแปลอยู่ ณ ที่นี้เป็นบทกวีที่เขียนอุทิศให้แก่ความขัดแย้งระหว่างอดีตอันรุ่งเรืองของศาสนาอิสลามกับความแตกแยกของอาณาจักรอิสลามและสภาพอันน่าเศร้าของสังคมมุสลิมในระยะหลังๆ ข้าพเจ้าได้พยายามอย่างดีที่สุดที่จะละเว้นการเขียนเชิงอรรถเสีย และถ้าเป็นไปไม่ได้ก็ได้ทำอย่างสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

ข้าพเจ้าบังเกิดความสนใจในบทกวีชักวานี้ขึ้นมา เมื่อได้ยินเพื่อนของข้าพเจ้าคือรอฟีก ซะการียา กับฟาฏิมะฮฺภรรยาของเขาท่องบางตอนจากกวีบทนี้ให้ลูกๆ ของเขาฟัง การท่องบทกวีนั้นยิ่งทำให้ข้าพเจ้าซาบซึ้งมากขึ้นเท่าไร ข้าพเจ้าก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะถ่ายทอดมันเป็นภาษาอังกฤษยิ่งขึ้นเท่านั้น

แต่เมื่อได้อ่านบทแปลของ เอ.เจ. อาร์เบอร์รี่ และอัลตาฟ หุซัยน์ เท่านั้น ข้าพเจ้าจึงได้มีความกล้าพอที่จะทำงานนี้

ข้าพเจ้ารู้สึกว่าบทแปลของอาร์เบอร์รี่ไม่สามารถที่จะจับความคล้องจองแบบดนตรีที่มีอยู่ในถ้อยคำของอิกบาลไว้ได้

ส่วนอัลตาฟ หุซัยน์ ก็แปลอย่างเสรีเกินกว่าที่นักแปลควรจะทำ ข้าพเจ้าพยายามที่จะเอาชนะความบกพร่อง ในเรื่องภาษาอุรดูของข้าพเจ้าด้วยการอาศัยพจนานุกรมและเที่ยวรบกวนถามใครๆ ที่รู้ภาษาอุรดูซึ่งข้าพเจ้าพบด้วยคำถามมากมาย

เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าข้าพเจ้าทำงานแปลชิ้นนี้ในงานปาร์ตี้เลี้ยงอาหารและค็อกเทล ในการพบปะเชิงลำลองและแม้กระทั่งในสนามเทนนิส รวมทั้งในการศึกษาโดยลำพังของข้าพเจ้าเองกว่าจะกลายเป็นรูปแบบที่พออ่านได้ก็กินเวลาตั้งกว่าปี

 

ถ้าข้าพเจ้าต้องเขียนชื่อบุคคลที่ข้าพเจ้าไปปรึกษาหารือลงไปทุกคนแล้วไซร้ มันจะกลายเป็นรายชื่อที่น่าตกใจเอาทีเดียว ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงจะขอจำกัดอยู่แค่ชื่อคนเพียงไม่กี่คนที่ข้าพเจ้าได้รบกวนมากกว่าคนอื่นๆ นั่นก็คือคุณสาทินดา สิงห์ แห่งเดอะทรีบูน คุณฮาฟิซ นูรานี และนาสิรา ชาร์มา ผู้ช่วยตรวจทานความหมายที่แท้จริงของคำต่างๆ คุณมุญาฮิด หุซัยน์ แห่งสถานทูตปากีสถานผู้ตรวจทานบทแปลซักวาของข้าพเจ้าทุกบรรทัด คุณเค.เอ็น.ซัด ดร.มัสอูด หุซัยน์ แห่งมหาวิทยาลัยมุสลิมอลีฆัรฮฺ (อลิการ์) ดร.อะลี อะห์มัด ซุรูร ศาสตราจารย์อิกบาลแห่งมหาวิทยาลัยแคชมีรผู้ตรวจทานครั้งสุดท้าย

ในการแปลบทญะวาบี ซักวานั้น ข้าพเจ้าได้ปรึกษากับกวีอะลี ซาดัร ญะอฺฟะรี และได้รับการตรวจทานเพื่อความถูกต้องโดยคุณซัยยิดซัยดีแห่งมหาวิทยาลัยมุสลิมอลีฆัรฮฺก่อนที่จะส่งให้แก่ ดร.ซูรูร เพื่อตรวจทานเป็นครั้งที่สอง และ ดร.อะซาด อะลี เป็นผู้แปลเป็นภาษาฮินดี ข้าพเจ้าขอบันทึกความขอบคุณไว้ต่อบุคคลดังกล่าวเหล่านี้ แต่ข้าพเจ้าขอขอบคุณมากที่สุดต่อฟาฏิมะฮฺและรอฟีก ซะการียา ผู้คอยแหย่คอยกระตุ้นข้าพเจ้าอยู่เสมอให้ทำงานนี้ต่อไปจนสำเร็จ

คุชวันห์ สิงห์

นิวเดลี 10 มิถุนายน 1980

 

บทกวี คำร้องทุกข์และคำตอบต่อคำร้องทุกข์นี้ ผมและอาจารย์กิติมา อมรทัต ร่วมกันแปลคนละภาคเมื่อปี 1984 คือภาคคำร้องทุกข์และคำตอบต่อคำร้องทุกข์

ด้วยเล็งเห็นว่าความงดงามที่ซ่อนอยู่ในบทกวีของอิกบาลน่าจะมีส่วนอนุเคราะห์ต่อความเติบใหญ่ทางความคิดของหนุ่มสาวมุสลิมในอนาคต

โดยจะนำกวีนิพนธ์ คำร้องทุกข์และคำตอบต่อคำร้องทุกข์มากล่าวในตอนต่อไป