สุทธิชัย หยุ่น | สหรัฐกับจีน : วันที่อเมริกา ต้องเลือกระหว่างเจียงกับเหมา

สุทธิชัย หยุ่น

หากจะเข้าใจความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนวันนี้ต้องย้อนกลับไปทบทวนความสัมพันธ์ของสองยักษ์ใหญ่ในยุคประวัติศาสตร์ช่วงประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา

เพราะหลายช่วงตอนนั้นสหรัฐกับจีนก็พยายามสานสัมพันธ์ระหว่างกัน

ช่วงจีนอ่อนแอ สหรัฐต้องการจะยื่นมือช่วยเหลือให้เป็นพวก

แต่เมื่อจีนตั้งตัวได้ สลัดแอกของอาณานิคมตกวันตก ปักกิ่งก็ยืนตระหง่านเป็นของตัวเอง

เมื่อสหรัฐยืนยันความเป็นเบอร์หนึ่งของโลก แต่ความผันผวนในสังคมจีนมีทั้งช่วงสู้กันเองและช่วงยื่นมือขอความช่วยเหลือ

จนถึงจังหวะที่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้เหมาเจ๋อตุงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

วันนี้ จีนสยายปีกขึ้นเป็นเบอร์สองของโลก เบอร์หนึ่งอย่างสหรัฐย่อมจะไม่ยอมถูกแซงหน้าเฉยๆ ได้

ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ, เทคโนโลยี, ความมั่นคง หรือ “บารมี” ที่มาในรูปแบบต่างๆ ที่สหรัฐไม่คุ้นเคย แต่จีนได้นำเสนอความสัมพันธ์แบบใหม่กับบรรดาประเทศต่างๆ จนเบียดอเมริกาตกขอบไปในหลายกรณี

ย้อนกลับไปตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐจีนภายใต้การนำของซุนยัดเซนเมื่อปี 1912 หลังการล่มสลายของราชวงศ์ชิง

แม้ว่าซุนยัดเซนจะได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง แต่อำนาจที่แท้จริงของจีนขณะนั้นยังอยู่ในมือของกองกำลังทหารของแต่ละภูมิภาค

ซุนยัดเซนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวได้ไม่กี่เดือนก็ต้องก้าวลง เปิดทางให้นายพลหยวนซื่อข่ายขึ้นมาแทน

แต่ในปี 1915 หลังเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ญี่ปุ่นยึดเขตของเยอรมนีในจังหวัดชานตงของจีน

เป็นที่มาของ “21 ข้อเรียกร้อง” ของญี่ปุ่นต่อรัฐบาลจีนขณะนั้น

หัวใจของข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นคือการเปิดช่องทางการค้าและสิทธิพิเศษในการบริหารแผ่นดินจีน

บทบาทสหรัฐตอนนั้นเริ่มเห็นชัดเมื่อประธานาธิบดี Woodrow Wilson คัดค้านข้อเรียกร้องของญี่ปุ่น

ตัวแทนสหรัฐประจำจีน Paul Reinsch แนะนำรัฐบาลจีนให้แข็งขืนญี่ปุ่นให้ยืดเยื้อที่สุดเท่าที่จะทำได้

ญี่ปุ่นยอมลดเงื่อนไขที่มีผลกระทบต่ออธิปไตยของจีนบางประเด็น แต่ก็ยอมตามญี่ปุ่นในข้อเรียกร้องอื่นๆ

เพราะจีนไม่ได้อยู่ในฐานะจะต่อรองกับญี่ปุ่น และอเมริกาก็ไม่อาจจะให้คำรับรองว่าจะโอบอุ้มจีนให้ต่อต้านญี่ปุ่นได้มากมายนัก

ปี1917 อเมริกาก็ยอมญี่ปุ่น…ให้มีอิทธิพลทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

ภายใต้ข้อตกลงที่เรียกว่าข้อตกลง Lansing-Ishii Agreement ซึ่งเป็นการลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ Robert Lansing และรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น Ishii Kikujiro

ภายใต้ข้อตกลงนี้สหรัฐ ยอมรับว่าญี่ปุ่นมี “ผลประโยชน์พิเศษ” (special interests) ทางภาคอีสานของจีน

เท่ากับเป็นการแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์ของต่างชาติในจีน

เพราะจีนแตกแยกกันเป็นก๊กๆ ไร้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวพอที่จะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตนเองได้

ในปี 1916 นั้นเอง หยวนซื่อข่ายในตำแหน่งประธานาธิบดีจีนก็ประกาศสถาปนาตนเองป็น “จักรพรรดิ” องค์ใหม่

แต่ไม่นานหลังจากนั้นเขาก็มีอันต้องเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บ มิใช่เพราะการยื้อแย่งอำนาจทางการเมืองกับ “เจ้าพ่อ” ของกลุ่มติดอาวุธต่างๆ

จากนั้น จีนก็เข้าสู่ภาวะแตกฉานซ่านเซ็น กลุ่มติดอาวุธภายใต้การนำของ “war lords” ที่มีทั้งอิทธิพลบารมีอันหมายถึงเงินและอาวุธ

ไม่มีใครยอมอยู่ใต้ใคร

มี “รัฐบาลกลาง” ที่ปักกิ่งเป็นเพียงหุ่นเชิดเท่านั้น ไม่มีอำนาจสั่งการอะไรใครทั้งสิ้น

เป็นสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดโดยสิ้นเชิง

รัฐบาลสหรัฐมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลที่ปักกิ่ง แต่คนอเมริกันและบริษัทอเมริกันในจีนต่างก็ติดต่อไปมาหาสู่กับกลุ่มติดอาวุธของแต่ละภูมิภาค

เพราะอำนาจจริงกระจายตัวกันอยู่ในเขตอิทธิพลต่างๆ ทั่วประเทศ

สงครามโลกครั้งที่หนึ่งระเบิดขึ้นในปี 1919 จีนประกาศเข้าข้างพันธมิตร

เพราะประธานาธิบดีสหรัฐ Woodrow Wilson แนะนำให้รัฐบาลที่ปักกิ่งทำเช่นนั้น

รัฐบาลปักกิ่งก็ยอมตามด้วยความหวังว่าสหรัฐจะตอบแทนด้วยการเจรจากับญี่ปุ่นให้ยอมคืนดินแดนจีนที่โตเกียวยึดไปจากเยอรมันก่อนหน้านั้น

แต่ก็ไร้ผล

เพราะข้อตกลงยุติสงครามโลกครั้งนั้นจบลงด้วยสนธิสัญญา Versailles

เป็นข้อตกลงที่เกิดจากการต่อรองลับๆ เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างญี่ปุ่น, อังกฤษ และฝรั่งเศส

หนึ่งในเงื่อนไขของข้อตกลงนั้นคือการยกดินแดนที่ว่านี้ให้กับญี่ปุ่น

สหรัฐช่วยจีนไม่ได้เลย

พอข่าวเรื่องนี้ไปถึงจีนวันที่ 4 พฤษภาคม 1919 นักศึกษาจีนรวมตัวกันเดินขบวนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และบุกเข้าบ้านของรัฐมนตรีจีนคนหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเอียงข้างญี่ปุ่น

เป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการที่เรียกว่า May 4th Movement (ขบวนการวันที่ 4 พฤษภาคม)

เป็นความเคลื่อนไหวทางสังคมที่ผนวกเอาการเรียกร้องปฏิรูปทั้งการเมือง, วัฒนธรรม, การศึกษา, ที่มีกระแสชาตินิยมเป็นหลัก

นั่นคือกระแสของคนรุ่นใหม่จีนที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและการเมืองให้พ้นจากสภาพล้าหลังและการยื้อแย่งอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มเท่านั้น

นักเคลื่อนไหวจีนยุคนั้นมองไปที่สหรัฐว่าเป็น “แม่แบบ” ของการปฏิรูปสังคมจีน

ปี1921 คือปีของก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เป็นการรวมตัวของคนจีนที่มีแนวความคิดสนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ขณะนั้นกำลังคุกรุ่นเพราะมีสหภาพโซเวียตเป็นแรงหนุน

ผู้ก่อตั้งกลุ่มนี้นัดพบกันที่เซี่ยงไฮ้ ณ เขตยึดครองของฝรั่งเศส

ที่ปรึกษาของคนกลุ่มนี้เป็นสายมาจากสหภาพโซเวียต กระตุ้นให้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ในจีน

พรรคคอมมิวนิสต์จีนตัดสินใจประกาศเป็นแนวร่วมกับพรรคชาตินิยม (Nationalist Party) หรือก๊กมินตั๋งของซุนยัดเซน

ปีต่อมา สหรัฐแสดงบทบาทบ้าง มีการประชุมที่เรียกว่า Washington Conference ในช่วงปี 1921-22 ที่เน้นเรื่องนโยบายของสหรัฐต่อเอเชียตะวันออก

ที่ประชุมตกลงให้ญี่ปุ่นคืนดินแดนที่ยึดครองในเมืองชานตงให้กับจีน

แต่กระแสชาตินิยมจีนที่เกิดจาก May 4th Movement ทำให้มีการต่อต้านคนอเมริกันในจีนโดยเฉพาะในหมู่หมอสอนศาสนา

นำไปสู่การออกกฎหมายที่ให้โรงเรียนหมอสอนศาสนาทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลจีนในเวลาต่อมา

เมื่อซุนยัดเซนเสียชีวิตในปี 1925 เจียงไคเช็กขึ้นมานำพรรคก๊กมินตั๋งแทน

เจียงไคเช็กมีฐานที่มั่นอยู่กวงโจวทางใต้ แต่สามารถยึดครองพื้นที่ทางเหนือสำเร็จ จนสามารถประกาศตั้งนานกิงเป็นเมืองหลวงใหม่

เจียงไคเช็กเริ่มกวาดล้างคอมมิวนิสต์ที่เซี่ยงไฮ้อย่างรุนแรง ความร่วมมือระหว่างก๊กมินตั๊งกับคอมมิวนิสต์จีนเป็นอันขาดสะบั้นลง

สหรัฐเป็นประเทศแรกที่ประกาศรับรองรัฐบาลจีนภายใต้การนำของเจียงไคเช็ก

1934 คือจุดเริ่มต้นของการ “เดินทางไกล” ของคอมมิวนิสต์จีนเพื่อไปตั้งหลักสู้กับเจียงไคเช็ก เหมาเจ๋อตุงสร้างผลงานระหว่างการเดินทางไกลนี้จนเป็นผู้นำที่โดดเด่นอย่างชัดเจน

สองปีต่อมาคือการระเบิดของสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับจีนรอบที่สอง

ปี 1938 คือจุดที่สหรัฐยื่นมือให้ความช่วยเหลือเจียงไคเช็ก

ประธานาธิบดีสหรัฐ Franklin D. Roosevelt ตกลงให้เงินกู้ 25 ล้านเหรียญต่อรัฐบาลก๊กมินตั๋ง

อีก 2 ปีต่อมาก็เพิ่มเงินกู้นั้นเป็น 100 ล้านเหรียญ

นี่คือจุดเริ่มต้นที่อเมริกาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในจีน

ในช่วงนั้น ทั้งเจียงไคเช็กและเหมาเจ๋อตุงต่างก็พยายามจะขอให้อเมริกาช่วยโดยมีเป้าหมายทางการว่าเพื่อขับไล่ญี่ปุ่น

แต่เอาเข้าจริงๆ เจียงกับเหมาก็ทำสงครามกันเองขณะที่สู้รบกับญี่ปุ่น

เบื้องหลังการวางนโยบายของสหรัฐต่อจีนในช่วงนั้นจึงเต็มไปด้วยความย้อนแย้งและความผันผวนที่นำมาสู่ภาวะการเผชิญหน้าระหว่างสองยักษ์ใหญ่ของโลกวันนี้