เศรษฐกิจปีฉลูไม่ “ฉลุย” “โควิด” รอบใหม่หนักกว่าเดิม ลงทุนไม่ฟื้น-จ้างงานลด

การกลับมาระบาดในประเทศของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่มีจุดเริ่มต้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ก่อนกระจายออกไปหลายจังหวัดทั่วประเทศในขณะนี้ ทำให้ภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจปีฉลู 2564 ที่เดิมคาดการณ์ว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องอาจจะชะงักลงอีกครั้งหนึ่ง

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทยมองว่า การระบาดของโควิดระลอกใหม่ จะมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่งผลกระทบทำให้การกระตุ้นการบริโภคต้องดีเลย์ออกไป รวมถึงการท่องเที่ยวที่จะชะลอตัวเพราะคนไม่กล้าเดินทาง

แต่หากไม่มีล็อกดาวน์ เศรษฐกิจก็ยังเดินไปได้ เพียงแต่การฟื้นตัวอาจจะเลื่อนออกไปบ้างราว 1-2 ไตรมาส หรือการฟื้นตัวที่มองกันว่าจะเป็นแบบตัว “U” นั้น การตกท้องช้างของตัว “U” จะยาวขึ้น อย่างไรก็ดี ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการดูแลสถานการณ์ของภาครัฐ และปัจจัยเรื่องวัคซีนด้วย ว่าเมื่อได้มาแล้วทำให้คนเข้าถึงได้ง่ายเพียงใด

“หวังว่าทางการจะเอาอยู่ได้เร็ว ผมก็พยายามกระตุ้น ไม่อยากให้คนท้อกันหมด แต่ปัจจุบันการใช้ชีวิตของคนเรามีการปรับตัวได้ดีกว่าช่วงการระบาดเมื่อเดือนเมษายน 2563 มีความคุ้นชินมากขึ้น การรับมือสถานการณ์ก็ทำได้ดีขึ้น”

นายผยงกล่าวว่า ถ้าจะนิยามเศรษฐกิจปี 2564 คือ มีความไม่แน่นอนสูง โดยช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก แต่หากได้วัคซีนมาจะทำให้เกิดความเสถียรได้มากขึ้น รวมถึงต้องรอติดตามการแถลงนโยบายของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ด้วย ซึ่งจะสร้างความแน่นอนให้มีมากขึ้นอีกระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ในช่วง 2-4 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ต้องพิจารณาเรื่องการเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยว่าสามารถทำได้รวดเร็วเพียงใด

“เดิมก่อนเกิดกรณีการระบาดที่สมุทรสาคร รัฐบาลประกาศว่า ปี 2564 ตั้งใจจะเร่งการลงทุนในเชิงรุก ซึ่งต้องรอดู เพราะอาจจะเลื่อนออกไป แต่อย่างเก่งก็ 1-2 ไตรมาส เพราะเดิมเราคิดว่าถนนจะเรียบ แต่มาตกหลุมอีก” ประธานสมาคมธนาคารไทยกล่าว

 

ขณะที่นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) มองว่า ทิศทางเศรษฐกิจในปี 2564 ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ หากภาครัฐประกาศล็อกดาวน์แบบรอบที่แล้ว เหมือนในช่วงเดือนมีนาคม 2563 จะได้ไม่คุ้มเสีย แต่การระบาดรอบนั้น ถือว่าทุกคนยังไม่รู้ว่าโรคที่เกิดขึ้นรักษาได้หรือไม่ ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องล็อกดาวน์แบบกดสนิท แต่ครั้งนี้ประเทศไทยได้เรียนรู้จากครั้งก่อน จึงต้องนำมาศึกษาและวางแผนบริหารจัดการให้ได้

ทั้งนี้ หากสามารถบริหารจัดการและรักษาการติดเชื้อให้อยู่ในระดับทรงตัวได้ และเชื้อโรคโควิด-19 ไม่กระจายไปในวงกว้าง มีการเลือกกิจกรรมที่ทำได้และทำไม่ได้ เช่น กิจกรรมการค้าขาย กินข้าวนอกบ้าน ถือเป็นกิจกรรมที่ไม่ควรหยุด เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ ขณะที่กิจกรรมคอนเสิร์ต มหกรรมต่างๆ การสัมมนาที่มีการรวมตัวคนจำนวนมากอาจต้องงด แม้การหยุดกิจกรรมบางประเภทจะกระทบบางธุรกิจ เช่น ธุรกิจโรงแรม ซึ่งปัจจุบันค่อนข้างเหนื่อยอยู่แล้วให้เหนื่อยหนักมากขึ้น แต่เป็นการตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต

“เศรษฐกิจปี 2564 จะเป็นอย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับว่าโควิด-19 รอบใหม่เป็นอย่างไร หากเราคุมกิจกรรมถูกต้อง เชื่อว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังไปได้ แต่ถ้าเราล็อกดาวน์แบบกดสนิทแบบรอบที่แล้วจะได้ไม่คุ้มเสีย ซึ่งไม่ได้สนับสนุนให้ทำแบบนั้น” นายปิติกล่าว

 

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) มองในทำนองเดียวกันว่า หากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ไม่รุนแรงจนต้องล็อกดาวน์ทั่วประเทศอีก ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวได้ 3.7% จากปี 2563 ที่คาดว่าจะหดตัว -6.7% ถือว่าฟื้นกลับมาได้แค่ครึ่งเดียว โดยตัวขับเคลื่อนหลักจะเป็นการส่งออกที่คาดว่าทยอยฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้ 4.3% จากที่ติดลบในปี 2563 ซึ่งเซ็กเตอร์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังเติบโตได้ดี รวมถึงสินค้าเกษตรและอาหาร

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะเป็นอีกตัวสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย หากไม่มีล็อกดาวน์ การบริโภคน่าจะกลับมาค่อนข้างดีที่ 3.2% จากปี 2563 ติดลบ 1.4% ซึ่งการบริโภคมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจไทย จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ เพราะเศรษฐกิจไทยตอนนี้ต้องพึ่งพาข้างในประเทศมากขึ้น ส่วนการท่องเที่ยวคงไม่ฟื้นตัวมากนัก เนื่องจากการเดินทางจะยังไม่กลับไปเหมือนเดิม โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติคงกลับเข้ามาไม่ถึง 8 ล้านคน

ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนปี 2564 น่าจะกลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อย จากปี 2563 ติดลบ 10% โดยเริ่มเห็นกระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) กลับเข้ามา และบริษัทขนาดใหญ่ในไทยเริ่มกลับมาลงทุน ส่วนเอสเอ็มอียังไม่เห็นสัญญาณการลงทุน เนื่องจากยังต้องสาละวนกับการปรับโครงสร้างหนี้

“การลงทุน คงต้องฝากไว้กับเอกชนรายใหญ่ กับการลงทุนจากต่างชาติ ส่วนเอสเอ็มอีคงนิ่ง เพราะต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้รอดก่อน ซึ่งปี 2564 เอสเอ็มอียังเหนื่อย ใครจะไปต่อ ใครจะหยุดพัก ทางการจะช่วยใคร เพราะทรัพยากรมีจำกัด หมายความว่าจะไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้เท่ากันทุกคน ถึงจุดที่ต้องเลือก ขณะที่เอสเอ็มอีเองต้องปรับงบดุลของกิจการ อะไรไม่จำเป็นต้องตัดขายตัดทิ้ง ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อเก็บสภาพคล่องไว้ให้เพียงพอ”

 

ด้านนายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ปี 2564 มีปัจจัยที่ต้องจับตา คือ การบริโภค แม้จะขยายตัวได้ แต่เป็นการขยายตัวแบบเปราะบาง จะเห็นว่าไม่ได้เติบโตจากรายได้ทุกกลุ่ม โดยคนที่มีรายได้สูงจะเติบโตเร็วกว่ากลุ่มอื่น และกลุ่มที่ได้ประโยชน์จะเป็นกลุ่มที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมภาคการส่งออก ขณะที่ภาคการบริการยังคงเจอผลกระทบหนัก และมีความเปราะบางสูง ที่น่ากังวลคือ หากมีการล็อกดาวน์รุนแรงอีก จะกระทบผู้ใช้แรงงาน ทำให้รายได้ลดลงและสูญเสียการจ้างงาน

“การทำนโยบายเศรษฐกิจ เราต้องตามดูว่า จะตอบสนองสถานการณ์ได้มากแค่ไหน ซึ่งที่ผ่านมาเราได้เห็นนโยบายที่ออกมารองรับเรื่องการประคองกำลังซื้อของคนผ่านเรื่องของเงินโอน หรือคนละครึ่ง แต่หลังจากนี้ต้องรอดูนโยบายการชะลอเลิกจ้างงาน เพื่อประคองการจ้างงาน เพราะเป็นนโยบายที่ควรจะต้องทำเพิ่มเติม หากมีการล็อกดาวน์” นายสมประวิณกล่าว

ความคาดหวังท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอน อยู่ที่รัฐบาลจะใช้ประสบการณ์จากการระบาดรอบแรกมาบริหารจัดการรับมือสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

สำคัญสุดคือ ต้องลดผลกระทบไม่ให้เกิดขึ้นรุนแรง และเร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้ฟื้นคืนสู่ปกติโดยเร็ว